หลักการทำบุญ

วันที่ 29 สค. พ.ศ.2558

 

หลักการทำบุญ


สิ่งที่เป็นตัวกำหนดว่า คนแต่ละคน จะมุ่งมั่นสั่งสมบุญมากหรือน้อยเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับเหตุ 2 ประการ คือ


1.    บุคคลนั้นมีเป้าหมายชีวิตอย่างไร
2.    บุคคลผู้นั้นมีความเข้าใจถึงผลแห่งบุญมากเพียงไร 


            ประการแรกเรามีเป้าหมายชีวิตอย่างไร ให้เปรียบเทียบกับการเรียนหนังสือของเด็กนักเรียน ถ้าคนหนึ่งมีเป้าหมายแค่เพียงเรียนไปเรื่อยๆ ให้จบประถมแล้วก็เข้ามัธยมเข้าอุดมศึกษา จบออกมาก็ทำงานทำการ พอใจอยู่แค่นั้น เขาก็จะทำเพียงแค่เรียนเกาะกลุ่มไปกับเพื่อน ไม่ต้องทุ่มเทมากเพราะอย่างไรก็คงเรียนจบ มีปริญญาไปทำงานได้ แต่ถ้าหากเด็กคนนั้นตั้งเป้าหมายว่า ในอนาคตเขาจะต้องจบปริญญาเอกให้ได้ อยากเป็นนักวิชาการระดับโลก อยากฝากผลงานที่เลื่องลือไว้ในประวัติศาสตร์ เพื่อประโยชน์ต่อมนุษยชาติให้ได้ในชีวิตนี้ ถ้าหากเขาตั้งเป้าหมายชีวิตตัวเองไว้อย่างนั้น การเรียนหนังสือที่เพียงแต่เกาะกลุ่มเรียนไปกับเพื่อนๆ นั้นย่อมไม่พอแน่ เขาจะต้องทุ่มเทสุดใจ นอกเหนือจากการเรียนในโรงเรียนแล้ว เขาจะต้องอ่านหนังสือเพิ่มอีกวันหลายๆชั่วโมง ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเพราะเป้าหมายของเขายิ่งใหญ่ ดังนั้นความมุ่งมั่นทุ่มเทในการเรียนจะมากน้อยแค่ไหน จึงขึ้นอยู่กับว่าใคร ตั้งเป้าหมายชีวิตไว้อย่างไร


            การทำบุญก็เช่นกัน ใครจะทำมากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับตนเองได้ตั้งเป้าหมายชีวิตไว้อย่างไร ถ้าหากเป็นชาวโลกทั่วไป ที่ไม่ได้มีเป้าหมายอะไรมากมาย เขาก็จะทำบุญพอให้สบายใจ สมมุติว่าเขามีรายได้ปีละ หนึ่งแสน การแบ่งทำบุญสักพันสองพันเขาก็คิดว่าเพียงพอแล้ว แตกต่างจากผู้ที่ตั้งเป้าหมายสูง เช่น ผู้ที่ตั้งความปรารถนาจะเป็นพระอรหันต์เขาก็จะทำบุญด้วยความทุ่มเทมากขึ้น ถ้าปรารถนาจะเป็นพระอสีติสาวก สาวกชั้นเอกของพระพุทธเจ้า ก็ต้องทุ่มเทมากขึ้นอีก และถ้าปรารถนาจะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ยิ่งต้องทุ่มเทอย่างถึงที่สุด ดังจะเห็นได้จากประวัติการสร้างบารมีของพระบรมโพธิสัตว์


            ตัวอย่างเช่นมีคราวหนึ่ง พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพรหมกุมารซึ่งต่อมาได้ออกบวชเป็นพระดาบส วันหนึ่งดาบสได้เห็นแม่เสือที่หิวโซกำลังจะกินลูกตัวเอง เมื่อห้ามอย่างไรแม่เสือก็ไม่ฟังท่านจึงช่วยชีวิตลูกเสือด้วยการยอมสละตัวเองเพื่อเป็นอาหารของแม่เสือแทนจากเรื่องราวที่เกิดขึ้นนี้ ก็คงจะเกิดคำถามว่า การให้ชีวิตตัวเองเป็นทานเป็นการให้ที่มากเกินไปไหม? ถ้าคิดอย่างคนธรรมดาสามัญ ก็คงตอบว่ามากเกินไป ทุกคนต่างรักและหวงแหนชีวิตตัวเอง แต่ถ้าคิดอย่างพระบรมโพธิสัตว์คิดอย่างผู้ปรารถนาจะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคตข้างหน้าแล้ว การกระทำเช่นนี้เป็นเรื่องธรรมดา 


            ดังอีกตัวอย่างหนึ่ง เมื่อครั้งที่พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญานาคชือว่า ภูริทัต ท่านเป็นผู้มีฤทธิ์มาก และตั้งใจรักษาศีลอย่างเต็มที่ แม้ท่านจะถูกหมองูจับไปทรมาน ทั้งฟาดทั้งเหยียบ ทั้งกระทืบจนกระอักโลหิตเลือดไหลโทรมตัว ท่านก็มิได้ทำอันตรายหมองูแม้แต่น้อย ทั้งที่จริงแล้วเพียงแค่พญานาค ลืมตาขึ้นมองดู ร่างของหมอดูก็จะไหม้เป็นจุลทันที แต่ท่านกลับยอมถูกทรมาน โดยไม่ตอบโต้เลย เหตุการณ์ทำนองนี้ ถ้าเกิดขึ้นกับคนธรรมดาสามัญทั่วไป ก็คงไม่มีใครยอมถูกทำร้ายอย่างน้อยก็ต้องขู่หมอดูให้หนีกระเจิง แต่ถ้าเป็นวิสัยของพระบรมโพธิสัตว์ผู้ตั้งใจสร้างบารมี การกระทำของท่านย่อมเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วสำหรับเป้าหมายชีวิตที่ยิ่งใหญ่นั้น


            ดังนั้น หากถามว่าเราควรทำบุญมากน้อยแค่ไหน คำตอบจึงขึ้นอยู่กับว่า เราตั้งเป้าหมายชีวิตของเราเองไว้อย่างไร ถ้าตั้งเป้าหมายแต่เพียงว่า ก็ขออยู่แบบสบายๆ แค่ในชีวิตนี้ก็พอ เพราะไม่รู้ว่านรกสวรรค์มีจริงหรือไม่ คนที่คิดเช่นนี้จะทำบุญบ้างนิดๆหน่อยๆ เผื่อเหนียวไว้ หากตายไปถ้าต้องตกนรกก็จะได้ไปขุมที่ไม่ลึกนัก หรือถ้าเกิดประเหมาะเคราะห์ดี ไปเกิดในสุคติภูมิ ก็อาจจะได้เป็นภุมมเทวาถ้าหากตั้งความปรารถนาไว้แค่นี้ เราก็คงพอจะทำบุญบ้างตามประเพณีถึงวันเกิดก็ตักบาตรสักครั้ง ถวายสังฆทานสักหน่อยก็สบายใจแล้ว หรือถ้าถูกหมอดูทักว่าเคราะห์ไม่ดี ก็จะไปถวายสังฆทานเพื่อความสบายใจ นี่คือวิถีของคนทั่วไป


            ประการที่สอง เราเห็นคุณค่าของบุญเพียงใด ชาวพุทธที่แท้จริงจะเข้าใจถึงเป้าหมายชีวิตว่า เราไม่ได้เกิดมาชาติเดียว แต่เราต้องเวียนว่ายตายเกิดนับภพนับชาติไม่ถ้วน ละโลกแล้วจะไปเกิดที่ไหนก็ขึ้นอยู่กับว่าเราสร้างบุญไว้อย่างไร ใครมีบุญมากก็ไปเกิดในภพภูมิที่ดี ใครมีบาปมากก็ลงอบายภูมิ ตกนรก เป็นเปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน คนที่รู้หลักอย่างนี้แล้ว จึงมีเป้าหมายที่สูงส่งว่า จะตั้งใจสร้างบุญกุศลให้เต็มที่ ความทุ่มเทเอาจริงเอาจัง ก็จะเพิ่มขึ้นเหมือนอย่างอนาถบิณฑิกเศรษฐี ผู้สร้างวัดเชตวันถวายพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เริ่มต้นด้วยการซื้อที่ดิน ซึ่งยอมเอาเงินปูเรียงเต็มพื้นที่ตามเงื่นไขของเจ้าของที่ เมื่อได้แผ่นดินมาแล้วต้องสร้างกุฏิ ศาลาฟังธรรมต่างๆ ถวายพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและหมู่สงฆ์ หมดทรัพย์ไปมากมายถ้าเทียบกับเงินปัจจุบัน ก็หลายหมื่นล้านบาทแม้เทียบกับทรัพย์สินจำนวนมหาศาลที่ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีมีอยู่ทั้งหมด ก็นับว่าหลายสิบเปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว ถ้าใครก็ตามมีเงินสักแสนล้าน แล้วนำเงินไปสร้างวัดสักสี่หมื่นห้าหมื่นล้านบาท เท่ากับครึ่งหนึ่งของทรัพย์ที่ตนมี คนทั่วไปก็จะคิดว่าเป็นการทำบุญที่มากเกินไป แต่อนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นผู้ที่เข้าถึงพระรัตนตรัยภายในแล้ว ได้ดวงตาเห็นธรรม ท่านรู้ว่าสิ่งที่ทำไปมีคุณค่าขนาดไหน ความรู้สึกเสียดายทรัพย์จึงไม่มีแม้แต่นิดเดียว ยิ่งไปกว่านั้นในยามที่วิบากกรรม ในอดีตของท่านเศรษฐีตามมาทัน ทรัพย์ที่คนยืมไปก็ไม่ได้คืน ทรัพย์สินที่ฝังเอาไว้ถูกน้ำพัดไปอีก จนแทบจะไม่เหลือทรัพย์สินใดๆเลย แม้อยากจะเลี้ยงพระท่านก็ทำได้แค่เอาปลายข้าวมาต้มเป็นข้าวต้ม กับน้ำส้มพะอูมถวายพระได้เท่านั้นเอง ในยามนั้นมีเทวดาตนหนึ่งอาศัยอยู่ที่ซุ้มประตูบ้านของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ได้เหาะลงมาห้ามเศรษฐีไม่ให้ทำบุญต่อไปอีก เนื่องจากเทวดาตนนี้เป็นมิจฉาทิฐิ รู้สึกไม่พอใจที่ต้องลงมาจากซุ้มประตูทุกครั้งที่มีพระเดินผ่านเข้ามาสู่บ้านท่านเศรษฐีจึงคิดจะยุให้เศรษฐีเลิกทำบุญ จะได้ไม่มีพระภิกษุเข้ามาในบ้านเศรษฐีอีก ตนจะได้ไม่ต้องขึ้นๆ ลงๆ จากซุ้มประตูจะเห็นได้ว่าในหมู่เทวดาก็ยังมีผู้ที่เป็นมิจฉาทิฐิ ไม่เห็นคุณค่าของบุญเทวดาก็เหมือนคนที่เกิดมาในตระกูลสูงมีทั้งที่ดี ที่ดื้อหรือเกเร บุญเก่าในตัวที่เคยสร้างไว้ก็มี แต่ความเป็นมิจฉาทิฐิก็อาจยังอยู่ได้เช่นกัน


            ในครั้งนั้นเทวดาได้เหาะลงมาบอกเศรษฐีให้เลิกทำบุญ เพราะยิ่งทำยิ่งจน หากได้ฟังเช่นนี้คนในปัจจุบันจะคิดอย่างไร ทุ่มเททำบุญใหญ่ สร้างวัดใหญ่ที่สุดในพระพุทธศาสนา ครั้งพุทธกาลถวายแด่สงฆ์ อุปัฏฐากบำรุงทุกอย่าง ตั้งแต่เป็นเศรษฐีใหญ่กระทั่งจนลง หากเป็นคนทั่วไปแม้ไม่มีใครมาทักท้วง ก็อาจเริ่มคิดสงสัยว่า บุญมีจริงหรือ ทำไมทำดีแล้วไม่ได้ดี บุญไม่เห็นช่วยเลย ยิ่งถ้าหากมีคนมาทักห้ามรั้งด้วยเหตุผลต่างๆนานา บางทีอาจเลิกทำบุญไปเลย เพราะขาดความเชื่อมั่น ศรัทธาคลอนแคลน ครั้งนั้นผู้ที่มาห้ามท่านเศรษฐีไม่ใช่เป็นเพียงคนธรรมดา แต่เป็นถึงเทวดาเหาะลงมาห้ามเลยทีเดียว ในสถานการณ์เช่นนั้นท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีจะคิดอย่างไร


            ท่านเศรษฐีได้ถามกลับไปว่า “ ท่านเป็นใคร ” เทวดาตอบว่า “ ข้าพเจ้าเป็นเทวดาที่ได้อาศัยอยู่บนซุ้มประตูบ้านของท่าน ” อนาถบิณฑิกเศรษฐีจึงบอกว่า “ ถ้าอย่างนั้นท่านจงไปเสียจากที่นี่ถ้าเป็นมิจฉาทิฐิ มาห้ามคนไม่ให้ทำบุญอย่างนี้ ข้าพเจ้าไม่อนุญาตให้อยู่บ้านข้าพเจ้าอีกต่อไป ” เมื่อเจ้าของบ้านไม่อนุญาติเทวดาก็อยู่ไม่ได้ ต้องเหาะพาครอบครัวอพยพออกมา เทวดาได้รับความลำบากจึงไปขอคำปรึกษาเจ้าสวรรค์ทีละชั้นจึงได้คำแนะนำจากพระอินทร์ว่า ต้องขอขมาเศรษฐีโดยไปตามลูกหนี้ทั้งหลายให้นำทรัพย์มาคืนแก่เศรษฐี ทรัพย์สินที่ถูกน้ำพัดพาไปต้องหาทางนำกลับมาคืนให้ได้ เป็นต้น เมื่อเศรษฐีมีฐานะฟื้นคืนมาแล้ว เทวดาจึงได้มาขอขมาต่อเศรษฐี เมื่อเศรษฐีเห็นว่า เทวดาเป็นผู้มีสัมมาทิฐิแล้ว จึงให้อภัย เทวดาจึงได้กลับมาอยู่ที่ซุ้มประตูดังเดิม


            นี่คือคนที่เห็นคุณค่าของบุญ และมีเป้าหมายชีวิตชัดเจน ไม่หวั่นไหวไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เขาพร้อมจะทุ่มเท แม้มีอุปสรรคก็ไม่ท้อยังเดินหน้าต่อไป ดังนั้นพวกเราจะทุ่มเททำบุญมากแค่ไหน ประการแรกจึงอยู่ที่ว่า เป้าหมายชีวิตของเรายิ่งใหญ่แค่ไหน ส่วนเงื่อนไขประการที่สองคือ เราเห็นคุณค่าของบุญแค่ไหน เพราะผลแห่งบุญนั้นให้ประโยชน์ได้ 3 ชั้นคือ


1.    ประโยชน์ชาตินี้
2.    ประโยชน์ชาติหน้า
3.    ประโยชน์อย่างยิ่ง


            คนส่วนใหญ่จะมุ่งหวังประโยชน์ชั้นที่ 1 คือประโยชน์ชาตินี้ แต่ไม่มั่นใจในประโยชน์ชาติหน้า และน้อยคนนักที่จะเชี่อในประโยชน์อย่างยิ่งในร้อยคนจะมีสักกี่คนที่ทำบุญแล้วปรารถนาไปนิพพาน ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์คอยตอกย้ำสั่งสอน น้อยคนที่จะมีเป้าหมายชีวิตที่ชัดเจน 
            คนที่ยังเห็นคุณค่าของบุญแค่ผิวเผิน มองแค่ประโยชน์ชาตินี้ เวลาทำบุญก็จะทำแบบฉาบฉวย ทำอย่างระมัดระวัง ไม่ให้กระทบประโยชน์ชาตินี้เลย เพราะต้องแบ่งเงินไปเข้าร้านกาแฟ ร้านไอศครีม ไป๙อปปิ้ง ไปดูหนัง หรือต้องไปตากอากาศวันหยุด มีสิ่งที่ต้องจับจ่ายใช้สอยมากมาย จึงแบ่งเงินมาทำบุญเพียงน้อยนิด พอได้ชื่อว่าเป็นผู้เสียสละเพื่อส่วนรวมบ้างเหมือนกัน นั่นเพราะว่า เขายังไม่รู้จักประโยชน์ของบุญอีก 2 ระดับ เห็นเพียงประโยชน์ชาตินี้เท่านั้น


            ถ้าเป็นคนที่เข้าใจประโยชน์ของบุญในระดับที่ 2 เห็นประโยชน์ชาติหน้าว่าบุญ จะเป็นเสบียงในการเดินทางไกลในวัฏสงสาร บุญจะเป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้ประสบความสุข ความสำเร็จทั้งภพนี้ภพหน้าต่อๆไป ชีวิตที่ยังลำบากในปัจจุบันเป็นเพราะเราสร้างบุญไว้ยังไม่สมบูรณ์ ส่วนผู้ที่มีชีวิตสุขสบายก็เป็นเพราะได้สร้างบุญไว้อย่างดี ผู้ที่เข้าใจเรื่องกฏแห่งกรรม เรื่องอานุภาพแห่งบุญแล้ว ก็พร้อมจะทุ่มเททำบุญอย่างเต็มที่


            กล่าวโดยสรุปคือ มีปัจจัยอยู่ 2 ประการ ทั้งเรื่องการเห็นประโยชน์ของบุญและเรื่องของเป้าหมายชีวิต ที่เสริมส่งให้คนแต่ละคนทำบุญมากน้อยต่างกัน สำหรับพวกเราที่ศึกษาปฏิบัติธรรมกันอยู่ก็เช่นกันเราเห็นคุณค่าของบุญแค่ไหน มั่นคง หนักแน่นเพียงใด เป้าหมายชีวิตของเราคืออะไร ชัดเจนแค่ไหน ทั้งสองประการนี้ จะเป็นตัวกำหนดความพร้อมของเราในการทุ่มเททำความดี เราพร้อมจะทุ่มเทแบบอนาถบิณฑิกเศรษฐีไหมพร้อมจะทุ่มตามแบบอย่างพระบรมโพธิสัตว์ ตามแบบอย่างพระอรหันต์ทั้งหลายในอดีตไหมก็ขึ้นอยู่กับว่า เราเข้าใจเป้าหมายชีวิตและคุณค่าของบุญมากแค่ไหน


            อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมและกระแสสื่อด้วยที่มีผลต่อก้าวย่างของเรา หากคนที่แวดล้อมตัวเราและกระแสสื่อ ไม่เข้าใจเรื่องบุญคิดเพียงแต่ว่า ทำบุญเพื่อให้สบายใจ เมื่อเห็นคนทำบุญมากๆ ก็มักจะติติงบ้าง วิพากษ์วิจารณ์บ้าง ถ้าเรามีความเข้าใจอย่างถูกต้องเราก็จะมีหลักในการพิจารณาและสามารถตัดสินใจในการทำบุญได้ด้วยตัวของเราเอง มีข้อที่น่าสังเกตประการหนึ่งคือ ในยุคที่บ้านเมืองมีภัยสงครามเศรษฐกิจตกต่ำ ผู้คนขาดขวัญกำลังใจ พระมหากษัตริย์จะทรงสร้างความเชื่อมั่นให้กับราษฎรขึ้นมาใหม่ได้ด้วยการสร้างบุญใหญ่ เช่นการสร้างวัด เพราะถ้าปล่อยให้คนขาดความมั่นใจในเศรษฐกิจการเมืองพากันเก็บเงินไว้ไม่กล้าใช้จ่าย เศรษฐกิจก็จะยิ่งแน่วนิ่ง ยิ่งทรุดหนักเป็นวงจรลบ ต่างประเทศเกิดความไม่มั่นใจก็ไม่ค้าขายด้วย ส่งออกไม่ได้นำเข้าก็น้อย การใช้จ่ายในประเทศก็น้อย ทุกอย่างนิ่งไปไม่รอด วิธีการแก้ไข คือ ต้องปลุกกระแสความเชื่อมั่นขึ้นมาใหม่ ทั้งภายในประเทศทั้งตามประเทศ ดังเช่นเมื่อครั้งเศรษกิจตกต่ำในรัชสมัยของรัชกาลที่ 2 พระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระองค์ทรงมองการไกลตัดสินพระทัยสร้างวัดอรุณราชวราราม ราษฎรจึงได้พากันขุดเอาเงินที่ใส่ตุ่มฝังไว้ขึ้นมา ร่วมบุญสร้างวัดเพราะรู้คุณค่าของบุญ


            เมื่อเป็นเช่นนี้แทนที่เงินจะถูกฝังดินไว้เฉยๆ ก็เกิดการนำมาจับจ่ายใช้สอย ในการสร้างวัด เกิดการซื้อขายวัสดุก่อสร้างบ้าง จ้างแรงงานบ้าง วงจรการผลิตเริ่มขับเคลื่อน เกิดการหมุนเวียน เพราะระบบเศรษฐกิจสมัยนั้นไม่ซับซ้อนเท่าปัจจุบัน การสร้างวัดใหญ่ๆขึ้นมาวัดหนึ่ง จึงมีพลวัตรเพียงพอที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ ขณะเดียวกันผู้คนก็เริ่มเกิดความเชื่อมั่น มองอนาคตไปในทางสร้างสรรค์ มองทางบวก เกิดการหมุนเวียนขึ้นมาในประเทศ เมื่อชาวต่างชาติวิ่งเรือเข้าแม่น้ำเจ้าพระยาเห็นกรุงรัตนโกสินทร์กำลังสร้างวัดใหญ่ งามเด่นเป็นสง่า เขาย่อมเห็นว่าเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวถ้าไม่ฟื้นจะมีทรัพย์มาสร้างวัดที่งดงามเช่นนี้ได้อย่างไร เมื่อเกิดความเชื่อมั่นก็เกิดการค้าระหว่างประเทศ เศรษฐกิจทั้งประเทศจึงฟื้นตัวขึ้น เกิดจากการใช้ทานนำหน้า เกิดการให้จึงเกิดการสะพัดหมุนเวียน ถ้าแต่ละคนคิดแต่จะเอาบ้านเมืองก็คงไปไม่รอด นอกจากนี้ยังมีวัดใหญ่ๆ มากมายที่สร้างในยุคต้นรัตนโกสินทร์ เกิดจากการที่ขุนนางบ้าง พ่อค้าคหบดีบ้าง รวบรวมกำลังทรัพย์สร้างขึ้นมา บางวัดตั้งชื่อตามวงศ์ตระกูล เช่นวัดพิชยญาติการาม วัดประยูรวงศาวาส ฯลฯ รัชกาลที่ 3 สมัยยังไม่ได้ขึ้นครองราชย์ก็ยังทรงสร้างวัดราชโอรสาราม เป็นต้น


            สมัยก่อนผู้ที่เขาสร้างวัดใหญ่ๆ ต้องใช้สินทรัพย์หลายสิบเปอร์เซ็นต์ของที่มีอยู่ เขาก็ยังกล้าทำกันจนเป็นประเพณีของสังคม แต่ปัจจุบันผู้ที่จะกล้าสร้างวัดด้วยตัวเองอย่างนี้ จะมีสักกี่คนส่วนใหญ่เป็นการร่วมบุญนิดๆหน่อยๆ แต่ที่จะทุ่มสร้างทั้งวัดนั้นหายาก เพราะฉะนั้นการทำบุญ ควรจะทำมากน้อยแค่ไหน จึงขึ้นอยู่กับเป้าหมายชีวิต และการเห็นคุณค่าของบุญในแต่ละคน เป้าหมายชีวิตต่างกัน เห็นคุณค่าบุญต่างกัน การทำบุญย่อมต่างกัน ถ้ามีเป้าหมายไปนิพพาน ก็ต้องทุ่มเทสร้างบุญสวมหัวใจอย่างอนาถบิณฑิกเศรษฐีมั่นคงแน่วแน่ต่อเป้าหมายชีวิตของเราแล้วตัดสินใจ เดินหน้าด้วยความเข้าใจเต็มเปี่ยมในอานุภาพบุญ นี่คือหลักในการตัดสินใจในการทำบุญที่ถูกวิธี

----------------------------------------------------------------------------------

หนังสือ " ทันโลกทันธรรม 2  "

พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0082231005032857 Mins