อทินนาทาน (ลักทรัพย์)
คำว่า อทินนะ ในคำว่า อทินนาทาน หมายถึง ของที่เจ้าของหวงแหน ไม่ได้ให้ด้วยกายหรือวาจา ไม่ว่าสิ่งของนั้นจะอยู่ในบ้าน ในป่า ทำตกหรือหลงลืม เป็นต้น
เจตนาขโมยของบุคคลผู้รู้อยู่ว่า เจ้าของหวงแหน อันเป็นไปทางกายหรือทางวาจา เป็นเหตุให้เกิดความพยายามในการถือเอาของนั้น ชื่อว่า อทินนาทาน4)
กรณีศึกษาในเรื่องของกรรมอทินนาทาน
กรณีศึกษาที่ 1 (วันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2547) หญิงคนหนึ่งเป็นคนใจกว้าง กล้าคิด กล้าทำ กล้าลงมือ ทำงานหนักได้ สู้ไม่ถอย มีความเพียร ได้เดินทางไปทำธุรกิจที่ประเทศสหรัฐอเมริกาหลายอย่าง แต่ก็ประสบกับปัญหาขาดทุนทุกครั้ง ภายหลังหันมาค้าขายที่ดิน แต่ก็ประสบปัญหาขาดทุนอีก ต่อมาจึงยึดอาชีพแจกไพ่ ก็หมดเนื้อหมดตัว ไม่มีแม้แต่ค่าน้ำมันรถ ค่าเช่าบ้าน ค่าอาหาร จึงต้องเลิกอาชีพนี้ ในที่สุดได้มาเปิดร้านทำผมอีกครั้ง และทำมาจนถึงปัจจุบันนี้
นอกจากนี้หญิงผู้นี้ยังรักพี่รักน้อง รักหมู่ญาติ จึงเอาพี่น้อง หลานๆ มาอเมริกา แล้วสนับสนุน ส่งเสริม ให้การศึกษา หาอาชีพให้ ช่วยเหลือหมู่ญาติเต็มที่ แต่ทุกคนก็ไม่ค่อยเห็นความดีและมักจะมองเธอในแง่ร้าย แม้ลูกจ้างก็ชอบมาต่อว่า ทั้งๆ ที่ให้เงินเดือนไม่ได้น้อยกว่าที่อื่น
สาเหตุที่หญิงผู้นี้ไม่ค่อยประสบความสำเร็จทางธุรกิจ เพราะกรรมในอดีตชาติเคยเกิดเป็นเจ้าหน้าที่คอยเก็บภาษีจากบ้านส่วยเข้าคลังหลวง แต่บางครั้งเก็บภาษีเกินและนำส่วนเกินมาทำการค้าส่วนตัว บางทีก็โกงโดยส่งบัญชีไม่ครบ แต่เพราะมีบุญที่ทำไว้ในอดีตจึงทำให้เริ่มตั้งตัวทำกิจการได้ดีตามลำดับ
ส่วนสาเหตุที่เวลาช่วยเหลือใครแล้วเขามองไม่เห็นความปรารถนาดี แต่กลับถูกมองในแง่ร้าย เพราะกรรมในอดีตชาติที่ไปเค้นภาษีจากบ้านส่วย
กรณีศึกษาที่ 2 (วันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2547) ชายคนหนึ่งเป็นคนขยันและอดทน เป็นคนหลักแหลมในการทำงานและการค้าขาย จนกระทั่งมีโรงงานเป็นของตนเอง นอกจากนี้เขายังมีนิสัยชอบช่วยเหลือหรือแนะนำผู้อื่นเสมอ แต่กลับถูกคนที่ไปช่วยเหลือหลอกและโกง จนทำให้ต้องชดใช้หนี้แทนเป็นจำนวนมาก
สาเหตุที่ชายผู้นี้ถูกโกงและต้องไปใช้หนี้แทนเขา เพราะกรรมในอดีตชาติเคยเกิดเป็นพ่อค้าได้ชวนให้เพื่อนมาลงทุนร่วมหุ้นกับตน แต่ภายหลังเมื่อกิจการดีขึ้นก็โกงเขา โดยอ้างว่าเจ๊ง
กรณีศึกษาที่ 3 (วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2548) ชายคนหนึ่งมีอาชีพเป็นครูและเป็นเจ้าของโรงเรียนกวดวิชา โดยดูแลร่วมกับภรรยา เมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว ผู้คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าคุณครูท่านนี้มีเงินทองมาก แต่ในความเป็นจริงแล้วมักถูกเอาเปรียบ และไม่ได้มีเงินเก็บมากมายอย่างที่ทุกคนเข้าใจ แต่ในปัจจุบันมีฐานะดีขึ้น
สาเหตุที่ชายผู้นี้และภรรยามักถูกเอาเปรียบมาตลอด ทำให้ไม่ค่อยมีทรัพย์ แต่ตอนหลังฐานะดีขึ้น เพราะกรรมในอดีตชาติเคยเกิดเป็นนักธุรกิจและเอาเปรียบหุ้นส่วน แต่ภายหลังบุญที่ทำไว้ในพระพุทธศาสนาและบุญสงเคราะห์โลกตามมาส่งผลในช่วงกรรมเก่าเบาบาง จึงมีฐานะดีขึ้น
กรณีศึกษาที่ 4 (วันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2546) หญิงคนหนึ่งมีจิตใจดี แต่ป่วยเป็นสารพัดโรค เช่น โรคหัวใจ ความดัน และโรคไต โดยเฉพาะโรคไตทำให้เธอทุกข์ทรมานมาก ภายหลังยังถูกตัดขาอีก หัวใจก็รั่วซึมถึงกับทำให้ร่างกายขาดเลือดหล่อเลี้ยงจนถึงแก่ชีวิตในที่สุด
สาเหตุที่หญิงผู้นี้เป็นโรคดังกล่าว เพราะกรรมในอดีตชาติเคยเกิดเป็นพ่อค้า ได้พยายามทุก วิถีทางที่จะให้ได้กำไรมากที่สุด และถ้าหากให้ใครยืมเงินแล้วก็จะคิดดอกแพง แต่ถ้าไปยืมเงินใครก็จะไม่ค่อยคืนเขา ทำให้เจ้าหนี้เจ็บใจ
กรณีศึกษาที่ 5 (วันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2547) หญิงคนหนึ่งป่วยเป็นโรคธาลัสซีเมีย (โรคโลหิตจาง) ซึ่งลูกชายคนโตของเธอก็เป็นโรคโลหิตจางเหมือนกัน ทำให้ลูกชายคนโตมีโอกาสอยู่มาได้ถึงอายุ 29 ปี ก็เสียชีวิต
สาเหตุที่หญิงผู้นี้และลูกชายคนโตเป็นโรคโลหิตจางเหมือนกัน เพราะกรรมในอดีตชาติลูกชายคนโตเกิดเป็นข้าหลวง ทำหน้าที่ดูแลหัวเมือง แต่เป็นข้าหลวงที่ไม่ซื่อสัตย์สุจริต โกงภาษีประชาชน ส่วนตัวหญิงผู้นี้ในชาตินั้นก็ได้เป็นแม่เหมือนอย่างในชาติปัจจุบันและมีจิตยินดีต่อการกระทำนั้น แต่มีข้าราชการบางคนไม่เห็นด้วย ฝ่ายข้าหลวงเลยผูกใจเจ็บแค้นและหาเรื่องลงโทษประหารชีวิตในที่สุด ด้วยเหตุนี้จึงทำให้หญิงผู้นี้และลูกชายคนโตป่วยเป็นโรคโลหิตจาง หรือธาลัสซีเมีย ซึ่งเกิดจากการผิดศีลข้อที่ 2 และมีกรรมปาณาติบาตมาเสริม
-------------------------------------------------------------------
4) กถาว่าด้วยวินัย มังคลัตถทีปนีแปล เล่ม 2. (กรุงเทพฯ : มหามกุฎราชวิทยาลัย,2532), หน้า 98.
GL 203 กฎแห่งกรรม
กลุ่มวิชาเป้าหมายชีวิต