ประเทศไทยวัยชรา

วันที่ 16 กย. พ.ศ.2558

 

ประเทศไทยวัยชรา


ปัจจุบัน สังคมไทยเริ่งเคลื่อนตัวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คือจำนวนประชากรที่มีอายุเกิน 60 ปี มีมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี มีจำนวนลดลง การที่สังคมไทยเข้าสู่วัยชราเช่นนี้มีเรื่องสำคัญ 2 ประการที่อยากจะฝากไว้คือ
ประการที่ 1 การเตรียมความพร้อมทางด้านเศรษฐกิจ เมื่อคนในวัยทำงานมีอัตราส่วนลดลงเรื่อยๆ การบริหารทรัพยากรบุคคลจึงเป็นเรื่องที่ต้องวางแผนให้ดี อาจต้องมีการปรับปรุงแก้กฏหมายใหม่ เช่นแต่เดิมเกษียณอายุกำหนดไว้ที่ 60 ปีก็อาจจะขยับไปที่ 65 ปี หรือ 70 ปี เพราะผู้สูงวัยในปัจจุบันนี้ จำนวนไม่น้อยที่มีสุขภาพแข็งแรงอีกทั้งมีความรู้ความสามารถ เกินกว่าจะนั่งจับเจ่าอยู่ที่บ้าน หรือมีชีวิตอยู่ไปวันๆ ในบ้านพักคนชรา


บุคคลที่น่าชื่นชมท่านหนึ่งคือเติ้งเสี่ยวผิง ผู้พลิกแผ่นดินจีน จากประเทศที่ประชากรมีรายได้ต่อหัวต่ำมาก ทะยานขึ้นมาอยู่แถวหน้าของโลก โดยมีการผลักดันระบบเศรษฐกิจการตลาดเข้าสู่ประเทศจีน เปลี่ยนวิถีชีวิตของคน 1,300 ล้านคน นับตั้งแต่ปีค.ศ. 1978 ซึ่งขณะนั้นเติ้งเสี่ยวผิงมีอายุถึง 75 ปีแล้ว นี่คือศักยภาพอันยิ่งใหญ่ของชายชราผู้หนึ่ง 
ในหลายวงการอาชีพ ประสบการณ์ของผู้สูงวัยนับเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เช่นนักวิชาการ นักบริหาร นักกฏหมาย สถาปนิก วิศวกร หรือแม้แต่แพทย์ที่เกษียณอายุแล้ว ก็มีความสามารถใช้ความเชี่ยวชาญรักษาคนไข้ได้เป็นอย่างดี และไม่เฉพาะแต่ในแวดวงวิชาการ ผู้สูงอายุยังเป็นผู้เชี่ยวชาญในงานฝีมือได้เช่นกัน ขอเพียงแต่มีผู้เห็นความสำคัญ และเปิดโอกาสให้ท่านเหล่านั้นได้ใช้ความสามารถที่สั่งสมมา ตัวอย่างเช่น เมื่อครั้งที่ประเทศจีนกำลังสร้างหลักปักฐาน ต้องการความรู้และเทคโนโลยีด้านต่างๆ อย่างมาก องค์กรณ์และบริษัทจากประเทศจีน จึงได้เข้ามาเสาะแสวงหาผู้สูงอายุ ชาวญี่ปุ่นซึ่งเกษียณอายุแล้ว และเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ แม้แต่ผู้สูงวัยที่เป็นแรงงานที่มีฝีมือ เช่น เป็นผู้เชี่ยวชาญในการเลี้ยงหอยมุก ก็ได้รับเชิญไปถ่ายทอดทักษะความรู้ การเล็งเห็นคุณค่าของผู้สูงอายุเช่นนี้ ได้สร้างประโยชน์กับประเทศจีนอย่างมหาศาล รวมทั้งอุตสาหกรรมการเลี้ยงหอยมุกของประเทศจีน ก็มีการเติบโตอย่างมากในปัจจุบัน


ส่วนในสังคมไทยหลายๆวงการเริ่มมีการปรับตัวสำหรับการเป็นสังคมผู้สูงอายุ เช่นในระบบตุลาการ ผู้พิพากษาที่เกษียณอายุแล้ว ก็ยังสามารถทำหน้าที่พิพากษาคดีได้ เพียงแต่ไม่ได้รับงานด้านบริหาร และทำหน้าที่อัยการอย่างเดียว ซึ่งส่งผลดีต่อระบบงานโดยรวมอย่างมาก เพราะได้แก้ปัญหาคดีคั่งค้าง อันเนื่องมาจากจำนวนผู้พิพากษาและอัยการไม่เพียงพอ ขณะนี้จึงมีความพยายามที่จะปรับแก้กฏหมายใหม่ในเรื่องเกษียณอายุ เพียงแต่จะต้องกระทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะถ้าเลื่อนจาก 60 ปีเป็น 65 ปีหรือ 70 ปี ทันทีทันใดนั้น ก็จะเกิดความชะงักงันในการเลื่อนตำแหน่งต่างๆ แต่ถ้าค่อยๆปรับครั้งละ 1 ปี ผู้ที่อยู่ในตำแหน่งรองลงไปก็ไม่เสียผลประโยชน์มากนัก การป้องกันปัญหาเหล่านี้ ต้องอาศัยการวางแผนการจัดการต่างๆ ให้ดี 


ส่วนในระบบงานของเอกชน ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นก็คือ โดยมากบริษัทเอกชนมักไม่ต้องจ้างพนักงานที่มีอายุการทำงานยาวนาน เนื่องจากต้องจ่ายเงินเดือนสูง การมีพนักงานสูงอายุที่เลื่อนเวลาการเกษียณออกไปอีก ยิ่งเป็นการเพิ่มรายจ่ายให้กับบริษัท และในบางกรณี แม้ผู้สูงอายุจะมีประสบการณ์และความสุขุมรอบคอบในการทำงาน แต่ในด้านความฉับไวในการตัดสินใจ หรือประสิทธิภาพในด้านอื่นๆ ก็อาจลดลง ตรงจุดนี้บริษัทเอกชนต่างๆ ก็มักจะคำนึงถึงความคุ้มค่า เมื่อเทียบกับการจ้างพนักงานที่อายุยังน้อย อย่างไรก็ตามปัญหาต่างๆ เหล่านี้ ล้วนสามารถหาทางออกได้ ด้วยการบริหารจัดการที่ดีเช่นกัน อาจต้องมีการพบกันครึ่งทาง โดยบริษัทยังจ้างผู้สูงอายุต่ออาจปรับลดเงินเดือนลงตามภาระงาน ให้สมประโยชน์ซึ่งกันและกัน บริษัทก็ประหยัดรายจ่าย ผู้สูงอายุก็ได้ใช้ศักยภาพของตนให้เกิดประโยชน์ ปัญหาลักษณะนี้จึงต้องพิจารณาเป็นกรณีๆไป ไม่อาจใช้ระบบอัตโนมัติมาประเมินได้


ส่วนผู้สูงอายุในกลุ่มใช้แรงงาน ซึ่งไม่สามารถทำงานหนักได้เช่นเดิม ก็ต้องมีมาตรการช่วยเหลือรองรับปรับรูปแบบเนื้องานให้พอเหมาะลง ผู้สูงอายุกลุ่มนี้ก็สามารถใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าในวัยเกษียณอายุได้เช่นกัน เราทุกคนล้วนกำลังก้าวเข้าสู่วัยชราอยู่ทุกขณะ เราจะต้องเป็นคนชราที่เป็นภาระผู้อื่น หรือจะเป็นผู้หยิบยื่นประโยชน์สุข ให้สังคมก็อยู่ที่ว่า วันนี้เราดำเนินชีวิตอย่างไร ได้สั่งสมทักษะความรู้และประสบการณ์ต่างๆ ให้เพิ่มพูนตามอายุหรือไม่ หากเราได้ร่วมใจกันบริหารทรัพยากรบุคคลเป็นอย่างดี เชื่อแน่ว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยวัยชราก็จะมีความกินดีอยู่ดีแน่นอน
ประการที่ 2 การเตรียมความพร้อมด้านจิตใจ คนชราที่ไม่มีเป้าหมายชีวิตนั้นน่าสงสาร จะมีความเงียบเหงาอยู่ภายในจิตใจ และมองไม่เห็นคุณค่าที่แท้จริงของตน แม้ในสังคมที่เจริญแล้วเช่น ประเทศญี่ปุ่น คนชราจำนวนไม่น้อยก็ยังมีชีวิตที่น่าหดหู่ใจ ในยามหนุ่มสาวต่างก็ขยันขันแข็ง ทำงานหนักเก็บออมเงินทองไว้ด้วยความประหยัดแต่พอสูงอายุขึ้นกลับต้องไปอยู่ที่บ้านพักคนชรา ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงมาก เท่ากับว่าเก็บเงินมาทั้งชีวิตเพื่อการนี้


ยิ่งไปกว่านั้นผู้เฒ่าบางคนขาดความรู้เรื่องบุญและบาป จะใช้ชีวิตฆ่าเวลาไปวันๆ บ้างก็เล่นไพ่เล่นเกมส์ เสพสื่อประโลมโลก ผู้เฒ่าบางคนนั่งอ่านการ์ตูนลามกบนรถสาธารณะ โดยไม่สนใจใยดีสายตาใครแม้แต่เด็กๆที่มองดูอยู่ภาพที่น่าสลดใจเหล่านี้ ยิ่งทำให้ความเคารพต่อผู้สูงอายุลดหายไป นับเป็นสังคมชราที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง 
ฉะนั้น การพัฒนาเศรษฐกิจและการพัฒนาจิตใจจึงต้องทำควบคู่กันไป ทุกคนในสังคมไม่ว่าจะมีอายุเท่าใดต้องได้เรียนรู้ความเป็นจริงของชีวิต เพื่อที่จะได้รู้ถึงเป้าหมายของการเกิดมาเป็นมนุษย์ ต้องรู้จักว่ากายมนุษย์นี้สำคัญที่สุด เพราะเป็นอุปกรณ์ในการสร้างบุญกุศลที่จะเป็นเสบียงติดตัวข้ามภพข้ามชาติ ความรู้เรื่องบุญบาป กฏแห่งกรรม และชีวิตในสังสารวัฏ จึงเป็นสิ่งที่ต้องปลูกฝังให้แน่นหนา เพราะความรู้เหล่านี้เท่านั้น ที่จะช่วยให้เราดำเนินชีวิตได้อย่างถูกต้องและมีความสุข ทุกวันที่มีชีวิตอยู่ จึงเป็นวันที่มีคุณค่าและมีความหมาย แม้เป็นผู้เฒ่าก็มิใช่ผู้เฒ่าที่อยู่เพื่อรอวันตาย แต่จะอยู่เพื่อสร้างบารมี ใครได้เข้าใกล้ผู้เฒ่าเช่นนี้ ก็จะรู้สึกสงบเย็น มีความสุขจึงเป็นที่เคารพรักของลูกหลาน 


ขอให้ทุกคนเตรียมความพร้อมตั้งแต่วันนี้ ดำเนินชีวิตอย่างมีเป้าหมาย เพื่อก้าวสู่สังคมวัยชราที่เจริญรุ่งเรืองทางทางเศรษฐกิจและจิตใจ เป็นผู้สูงวัยที่ประสบความสำเร็จทั้งทางโลกและทางธรรม

----------------------------------------------------------------------------------

หนังสือ " ทันโลกทันธรรม 5  "

พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0079915364583333 Mins