กฎแห่งกรรมคืออะไร

วันที่ 21 สค. พ.ศ.2558

 

กฎแห่งกรรมคืออะไร

            กฎแห่งกรรม คือ กฎแห่งการกระทำ เป็นกฎแห่งเหตุและผล เป็นกฎของธรรมชาติ คือ ธรรมฝ่ายใดเกิดขึ้นในใจก็ทำกรรมฝ่ายนั้น เกิดกุศลธรรมก็ประกอบกุศลกรรม เกิดอกุศลธรรมก็ประกอบอกุศลกรรม อย่างนี้เรียกว่า ธรรมชาติ กฎแห่งกรรมเป็นเรื่องราวความเป็นจริงของชีวิต คือ ประกอบเหตุอย่างนี้ต้องไปมีผลอย่างนั้น ประสบผลอย่างนี้เพราะประกอบเหตุมาอย่างนั้น กรรม คือ การกระทำทางกาย ทางวาจา และทางใจ จะดีหรือชั่ว เจตนาหรือไม่ จะน้อยหรือมาก ทุกเพศทุกวัย ล้วนมีผลทั้งสิ้นที่ไม่มีผลไม่มีเลย ผลบางอย่างปรากฏในปัจจุบันทันตาเห็น บางอย่างเห็นผลตอนตายไปแล้ว กฎแห่งกรรมนี้ไร้ความปรานี ไม่มีข้อยกเว้นให้กับใครๆ ไม่จำกัดเชื้อชาติ ภาษา ศาสนาใดก็ตามในโลก จะอยู่บนดิน บนน้ำ บนอากาศ ดวงจันทร์ ดวงดาว ก็หนีกฎแห่งกรรมไม่พ้น แม้แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราในสมัยที่ยังเป็นพระบรมโพธิสัตว์นักสร้างบารมีก็ยังต้องเสวยวิบากกรรม เพราะกรรมติดตามตัวเราไปทุกที่ทุกสถานเหมือนเงาติดตามตัว เมื่อเรายังหนีตัวเราไม่พ้น เราก็หนีกฎแห่งกรรมไม่พ้นเหมือนกัน กฎหมายหรือกฎเกณฑ์อะไรบางอย่างในโลกที่มนุษย์สมมติกันขึ้นมา ยังหลีกเลี่ยงเปลี่ยนแปลงได้ ปีนี้ใช้อย่างนี้ปีหน้าเปลี่ยนไปอีกอย่าง แต่กฎแห่งกรรมไม่เคยเปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้น

“    ทำดีย่อมได้ดี ทำชั่วย่อมได้ชั่ว ทำดีได้ชั่วไม่มี ทำชั่ว ได้ดีก็ไม่มี”

กฎแห่งกรรมจึงเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องศึกษาเรียนรู้ ไม่รู้อันตราย ถ้ารู้แล้วเอาตัวรอดปลอดภัยได้ แม้ยังไม่หมดกิเลส แต่ก็จะมีชีวิตอยู่ในสังสารวัฏได้อย่างปลอดภัยไม่พลัดไปสู่อบายภูมิที่มีความทุกข์ทรมานมาก จะท่องเที่ยวสร้างบารมีอยู่เพียงสองภพภูมิ คือ มนุษยโลกกับเทวโลก ซึ่งการศึกษาเรื่องกฎแห่งกรรมอย่างถ่องแท้จะทำให้เราดำเนินชีวิตด้วยการสั่งสมบุญบารมีมากกว่า ส่วนที่จะผิดพลาดน้อย ผิดจะไม่ค่อยมี แต่จะมีอยู่เพียงแค่พลาดพลั้ง เผอเรอ ประมาทเลินเล่อ แม้เวลาตายก็จะตายเป็น พร้อมที่จะตายอย่างถูกหลักวิชชาหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา ดังพุทธพจน์ที่ว่า

“    จิตฺเต สงฺกิลิฏฺเฐ ทุคฺคติ ปาฏิกงฺขา

จิตฺเต อสงฺกิลิฏฺเฐ สุคติ ปาฏิกงฺขา

เมื่อจิตเศร้าหมอง ทุคติเป็นอันหวังได้

เมื่อจิตไม่เศร้าหมอง สุคติเป็นอันหวังได้ ”23)

 

            กล่าวโดยสรุป คือ ตัดสินกันช่วงเวลาก่อนตายว่าจิตขณะนั้นผ่องใสหรือหมอง ถ้าจิตผ่องใสเพราะสิ้นระแวงก็ไปสบายไปสู่สุคติโลกสวรรค์ ใจใสขึ้นอยู่กับบุญกุศลที่สั่งสมไว้ แต่ถ้าจิตหมองมัวก็ต้องไปอบาย ใจหมองขึ้นอยู่กับบาปอกุศลที่เคยกระทำไว้ ซึ่งจะต้องศึกษาต่อไปว่า อะไรเป็นบุญกุศล อะไรเป็นบาปอกุศล หากไม่ศึกษาก็จะไม่ทราบว่าควรยึดถือใครเป็นเกณฑ์เป็นต้นแบบในการประกอบบุญกุศล เกณฑ์ของบุญกุศลจะต้องเอาท่านผู้ที่หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ รู้แจ้งเห็นแจ้งแทงตลอดในธรรมทั้งปวง เอาความรู้ความเห็นคำสั่งสอนคำแนะนำของท่านเป็นหลัก เพราะท่านที่หมดกิเลสแล้วทำอะไรไม่หวังผลตอบแทน ไม่มีเรื่องผลประโยชน์ มีแต่คุณประโยชน์ และคุณงามความดีล้วนๆ พอจับหลักได้ก็ทำตามนั้น คือ ทำแต่กุศลกรรม บุญก็เกิด เมื่อบุญเกิดก็ละอกุศลกรรมได้ บุญจะทำหน้าที่กลั่นจิตใจให้ผ่องใส ดังนั้นเราต้องการผลอย่างไรก็ทำเหตุอย่างนั้น เพราะชีวิตหลังความตายไม่มีการทำมาหาเลี้ยงชีพ ชีวิตในปรโลกของสัตวโลกเป็นอยู่ด้วยบุญและบาป ดีและชั่วเท่านั้น ไม่ใช่ตัดสินที่ความรวย หล่อ สวย เก่ง เฮง ไม่ใช่อย่างนั้น

            คำว่า กรรม รากศัพท์เดิมมาจากภาษาบาลีว่า กมฺม (กัมมะ) ภาษาสันสกฤตใช้ว่า กรฺม ด้วยเหตุที่ภาษาสันสกฤตค่อนข้างมีอิทธิพลในประเทศไทยช่วงยุคขอมและด้วยการออกเสียง กรฺม ไม่ชัด จึงควบกล้ำ ร เป็นกรรมทำให้ออกเสียงชัดกว่า ซึ่งถือว่าเป็นภาษาถิ่นแต่ก็ยังคงความหมายเดิม กรรมเป็นคำกลางๆ แปลว่า การกระทำ แต่เมื่อจะตัดสินการกระทำนั้นว่าเป็นกรรมหรือไม่ และเป็นกรรมฝ่ายใดประเภทใด จะต้องดูที่เจตนาคือความจงใจ ฉะนั้นความหมายของคำว่า กรรม โดยสมบูรณ์ แปลว่า การกระทำโดยเจตนาคือจงใจกระทำ24) การกระทำแบ่งออกเป็น 3 ทาง ได้แก่ การกระทำทางกาย ทางวาจา และทางใจ ทุกอย่างที่เกิดจากความจงใจของผู้กระทำถือว่าเป็นกรรมทั้งสิ้น ซึ่งแบ่งกรรมออกเป็น 2 ฝ่าย คือ

1. กุศลกรรม หมายถึง กรรมฝ่ายดี เป็นการกระทำที่ดีงาม เกิดบุญกุศล ไม่ผิดศีล ไม่ผิดธรรม ไม่ทำให้จิตโศกเศร้า หรืออาจเรียกว่า กุศลเจตนา เพราะตั้งใจทำดี ทางที่ทำให้เกิดพฤติกรรมที่จัดเป็นกรรมดี หรือที่เรียกว่า กุศลกรรมบถ 10 ประการ สามารถแบ่งออกตามทวารที่เกิดขึ้นทางกาย ทางวาจา และทางใจ ได้ดังนี้

กายกรรม หรือกายทวาร หมายถึง กรรมดีทางกาย เมื่อการกระทำทางกายดีจึงเรียกว่า กายสุจริต มี 3 ประการ คือ

1. ปาณาติปาตา เวรมณี งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ที่ยังมีชีวิต

2. อทินนาทานา เวรมณี งดเว้นจากการลักขโมยของที่ผู้อื่นไม่ให้

3. กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม

วจีกรรม หรือวจีทวาร หมายถึง กรรมดีทางวาจาที่ได้รับการไตร่ตรองด้วยปัญญา เมื่อการกระทำทางวาจาดีจึงเรียกว่า วจีสุจริต มี 4 ประการ คือ25)

1. มุสาวาทา เวรมณี งดเว้นจากการพูดเท็จ คือ พูดโกหก หลอกลวง ต้มตุ๋น เป็นต้น

2. ปิสุณาย วาจาย เวรมณี งดเว้นจากการพูดส่อเสียด คือ คำพูดทำให้สูญเสียความเป็นที่รักใคร่ปรองดองกัน เช่น ยุยงให้แตกแยก เหน็บแนม กระทบกระเทียบเสียดแทง คำสบประมาท พูดลับหลัง เป็นต้น เหล่านี้เป็นคำพูดทำให้เกิดทิฏฐิมานะชิงดีชิงเด่น มุ่งเอาชนะกันและกัน

3. ผรุสาย วาจาย เวรมณี งดเว้นจากการพูดคำหยาบคาย คือ พูดคำชนิดที่ค่อนขอด คำหยาบคาย คำเผ็ดร้อน คำเหน็บแนมให้เจ็บใจ เหล่านี้ทำให้ผู้อื่นโกรธเคืองไม่ทำให้จิตตั้งมั่น

4. สัมผัปปลาปา เวรมณี งดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ คือ ชอบพูดไม่ถูกเวลา ชอบพูดหยอกล้อ ชอบพูดไร้ประโยชน์ ชอบพูดไม่เป็นธรรม ชอบพูดไม่เป็นวินัย เป็นผู้พูดไม่มีหลักฐาน ไม่เป็นเวลา ไม่มีที่อ้างอิง ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่ประกอบด้วยประโยชน์

มโนกรรม หรือมโนทวาร หมายถึง การกระทำทางใจ เมื่อการกระทำทางใจดีจึงเรียกว่า มโนสุจริต มี 3 ประการ คือ

1. อนภิชฌา ไม่คิดเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น

2. อัพยาบาท ไม่คิดปองร้ายเบียดเบียนผู้อื่น

3. สัมมาทิฏฐิ คิดถูกเห็นถูก

คำว่า เว้น ต่างกับคำว่า ละ อย่างไร ? เว้น หมายถึง เคยทำผิดแล้วไม่คิดจะทำอีกเด็ดขาด เช่น เคยดื่มสุราของมึนเมา แต่เมื่อได้รู้โทษของมันแล้ว ตัดใจไม่เสพ ไม่ซื้อ และไม่ชักชวนคนอื่นให้ดื่มอีกอย่างเด็ดขาด ละ หมายถึง ไม่เคยทำผิดแล้วก็จะไม่ทำความผิดนั้น เช่น ไม่เคยดื่มสุรา แม้เพื่อนชวนให้ดื่มก็ไม่ดื่ม เพราะรู้จักโทษของสุราเป็นอย่างดีจึงไม่จำเป็นต้องทดลอง

 

2. อกุศลกรรม หรือกรรมฝ่ายชั่ว หมายถึง การกระทำที่ผิดศีล ผิดธรรม เกิดบาปอกุศลทำให้จิตเศร้าหมอง หรืออาจเรียกว่า อกุศลเจตนา เพราะตั้งใจทำชั่ว ทางที่ทำให้เกิดพฤติกรรมที่จัดเป็นกรรมชั่ว หรือที่เรียกว่า อกุศลกรรมบถ 10 ประการ สามารถแบ่งออกตามทวารที่เกิดขึ้นทางกาย ทางวาจา และทางใจ ได้ดังนี้

กายกรรม หรือกายทวาร หมายถึง การกระทำทางกาย เมื่อการกระทำทางกายชั่ว จึงเรียกว่า กายทุจริต มี 3 ประการ ดังต่อไปนี้ คือ

1. ปาณาติบาต การจงใจฆ่าสัตว์ที่ยังมีชีวิต

2. อทินนาทาน การจงใจลักขโมยของที่ผู้อื่นไม่ให้

3. กาเมสุมิจฉาจารา การจงใจประพฤติผิดในกาม

วจีกรรม หรือวจีทวาร หมายถึง การกระทำทางคำพูดที่ขาดการไตร่ตรองด้วยปัญญา เมื่อการกระทำทางวาจาชั่ว จึงเรียกว่า วจีทุจริต มี 4 ประการ ดังต่อไปนี้ คือ

1. มุสาวาท การจงใจพูดเท็จ คือ พูดโกหก หลอกลวง ต้มตุ๋น เป็นต้น

2. ปิสุณาวาจา การจงใจพูดส่อเสียด คือ คำพูดทำให้สูญเสียความเป็นที่รักใคร่ปรองดองกัน เช่น ยุยงให้แตกแยก เหน็บแนม กระทบกระเทียบเสียดแทง คำสบประมาท พูดลับหลัง เป็นต้น เหล่านี้เป็น คำพูดทำให้เกิดทิฏฐิมานะชิงดีชิงเด่น มุ่งเอาชนะกันและกัน

3. ผรุสาวาจา การจงใจพูดคำหยาบคาย คือ พูดคำชนิดที่ค่อนขอด คำหยาบคาย คำเผ็ดร้อน คำเหน็บแนมให้เจ็บใจ เหล่านี้ทำให้ผู้อื่นโกรธเคืองไม่ทำให้จิตตั้งมั่น

4. สัมผัปปลาปา การจงใจพูดเพ้อเจ้อ คือ ชอบพูดไม่ถูกเวลา ชอบพูดหยอกล้อ ชอบพูดไร้ประโยชน์ ชอบพูดไม่เป็นธรรม ชอบพูดไม่เป็นวินัย เป็นผู้พูดไม่มีหลักฐาน ไม่เป็นเวลา ไม่มีที่อ้างอิง ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่ประกอบด้วยประโยชน์

มโนกรรม หรือมโนทวาร หมายถึง การกระทำทางใจ เมื่อการกระทำทางใจชั่วจึงเรียกว่า มโนทุจริต มี 3 ประการ คือ

1. อภิชฌา คิดเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น

2. พยาบาท คิดปองร้ายเบียดเบียนผู้อื่น

3. มิจฉาทิฏฐิ คิดผิดเห็นผิด

 

ตารางแสดงกุศลกรรมบถและอกุศลกรรมบถจัดตามฐานที่เกิด


พระพุทธศาสนาใช้คำเรียก กฎแห่งกรรม ว่า “    กรรมนิยาม” คือ ความแน่นอนของกรรม หมายความว่า กรรมที่เกิดจากการตัดสินใจทำลงไปแล้วย่อมให้ผล การเกิดผลของกรรมทั้งดีและชั่ว เรียกว่าวิบาก ซึ่งมีกฎเกณฑ์แน่นอนตายตัว ท่านจึงเรียกกฎเกณฑ์แห่งวิบากกรรมว่า “    กฎแห่งกรรม” ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า

“    สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้เลวและประณีตได้”26)

กรรมดีที่ทำก่อให้เกิดบุญกุศล บุญที่เกิดจากกุศลกรรมที่ทำ เมื่อสั่งสมบุญกุศลไว้มากก็เพิ่มพูนเป็นบารมี ส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้นั้นมีกาย วาจา ใจบริสุทธิ์ผุดผ่องมากยิ่งขึ้น ส่วนกรรมชั่วก่อเกิดเป็นบาปอกุศล บาปอกุศลที่เกิดจากอกุศลกรรมที่ทำ เมื่อสั่งสมบาปอกุศลไว้มาก ก็เพิ่มพูนจนเป็นอาสวะเครื่องหมักดองกิเลส

ดังนั้น สาเหตุที่แท้จริงของปัญหาวิกฤตทางพฤติกรรมของมนุษย์ ปัญหาวิกฤตทางสังคม และปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจ หากย้อนกลับมาพิจารณาดูว่าปัญหาอยู่ที่ตรงไหน เมื่อศึกษาจึงทราบว่า

“    ต้นเหตุปัญหาทั้งปวงเกิดจากมนุษย์ที่ขาดความเข้าใจอย่างถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องโลกและความเป็นไปของชีวิตตามความเป็นจริง”

ซึ่งส่งผลร้ายแรงทำให้ผู้คนมีพฤติกรรมไร้ศีลธรรม ทั้งที่สัตวโลกทั้งปวงเปรียบเหมือนเพื่อนร่วมชะตากรรมเดียวกัน คือ ร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย สัตวโลกจึงไม่ใช่ศัตรูของกันและกัน กิเลสเท่านั้นคือศัตรูแท้จริงที่จะต้องรีบกำจัดให้หมดสิ้นเชื้อไม่เหลือเศษ ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นที่จะต้องศึกษาทำความเข้าใจเรื่องกรรมให้ชัดเจน ปัจจุบันคำว่า กรรม วิบาก เจ้ากรรมนายเวร เป็นคำที่ใช้กันจนคุ้นปาก แต่มักจะใช้แสดงออกมาในแง่ลบเกือบทั้งสิ้น โดยเฉพาะคำว่า เจ้ากรรมนายเวร ในพระพุทธศาสนาไม่มีคำนี้ มีแต่คำว่า เวร การผูกเวรจองล้างจองผลาญกันและกันเท่านั้น ไม่มีใครเป็นเจ้าของกรรมของเรา นอกเสียจากตัวเราเองที่เป็นเจ้าของกรรมของตน

 

-------------------------------------------------------------------

23) วัตถูปมสูตร, มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์, มก. เล่ม 17 ข้อ 92 หน้า 433.
24) นิพเพธิกสูตร, อังคุตตรนิกาย ฉักกนิกาย, มก. เล่ม 36 ข้อ 334 หน้า 771.
25) สาเลยยกสูตร, มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์, มก. เล่ม 19 ข้อ 484 หน้า 247.
26) จูฬกัมมวิภังคสูตร, มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์, มก. เล่ม 23 ข้อ 581 หน้า 251.

GL 203 กฎแห่งกรรม
กลุ่มวิชาเป้าหมายชีวิต


 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0015551805496216 Mins