การเอาชนะความวิตกกังวล
ความวิตกกังวล เกิดจากการคิดสมมุติ ยกตัวอย่างเช่น คิดสมมุติว่า ถ้าเกิดธุรกิจการงานเราผิดพลาดล้มเหลวทรัพย์สินเงินทองของเราหมดไป ก็จะเกิดความวิตกกังวลว่า ชีวิตจะต้องลำบาก ลูกเต้าจะทำอย่างไร หรือคิดสมมุติว่า ถ้ามีอุบัติเหตุเกิดขึ้นจะทำอย่างไร ถ้าโจรมาปล้นจะทำอย่างไร ถ้าสุขภาพไม่ดีเกิดป่วยเป็นโรคมะเร็งจะทำอย่างไร ฯลฯ การคิดสมมุติไปในทางร้าย ก็จะเกิดเป็นความวิตกกังวล
ความกังวลกับความไม่ประมาทอาจจะดูคล้ายกัน แต่แท้จริงนั้นไม่เหมือนกัน ความไม่ประมาทคือ การมองไปข้างหน้า พิจารณาถึงความเป็นไปได้ต่างๆ แต่เป็นการคิดอย่างมีสติ แล้วไตร่ตรองด้วยปัญญา เมื่อไตร่ตรองพินิจพิจารณาทุกอย่างอย่างรอบคอบดีแล้วจึงตัดสินใจ เมื่อตัดสินใจไปแล้ว จะไม่กังวล จะมุ่งมั่นเดินหน้าต่อไปเพื่อ ทำให้สำเร็จตามนั้น ไม่ว่าจะมีความพร้อมมากน้อยเพียงใดก็ตามแต่ คนขี้กังวลจะคิดกลับไปกลับมาเหมือนเดินหน้าถอยหลังอยู่อย่างนั้น คือพอคิดจะทำอะไรก็จะมีความคิดแทรกขึ้นมาในทำนองว่า ถ้าไม่เป็นอย่างที่คิด ถ้าเกิดเหตุไม่คาดฝัน ถ้ามีผลกระทบเรื่องนั้นเรื่องนี้จะทำอย่างไร จะกังวลคิดวนไปวนมา นี่คือความวิตกกังวล ดังนั้นความไม่ประมาทกับความวิตกกังวลจึงไม่เหมือนกัน
ความวิตกกังวลทำให้เกิดความกลัวจนไม่กล้าที่จะทำอะไร เคยมีการทดลองกับลิง โดยธรรมชาติลิงจะมีความว่องไว สามารถกระโดดจากต้นไม้ต้นหนึ่งไปยังอีกต้นหนึ่งได้อย่างคล่องแคล่วเขาทำการทดลองดังนี้ คือ นำต้นไม้คล้ายๆต้นไผ่ ที่โยกได้ ลำต้นไม่แข็งมาก นำมาตั้งเรียงๆกันหลายๆต้น เว้นระยะพอดีๆ ให้อยู่ในระยะที่ลิงกระโดดได้สบายๆ แต่พอลิงกระโดดจากต้นหนึ่งไปยังอีกต้นหนึ่ง คนที่คุมอยู่ตรงโคนต้นก็จะโยกต้นหลบ ลิงก็คว้าไม่ถึง ตกลงพื้น แม้จะไม่สูงนัก แต่ก็พอรู้สึกเจ็บบ้างเมื่อลิงไต่ขึ้นไปใหม่ แล้วกระโดดอีก เขาก็โยกต้นไม้หลบ ลิงก็ตกลงมาอีก ปรากฏว่าผ่านไป 3-4 ครั้งเท่านั้น เจ้าลิงเกาะต้นไม้แน่นเลย มันไม่กล้ากระโดดแล้ว เพราะกลัวตก
เรื่องนี้ทำให้รู้ว่า ไม่ว่าคนหรือสัตว์ก็ตาม การที่จะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้สำเร็จได้นั้น นอกจากจะต้องมีความสามารถแล้ว จะต้องมีความเชื่อมั่นด้วยว่าเราทำได้ เพราะถ้าหากขาดความเชื่อมั่น ก็เหมือนลิงที่ถูกแกล้ง จนเกิดความกลัว ทั้งที่ความคล่องแคล่วยังมีเหมือนเดิม แต่กลับไม่กล้ากระโดด เพราะกลัวตก นี่คือ ผลของความวิตกกังวล ซึ่งคอยบั่นทอนการดำเนินชีวิต
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงวางหลัก 5 ประการ เรียกว่า เวสารัชชกรณธรรม ธรรมที่ทำให้เกิดความกล้าหาญเพื่อให้เราสามารถเอาชนะความวิตกกังวลให้ได้ดังนี้
ประการที่ 1 คือ ศรัทธา เราต้องมีศรัทธามีความเข้าใจเรื่องกฏแห่งกรรม เรื่องของโลกนี้โลกหน้า เรื่องของบุญบาป เพราะถ้าหากไม่เข้าใจเรื่องดังกล่าวนี้แล้ว ความคิดก็จะคับแคบ คิดได้แต่เรื่องสมมุติที่นำความวิตกกังวลมา วนเวียนอยู่กับเรื่องเฉพาะหน้าในโลกนี้ ต่อให้เป็นมหาเศรษฐี ก็กังวลว่า ถ้าจนลงจะทำอย่างไรดี ถ้าธุรกิจการค้าผิดพลาดขึ้นมาจะทำอย่างไรดี
ถ้ากรอบความคิดมีเพียงแค่ชาตินี้ย่อมหาหลักประกันในชีวิตได้ยาก แต่ถ้าเข้าใจถึงโลกหน้า เรื่องบุญเรื่องบาป เรื่องกฏแห่งกรรมเมื่อไร ก็เหมือนกับว่า มีบริษัทประกันที่มีความมั่นคงอันดับหนึ่งในจักรวาลให้พึ่ง เป็นบริษัทประกันที่มีความเที่ยงตรง ให้ผลตอบแทนแน่นอน ละโลกไปแล้วยังตามให้หลักประกันได้อีก ไม่เฉพาะเรื่องทรัพย์เท่านั้น แต่รับประกันทุกสิ่งทุกอย่าง ให้ประสบความสุขตามที่พึงปรารถนาอีกด้วย
ขอยกตัวอย่างเรื่องของพระมหากัปปินะ ซึ่งก่อนออกบวชท่านเป็นกษัตริย์ ต่อมาเมื่อทราบว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นแล้วในโลก พระมหากัปปินะก็สละราชสมบัติแล้วออกบวชเป็นพระภิกษุ วันหนึ่งท่านเดินจงกรมอยู่ในป่า เดินไปพลางก็อุทาน “ สุขจริงหนอ สุขจริงหนอ ” จนเพื่อนพระภิกษุแปลกใจ นึกว่าท่านติดสุข นึกถึงสุขในสมัยที่เป็นกษัตริย์อยู่ พากันมากราบทูลพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงทราบอยู่แล้วด้วยญาณทัสนะ แต่เพื่อให้เรื่องนี้เป็นแบบอย่างกำลังใจแก่พระภิกษุที่ยังไม่บรรลุธรรม พระพุทธองค์จึงตรัสเรียกพระมหากัปปินะมาสอบถามในท่ามกลางที่ประชุมว่าเหตุใดจึงอุทานเช่นนั้น
พระมหากัปปินะตอบว่า สมัยยังเป็นกษัตริย์อยู่นั้น มีคนแวดล้อม คอยดูแลรักษาความปลอดภัยสารพัด มีทหารรักษาชายแดน ทหารรักษากำแพงพระนคร ทหารรักษากำแพงวัง ทหารเฝ้าประตูปราสาทเป็นชั้นๆเข้าไป จนถึงหน้าประตูห้องนอน แต่ก็หลับไม่สนิทเลย ผวาสะดุ้งกลัวคนจะมาลอบฆ่า กลัวโจรจะมาปล้นราชสมบัติ กลัวคนใกล้ชิดจะชิงบัลลังก์ กลัวข้าศึกจะยกมาตีเมือง กลัวจะมีปัญหาเกิดขึ้นในบ้านเมืองสารพัดอย่าง แต่พอสละราชสมบัติทั้งหลายเหล่านั้นมาอยู่คนเดียวในป่า มีผ้า 3 ผืน บิณฑบาตได้อาหารอย่างไรมาก็ฉันอย่างนั้น ไม่มีสมบัติใดๆ อยู่อย่างเรียบง่ายกลับปราศจากความกังวล มีแต่ความสุขภายในจากการปฏิบัติธรรม ความสุขนั้นท่วมท้นจนต้องอุทานขึ้นมาว่า “ สุขจริงหนอ สุขจริงหนอ ”
เหตุที่พระมหากัปปินะไม่มีความกังวล เป็นเพราะท่านทราบแล้วว่า สิ่งที่ท่านทำอยู่เป็นสิ่งที่ถูกต้องดีงาม ทำให้เกิดบุญแล้วบุญนี้ จะเป็นคุณเครื่องนำมาซึ่งความสุขในภพชาติต่อไปได้ ยิ่งถ้าตัดกิเลสให้หมดไป นั่นคือ ความสุขอย่างยิ่ง ประโยชน์อย่างยิ่ง คือการเข้าสู่พระนิพพาน เป็นความสุขที่เหนือกว่าความสุขบนโลกนี้มากมายนัก ต่อให้ต้องตายไปในวันนั้น ท่านก็ไม่มีความกังวล เพราะท่านรู้ว่าท่านจะไปดี
ถ้าเรามั่นใจได้ว่า เมื่อเราจากโรคนี้ไปแล้ว เราจะไปสู่ภพภูมิที่ประเสริฐกว่า ดีกว่า ถ้ามั่นใจเต็มร้อยเราจะเป็นคนที่ไม่มีความกังวลในการทำความดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการให้ทาน รักษาศีล ทำสมาธิภาวนาเราจะพร้อมทุ่มเททั้งกายทั้งใจด้วยความเชื่อมั่น ไม่มีความกังวลใดๆมาเหนี่ยวรั้งทั้งสิ้น เพราะคุณค่าของบุญจะเป็นหลักประกันแห่งชีวิต ว่าเราจะต้องพบสิ่งที่ดีงามแน่นอน การมีศรัทธา เข้าใจในเรื่องบุญบาป กฏแห่งกรรมโลกนี้โลกหน้า จึงทำให้เรามีความเชื่อมั่นมีความกล้าหาญในการทำความดี โดยปลอดจากความวิตกกังวลใดๆทั้งสิ้น เช่นนี้
ประการที่ 2 คือ ศีล การรักษาศีลจะทำให้เราเป็นผู้แกล้วกล้า อาจหาญในท่ามกลางที่ประชุมชน เพราะไม่มีความผิดบาปอันใดให้ต้องปกปิด ไม่มีความวิตกกังวลว่าใครจะมาล่วงรู้ข้อผิดพลาด เพราะมือที่ไม่มีบาดแผล ย่อมไม่กลัวยาพิษ เราต้องทำตัวให้ไม่มีบาดแผล คือรักษาศีลให้ดี สิ่งนี้จะเป็นเกราะคุ้มภัยให้กับชีวิต ไม่ให้บาปอกุศลมาตัดรอน เราจะดำเนินชีวิตด้วยความสุขสบายใจ โปร่งใจ ปลอดกังวลแต่เต็มเปี่ยมด้วยความเชื่อมั่น กล้าหาญ
ประการที่ 3 คือพาหุสัจจะ การเป็นผู้ที่มีความรู้มาก จะทำให้เกิดความเชื่อมั่น ดังนั้นไม่ว่าเราจะทำเรื่องอะไร ก็ต้องศึกษาหาความรู้เรื่องนั้นให้แตกฉาน ให้มีความเชี่ยวชาญรู้จริง เมื่อเรารู้จริงแล้วเราก็จะเกิดความเชื่อมั่นและสามารถทำในสิ่งนั้นได้สำเร็จ
ประการที่ 4 คือ วิริยารัมภะ ความพากเพียรวิริยะอุตสาหะหนักเอาเบาสู้ เป็นพลังสร้างความเชื่อมั่นได้ เมื่อมีปัญหาเกิดอุปสรรคขึ้นมา อย่าเสียเวลานั่งวิตกกังวล แต่ให้ไตร่ตรองดูปัญหา ให้รอบคอบด้วยความไม่ประมาท แล้วจึงเดินหน้าสู้ต่อ อย่าอยู่เฉย เพราะถ้าอยู่เฉยเมื่อไรก็จะคิดวิตกกังวลหมกมุ่นอยู่กับเรื่องนั้นไม่รู้จบ ดังนั้นจงเดินหน้าทำงาน เพื่อแก้ปัญหาเรื่องนั้น หรืออาจทำงานเรื่องใหม่ที่สำคัญยิ่งขึ้นไปอีกด้วยก็ได้ เพราะคนเราหากทุ่มเทกับงานใดใจจะไปจดจ่ออยู่กับงานนั้น แล้วความคิดก็จะเป็นไปในเชิงสร้างสรรค์ ทำให้ก้าวไปข้างหน้าได้
มีตัวอย่างของนักธุรกิจที่ทำธุรกิจแล้วไม่เป็นไปตามคาด ขาดทุน แม้ทำธุรกิจใหม่ก็ขาดทุนอีก หากเขามัวแต่นั่งวิตกกังวล ก็จะล้มเหลว ทั้งตรงกันข้ามเมื่อเขาตัดความกังวลแล้ว เดินหน้าไตร่ตรองให้รอบคอบยิ่งขึ้น ศึกษาให้แตกฉานยิ่งขึ้น แล้วก็ทุ่มเทให้มากขึ้น ตั้งใจทำธุรกิจใหม่ ทั้งทำให้ใหญ่กว่าเดิมได้ทั้งหมด กลายเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ มีทรัพย์นับหมื่นนับแสนล้านบาท
ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหา อย่ามัวนั่งท้อแท้ นั่งกลุ้มใจ แต่ให้เดินหน้าทำงาน แม้ยังไม่รู้จะทำอะไร ก็ให้ทำงานบ้าน ปัดกวาดเช็ดถู อย่าอยู่เฉย เพราะเราจะถูกความคิดวิตกกังวลกัดกร่อนทำลาย การที่เราได้ทำงานพลังสร้างสรรค์จะเกิดขึ้นมา ทำให้มองไปข้างหน้าเห็นโอกาสเห็นเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิม ขอให้เราพากเพียรทุ่มเทให้เต็มที่ เพราะนี่คือการแก้ความวิตกกังวลได้อย่างยอดเยี่ยม แล้วความกล้าหาญเชื่อมั่นจะกลับคืนมาสู่ตัวเราด้วย
ประการที่ 5 คือปัญญา การเจริญสมาธิภาวนา ทำให้เกิดปัญญาในระดับภาวนามยปัญญา เพราะเมื่อใจเรานิ่งเป็นสมาธิ บุญก็หล่อเลี้ยงใจ พลังบุญจะหนุนส่งเป็นพลังใจ ให้เราสามารถเอาชนะความกังวลทั้งหลาย แล้วก็ปฏิบัติภาระกิจทั้งหลายได้สำเร็จตามที่ตั้งใจทุกประการ
เมื่อเราปรารถนาความสำเร็จในชีวิตให้มีศรัทธา มีความเชื่อมั่นในเรื่องของบุญและบาป เข้าใจทั้งโลกนี้โลกหน้า รู้ถึงคุณค่าของบุญที่เราสร้าง ทาน ศีล ภาวนา ที่เราทุ่มเทลงไปว่าจะเกิดประโยชน์กับตัวเราเองและหมู่คณะอย่างไร รู้ว่าการสร้างบุญคือการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุดในชีวิต เป็นหลักประกันข้ามภพข้ามชาติ ขณะเดียวกันเราต้องสำรวจข้อบกพร่องของตัวเองให้ดี ตั้งใจรักษาศีล แก้ไขจุดอ่อนของเราให้ได้ รวมทั้งตั้งใจแสวงหาความรู้ มีความพากเพียรอุตสาหะ อย่าทำอะไรแบบครึ่งๆกลางๆ และต้องไม่ลืมที่จะทำสมาธิอย่างสม่ำเสมอ ถ้าทำได้เช่นนี้ เราจะเป็นคนที่เอาชนะความวิตกกังวลได้ เป็นคนที่มีความเชื่อมั่นในตัวเอง มีความกล้าหาญ แม้มีปัญหาอุปสรรคเกิดขึ้น ก็สามารถแก้ไขได้ด้วยความรอบคอบกล้าตัดสินใจก้าวเดินหน้าต่อไป
----------------------------------------------------------------------------------
หนังสือ " ทันโลกทันธรรม 2 "
พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ