อัจฉริยะสร้างได้

วันที่ 29 สค. พ.ศ.2558

 

อัจฉริยะสร้างได้


            คำว่า “ อัจฉริยะ ” หมายถึง ผู้ที่มีความรู้ความสามารถด้านใดด้านหนึ่งหรือหลายๆด้านเหนือกว่าระดับปรกติ บุคคลใดเก่งกาจ มีความสามารถในทางใดเป็นพิเศษ ก็จะได้รับการยกย่องให้เกียรติเป็นอัจฉริยะ สำหรับในพระพุทธศาสนาก็มีความเป็นอัจฉริยะอยู่มากมายหลายแบบเช่นกัน ซึ่งเราเรียกว่า “ เอตทัคคะ ” หรือผู้เป็นเลิศในด้านต่างๆ เช่นพระสารีบุตรเป็นเอตทัคคะทางด้านมีปัญญามาก พระมหาโมคคัลลานะ เป็นเอตทัคคะทางด้านมีฤทธิ์มาก พระอนุรุทธะเป็นเอตทัคคะทางด้านมีตาทิพย์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา อีกมากมาย ที่เป็นเลิศในด้านต่างๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเกิดขึ้นจากการสร้างและฝึกฝนตนเองกันทั้งสิ้น เป็นการสั่งสมจากอดีตชาติ ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันชาติ 


การฝึกฝนตนเองให้เป็นอัจฉริยะนั้น แม้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ โดยยึดหลัก 3 ประการคือ
            ประการแรกต้องมีความมุ่งมั่นปรารถนา ที่อยากจะเป็นเลิศในด้านนั้นๆ อย่างแท้จริง ไม่ใช่ว่าวันนี้อยากเป็น พรุ่งนี้เลิกแล้ว แบบนี้ยังไม่ใช่ เพราะความปรารถนาที่แท้จริงนั้นจะต้องมั่นคง และมีพลังมากพอที่จะทำให้เราเอาชนะอุปสรรคต่างๆได้ อย่างนี้จึงจะมีสิทธิ์ ซึ่งในพระพุทธศ่าสนาของเรา เอตทัคคะส่วนใหญ่มักจะเกิดจากการที่ได้เห็นบุคคลต้นแบบในสมัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ เช่นได้เห็นว่า มีพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ได้รับการยกย่องจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าเป็นเลิศ เช่น ด้านการแสดงธรรม เมื่อเห็นแล้วก็อยากจะเป็นอย่างนั้นบ้าง เกิดแรงบันดาลใจ จึงตั้งจิตอธิษฐานว่า ด้วยบุญกุศลทั้งหลายที่ข้าพเจ้าได้กระทำมาขอให้ได้เป็นเลิศด้านการแสดงธรรมในสมัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่งในอนาคตกาลเถิด จากนั้นก็ตั้งใจฝึกฝนอบรมตนเองข้ามภพข้ามชาติ ยาวนานนับแสนกัปเลยทีเดียว สุดท้ายก็สำเร็จสมปรารถนา ในยุคนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราได้พบเจอบุคคลที่มีความสามารถโดดเด่น จนเกิดความรู้สึกประทับใจ อยากจะเป็นอย่างเขาเหลือเกิน พร้อมจะตั้งใจทุ่มเทฝึกฝนตัวเอง พร้อมจะเอาจริงเอาจังทำให้ได้ เช่นนี้เรียกว่าเกิดแรงบันดาลใจ


            ประการที่สอง การฝึกตัวเองอย่างทุ่มเท ฝึกอย่างจริงจัง จะทำให้เราสามารถพัฒนาศักยภาพตัวเองขึ้นมาได้ ตัวอย่างเช่น ดิสราเอลี ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีท่านหนึ่งของอังกฤษ มีผลงานโดดเด่นมาก และเป็นผู้ที่มีวาทศิลป์ สามารถสะกดผู้ฟังได้ด้วยประเด็นที่แม่นยำเฉียบแหลม แต่เชื่อไหมว่าตั้งแต่เด็กจนโต ดิสราเอลีเป็นคนพูดติดอ่าง ซึ่งทำให้เขาอึดอัดใจมากเพราะเขาอยากเล่นการเมือง อยากจะเป็นผู้นำประเทศ แต่คนพูดติดอ่างอย่างนี้จะเป็นได้อย่างไร ดิสราเอลรจึงไปเก็บตัวอยู่ในถ้ำ เพื่อจะฝึกสติแก้ไขการพูดติดอ่างให้ได้ เขาเอาดาบแขวนไว้รอบตัว เพื่อบังคับตัวเองให้ยืนนิ่ง เพราะถ้าขยับตัวก็จะถูกดาบคมๆบาดเอา เรียกว่าต้องตั้งสติให้ดี ต้องนิ่ง ทั้งใจและกาย เมื่อนิ่งแล้วจึงค่อยพูดออกมา ในที่สุดเขาก็สามารถเอาชนะการพูดติดอ่างได้ กลายเป็นผู้ที่มีวาทศิลป์เป็นเลิศ


            เรื่องราวของดิสราเอลี ที่พัฒนาตนเองจากคนที่พูดติดอ่างมาเป็นผู้นำประเทศที่มีวาทศิลป์เป็นเลิศได้ เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าอัจฉริยะสร้างได้แน่นอน เราเองก็มีสิทธิ์จะทำได้ ถ้าเราเอาจริง อีกตัวอย่างหนึ่งคือ “ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ” ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ฉลาดที่สุดในโลกในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา แต่เชื่อไหมว่าตอนเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาไอน์สไตน์เคยถูกให้ออกจากโรงเรียน เพราะครูเห็นว่าไอน์สไตน์หัวทึบ ไม่สามารถเล่าเรียนได้ แต่โชคดีที่แม่ของเขามีความเข้าใจในตัวเขา จึงค่อยๆสอนไอน์สไตน์ จนกระทั่งเขาสามารถเรียนได้ และกลายเป็นอัจฉริยะของโลกในที่สุด


            คุณสมบัติอย่างหนึ่งของไอน์สไตน์ ที่เสริมให้เขาเป็นอัจฉริยะได้ก็คือ เวลาเขาคิดเรื่องอะไร ใจเขาจะจดจ่ออยู่เพียงเรื่องเดียว มีคราวหนึ่งไอน์สไตน์ซึ่งเป็นนักฟิสิกส์ชั้นหนึ่งแล้วในขณะนั้น ได้มีธุระไปเสียภาษีที่อำเภอ ขณะกำลังยืนต่อแถวรอคิวอยู่นั้น ใจเขาก็คิดถึงเรื่องโจทย์ฟิสิกส์ไป พอมาถึงคิวของเขา เสมียนก็ถามว่าคุณชื่ออะไร ไอน์สไตน์งง ตอบไม่ได้ เพราะใจกำลังจดจ่อกับโจทย์ฟิสิกส์อยู่นั่นเอง เขาจึงถูกให้ไปต่อท้ายเข้าคิวใหม่ ซึ่งไอน์สไตน์ก็ต้องยอมไปเพราะคิดไม่ออกว่าตัวเองชื่ออะไร นี่คือสิ่งที่บ่งบอกว่า เมื่อไอน์สไตน์คิดเรื่องอะไร เขาจะทุ่มไปทั้งตัวทั้งใจ อยู่กับสิ่งที่เขาคิด ขนาดให้คิดชื่อตัวเองกะทันหัน ยังนึกไม่ออกเลย ความเป็นอัจฉริยะนั้นสร้างได้ แต่ที่คนส่วนใหญ่ไปไม่ถึงจุดนั้นก็เพราะยังไม่ได้ทุ่มจริงๆ ยังไม่ได้เอาจริง มัวแต่ทำเรื่องนี้นิดทำเรื่องนั้นหน่อย กระโดดไปกระโดดมา ถ้าเราอยากจะค้นพบสิ่งที่สำคัญ อยากจะเป็นอัจฉริยะเหมือนไอน์สไตน์ เราก็ต้องมีใจจดจ่อมีสมาธิตั้งมั่น ในสิ่งที่เราทำ แล้วเราจะสามารถดึงเอาศักยภาพในตัวมาใช้ได้อย่างเต็มที่
ถ้าเราสังเกตดูเด็กทารกเกิดใหม่ นัยน์ตาเขาจะลืมโพลง เห็นตาแป๋วสดใส เพราะเขาอยากรู้อยากเห็นสิ่งรอบตัวไปหมดทุกอย่าง เขาจะพยายามสังเกต ฟังเสียง มองริมฝีปากคนที่พูดกับเขา แล้วค่อยๆจับความหมายของเสียงและถ้อยคำต่างๆ จนรู้ว่า อ๋อ นี่คือคำเรียก “ แม่ ” นี่คือคำเรียก “ พ่อ ” ค่อยๆเรียนรู้ทุกอย่างไป เพียงไม่นานเด็กก็รู้ภาษาสามารถพูดได้ ในเวลาเพียง 1-2 ปีเท่านั้น ในขณะที่การเรียนภาษาของคนที่โตแล้ว บางทีเข้าโรงเรียนภาษาตั้งหลายปีก็ยังพูดไม่คล่อยเลย การที่เด็กเล็กๆ เรียนรู้ภาษาได้เร็วมาก เป็นเพราะว่าเขามีความตื่นตัว พร้อมจะเรียนรู้ทุกอย่างนั่นเอง ตัวเราเองก็เช่นกัน ถ้าใจของเรามีความพร้อมในการเรียนรู้ เราก็สามารถจะเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้มากมาย แต่เมื่อไรเราปิดใจตัวเอง คิดว่าเรารู้มากแล้ว อัตราการเรียนรู้และการฝึกของเราจะลดลงไปทันที ฉะนั้นขอให้รักษาสภาพใจของเราเองให้เหมือนเด็ก ตื่นตัว เปิดใจ พร้อมจะเรียนรู้ตลอดเวลา 


            ประการที่สาม ในการฝึกฝนตนเองให้เป็นอัจฉริยะนั้น เราต้องไม่ดูถูกดูหมิ่นใคร จะขอยกตัวอย่างในครั้งพุทธกาล มีพระภิกษุรูปหนึ่งชื่อว่า “ จุลปันถก ” ท่านมีพระพี่ชายเป็นพระอรหันต์ชื่อ “ มหาปันถก ” พระพี่ชายของท่านตั้งใจจะฝึกสอนท่านให้เป็นพระอรหันต์เช่นกัน ปรากฏว่าแค่สอนคาถาบทเดียว ซึ่งมีอยู่เพียง 4 บาท บาทหนึ่งก็มีความยาวเพียงครึ่งบรรทัด เวลาผ่านไป 4 เดือน พระจุลปันถก ก็ยังไม่สามารถท่องคาถาได้แม้แต่บาทเดียว เมื่อพระพี่ชายเห็นว่าพระจุลปันถกหัวทึบเกินไป คงไม่มีวาสนาในการบวชท่านจึงบอกให้พระน้องชายลาสิกขาไปเสีย


            พระจุลปันถกจำต้องทำตามคำของพระพี่ชาย ด้วยความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ แต่ในขณะที่ท่านจะไปลาสิกขานั่นเอง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเห็นจึงตรัสถามว่า “ เธอจะไปไหน ” พระจุลปันถกกราบทูลว่า “ จะมาลาสิกขาพระเจ้าข้า ” พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสบอกว่า “ ไม่ต้องแล้ว ” พร้อมทั้งประทานผ้าขาวให้ผืนหนึ่ง ตรัสบอกให้พระจุลปันถกถือผ้าขาวนี้แล้วก็ลูบไปพร้อมกับภาวนาไปด้วยว่า “ ระโชหะระณัง ระโชหะระณัง ” แปลว่า “ นำธุลีออก นำธุลีออก ” เมื่อไม่ต้องลาสิกขา อีกทั้งได้รับความเมตตาจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเช่นนี้พระจุลปันถกก็ดีใจ เอาผ้าขาวมาลูบๆ พร้อมทั้งเจริญภาวนาอย่างมีความสุข จนเวลาผ่านไปหลายชั่วโมง ผ้าขาวก็เริ่มหมองเกิดรอยเปื้อนจากเหงื่อไคล พระจุลปันถกพิจารณาดูผ้าที่เคยขาวบริสุทธิ์ เมื่อถูกมือของท่านจับต้อง ก็กลับกลายเป็นผ้าหมอง เปรอะเปื้อน ท่านจึงเกิดความเข้าใจกระจ่างว่า ร่างกายเป็นสิ่งที่ไม่สะอาด เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา


           เมื่อใจเริ่มคลายจากการยึดมั่นถือมั่น ก็เป็นสมาธิตั้งมั่นมั่นคงขึ้นตามลำดับ จากนั้นเจริญวิปัสสนากรรมฐาน จนสุดท้ายหมดกิเลสบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาญาณ 4 คือ แตกฉานในอรรถ ในธรรม ในนิรุตติคือเรื่องของภาษา และในปฏิภาณการแสดงธรรม พรั่งพร้อมทุกประการ ท่านยังได้รับการยกย่องจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าเป็นเลิศทางด้านมโนมยิทธิคือ มีฤทธิ์ทางใจ เหตุที่พระจุลปันถก ใช้เวลาเล่าเรียนฝึกฝนถึง 4 เดือน แต่กลับท่องคาถาไม่ได้แม้แต่บาทเดียว เป็นเพราะในอดีตชาติท่านเป็นพระภิกษุที่ฉลาดมาก ท่านเห็นเพื่อนพระภิกษุรูปหนึ่งพยายามจะร่ำเรียนพระพุทธวจนะ แต่แล้วก็จำไม่ได้เพราะปัญญาทึบ ท่านเลยหัวเราะเยาะเพื่อนว่าโง่ วิบากกรรมนั้นเอง ทำให้ชาตินี้ท่านปัญญาทึบ คาถาบาทเดียวใช้เวลาถึง 4 เดือนก็ท่องจำไม่ได้ ต้องเป็นทุกข์อยู่นานจนกระทั่ง ได้ปฏิบัติธรรมตามคำแนะนำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงสามารถแทงตลอดทำลายกิเลสทั้งปวงลงได้ วิบากกรรมนั่นจึงหมดไป กลายเป็นพระอรหันต์ที่พรั่งพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาญาณ 4 ครบถ้วนบริบูรณ์ แล้วก็เป็นเลิศทางด้านมโนมยิทธิ


            เพราะฉะนั้นถ้าเห็นใครเขาด้อยกว่าเรา อย่าดูถูกดูหมิ่นเขาเป็นอันขาด จะเกิดวิบากกรรม เกิดตั้งแต่เริ่มคิด ยิ่งถ้าพูดออกไปวิบากกรรมยิ่งหนัก ถ้าเราดูหมิ่นคนอื่น ภาพของคนคนนั้นจะปรากฏขึ้นในใจของเราเอง ยิ่งดูหมิ่นมากยิ่งตอกย้ำ แล้วสิ่งนั้นจะกลายเป็นผังของเราเอง ฉะนั้นอย่าไปดูถูกดูหมิ่นใครม่ว่าเรื่องใด เห็นใครพูดติดอ่างหรือเขาทำอะไรได้ไม่ดี ก็อย่าไปดูถูกดูหมิ่นเขาเป็นอันขาด วางใจเรานิ่งๆเฉยๆ เพราะว่าตัวเราเองก็มีข้อบกพร่องมากมาย ที่จะต้องฝึกตัวเองให้ดีขึ้นเช่นกัน ให้ดูแต่เพียงว่า คนอื่นเขามีอะไรดี แล้วชื่นชมอนุโมทนาและน้อมนำมาเป็นแบบอย่างเราจะได้ฝึกตัวเองให้ดีขึ้นในทุกๆด้าน ถ้าทำได้อย่างนี้ เราจะเป็นที่รวมของความดีความสามารถประหนึ่งมหาสมุทรเป็นที่รวมของน้ำฉันนั้น ความเป็นเลิศความเป็นอัจฉริยะนั้น เป็นเรื่องของสมองซึ่งเกี่ยวเนื่องกับใจ สมองเป็นเหมือนเครื่องมือของใจ ใจเป็นตัวควบคุมและใช้งานสมอง ดังคำว่า “ ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว ” สมองเป็นส่วนหนึ่งของกายจึงเป็นบ่าวไปด้วย ถ้าจะเปรียบแล้วสมองเป็นเหมือนคอมพิวเตอร์ ส่วนใจคือ User เป็นผู้ใช้ผู้สั่งงาน คอยกำกับดูแลทุกอย่าง และสมองเป็นเครื่องมือที่พัฒนาตัวเองได้ ใช้ทำอะไรบ่อยๆ ก็จะสามารถพัฒนาตัวเองให้มีประสิทธิภาพในการทำงานนั้นๆ ได้ดีขึ้น


            แต่หลักจริงๆนั้นอยู่ที่ใจ ถ้าเราหมั่นฝึกอบรมจิตใจของเราให้ดีงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราได้ปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง อันเป็นการฝึกฝนใจให้มีพลัง ให้ผ่องใสสิ่งเหล่านี้คือคุณภาพของใจที่จะติดตัวเราไปข้ามภพข้ามชาติได้ เป็นสมบัติที่สั่งสมไว้ในใจนับล้านชาติ อสงไขยชาติ ก็ยังเก็บไว้ในใจดวงนี้ได้ เมื่อทราบอย่างนี้แล้ว ก็ขอให้เราเชื่อมั่นว่า ไม่ว่าเราจะเกิดมามีสมองและใจเป็นอย่างไร ทุกคนล้วนฝึกฝน พัฒนาให้ดีขึ้นได้ โดยใช้ศักยภาพของสมองและใจที่เรามีอยู่นี้เป็นต้นทุน ขอเพียงเราได้ฝึกฝน ใช้สิ่งที่มีอยู่เต็มที่ แค่นี้ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จในชีวิต แม้แต่ความเป็นอัจฉริยะในด้านต่างๆ เราก็สามารถพัฒนาไปถึงได้ ถ้าเรามีความมุ่งมั่นปรารถนาในสิ่งนั้นอย่างแท้จริง


            ฉะนั้น อย่าไปกังวลเลยว่าตัวเรานั้น แก้ไขอะไรไม่ได้ เอาไว้ค่อยแก้ไขในชาติหน้าก็แล้วกัน อย่าไปคิดอย่างนั้น เพราะเราทุกคนยังมีสิ่งที่ดีๆ อีกมากมายที่ยังไม่ได้นำออกมาใช้ ตอนนี้เรายังใช้ไม่ถึง 10 % เท่านั้นเอง แต่เราสามารถพัฒนาศักยภาพในตัวของเราได้ โดยยึดหลักทั้ง 3 ประการนี้คือ 


1.    มีความมุ่งมั่นปรารถนาจริงๆ
2.    ฝึกตัวเองอย่างทุ่มเท มีใจจดจ่ออย่างต่อเนื่อง เอาจริงเอาจัง
3.    ไม่ดูถูกดูหมิ่นใคร มองเห็นข้อดีของผู้อื่นและศึกษาเรื่องราวของคนดีที่ประสบความสำเร็จในชีวิต เพื่อเป็นแบบอย่างในใจเรา 
ถ้ายึดหลัก 3 ประการนี้ เราจะเป็นอัจฉริยะไม่ใช่แค่ด้านเดียว แต่จะเป็นอัจฉริยะรอบด้านเลยทีเดียว

----------------------------------------------------------------------------------

หนังสือ " ทันโลกทันธรรม 2  "

พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0090006510416667 Mins