การทำบุญละลายบาป
ก่อนที่จะศึกษาเรื่องการล้างบาปในหัวข้อต่อไป ในหัวข้อนี้อยากจะชี้ประเด็นสำคัญในเรื่องของการทำบุญละลายบาป ซึ่งมีการกล่าวถึงกันมากในหนังสือหลายเล่ม ที่เกี่ยวกับเรื่องกฎแห่งกรรม เพราะโดยทั่วไปแล้วจะเข้าใจว่า บาปที่เกิดจากการทำชั่ว มีผลเป็นวิบากแล้วนั้นไม่สามารถล้างได้ จึงเชื่อว่าบาปล้างไม่ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะหมายถึงบาปในลักษณะที่เป็นผล แต่ในกรณีของวิชากฎแห่งกรรมนั้น มิได้หมายถึงบาปในลักษณะดังกล่าวนั้น แต่หมายถึงการกำจัดกิเลสตัวก่อให้เกิดบาปอันเป็นความหมายในลักษณะที่เป็นเหตุ ซึ่งนักศึกษาจะได้มีความเข้าใจที่ตรงกัน
อย่างที่ทราบกันดีแล้วว่า แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงสอนให้คนละชั่ว ทำดี ทำจิตให้ผ่องใส เพื่อการกำจัดกิเลสอาสวะให้หมดสิ้นไป แต่ในการดำเนินชีวิตจริงของบุคคลทั่วไปไม่ได้ทำความดีแต่เพียงอย่างเดียวได้ตลอด แต่มักจะทำความดีปนความชั่วสลับกันไป ดังนั้นเวลากรรมส่งผล ก็จะส่งผลไม่ต่อเนื่อง จะส่งผลสลับปรับเปลี่ยนกันระหว่างบุญกับบาป ตามการกระทำของแต่ละบุคคล บางครั้งบางคนกำลังเจริญก้าวหน้าในชีวิต แต่บาปก็มาตัดรอนให้ชีวิตพบอุปสรรคแบบทันด่วน ทำให้เกิดคำถามที่กล่าวถึงกันมากนอกจากคำถามเรื่องการล้างบาป ในกรณีที่ทำความชั่วมากกว่าความดี คือ นึกถึงความดีไม่ค่อยออก จะมีวิธีแก้ไขอย่างไร เพื่อให้ชีวิตดำเนินไปได้อย่างมีความสุข เพราะบาปที่ทำไปแล้วไม่สามารถล้างได้ แม้จะยังไม่สามารถทำความดีให้ยิ่งยวดที่จัดอยู่ในขั้นล้างบาปได้ก็ตาม
โดยปรกติพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนให้ทำดีอย่างต่อเนื่อง จนความดีเต็มเปี่ยมสามารถกำจัดกิเลสตัวก่อบาปให้หมดสิ้นไปได้ จึงจะได้ชื่อว่าสิ้นสุดกิจของการเกิดมาเป็นมนุษย์ เพราะฉะนั้นวิธีแก้ไข บาปอกุศลที่ได้กระทำไปแล้วตามหลักพระพุทธศาสนา คือ ประการแรก ต้องเห็นโทษของบาปกรรมนั้น แล้วยอมรับผิดเสียก่อน และตั้งใจว่าจะไม่ทำผิดอย่างนั้นอีก วิธีการแก้ไขต่อไป คือ ต้องฝึกทำความดีให้มากขึ้น เพื่อให้คุ้นกับการทำความดีกระทั่งมีบุญมาก ทำให้ผลแห่งกรรมชั่วตามส่งผลไม่ทัน ดังที่ผู้รู้ในทางพระพุทธศาสนา ใช้คำว่า การละลายบาป แม้ยังล้างบาปตามนัยของพระพุทธศาสนาดังที่กล่าวมาแล้วได้ไม่หมด แต่สามารถละลายบาปให้เจือจางได้ เพราะหากไม่ทำดีให้ยิ่งขึ้นไปแล้ว โอกาสที่บาปจะส่งผลก็มีมาก เมื่อบาปส่งผลแล้วจะให้ทำความดีได้อย่างเต็มที่ก็เป็นเรื่องยาก วิธีการละลายบาปนี้ มีกล่าวไว้ใน โลณกสูตร8) ว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ต่างว่าคนใส่เกลือลงไปในถ้วยน้ำเล็กๆ หนึ่งก้อน ท่านทั้งหลายจะสำคัญว่ากระไร น้ำอันน้อยในถ้วยน้ำนั้นจะกลายเป็นน้ำเค็มไม่น่าดื่มไปเพราะเกลือก้อนนั้นใช่ไหม
ภิ. เป็นเช่นนั้น พระพุทธเจ้าข้า
พ. เพราะเหตุไร ภิ. เพราะเหตุว่า น้ำในถ้วยน้ำนั้นมีน้อย มันจึงเค็มได้ เพราะเกลือก้อนนั้น
พ. ต่างว่าคนใส่เกลือก้อนขนาดเดียวกันนั้นลงไปในแม่น้ำคงคา ท่านทั้งหลายจะสำคัญว่ากระไร น้ำในแม่น้ำคงคานั้นจะกลายเป็นน้ำเค็ม ดื่มไม่ได้เพราะเกลือก้อนนั้นหรือ
ภิ. หามิได้ พระพุทธเจ้าข้า
พ. เพราะเหตุอะไร
ภิ. เพราะเหตุว่า น้ำในแม่น้ำคงคามีมาก น้ำนั้นจึงไม่เค็มเพราะเกลือก้อนนั้น
พ. ฉันนั้นนั่นแหละ ภิกษุทั้งหลาย บาปกรรมแม้ประมาณน้อย บุคคลลางคนทำแล้ว บาปกรรมนั้นย่อมนำไปนรกได้ ส่วนบาปกรรมประมาณน้อย อย่างเดียวกันนั้น ลางคนทำแล้ว กรรมนั้นเป็นทิฏฐธรรมเวทนียกรรม ไม่ปรากฏผลมากต่อไปเลย
จากพระสูตรนี้ ทำให้ทราบวิธีการแก้ไขบาปที่เกิดจากการทำชั่วที่เรียกว่า การละลายบาป ก็คือ การตั้งใจทำความดีสั่งสมบุญให้มากเข้าไว้ ให้บุญกุศลนั้นมาเจือจางบาปลงไป การทำบุญอุปมาเสมือน เติมน้ำ ทำบาปอุปมาเสมือนเติมเกลือ เมื่อเราทำบาป บาปนั้นก็ติดตัวเราไป ไม่สูญหายไปไหน ไม่มีใคร ไถ่แทนได้ ฉะนั้นเราจะต้องหมั่นสร้างบุญกุศลให้มาก เพื่อมาเจือจางบาปให้หมดฤทธิ์ลงไปให้ได้ อุปมาเหมือนเกลือกับน้ำในแม่น้ำ แม้เกลือจะยังมีอยู่ไม่ได้สูญหายไปไหน แต่ก็ไม่มีผล
ถึงแม้ว่าจะเจือจางบาปด้วยความดีได้ ถึงอย่างนั้น บางคนแม้จะรู้ว่าอะไรเป็นความดี แต่ไม่ยอมทำหรือทำได้เพียงเล็กน้อยเพราะไม่อาจฝืนอำนาจกิเลสได้ การทำความดีให้มากๆ เพื่อไปละลายบาปกรรมจึงเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก ดังนั้นวิธีแก้ไขที่ดีที่สุดคือ อย่าทำบาป หรือพยายามทำบาปให้น้อยที่สุด ด้วยการมีสติพิจารณาผลดีผลเสียให้รอบคอบก่อนลงมือกระทำสิ่งใดลงไปทุกครั้ง
-------------------------------------------------------------------
8) โลณกสูตร, อังคุตรนิกาย ติกนิกาย, มก. เล่ม 34 หน้า 492.
GL 203 กฎแห่งกรรม
กลุ่มวิชาเป้าหมายชีวิต