คำนิยาม ถูก ผิด, ดี ชั่ว, บุญ บาป, คุณ โทษ, ควร ไม่ควร

วันที่ 21 สค. พ.ศ.2558

 

 คำนิยาม ถูก ผิด, ดี ชั่ว, บุญ บาป, คุณ โทษ, ควร ไม่ควร

            การศึกษาเรื่องกฎแห่งกรรม ก็เพื่อให้เข้าใจและสามารถดำเนินชีวิตโดยไม่ผิดพลาดทั้งทางโลกและทางธรรม เพราะในแต่ละวันมนุษย์มีเรื่องให้ต้องตัดสินใจ เมื่อต้องประสบกับปัญหาเราจะต้องตัดสินใจได้เด็ดขาด ถ้าตัดสินใจไม่ได้ ก็จะทำงานต่อไปไม่ได้ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างที่เราเข้าไปเกี่ยวข้อง เรามักถูกบังคับให้ต้องตัดสินใจทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้จึงมีความจำเป็นต้องอาศัยโยนิโสมนสิการ การคิดแยกแยะเหตุผล มีความจำเป็นจะต้องทำความเข้าใจศัพท์ทางพระพุทธศาสนาอยู่หลายคำที่เกี่ยวข้องอย่างขาดเสียมิได้ เพราะเมื่อพูดถึงเรื่องกฎแห่งกรรมแล้วจะต้องโยงไปถึงคำเหล่านี้ทุกครั้ง ได้แก่

1) ถูก หรือชอบ คือ ทำถูก หมายถึง การกระทำใดๆ ก็ตามทั้งที่ตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจมาก่อน แต่ว่าเมื่อทำลงไปแล้วเกิดแต่ประโยชน์ ไม่เกิดความเสียหาย ไม่เกิดโทษ ไม่ก่อให้เกิดความเดือดเนื้อร้อนใจใดๆ ติดตามมาในภายหลังทั้งต่อตนเองและผู้อื่น

2) ผิด คือ ทำผิด หมายถึง การกระทำด้วยความประมาทพลาดพลั้ง ทำให้เกิดความเสียหาย เป็นโทษ เป็นความเดือดร้อนแก่ตนเองและผู้อื่น เพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์หย่อนปัญญา

3) ดี คือ ทำดี หมายถึง นอกจากจะทำถูกแล้วจะต้องทำดีด้วย หมายความว่า การกระทำที่รู้อยู่เต็มอกก่อนจะทำแล้วว่า สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วตั้งใจทำด้วยความระมัดระวัง เอาใจจดจ่อ ทำด้วยความมั่นใจ ผลที่ได้รับก็คือ ยิ่งทำยิ่งสุขกายสุขใจ เป็นทางมาแห่งบุญ

4) ชั่ว คือ ทำชั่ว หมายถึง รู้ทั้งรู้ว่าผิดแล้วยังฝืนทำ รู้ด้วยว่าทำไปแล้วจะเกิดความเสียหาย ความเดือดร้อนแก่ตนเองและผู้อื่น ผลที่ได้รับก็คือ ยิ่งทำยิ่งทุกข์ ยิ่งทำยิ่งเดือดร้อน เป็นทางมาแห่งบาปอกุศล

5) บุญ ว่าโดยเหตุ หมายถึง ความผ่องแผ้ว ความบริสุทธิ์ ความดีงาม สิ่งที่เป็นเครื่องชำระล้าง กาย วาจา ใจ ให้ปราศจากมลทิน ว่าโดยผล บุญ หมายถึง ความสุขกายสุขใจ ดังพุทธภาษิตที่ว่า ภิกษุทั้งหลาย เธออย่ากลัวบุญเลย คำว่าบุญนี้เป็นชื่อของความสุข22) บุญเกิดเมื่อประพฤติกุศลกรรมทางกาย ทางวาจา ทางใจ หรือที่เรียกว่า บุญกุศล บุญกรรมเป็นอาการที่เกิดขึ้นกับผู้ที่มีใจสูงส่ง

6) บาป ว่าโดยเหตุ หมายถึง ความเศร้าหมองขุ่นมัว ความเลวทราม ความสกปรก ทำให้กาย วาจา ใจมีมลทิน ว่าโดยผล หมายถึง ความทุกข์กายทุกข์ใจ ความเศร้าโศกเสียใจ ความเดือดร้อนใจ บาปเกิดเมื่อประพฤติอกุศลกรรมทางกาย ทางวาจา ทางใจ หรือที่เรียกว่า บาปอกุศล บาปกรรม เป็นอาการที่เกิดขึ้นกับผู้ที่มีใจตกต่ำ

7) คุณ หมายถึง ประโยชน์หรือผลที่ได้รับ จากการทำถูก ทำดี ทำไปแล้วได้รับการสรรเสริญยกย่อง

8) โทษ หมายถึง ผลที่ได้รับจากการทำผิด ทำชั่ว ทำไปแล้วถูกตำหนิติเตียน

9) ควร คือ รู้สิ่งใดควรทำ หมายถึง สิ่งที่ทำลงไปนั้น ถ้าไม่ทำก็ไม่ผิด ไม่เสียหาย แต่รู้ว่าถ้าทำแล้วจะเกิดคุณงามความดี ความถูกต้อง แล้วเราก็ตั้งใจทำสิ่งนั้นไปด้วยความเต็มใจ

10) ไม่ควร คือ รู้สิ่งใดไม่ควรทำ หมายถึง สิ่งที่ทำลงไปนั้น ถ้าทำไปแล้วก็ไม่ถึงกับผิด ไม่เสียหาย แต่เรารู้ว่าถ้าทำไปแล้วอาจจะขัดอกขัดใจ ถูกตำหนิได้ เราก็จะไม่ทำสิ่งนั้น

เมื่อนักศึกษาได้ทำความเข้าใจกับนิยามของคำเหล่านี้ดีแล้ว จะทำให้เกิดความชัดเจน เมื่อจะต้องตัดสินใจคิดพูดทำอะไรสักอย่าง เพื่อจะได้ตอบตนเองได้ว่าสิ่งที่กระทำไปนั้นทำไปแล้วจะเกิดอะไร มีผลกระทบอย่างไรในการดำเนินชีวิต สังคม และสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ทั้งนั้นทุกอย่างที่กล่าวมาล้วนตั้งอยู่บน พื้นฐานของการกระทำทางกาย ทางวาจา และทางใจทั้งสิ้น

-------------------------------------------------------------------

22) ปุญญวิปากสูตร, อังคุตตรนิกาย สัตตกนิกาย, มก. เล่ม 37 ข้อ 59 หน้า 192.

GL 203 กฎแห่งกรรม
กลุ่มวิชาเป้าหมายชีวิต


 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0022536834081014 Mins