ประเภทของกรรมโดยสังเขป

วันที่ 22 สค. พ.ศ.2558

 

 ประเภทของกรรมโดยสังเขป

            โครงสร้างภาพรวมเรื่องกรรม มีความเป็นมาหลายยุคหลายสมัย เป็นเรื่องที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ซึ่งจุดกำเนิดอย่างจริงจังและระยะเวลาการสืบทอดดำรงคำสอนสืบต่อกันมาทางฝ่ายพระพุทธศาสนานั้น แบ่งออกเป็น 2 ยุค คือ

ยุคสมัยพุทธกาล นับจากวันตรัสรู้ธรรม ทรงค้นพบเรื่องราวความเป็นจริงของทุกชีวิตว่า เว้นจากพระพุทธองค์แล้วทุกหมู่สัตว์ล้วนตกอยู่ภายใต้กฎแห่งกรรม และเพราะอาศัยพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงสั่งสอนหมู่สัตว์ให้รู้แจ้ง จึงเป็นจุดกำเนิดความรู้เรื่องกรรมอย่างจริงจัง ซึ่งจากการศึกษาเรื่องราวที่ปรากฏในพระไตรปิฎก พบว่าทรงจำแนกกรรมออกมาในลักษณะการให้ผลของกรรมตามกาล เพราะประสงค์ให้เห็นว่าการให้ผลของกรรมนั้นยาวนาน ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 วาระ คือ

  • วาระที่ 1 ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม วาระการให้ผลกรรมในอัตภาพปัจจุบัน คือ อัตภาพในชาตินี้ เช่น มนุษย์ เทวดา สัตว์เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย เป็นต้น กรรมจะให้ผลในอัตภาพปัจจุบันทันทีหลังจาก ที่ทำ เช่น อาชญากรทั้งหลายที่ถูกจับตาย หรือผึ้งหลังจากต่อยแล้วตัวเองก็ตายทันทีเหมือนกัน ฉะนั้น เมื่อทำกรรมแล้ว ผลของกรรมจะเริ่มนับหนึ่งที่ปัจจุบันชาติแล้วก็ส่งผลต่อๆ ไป
  • วาระที่ 2 อุปปัชชเวทนียกรรม วาระการให้ผลกรรมในอัตภาพหน้า คือ อัตภาพใหม่หลังจากละโลก เช่น อัตภาพปัจจุบันเป็นมนุษย์ เมื่อละโลกไปบังเกิดเป็นเทวดา อัตภาพเทวดาคืออัตภาพใหม่
  • วาระที่ 3 อปรปริยายเวทนียกรรม วาระการให้ผลกรรมในอัตภาพต่อๆ ไป คือ อัตภาพใหม่ที่เวียนเกิดเวียนตายต่อๆ ไป จนกว่าจะหมดสิ้นกิเลสจึงถือว่ายุติการให้ผลของกรรม เช่น เมื่อจุติจากเป็นเทวดามาเกิดเป็นมนุษย์ อัตภาพมนุษย์คืออัตภาพใหม่ต่อจากอัตภาพเทวดา และเมื่อละจากอัตภาพมนุษย์นี้แล้วอาจจะไปบังเกิดในกำเนิดอะไรได้อีกต่างๆ นานา ขึ้นอยู่กับลำดับผลกรรมจะเป็นกระแสนำไปเกิด

 

ยุคหลังพุทธกาล นับจากวันปรินิพพานจนถึงปัจจุบัน ในช่วงที่พระพุทธองค์ยังทรงพระชนมชีพทรงสั่งสอนมนุษย์และเทวดาให้หลุดพ้นเป็นจำนวนมาก เมื่อปรินิพพานแล้วยังหลงเหลือผู้สืบทอดพระธรรม คำสั่งสอนสืบต่อมา บางท่านมีความรู้แตกฉานในปริยัติธรรม และเกิดร่วมสมัยกับพระพุทธองค์ แต่บางท่าน เกิดภายหลัง กระนั้นก็ตามก็ได้อธิบายพุทธพจน์ให้กับคนรุ่นหลังได้รับฟังศึกษาอย่างเข้าใจ พระภิกษุสงฆ์ ผู้เป็นศาสนทายาทและเหล่าคณาจารย์หลายกลุ่มหลายท่านได้ช่วยกันเผยแผ่คำสอนอรรถาธิบาย พุทธพจน์อย่างระมัดระวัง ในเรื่องกรรมและการให้ผลของกรรมนี้ สืบทอดมาจนปัจจุบันโดยท่านได้จำแนกกรรมออกเป็น 12 อย่าง33) ดังนี้

1) ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม คือ กรรมให้ผลในปัจจุบันชาติ หมายถึง กรรมดี กรรมชั่วให้ผลในปัจจุบันชาติ

2) อุปปัชชเวทนียกรรม คือ กรรมให้ผลในชาติหน้า หมายถึง กรรมดี กรรมชั่วให้ผลในชาติหน้า

3) อปรปริยายเวทนียกรรม คือ กรรมให้ผลในชาติต่อๆ ไป หมายถึง กรรมดี กรรมชั่วให้ผลในชาติต่อๆ ไป

4) อโหสิกรรม คือ กรรมเลิกให้ผล หมายถึง กรรมดี กรรมชั่วไม่มีโอกาสให้ผล กรรมชนิดนี้จะกล่าวคู่กับการให้ผลของกรรมข้อที่ 1, 2, 3 จึงจัดเป็นกรรมอีกอย่างหนึ่ง

5) ครุกกรรม คือ กรรมหนัก หมายถึง กรรมดีหรือกรรมชั่วที่ทำหนักมาก

6) พหุลกรรม หรือ อาจิณณกรรม หมายถึง กรรมดีหรือกรรมชั่วที่ทำบ่อยจนเสพคุ้น

7) ยทาสันนกรรม คือ กรรมใกล้ตาย หมายถึง กรรมดีหรือกรรมชั่วที่ทำให้ระลึกถึงตอนใกล้ตาย

8) กฏัตตาวาปนกรรม คือ กรรมสักแต่ว่าทำ หมายถึง กรรมดีหรือกรรมชั่วที่ทำไปโดยไม่รู้ไม่เจตนา

9) ชนกกรรม คือ กรรมนำไปเกิด กล่าวคือ กรรมดีหรือกรรมชั่วนำไปเกิด

10) อุปัตถัมภกกรรม คือ กรรมสนับสนุน หมายถึง กรรมดีหรือกรรมชั่วสนับสนุน

11) อุปปีฬกกรรม คือ กรรมบีบคั้น กล่าวคือ กรรมดีหรือกรรมชั่วบีบคั้น

12) อุปฆาตกกรรม คือ กรรมตัดรอน กล่าวคือ กรรมดีหรือกรรมชั่วตัดรอน

 

ต่อมาในราวพุทธศตวรรษที่ 10 อรรถกถาจารย์คนสำคัญของยุค คือ พระพุทธโฆษาจารย์ ภิกษุชาวแคว้นมคธ ประเทศอินเดีย ด้วยความที่ท่านเป็นบัณฑิตนักปราชญ์มีความรู้แตกฉานในปริยัติธรรม หลังจากบวชในบวรพระพุทธศาสนาได้ไม่นาน ก็ได้รับคำแนะนำจากพระเรวตเถระให้ไปประเทศศรีลังกา เพื่อแปลอรรถกถาพระไตรปิฎกฉบับภาษาสิงหลเป็นภาษามคธ ท่านถูกพระสังฆปาลมหาเถระชาวศรีลังกาทดสอบความรู้ทางพระพุทธศาสนาโดยให้แต่งอธิบายคาถา 2 บท

(สีเล ปติฏฺฐาย นโร สปญฺโญ จิตฺตํ ปญฺญญฺจ ภาวยํ

อาตาปี นิปโก ภิกฺขุ โส อิมํ วิชฏเย ชฏํ

นรชนผู้มีปัญญา เป็นภิกษุมีความเพียรมีสติปัญญาเครื่องบริหาร ตั้งตนในศีลแล้ว

ทำสมาธิจิต และปัญญาให้เจริญอยู่ เธอพึงถางรกชัฏนี้เสียได้)

และด้วยคาถา 2 บทนี้ จึงเกิดคัมภีร์วิสุทธิมรรค อันเป็นตำราสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่อธิบายเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา อย่างละเอียด ซึ่งในตำราเล่มนี้ท่านได้จัดโครงสร้างภาพรวมของกรรม โดยจำแนกกรรมทั้ง 12 ประการ จัดเป็นหมวดหมู่ 3 ประเภท34) ดังนี้

ประเภทที่ 1กรรมให้ผลตามกาล มี 4 อย่าง คือ

1) ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม กรรมให้ผลในปัจจุบันชาติ

2) อุปปัชชเวทนียกรรม กรรมให้ผลในชาติหน้า

3) อปรปริยายเวทนียกรรม หรืออปราปริยเวทนียกรรม กรรมให้ผลในชาติต่อๆ ไป

4) อโหสิกรรม คือ กรรมเลิกให้ผล หรือไม่ได้โอกาสให้ผล

ประเภทที่ 2 กรรมให้ผลตามลำดับกำลัง มี 4 อย่าง คือ

1) ครุกรรม หรือครุกกรรม กรรมหนัก

2) อาจิณณกรรม หรือพหุลกรรม กรรมทำบ่อยจนเสพคุ้น

3) อาสันนกรรม หรือยทาสันนกรรม กรรมใกล้ตาย

4) กตัตตากรรม หรือกฏัตตาวาปนกรรม กรรมสักแต่ว่าทำ หมายถึง กรรมทำไปโดยไม่รู้

ประเภทที่ 3 กรรมให้ผลตามหน้าที่ มี 4 อย่าง คือ

1) ชนกกรรม กรรมทำหน้าที่นำไปเกิด

2) อุปัตถัมภกกรรม กรรมทำหน้าที่สนับสนุน

3) อุปปีฬกกรรม กรรมทำหน้าที่บีบคั้น

4) อุปฆาตกกรรม กรรมทำหน้าที่ตัดรอน

ดังจะเห็นได้ว่าโครงสร้างภาพรวมของกรรมและการให้ผลของกรรมมีความเป็นมา 3 ช่วงสำคัญๆ ซึ่งได้ยึดถือเป็นเนติแบบแผนสำหรับวางแนวทางการศึกษาเรื่องกฎแห่งกรรมตราบจนกระทั่งปัจจุบันนี้

 

-------------------------------------------------------------------

33) ชื่ออรรถกถาที่กล่าวถึงกรรม 12 ได้แก่ 1) อรรถกถานิทานสูตร, มโนรถปูรณี อรรถกถาอังคุตตรนิกาย ติกนิกาย 2) สัทธัมมปกาสินี, อรรถกถาขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เป็นต้น.
34) ปรีชา คุณาวุฒิ, พุทธปรัชญาเรื่องกรรมและการให้ผลของกรรม, (วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2521.)

GL 203 กฎแห่งกรรม
กลุ่มวิชาเป้าหมายชีวิต

 


 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0034441351890564 Mins