MQ ความฉลาดทางศีลธรรม
นักวิชาการได้มีความพยายามที่จะวัดระดับความสามารถของคนเราในด้านต่างๆ เช่น
• ระดับความสามารถทางเชาว์ปัญญา ( Intelligence Quotient หรือ IQ )
• ระดับความสามารถทางอารมณ์ ( Emotional Quotient หรือ EQ )
• ระดับความสามารถทางการฟันฝ่าปัญหาอุปสรรค ( Adversity Quotient หรือ AQ )
• ระดับความสามารถทางศีลธรรม ( Moral Quotient หรือ MQ )
การวิเคราะห์เรื่องราวเหล่านี้ นับเป็นเรื่องที่น่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นเรื่อง ( Moral Quotient หรือ MQ ) ระดับความสามารถทางศีลธรรม หรือจะเรียกว่าความฉลาดทางศีลธรรมก็ได้ ความฉลาดทางศีลธรรมหมายถึง ความสามารถในการหยุดตนเอง จากการทำความชั่ว มีพลังมุ่งมั่นในการทำความดี โดยไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค
นักวิชาการส่วนหนึ่งมีความเห็นว่า การปลูกฝัง MQ หรือความฉลาดทางศีลธรรมนั้นไม่สามารถทำได้ในคนที่เป็นผู้ใหญ่ หรือมีอายุมากแล้ว พวกเขามีความเห็นว่า การปลูกฝัง MQ ต้องทำตั้งแต่วัยเด็ก เพราะถ้าโตเป็นผู้ใหญ่แล้วจะฝึกได้ยาก รวมทั้งแก้ไขสิ่งต่างๆ ได้ยาก แต่ถ้าเริ่มฝึกกันตั้งแต่ยังเด็ก ก็จะสามารถยกระดับพื้นฐานศีลธรรมของแต่ละคนขึ้นมาได้ เมื่อมีฐานจิตใจดีมีจิตสำนึกที่ดี หากได้รับการหล่อหลอม กระตุ้นเตือนเพิ่ม ก็จะสามารถพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไปได้โดยไม่ยาก
ในทัศนะของอาตมภาพนั้นเห็นว่า เราสามารถยกระดับความฉลาดทางศีลธรรมให้สูงขึ้นได้ แม้ในคนที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว การที่เรามีระดับความฉลาดทางศีลธรรมแตกต่างกันก็เพราะแต่ละคนมีระดับของกรอบแนวคิดไม่เท่ากัน กรอบความคิดของคนเรามี 3 ระดับคือ
1. มุ่งประโยชน์ปัจจุบัน คือต้องการลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ในชาตินี้
2. มุ่งถึงประโยชน์ชาติหน้า คือต้องการบุญกุศลที่จะติดตัวจามไปในภพชาติเบื้องหน้า
3. มุ่งถึงประโยชน์อย่างยิ่ง คือต้องการหมดกิเลสเข้านิพพาน
นั่นคือทุกคนล้วนต้องการประสบความสำเร็จในชีวิตโดยที่แต่ละคนก็มีกรอบความคิดเป็นตัวกำหนดเป้าหมายความสำเร็จของเขาอยู่ตรงไหน เช่นถ้าเขามีกรอบความคิดในระดับที่มุ่งประโยชน์ปัจจุบัน มองเห็นแค่ตัวเอง มีเป้าหมายความสำเร็จอยู่ที่การแสวงหาความร่ำรวย เขาก็อาจจะทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้ได้เงิน มามากๆ โดยไม่คำนึงถึงบาปบุญคุณโทษ ไม่สนใจว่าคนอื่นได้รับผลกระทบอย่างไร ความฉลาดทางศีลธรรมของเขาจึงจัดว่าอยู่ในระดับต่ำ
แต่ถ้ากรอบความคิดของเขากว้างขึ้น เริ่มมองสังคมโดยรอบ ในทำนองที่อยากเห็นสังคมโดยรวมดีขึ้น เขาก็จะเริ่มใส่ใจกับสังคม คำนึงถึงกฏระเบียบ กฏหมายต่างๆ แม้บางเรื่องไม่มีกฏหมายบังคับเอาไว้ แต่เป็นสิ่งที่ดีต่อส่วนรวม เขาก็ยินดีทำ ถ้ากรอบความคิดกว้างไกลถึงขนาดที่มุ่งประโยชน์ ชาติหน้าก็จะสามารถมองเห็นภาพรวมของชีวิต คำนึงถึงบุญบาป กฏแห่งกรรมเพราะเชื่อว่า ตายแล้วไม่สูญ และการจะได้ไปเกิดเป็นอะไรนั้น ก็ขึ้นอยู่กับบุญบาปที่ตนได้ทำไว้ ทั้งพิจารณาได้ว่า การกระทำต่างๆมีผลอย่างไรทั้งต่อตนเองและผู้อื่น จึงจะมีกำลังใจยับยั้งตนเอง จากการทำความชั่ว และมุ่งมั่นทำความดีให้เพิ่มขึ้น นั่นคือระดับศีลธรรมก็จะยิ่งเพิ่มพูนสูงขึ้น ไปตามระดับของกรอบความคิด
คำว่ากรอบความคิดนี้ถ้าใช้ศัพท์ธรรมะก็คือคำว่าสัมมาทิฐินั่นเอง ยิ่งมีสัมมาทิฐิก็ยิ่งมีความรู้ความเข้าใจในความเป็นจริงของชีวิต มาตรฐานของความประพฤติก็จะมีการปรับตัวตามดังกล่าว มีตัวอย่างมากมายที่ชี้ให้เห็นว่า แม้เป็นผู้ใหญ่ก็สามารถเปลี่ยนระดับความฉลาดทางศีลธรรมได้ดังเรื่องของพระเจ้าอโศกมหาราช ซึ่งถือเป็นพระมหากษัตริย์แห่งอินเดีย ที่มีคุณูปการต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างยิ่งก่อนขึ้นครองราชย์ พระองค์ต้องฆ่าพี่ฆ่าน้องร่วมสายโลหิต ไปถึง 99 พระองค์ สืบเนื่องจากการแย่งชิงบัลลังก์กัน เพราะทรงดำริว่าถ้าไม่ทำเช่นนั้น พระองค์ก็จะเป็นฝ่ายถูกฆ่าเสียเองเมื่อกรอบความคิดในใจของพระองค์ในขณะนั้น คือมุ่งประโยชน์ปัจจุบันที่ต้องชิงบัลลังก์ ชิงอำนาจมาให้ได้ ผลคือแม้ต้องฆ่าพี่ฆ่าน้องก็ยอม เพราะกรอบความคิดเป็นอย่างนั้น
ครั้นได้ขึ้นครองบัลลังก์แล้ว กรอบความคิดที่มุ่งประโยชน์ปัจจุบัน ก็ทำให้พระองค์ต้องการขยายอำนาจขยายอาณาจักรออกไปโดยเร็วที่สุด จึงทรงยกทัพไปชิงเมืองอื่นๆ ต้องรบราฆ่าฟันผู้คนมากมายเพื่อให้ได้มาซึ่งตำแหน่งมหาราช ทั้งที่การแย่งชิงบ้านเมืองของผู้อื่นนั้นเป็นการกระทำที่มิได้ต่างจากมหาโจรเลย อยู่มาวันหนึ่งพระเจ้าอโศกได้พบสามเณรในพระพุทธศาสนารูปหนึ่ง ชื่อสามเณรนิโครธ ซึ่งกำลังเดินบิณฑบาต ด้วยบุคลิกอันสงบเสงี่ยม สง่างาม พระองค์เห็นแล้วเกิดความสงบใจ เกิดศรัทธาในเบื้องต้น ยิ่งได้ฟังธรรมจากสามเณรยิ่งมีศรัทธาเพิ่มพูนขึ้นจึงวางศัสตราวุธ หยุดการเป็นมหาราช ที่ต้องยกทัพไปรบไปยึดเมืองเขา แต่จะขอเป็นธรรมราชา คือเป็นกษัตริย์ที่ปกครองโดยธรรม จะแผ่พระบรมราชานุภาพ ด้วยการนำธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปเผยแผ่ให้กว้างไกล ทรงเปลี่ยนนโยบายทั้งหมด หยุดการรุกรานแล้วหันมาทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นการใหญ่
เมื่อกรอบความคิดเปลี่ยนความฉลาดทางศีลธรรมก็เปลี่ยนระดับทันทีเพราะรู้แล้วว่า ชีวิตคนเราไม่ได้มีแค่ชาตินี้ บุญบาปมีจริง จะเห็นได้ว่า แม้เติบใหญ่หรือยิ่งใหญ่ขนาดเป็นพระราชาแล้วก็ยังสามารถเปลี่ยนได้ ตัวอย่างที่สองอหิงสกะในวัยหนุ่งอหิงสกะได้ไปศึกษาอยู่กับอาจารย์ และด้วยเหตุที่อหิงสกะเป็นศิษย์ที่มีความสามารถมาก จึงเป็นที่รักใคร่โปรดปรานของอาจารย์ ทำให้ลูกศิษย์คนอื่นๆ เกิดความอิจฉาจึงไปยุอาจารย์ว่า ต่อไปภายภาคหน้าอหิงสกะจะคิดล้างครู ให้อาจารย์หาหนทางกำจัดอหิงสกะเสียก่อน ฝ่ายอาจารย์หากจะลงมือฆ่าอหิงสกะเองก็เกรงจะเสียชื่อ จึงวางแผนเรียกอหิงสกะมาแล้วลวงว่าตนจะถ่ายทอดวิชาพิเศษอันเป็นสุดยอดวิชาให้ แต่มีข้อแม้ว่าอหิงสกะต้องไปฆ่าคนให้ครบ 1,000 คนเสียก่อน จึงจะเรียนวิชานี้ได้ โดยในใจนั้นคิดว่าหากอหิงสกะทำตามที่ตนบอก ในไม่ช้าอหิงสกะย่อมจะถูกฆ่าตายอย่างแน่นอน
อหิงสกะเป็นคนที่มีเป้าหมายชัดเจนว่าต้องการวิชาความรู้ใส่ตัว ประกอบกับมีความเคารพเชื่อฟังอาจารย์มาก จึงรับคำอาจารย์ แล้วออกเดินทางฆ่าคนไปเรื่อยๆ เพราะมุ่งประโยชน์คือการได้เรียนวิชา อหิงสกะขาดความรู้ในเรื่องบุญบาป เมื่อฆ่าคนมากๆเข้าก็มีผลต่อจิตประสาท จากที่เคยเป็นคนเฉลียวฉลาด ก็เกิดความสับสน จำไม่ได้ว่าฆ่าคนไปกี่คนแล้ว จึงได้ตัดนิ้วก้อยจากศพ มาร้อยเป็นพวงมาลัยคล้องคอไว้ จึงเป็นที่มาของชื่อองคุลีมาล ซึ่งคำว่าองคุลีก็คือนิ้วนั่นเอง
องคุลีมาลได้สร้างความหวาดกลัวให้กับชาวเมืองเป็นอันมาก พระราชาได้ส่งทหารเป็นจำนวนมากไปปราบองคุลีมาล แต่ก็ไม่สำเร็จในที่สุด พระราชาจึงตัดสินพระทัยยกทัพใหญ่ไปปราบฝ่ายแม่ขององคุลีมาลเมื่อรู้ข่าวด้วยความรักลูกจึงรีบเดินทางเพื่อจะไปบอกลูกให้รีบหนีไปเสีย
ครั้งนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเห็นเหตุการณ์ทั้งหมดด้วยข่ายพระญาณ ทรงรู้ว่าองคุลีมาลฆ่าคนไปแล้วถึ 999 คน ใจขององคุลีมาลนั้นมืดมัวเต็มที หากองคุลีมาลได้พบแม่ เขาย่อมจะฆ่าแม่ เพื่อให้ครบ1,000 คนตามเป้าหมายทันทีซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นก็จะกลายเป็นอนนตริยกรรม คือกรรมหนักที่จะปิดสวรรค์ ปิดนิพพานหมดโอกาสเข้าถึงธรรม พระพุทธองค์จึงเสด็จไปโปรดองคุลีมาลก่อนที่แม่ของเขาจะไปถึง เมื่อองคุลีมาลได้พบพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ดีใจคิดว่าตนจะได้ฆ่าคนให้ครบ 1,000 คนเสียที เขาถือดาบวิ่งไล่ตาม หมายจะฆ่าพระพุทธองค์ แต่ปรากฏว่าองคุลีมาลวิ่งตามอยู่ 3 โยชน์ คือ 48 กิโลเมตร ก็ไม่สามารถตามพระพุทธองค์ที่ทรงเดินไปอย่างปกติธรรมดา เมื่อไม่รู้จะทำอย่างไรองคุลีมาลจึงตะโกนว่า “ สมณะหยุดก่อน ”
พระพุทธองค์ทรงตอบว่า “ ดูก่อนองคุลีมาล ตถาคตหยุดแล้ว เธอสิยังไม่หยุด ” องคุลีมาลจึงแย้งว่า “ ท่านจะหยุดแล้วได้อย่างไร ในเมื่อเราวิ่งตามท่านเท่าไรก็ตามไม่ทัน ” พระพุทธองค์จึงตรัสว่า “ ตถาคตหยุดแล้วจากการสร้างบาปกรรมทั้งหลาย ด้วยการปลงสัตว์จากชีวิต องคุลีมาลเธอล่ะ เมื่อไรจะหยุด ” ด้วยคำพูดนี้เหมือนสายฟ้าฟาด สว่างขึ้นกลางใจขององคุลีมาล องคุลีมาลนั้นแม้จะมีบาปอวิชชาท่วมใจ แต่เมื่อได้เห็นทั้งพุทธานุภาพและได้ฟังอาตมวาจาของพระพุทธองค์ที่ช่วยเปิดกรอบความคิด สร้างสัมมาทิฐิให้เกิดขึ้นในใจ ฆาตกรใจบาปจึงยอมทิ้งดาบคุกเข่าลงกราบพระพุทธองค์และทูลขอบวชเมื่อบวชแล้วพระองคุลีมาล ได้ตั้งใจบำเพ็ญสมณะธรรมอย่างยิ่ง แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังถูกวิบากกรรมตามทัน เวลาออกไปบิณฑบาตนอกจากจะไม่ได้ข้าวปลาอาหารแล้ว ท่านยังถูกชาวบ้านขว้างปาด้วยก้อนอิฐ ก้อนหิน จนบาตรแตก ศีรษะแตก เลือดไหลอาบ ได้รับทุกขเวทนาอย่างมาก แต่ท่านก็อดทนไม่ย่อท้อในการประพฤติปฏิบัติธรรม
วันหนึ่งพระองคุลีมาลเห็นหญิงมีครรภ์แก่ ปวดท้องคลอดอย่างน่าสงสาร หญิงนั้นเห็นพระองคุลีมาลก็ตกใจกลัว แต่ก็หนีไปไหนไม่ได้ พระองคุลีมาล จึงเข้าไปช่วยแล้วอธิษฐานว่า “ ตั้งแต่ข้าพเจ้าออกบวชมีชีวิตใหม่ในพระธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่มีเลยแม้แต่ความคิดที่จะปลงสัตว์จากชีวิต ด้วยอำนาจสัจจะวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแด่หญิงผู้นี้และทารกในครรภ์เถิด ” พอสิ้นเสียงเท่านั้นเอง ทารกก็คลอดออกมาด้วยดี
จากนั้นมาพระองคุลีมาล จึงบิณฑบาตพอได้ข้าวมาบ้าง ชีวิตในสมณเพศของท่านก็สงบสุขขึ้นจนสุดท้านท่านก็ได้บรรลุพระอรหันต์ ชีวิตของท่านได้เปลี่ยนจากผู้ร้ายฆ่าคนมาเป็นพระอรหันต์ นับว่าท่านได้พัฒนาระดับความฉลาดทางศีลธรรมขึ้นอย่างยิ่งยวด เพราะได้ยกระดับกรอบความคิดจากการมุ่งประโยชน์ในชาตินี้เป็นการมุ่งประโยชน์อย่างยิ่ง คือมุ่งนิพพาน
ดังนั้นระดับความฉลาดทางศีลธรรมเป็นสิ่งที่สามารถพัฒนา ยกระดับขึ้นได้ แม้ในวัยผู้ใหญ่ โดยการเปลี่ยนกรอบความคิดเท่านั้นเอง ถ้าเราขยายกรอบความคิดให้เปิดกว้างจนมองเห็นความจริงของโลกและชีวิต ความคิดและการกระทำทั้งหมดก็จะเปลี่ยนตาม ระดับความฉลาดทางศีลธรรมจะสูงขึ้นมาทันทีแล้วเราจะมีชีวิตที่อยากทำแต่ความดียิ่งๆขึ้นไป ยังมีเรื่องราวของคนอีกมากมายที่เราสามารถพบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน ที่แสดงให้เห็นว่าระดับความฉลาดทางศีลธรรมของคนเราสามารถเปลี่ยนแปลงและพัฒนาได้ แม้จะเป็นผู้ใหญ่มีอายุมากแล้วก็ตาม และเรื่องราวเหล่านั้นจะเป็นกำลังใจให้เราเชื่อมั่นว่าชีวิตเราสามารถมุ่งไปสู่การทำความดีที่ยิ่งๆขึ้นไปได้ เพียงยกระดับกรอบความคิดเท่านั้นเอง
----------------------------------------------------------------------------------
หนังสือ " ทันโลกทันธรรม 4 "
พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ