เกณฑ์ตัดสินกรรมดีและกรรมชั่ว
ดังที่ทราบ เจตนาคือกรรม กรรมที่เกิดทางกาย ทางวาจา และทางใจ ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 2 ฝ่ายใหญ่ๆ คือ กุศลกรรม และอกุศลกรรม เมื่อจะตัดสินหากฎเกณฑ์ตรวจสอบว่ากรรมที่ทำนั้นเป็นกรรมฝ่ายใด ให้ดูที่ผลหลังจากที่ทำ ซึ่งมีเกณฑ์ตัดสินดังนี้
1) พิจารณาที่ผลสุดท้ายของการกระทำ ดังพระพุทธดำรัสที่ว่า
“ บุคคลทำกรรมใดแล้วไม่เดือดร้อนในภายหลัง มีจิตแช่มชื่นเบิกบาน ได้รับผลแห่งกรรมใด กรรมที่ทำแล้วนั้นเป็นกรรมดี ส่วนบุคคลทำกรรมใดแล้ว เดือดร้อนในภายหลัง มีน้ำตานองหน้า ร้องไห้อยู่ ได้รับผลแห่งกรรมใด กรรมที่ทำแล้วนั้นเป็นกรรมไม่ดี”27)
2) พิจารณาที่ต้นเหตุของการกระทำ ดังพระพุทธดำรัสที่ว่า
“ กรรมใดที่บุคคลทำด้วย อโลภะ อโทสะ อโมหะ กรรมนั้นเป็นกุศล กรรมนั้นไม่มีโทษ กรรมนั้นมีผลเป็นสุข ส่วนกรรมใดที่บุคคลทำด้วย โลภะ โทสะ โมหะ กรรมนั้นเป็นอกุศล กรรมนั้นมีโทษ กรรมนั้นมีผลเป็นทุกข์”28)
-------------------------------------------------------------------
27) เขมสูตร, สังยุตตนิกาย สคาถวรรค, มก. เล่ม 24 ข้อ 281 หน้า 367.
28) ปฐมนิทานสูตร, อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต, มก. เล่ม 34 ข้อ 551 หน้า 520.
GL 203 กฎแห่งกรรม
กลุ่มวิชาเป้าหมายชีวิต