พระพุทธศาสนาปฏิเสธการล้างบาปอย่างศาสนาอื่น
ส่วนในประเด็นที่ว่า ในความเชื่อของศาสนาที่เชื่อว่า บาปสามารถสืบทอดมาถึงมนุษย์คนอื่นได้ มนุษย์เกิดมาจะต้องทำพิธีล้างบาป หรือความเชื่อที่ว่า ศาสดาเป็นผู้เกิดมาเพื่อไถ่บาปนั้น ในประเด็นนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงได้อธิบายไว้ดังนี้
สุทฺธิ อสุทฺธิ ปจฺจตฺตํ
“ ความบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ เป็นเรื่องเฉพาะตัว”
นาญฺโญ อญญํ วิโสธเย
“ ใครจะไถ่บาป ทำให้คนอื่นบริสุทธิ์ไม่ได้”
พระพุทธวจนะนี้ ปฏิเสธทรรศนะที่ว่า บาปของคนหนึ่งจะตกทอดไปยังอีกคนหนึ่งได้ และปฏิเสธทรรศนะที่ว่า บาปที่คนหนึ่งทำแล้วจะมีผู้หนึ่งผู้ใดมาไถ่ถอนให้ได้ ส่วนในทรรศนะเรื่องการล้างบาปของศาสนาที่เชื่อเรื่องล้างบาปด้วยการลงอาบน้ำในแม่น้ำ ศักดิ์สิทธิ์ พระองค์ทรงปฏิเสธความเชื่อดังกล่าวเช่นกัน ดังที่พระองค์ตรัสไว้ในพระสูตรชื่อ วัตถูปมสูตร7) มีใจความว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ใกล้เมืองสาวัตถี สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ (ผู้มีความเห็นว่า คนที่อาบน้ำในแม่น้ำสุนทริกาย่อมละบาปได้) นั่งอยู่ใกล้ที่ประทับ ได้ฟังพระดำรัสว่าด้วยเครื่องอาบอันเป็นภายใน จึงทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
ท่านพระโคดมจะเสด็จไปยังแม่น้ำพาหุกาเพื่อจะสรงสนานหรือ
พ. จะมีประโยชน์อะไรด้วยแม่น้ำพาหุกาเล่า แม่น้ำพาหุกาจักทำประโยชน์อะไรได้
สุ. แม่น้ำพาหุกา ชนเป็นอันมากยอมรับว่าให้ความบริสุทธิ์ได้ ยอมรับว่าเป็นบุญ จึงพากันไปลอยบาปกรรมของตนในแม่น้ำพาหุกา
พ. คนพาลมีบาปกรรมมุ่งไปยังแม่น้ำพาหุกา แม่น้ำคยา ท่าน้ำอธิกักกะ แม่น้ำสุนทริกา แม่น้ำสรัสดี ท่าน้ำปยาคะ หรือแม่น้ำพาหุมดี แม้เป็นนิตย์ ก็บริสุทธิ์ไม่ได้ แม่น้ำสุนทริกา ท่าน้ำปยาคะ หรือแม่น้ำพาหุกา จักทำอะไรได้ จะชำระบุคคลผู้มีเวร ทำกรรมอันหยาบช้า ผู้มีกรรมอันเป็นบาปนั้นให้บริสุทธิ์ไม่ได้เลย ผัคคุณฤกษ์ (ถือกันว่าผู้อาบน้ำในฤกษ์นี้ย่อมชำระบาปที่ทำมาทั้งปีได้) อุโบสถ (การจำศีลตามกาล) วัตร (ความประพฤติ) ย่อมสำเร็จแก่ผู้บริสุทธิ์มีการงานอันสะอาดทุกเมื่อ
ท่านจงอาบน้ำในคำสอนของเรานี้ จงทำความเกษมในสัตว์ทั้งปวงเถิด ถ้าท่านไม่กล่าวเท็จ ไม่เบียดเบียนสัตว์ ไม่ถือเอาวัตถุที่เจ้าของไม่ให้ เป็นผู้มีความเชื่อ (ตามเหตุผล) ไม่ตระหนี่ไซร้ ท่านจักต้องไปอาบน้ำในแม่น้ำคยาทำไม แม้การดื่มน้ำแม่น้ำคยาจักช่วยอะไรท่านได้
จากพระสูตรนี้สามารถสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1. การอาบน้ำไม่ว่าจะอาบที่ไหน อาบอย่างไร ใช้น้ำอะไร ก็เป็นเพียงการอาบน้ำเท่านั้น เป็นกิริยากลางๆ ไม่เป็นบุญ ไม่เป็นบาป เพราะทำให้สะอาดเพียงแค่ร่างกายเท่านั้น หาได้ทำให้จิตใจสะอาดขึ้นไม่
2. หากน้ำล้างบาปได้จริง สัตว์น้ำที่อาศัยอยู่ในน้ำตลอดชีวิต เกิดในน้ำ กินอยู่ เจริญเติบโตและตายในน้ำ ก็เป็นผู้บริสุทธิ์สะอาดและได้ไปสวรรค์กันหมด ทั้งที่ความจริงสัตว์น้ำจำนวนมากต่างก็ทำบาปด้วยการกินซึ่งกันและกันอยู่เสมอ ดังคำพังเพยที่ว่า ปลาใหญ่กินปลาเล็ก หากน้ำล้างบาปได้ แหล่งอบายมุขบางแห่งจะไม่กลายเป็นแหล่งบุญกุศลไปหรือ
3. บาปกรรมอยู่ที่จิตใจซึ่งเป็นนามธรรม ไม่อาจชำระด้วยน้ำซึ่งเป็นรูปธรรม มีแต่ธรรมะที่เป็นนามธรรมด้วยกันจึงจะสามารถชำระล้างจิตใจได้ ยิ่งอาบด้วยธรรมะ คือ ให้ทาน รักษาศีล และเจริญภาวนามากเพียงใด จิตใจก็ยิ่งสะอาดขึ้นเพียงนั้น
4. ผู้ที่ยังทำบาปกรรมอยู่ ยังเบียดเบียนผู้อื่นอยู่ แม้จะอาบน้ำ รดน้ำมนต์ 9 วัด หรือทำพิธีสะเดาะเคราะห์แล้ว ก็ชื่อว่าเป็นคนไม่สะอาดอยู่ดี กายของเขาไม่สะอาดเพราะยังประพฤติกายทุจริต วาจาของเขาไม่สะอาด เพราะยังกล่าววจีทุจริต ใจของเขาไม่สะอาด เพราะยังมีความโลภ ความพยาบาท ความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรมอยู่ตราบใด เมื่อเว้นจากบาปทั้งปวง บำเพ็ญบุญเป็นประจำ แม้จะไม่ได้ อาบน้ำ ไม่ได้รดน้ำมนต์ ก็ชื่อว่าเป็นคนสะอาดอยู่เสมอ
จากเนื้อหาที่กล่าวมาแล้วนั้น นักศึกษาคงจะเข้าใจหลักคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในเรื่องการล้างบาปได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้นว่า พระพุทธองค์มิได้ทรงใช้คำว่า ล้างบาปโดยตรง หากแต่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีความหมายในลักษณะของการล้างบาปอยู่แล้ว และจุดหมายปลายทางของการล้างบาปโดยนัยของพระพุทธศาสนาก็เพื่อกำจัดกิเลสอาสวะให้หมดสิ้นไปจากใจ
-------------------------------------------------------------------
7) วัตถูปมสูตร, มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์, มก. เล่ม 17 หน้า 437.
GL 203 กฎแห่งกรรม
กลุ่มวิชาเป้าหมายชีวิต