แนวคิดเรื่องกฎแห่งกรรมของลัทธิความเชื่อต่างๆ

วันที่ 22 สค. พ.ศ.2558

 

แนวคิดเรื่องกฎแห่งกรรมของลัทธิความเชื่อต่างๆ

เป็นความจริงอย่างหนึ่งที่ว่า ต่างคนต่างความคิด ต่างคนต่างมีทิฏฐิความเชื่อเป็นของตน ที่คิดคล้ายๆ กันก็คบหาสมาคมกัน ที่คิดต่างกันก็แยกย้ายต่างคนต่างไป เพราะหมู่สัตว์คบหากันโดยธาตุ ขาดความทัดเทียมสมดุลทางด้านความคิดเห็น และความประพฤติในศีลธรรม ซึ่งก็เป็นอยู่เช่นนี้เสมอมาทุกยุคทุกสมัย แม้ในสมัยพุทธกาลก็เป็นเช่นนี้ มีทัศนะความเชื่อแตกต่างกันมากมาย ทิฏฐิของบางลัทธิก็ดี บางลัทธิก็ดูไร้เหตุผล ซึ่งพระองค์ตรัสรับรองทิฏฐิบางอย่างว่าดีก็มี ตรัสคัดค้านก็มี และความเห็นผิดที่แสดงออกมาอย่างชัดเจน ขัดแย้งกับเรื่องของกฎแห่งกรรมมีอยู่ 10 ประการ คือ

1) ทานที่ให้แล้วไม่มีผล

2) การสงเคราะห์เกื้อกูลไม่มีผล

3) การบูชาบุคคลที่ควรบูชาไม่มีผล

4) ผลวิบากแห่งกรรมที่สัตว์ทำดีทำชั่วไม่มี

5) โลกนี้ไม่มี

6) โลกหน้าไม่มี

7) มารดาไม่มี

8) บิดาไม่มี

9) อุปปาติกสัตว์ไม่มี

10) ในโลกนี้ไม่มีสมณพราหมณ์ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ ชนิดที่ทำให้แจ้งด้วยความรู้ยิ่งเอง แล้วประกาศโลกนี้และโลกหน้า

 

ทั้งหมดนี้เรียกว่า ความเห็นผิด หรือเรียกว่า มิจฉาทิฏฐิ ถ้าคนใดคิดเห็นเช่นนี้ก็จะเรียกว่า มิจฉาทิฏฐิบุคคล เพราะคนที่เห็นผิดไม่ได้คิดอย่างเดียวแต่เขาปฏิบัติตามความคิดของตนด้วย ซึ่งสามารถจัดกลุ่มแนวความคิดเห็นผิดๆ พวกนี้ออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่

1.  นัตถิกทิฏฐิ

นัตถิกทิฏฐิ มีความคิดเห็นว่า ผลของกรรมไม่มี ใจไม่มี กลุ่มนี้หลงถือว่าตนเป็นพวกหัวก้าวหน้า ช่างคิดหาเหตุผล แต่ทว่าดื้อรั้น ทำตัวเป็นข้าศึกต่อพระอรหันต์ มีความเห็นผิด

2. อกิริยทิฏฐิ

อกิริยทิฏฐิ มีความคิดเห็นว่า บุญและบาปไม่มี คือ ใครก็ตามที่ทำกรรมดีด้วยตนเองหรือสั่งให้ผู้อื่นทำ เขาก็ไม่ได้บุญ และใครก็ตามที่ทำกรรมชั่ว หรือสั่งให้ผู้อื่นทำ เขาก็ไม่ได้บาป ปฏิเสธ กฎแห่งกรรมและศีลธรรมอย่างสิ้นเชิง

3. อเหตุกทิฏฐิ

อเหตุกทิฏฐิ มีความคิดเห็นว่า ไม่มีเหตุปัจจัยที่ทำให้คนเราเศร้าหมองหรือบริสุทธิ์ ทุกข์หรือสุข จึงเห็นว่าชีวิตของคนเราแปรผันไปตามเคราะห์กรรม ความเกิดและภาวะ คือเชื่อดวง จึงไม่คิดพัฒนาตนด้วยกรรมดี หรือจะกล่าวว่ากรรมที่บุคคลทำไว้แล้วในอดีตไม่มีผลไปถึงในอนาคต ทุกอย่างมันเป็นไปของมันเอง เรามีหน้าที่อยู่นิ่งๆ เฉยๆ ก็พอ

 

ดังนั้น มิจฉาทิฏฐิเป็นเหตุให้ใจคนเรามืดมิดด้วยอำนาจกิเลส แล้วผลักดันบีบคั้นให้ก่อกรรมชั่วต่างๆ ซึ่งนอกจะก่อให้เกิดทุกข์ เกิดปัญหาสังคมในชาตินี้แล้ว ยังจะพาตนและเพื่อนร่วมชาติไปนรกในชาติหน้าอีกด้วย เพราะเหตุนี้พระพุทธองค์จึงตรัสว่ามิจฉาทิฏฐินั้นมีโทษยิ่งกว่าอกุศลธรรมใดๆ เป็นการแสดงความไม่รับผิดชอบต่อสิ่งใดๆ37) ทั้งปวง ปฏิเสธคัดค้านสิ่งดีๆ ทุกอย่าง

ทำไมเราจึงต้องเรียนรู้เรื่องมิจฉาทิฏฐิ มีหลักให้คิดอยู่ว่า คนที่คุ้นเคยกับความสกปรก เมื่อมีใครพูดสรรเสริญความสะอาด เขาก็จะจินตนาการไม่ออกว่า สิ่งที่เรียกว่าความสะอาดเป็นอย่างไร มีคุณประโยชน์จริงหรือไม่ประการใด ต่อเมื่อเขาได้เห็นทั้งสองสิ่ง คือความสกปรก และความสะอาดเปรียบเทียบ กันแล้ว เขาจะเข้าใจทันทีว่า ความสะอาดนี้ช่างมีคุณค่าเหลือหลาย โดยทำนองเดียวกันการที่บุคคลเกิดสัมมาทิฏฐิเห็นถูกอย่างถ่องแท้ ก็จำเป็นจะต้องเข้าใจเรื่องที่ทำให้เกิดความเห็นผิดอย่างถ่องแท้ด้วย มิฉะนั้นก็จะยังสงสัยลังเลทั้งคุณของสัมมาทิฏฐิ ทั้งโทษของมิจฉาทิฏฐิ

 

-------------------------------------------------------------------

37) ว่าด้วยมิจฉาทิฏฐิและสัมมาทิฎฐิ, อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต, มก. เล่ม 33 ข้อ 183 หน้า 182.

GL 203 กฎแห่งกรรม
กลุ่มวิชาเป้าหมายชีวิต

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.049860119819641 Mins