ความหมายของคำว่าล้างบาปในพระพุทธศาสนา
อันที่จริง คำว่า ล้างบาป ไม่ได้มีกล่าวถึงโดยตรงในคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะเหตุที่พระองค์มุ่งเน้นการกระทำตนให้บริสุทธิ์ทั้งกาย วาจา ใจ เพื่อความหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะเป็นสำคัญอยู่แล้ว ซึ่งจะหมายถึงการที่กำจัดกิเลสอาสวะซึ่งเป็นตัวก่อบาปให้หมดไปจากใจ อันเป็นนัยของการล้างบาปก็ได้ แต่มิได้หมายถึงการล้างบาปที่เกิดขึ้นจากการกระทำชั่ว มีวิบากเป็นผลแล้ว ซึ่งในลักษณะนี้ไม่สามารถ ล้างบาปได้อย่างที่เข้าใจโดยทั่วไป
ส่วนคำว่า ล้างบาป หรือบางทีใช้คำว่า ลอยบาปนั้น เป็นคำในศาสนาพราหมณ์ ซึ่งเป็นศาสนาเก่าแก่ที่ชาวอินเดียนับถือกันมากในสมัยนั้น และมักจะประกอบพิธีการล้างบาปในแม่น้ำคงคาอยู่เสมอ เมื่อพระพุทธองค์ตรัสรู้แล้วได้เผยแผ่ธรรมะไปทั่วประเทศอินเดีย วิธีการอย่างหนึ่งที่พระองค์ทรงสอนคนต่างศาสนา คือ การใช้ลักษณะคำเดิมของศาสนานั้น อย่างคำว่า ล้างบาป ลอยบาปของศาสนาพราหมณ์ เป็นต้น ทรงใช้คำนี้กับพวกพราหมณ์ แต่ทรงบอกวิธีการปฏิบัติที่แตกต่างและดีกว่า การที่พระพุทธองค์ทรงกระทำเช่นนั้นก็เพื่อให้พราหมณ์เปิดใจยอมรับก่อน ซึ่งเมื่อได้รับฟังธรรมะจากพระองค์แล้วก็จะเข้าไปอยู่ในใจได้ง่าย จนในที่สุดพราหมณ์ก็หันมานับถือพระรัตนตรัย
ก่อนที่จะศึกษาเรื่องวิธีการล้างบาปในพระพุทธศาสนา นักศึกษาควรทำความเข้าใจความหมายของคำว่าล้างบาปในลักษณะที่แยกคำ เพื่อให้ได้คำแปลและความหมายที่ชัดเจนยิ่งขึ้น เนื่องจากคำนี้ยังไม่มีใช้ในพระพุทธศาสนาดังที่กล่าวมาแล้ว จึงจำเป็นจะต้องให้คำจำกัดความใหม่
ล้างบาป ประกอบด้วยคำ 2 คำ คือ คำว่า ล้าง และคำว่า บาป หากแยกคำแล้ว จะได้ความว่า
ล้าง1) แปลว่า ทำให้หมดสิ้นไป โดยใช้สิ่งเช่นน้ำหรือไฟ เป็นต้น และมีกรรมวิธีต่างๆ เช่น กวาดล้าง ชะล้าง ชำระล้าง ล้างกลิ่น ล้างคาว ล้างถู โดยปริยายหมายถึง ลักษณะที่คล้ายคลึง เช่น ฆ่าล้างโคตร สงครามล้างชาติ
ส่วนคำว่า บาป มีคำแปลและความหมายได้หลายนัย คือ
บาป2)) แปลว่า กรรมที่ทำให้สัตว์ถึงทุคติ กรรมอันเป็นเหตุให้ไปอบาย
บาป คือ ความชั่ว ความผิด ความมัวหมอง กรรมชั่ว กรรมไม่ดี ซึ่งเมื่อทำแล้วเป็นเหตุให้ถึง ทุคติภูมิ เป็นสิ่งตรงกันข้ามกับบุญ
บาป มีคำอื่นที่มีความหมายทำนองเดียวกัน เช่น อกุศลกรรม กรรมอันลามก ธรรมดำ
บาป แปลว่า ชั่ว เลว เมื่อกล่าวตามหลักพระพุทธศาสนา อาจแบ่งความหมายได้เป็น 3 ประการ
คือ 1.โดยสภาพของจิต ได้แก่ ความเศร้าหมองแห่งจิต
2.โดยเหตุ ได้แก่ การทำความชั่วทุกอย่าง
3.โดยผล ได้แก่ ความทุกข์
คำว่า บาป อาจจะเทียบเคียงกับสิ่งของที่เสีย ที่มีชื่อเรียกต่างๆ กันไป เช่น บ้านเสียเราเรียกบ้านชำรุด อาหารเสียเราเรียกอาหารบูด ฯลฯ คำจำพวกที่ว่า บูด ชำรุด แตกหัก ผุพัง เน่า ขาด ขึ้นรา ฯลฯ ถ้ากล่าวโดยรวม เรียกว่า เสีย หมายความว่า สิ่งที่ไม่ดี ส่วนอาการเสียของจิตก็เหมือนกัน เราเรียกแยกได้หลายอย่าง เช่น จิตเศร้าหมอง จิตเหลวไหล ใจร้าย ใจดำ ใจขุ่นมัว ฯลฯ แล้วแต่จะบอกอาการทางไหน คำว่า เศร้าหมอง เหลวไหล ต่ำทราม ร้ายกาจ เป็นคำบอกว่าจิตเสีย ซึ่งอาการเสียของจิตนี้ เราเรียกสั้นๆ ว่า บาป
จากคำแปลและคำความหมายของบาปที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น สามารถสรุปความหมายที่เป็นสาระสำคัญที่เห็นภาพได้ชัดเจนของบาป คือ อาการเสียของจิต อาการที่จิตมัวหมอง คือ การที่ใจมีคุณภาพต่ำลง ไม่ว่าจะเสียในแง่ไหนก็เรียกว่าบาปทั้งสิ้น หากรวมความหมายของคำว่า ล้างบาป ก็จะหมายถึง การกำจัดกิเลสอาสวะอันเป็นเหตุแห่งการทำความชั่วให้หมดสิ้นไป มีผลทำให้คุณภาพใจสูงขึ้น มีกาย วาจา ใจสะอาดบริสุทธิ์ จนกระทั่งหมดกิเลส ซึ่งความหมายที่กล่าวสรุปมานี้ มีความหมายเทียบเคียงกับคำว่า ผู้ล้างบาป ที่มีกล่าวไว้ใน ทุติยโสเจยยสูตร3) ว่า
“ ภิกษุทั้งหลาย โสไจยะ คือ ความสะอาด 3 อย่าง
บุคคลผู้สะอาดทางกาย สะอาดทางวาจา สะอาดทางใจ
ไม่มีอาสวะ เป็นคนสะอาดพร้อมด้วยคุณธรรมของคนสะอาด
ปราชญ์ทั้งหลายกล่าวบุคคลนั้นว่า ผู้ล้างบาปแล้ว”
จากพระสูตรนี้สามารถสรุปได้ว่า ผู้ล้างบาป หมายถึง ผู้ที่กำจัดกิเลสให้หมดสิ้น มีความสะอาดบริสุทธิ์ กาย วาจา และใจแล้ว ส่วนความหมายของการล้างบาปจากพระสูตรนี้น่าจะหมายถึง การกำจัดกิเลสอาสวะหมดสิ้นไป จนกาย วาจา ใจ สะอาดบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นความหมายที่ตรงกับคำสรุปดังที่กล่าวมาแล้ว
-------------------------------------------------------------------
1) พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542, (กรุงเทพฯ นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่น, 2546), หน้า 1005.
2) พระธรรมกิติวงศ์, (ทองดี สุรเตโช ปธ. 9 ราชบัณฑิต), คำวัด (กรุงเทพฯ : เลี่ยงเซียง
3) ทุติยโสเจยยสูตร, อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต, มก. เล่ม 34 หน้า 540.
GL 203 กฎแห่งกรรม
กลุ่มวิชาเป้าหมายชีวิต