นอนไม่หลับ
การนอนหลับสำคัญที่ใจ เพราะการนอนหลับมิใช่เป็นเพียงแค่การพักผ่อนร่างกาย แต่จุดสำคัญคือการพักใจนี่คือเหตุผลที่ว่า เหตุใดผู้ที่นอนไม่หลับจึงรู้สึกเหมือนไม่ได้พักผ่อน ทั้งๆที่นอนอยู่เฉยๆ ตั้งหลายชั่วโมง ในขณะที่ผู้ที่งีบหลับไปไม่กี่นาที กลับรู้สึกสดชื่นเมื่อตื่นขึ้น
ทั้งนี้ขณะที่คนเราหลับ ใจจะแช่อิ่มอยู่ในน้ำเลี้ยงใจ ณ ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 เมื่อตื่นขึ้นมาจึงรู้สึกสดชื่น ส่วนคนที่นอนไม่หลับแม้จะนอนนิ่งๆ อยู่นานแต่ใจไม่ได้แช่อิ่มอยู่ในน้ำเลี้ยง ใจจึงแห้งผาก มีอาการมึนงงไม่สดชื่น
ในพระพุทธศาสนาเป็นที่ปรากฏมากมายว่า พระอรหันต์สามารถประกอบความเพียรโดยไม่นอนหลับทั้งวันทั้งคืน ต่อเนื่องยาวนานนับเดือนนับปี ที่น่าอัศจรรย์อย่างยิ่งคือ พระมหากัสสปะ ผู้เป็นเลิศในทางผู้ทรงธุดงค์ ท่านปฏิบัติธุดงควัตรทั้ง 13 ข้ออย่างเคร่งครัด และในข้อสุดท้ายที่เรียกว่า เนสัชชิกังคะ คือการอยู่ในอิริยาบถ 3 อันได้แก่ ยืน เดิน และนั่งเท่านั้น ท่านก็สามารถปฏิบัติได้จนตลอดชีวิตโดยไม่นอนเลย
เนสัชชิกังคะ จึงเป็นการประกอบความเพียร ซึ่งถ้าหากใครมีพื้นฐานการปฏิบัติธรรมในระดับหนึ่งแล้ว และมีความตั้งใจจะปฏิบัติธรรมอย่างอุกฤษฏ์ ก็สามารถทำได้เพราะแม้จะไม่นอน แต่ใจที่นิ่งสงบเป็นสมาธินั้น จะโปร่งเบาชุ่มชื่น จึงไม่กระทบต่อสุขภาพ และมีผลดีคือ ช่วยให้สามารถปฏิบัติธรรมได้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน ดังที่เราทราบกันว่า พระอรหันต์สามารถเข้านิโรธสมาบัติ 7 วัน 7 คืน โดยไม่นอนเลย เพราะใจของท่านนิ่งสนิท แม้ร่างกายก็แทบไม่หายใจ แต่สำหรับบุคคลทั่วไปไม่แนะนำให้ฝืนสังขารเช่นนั้น เพราะถ้าใจไม่ชุ่มอยู่ในสมาธิร่างกายอาจรับไม่ไหว มีปัญหาสุขภาพตามมา
อาตมาเคยได้พบพระญี่ปุ่นรูปหนึ่ง ในห้องนอนของท่านมีแค่เบาะให้นั่งเท่านั้น ไม่มีเตียงไม่มีฟูก เพราะท่านไม่นอนมานับ 10 ปีแล้ว หากแต่ท่านมิได้เป็นพระนักปฏิบัติ แต่เป็นพระนักกิจกรรม ชอบช่วยเหลือสังคม ได้ถามท่านว่า ท่านไม่ได้นอนหลับแล้วอยู่ได้หรือ ท่านบอกว่า อยู่ได้ เพราะถึงแม้ท่านไม่ได้นอนหลับ แต่ก็อาศัยการงีบแค่ไม่กี่วินาทีเป็นช่วงๆ ไป ครั้งนั้นได้นั่งสนทนากับท่านราวครึ่งชั่วโมง และสังเกตเห็นว่า ในระหว่างที่คุยกันนั้นบางทีท่านก็งีบไปนิดหนึ่ง สัก 5 วินาที 10 วินาที แล้วก็คุยต่อจึงนึกว่า ถ้าหากท่านกำลังทำกิจกรรมต่างๆอยู่แล้วงีบไป จะไม่เกิดอันตรายหรือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระญี่ปุ่นสามารถขับรถได้ จึงถามท่านด้วยความเป็นห่วงว่า ถ้าหากท่านขับรถอยู่แล้วเกิดงีบไปจะทำอย่างไร ท่านตอบว่าถ้าหากกำลังทำเรื่องสำคัญๆ เช่น ขับรถท่านจะไม่เผลองีบ เพราะมีความตั้งใจเป็นพิเศษ ท่านจะงีบเป็นช่วงสั้นๆ ก็เฉพาะตอนที่ทำกิจกรรมไม่จริงจัง เช่นการพูดคุย การฉันภัตตาหาร เป็นต้น ฟังแล้วก็อดคิดไม่ได้ว่า การนอนหลับอย่างเป็นกิจลักษณะ แล้วตื่นมาอย่างสดชื่นน่าจะดีกว่า ทั้งในแง่ของสุขภาพ และประสิทธิภาพในการดำเนินชีวิต
ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นตัวอย่างของผู้ที่ตั้งใจไม่นอนหลับ ส่วนกรณีของผู้ที่นอนไม่หลับควรทำอย่างไร เราต้องทราบก่อนว่า ช่วงรอยต่อระหว่างการหลับและการตื่นนั้น ใจจะมาจรดที่ศูนย์กลางกาย เป็นเช่นนี้ทุกคน ไม่ว่าจะเคยทำสมาธิหรือไม่ก็ตาม เมื่อหลับแล้วใจอาจเตลิดไปเที่ยว คนเราจึงหลับแล้วฝันไปต่างๆ นานา แต่ใจจะยังคงมีสายใยยึดโยงอยู่ที่ศูนย์กลางกาย และมีน้ำหล่อเลี้ยงใจอยู่ การที่ใจมาจรดที่ศูนย์กลางกายในช่วงรอยต่อ ระหว่างการหลับและการตื่นนี้เอง ที่เป็นเหตุให้ผู้ที่กำลังฝึกสมาธิบางท่าน เกิดความสว่างแวบขึ้นมาในขณะที่กำลังเคลิ้มๆ คล้ายจะเผลอหลับ ทั้งที่ตอนนั่งสมาธิตัวตรงเอาจริงเอาจังนั้นมืดตื้อทีเดียว
แม้แต่พระอานนท์ พุทธอุปัฏฐาก ผู้เป็นพระโสดาบันมายาวนานก็ยังไม่บรรลุพระอรหันต์ กระทั่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพาน ครั้งนั้นพระอานนท์ได้รับเลือกให้เข้าร่วมการทำปฐมสังคายนาพระไตรปิฎก ร่วมกับพระอรหันต์อีก 499 รูป แม้ว่าพระอานนท์จะยังเป็นเพียงพระโสดาบัน แต่เนื่องจากท่านคือผู้ที่ได้อยู่รับใช้ใกล้ชิดพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายาวนานที่สุด ได้ฟังธรรมเทศนามากที่สุด อีกทั้งท่านยังเป็นผู้มีความทรงจำเป็นเลิศ ดังนั้นในการสังคายนาพระไตรปิฎก จึงจำเป็นต้องมีท่านร่วมอยู่ด้วย
พระอานนท์ปรารถนาที่จะทำหน้าที่ที่ท่านได้รับมอบหมายนี้อย่างบริบูรณ์ ท่านจึงตั้งใจบำเพ็ญเพียรภาวนาอย่างเต็มที่ เพื่อบรรลุพระอรหันต์ แต่ไม่ว่าท่านจะพากเพียรเพียงใด ก็ไม่อาจบรรลุได้ กระทั่งใกล้จะถึงรุ่งเช้าของวันปฐมสังคายนา ในที่สุดท่านก็คิดว่า ...ไม่ได้เป็นพระอรหันต์ก็ไม่เป็นไร ... คิดได้ดังนั้นท่านก็เอนกายลงเพื่อจะพักผ่อนนอนหลับ ขณะที่ศีรษะของท่านยังไม่ทันถึงหมอน ใจที่คลายแล้วนั้นก็เคลื่อนเข้าสู่ศูนย์กลางกายของกายธรรมพระอรหัต บรรลุธรรมในยามนั้น นั่นเอง การทำปฐมสังคายนาจึงเกิดขึ้นโดยพระภิกษุ 500 รูป ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นพระอรหันต์ทั้งสิ้น
เมื่อเราได้ทราบถึงกลไกการหลับ ที่ใจจะต้องเคลื่อนมาที่ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 ชั่วขณะหนึ่ง จึงจะเกิดจากการเชื่อมต่อจากการตื่นไปสู่การหลับได้ เราก็ย่อมเข้าสู่การหลับอย่างเป็นสุขได้ทุกครั้ง ที่ต้องการพักผ่อน โดยหมั่นฝึกเอาใจมาอยู่ที่ศูนย์กลางกายให้คุ้นเคย
สำหรับผู้ที่เป็นโรคนอนไม่หลับให้ลองทำดังนี้ เมื่อถึงเวลาที่ควรจะเข้านอนให้ปล่อยวางจากภารกิจทั้งหลาย โดยบอกกับตัวเองว่า วันนี้พอแค่นี้ก่อนพรุ่งนี้ค่อยว่ากันใหม่ แล้วจึงอาบน้ำอาบท่าให้กายสบาย เป็นการปูพื้นให้เกิดความสบายใจ จากนั้นก็สวดมนต์โดยให้เลือกบทที่มีความยาวพอสมควร เพราะขณะที่สวดมนต์ใจเราจะเริ่มสงบ ความวิตกกังวล ความฟุ้งซ่านจะค่อยๆคลายไปจากใจ เหมือนเป็นการอาบน้ำให้ใจผ่องแผ้ว ปลอดโปร่งเสร็จแล้วจึงนั่งสมาธิทำใจนิ่งๆ ผู้ที่เริ่มฝึกใหม่ๆ อาจยังไม่คุ้น นั่งไปฟุ้งไปก็ไม่เป็นไร ขอให้ฝึกไปอย่างสม่ำเสมอ เราจะรู้สึกได้เองว่า ใจของเราจะนิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ
เมื่อนั่งสมาธิแล้วจากนั้นจึงเอนตัวลงนอน จังหวะสำคัญอยู่ตรงนี้ ถ้าหัวถึงหมอนแล้วยังคงรักษาใจให้นิ่งๆ อยู่ที่กลางท้องได้ สักพักเดียวก็จะหลับสบาย และเป็นการหลับอย่างถูกหลักวิชา เพราะหลับในอู่ทะเลบุญ คือพระนิพพาน จึงหลับอย่างเป็นสุขและปลอดภัย ครั้นตื่นขึ้นมาก็เอาใจวางไว้นิ่งๆ ที่กลางท้องก่อนสักครู่หนึ่งจึงค่อยๆลุกขึ้นมาปฏิบัติภารกิจ เริ่มต้นวันใหม่อย่างสดชื่นแจ่มใส แต่ถ้าหากใคร หัวถึงหมอนแล้วนอนคิดโน่นคิดนี่ ไปสัก 5 นาที 10 นาที คราวนี้ตาแข็งจนนอนไม่หลับเลย ฉะนั้นอย่าลืมเตือนตัวเองว่า “ วันนี้พอแค่นี้ก่อน พรุ่งนี้ค่อยว่ากันใหม่ ”
ยึดหลักอย่างนี้แล้ว เราจะหายจากโลกนอนไม่หลับแต่จะกลายเป็นผู้ที่หลับเป็นสุข ตื่นเป็นสุข เทวดาลงรักษาให้มีสุขภาพกายและใจที่สดใสแข็งแรง เป็นยอดนักสร้างบารมีที่เต็มเปี่ยมด้วยพลังชีวิต
----------------------------------------------------------------------------------
หนังสือ " ทันโลกทันธรรม 5 "
พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ