ความยุติธรรมกับความสามัคคีทุ่มเทในการทำงาน
ความยุติธรรม เป็นเรื่องสำคัญมาก ความลำบากไม่ได้ทำให้สังคมแตกแยกถ้าทุกคนยังรู้สึกว่าได้รับความเป็นธรรมอยู่ เช่น ในยามสงคราม ต้องรบทัพจับศึก ข้าวปลาอาหารขาดแคลนทั้งยังต้องคอยระวังข้าศึกจะมาโจมตี ถ้าทุกคนรู้สึกว่าทั้งหมดล้วนลำบากเสมอหน้ากัน การทำเพื่อเป้าหมายร่วมกันคือ เพื่อกู้ชาติหรือเพื่ออุดมการณ์ใด เขาก็ยอมอดทนได้ แม้ต้องสู้รบยาวนานนับสิบปี ก็ยังทนตรากตรำร่วมกันด้วยความสามัคคีได้
แต่เชื่อไหมว่า ถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ผู้คนมีชีวิตที่สุขสบายขึ้น แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เท่าเทียมกัน บางคนอาจมีชีวิตที่สมบูรณ์พูนสุข ในขณะที่อีกหลายคนอาจได้รับความสบายเพิ่มขึ้นเพียงน้อยนิด เมื่อเป็นเช่นนี้คนในสังคมนั้นจะทะเลาะกันทันที เพราะคนเราแม้จะมีชีวิตที่ดีขึ้น แต่พอเหลือบไปทางซ้าย มองไปทางขวา เห็นคนอื่นมีชีวิตที่สุขสบายกว่า ก็รู้สึกคับข้องใจในความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น นำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้งในสังคม
เรื่องราวของประเทศจีนเป็นตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจน สังคมจีนในสมัยที่ประเทศยังเป็นคอมมิวนิสต์อย่างเต็มตัว เป็นระบอบคอมมูนทุกคนลำบาก แม้จะมีข้าวกิน แต่คุณภาพชีวิตก็ไม่ได้ดีอะไร ถึงเวลาก็เอาชามสังกะสีเก่าๆไปต่อแถวรับข้าวมาประทังชีวิต เสื้อผ้าก็สีน้ำเงินเหมือนกันหมด ตัดผมก็ทรงเดียวกันทั้งประเทศ ลำบากเหมือนกันหมดแต่ก็อยู่ร่วมกันในสังคมได้ ต่อมาจีนได้พัฒนาประเทศอย่างรวดเร็วต่อเนื่องมาเกือบ 30 ปี นับว่าเป็นประเทศที่โตเร็วที่สุดในโลกเลยทีเดียว แต่ตอนนี้สิ่งที่ผู้นำจีนมีความเป็นห่วงมากที่สุดคือ ความสมานฉันท์ในประเทศ เกรงว่าจะเกิดการทะเลาะเบาะแว้งกัน แยกพวกแยกเหล่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ เพราะการพัฒนาประเทศที่ผ่านมานั้น แต่ละพื้นที่ก็พัฒนาไม่เท่ากัน เศรษฐกิจแถบชายฝั่งทะเลเจริญเร็วกว่าแถบตะวันตกเจริญช้ากว่า เพราะการขนส่ง การค้าขายไม่ค่อยคล่อง และแต่ละพื้นที่ช่องว่างรายได้ระหว่างคนรวยคนจนก็มีมาก ทั้งที่เทียบกันแล้ว คนจนในประเทศจีนปัจจุบัน ก็ยังสบายกว่าเมื่อครั้งสมัยอยู่ในระบบคอมมูน แต่ที่เขาไม่พอใจ เป็นเพราะเห็นว่าคนอื่นอีกจำนวนมากที่สบายกว่าเขา มีโอกาสมากกว่าเขา สิ่งเหล่านี้จึงอาจนำไปสู่ความแตกแยกภายในประเทศได้
ปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมกันนี้ เคยมีตัวอย่างจากประสบการณ์จริง เช่น เมื่อครั้งที่ชวนญาติโยมให้ร่วมบริจาคเสื้อผ้าเพื่อนำไปมอบให้ชาวชนบทที่ยากจน อาศัยอยู่บนภูเขาที่อากาศหนาวเย็น เสื้อผ้าที่รวบรวมมาได้ก็มีความหลากหลาย ทั้งแบบธรรมดาและแบบที่ประณีตเป็นของดีมีราคา แม้จะสามารถแจกจ่ายให้ได้ครบทุกคน แต่ของที่มอบให้นั้นแตกต่างกัน บางคนก็ได้รับเสื้อผ้าดีๆ บางคนก็ได้รับเสื้อผ้าธรรมดา ผลก็คือเกิดการทะเลาะกัน ทั้งที่แต่เดิมแม้จะอยู่อย่างขาดแคลนแต่ก็มีความสุขสงบ เรื่องนี้จึงเป็นบทเรียนว่าในการทำกิจกรรมเช่นนี้ต้องคำนึงถึงความยุติธรรมเสมอภาคให้ดี
ความไม่มีเหมือนๆกันยังไม่เป็นปัญหาเท่าไร แต่ว่าถ้าเกิดมีเพิ่มขึ้นมาแล้วไม่เท่ากันไม่ยุติธรรม ย่อมสร้างปัญหาตามมาแน่นอน นี่คือความเกี่ยวพันกันระหว่างความยุติธรรมกับความสามัคคีของสังคมตั้งแต่ระดับเล็กๆในครอบครัว ในหมู่บ้านไปจนถึงระดับประเทศ ระดับโลก ก็หลักการเดียวกันไม่ได้แตกต่างกันเลย
นอกจากความยุติธรรมจะส่งผลต่อความสามัคคีแล้ว ยังส่งผลถึงอีกด้านหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ ความยินดีที่จะทุ่มเททำงาน ขอยกตัวอย่างที่ประเทศจีนอีกครั้งหนึ่ง ในช่วงที่อยู่ภายใต้ระบบคอมมิวนิสต์เขาใช้ระบบนารวม คือ ทรัพย์สินทุกอย่างมารวมเป็นส่วนกลาง แล้วทุกคนก็ไปทำงานในคอมมูนเป็นส่วนกลาง ผลผลิตที่เกิดขึ้นให้นำไปขายแล้วส่งให้รัฐบาล เมื่อได้ผลตอบแทนกลับมาก็เฉลี่ยให้คอมมูนอย่างเสมอหน้า มีลูกหลานก็ส่งไปให้เจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่เลี้ยงดู เหมือนเป็นโรงเรียนรวม แบ่งงานกันทำแบ่งทุกอย่างในคอมมูนอย่างนี้ ดูเผินๆก็ดูเหมือนว่าทุกคนเสมอภาคกันดี ทุกคนมีความเป็นอยู่เหมือนกันหมด แต่ถ้าพิจารณาให้ดีสิ่งนี้ก็คือ ความไม่เสมอภาคอย่างหนึ่งเหมือนกันเพราะในคอมมูนนั้น ถามว่าแต่ละคนขยันเท่ากันไหม คำตอบคือ ไม่เท่ากัน บางคนขยัน บางคนขี้เกียจ ถ้าถามว่าความรู้ความสามารถของแต่ละคนเท่ากันไหม ก็ไม่เท่าอีกเช่นกัน ในเมื่อสติปัญญาและการทุ่มเททำงานไม่เท่ากัน แต่ผลที่ได้รับเหมือนกันทุกคน คนที่ขยัน คนที่ฉลาดก็รู้สึกว่า ไม่เป็นธรรม แล้วเราจะขยันไปทำไม ทำเท่าไรๆ ก็ได้เหมือนคนอื่นผลก็คือเกิดการอู้งาน แรงจูงใจที่ขยันก็ค่อยๆหายไป กลายเป็นการทำงานแค่พอให้ไม่เป็นความผิด ไม่ถูกลงโทษก็พอ
เมื่อเติ้งเสี่ยวผิงปฏิรูปเศรษฐกิจ จึงเริ่มที่การเกษตรก่อน แม้จะยังไม่ได้ยกเลิก ระบบนารวมทันทีทันใด เนื่องจากเรื่องนี้เกี่ยวพันกับคนจำนวนมากถ้าปรับตัวตามไม่ทันจะเกิดความวุ่นวาย แต่สิ่งที่ได้ปรับเปลี่ยนก็คือ การให้ชาวนาแต่ละคนมีพื้นที่เล็กๆ เป็นของตัวเองที่จะใช้ปลูกผัก ปลูกอะไรก็ได้และผลผลิตที่เกิดขึ้นสามารถนำไปขายเป็นรายรับของตัวเองได้ ไม่ต้องเข้าคอมมูน ปรากฏว่าทุกคนทุ่มเทดูแลพื้นที่เล็กๆ ของตนอย่างดีเยี่ยม เพราะรู้สึกว่าเป็นความยุติธรรม ที่ใครทำได้เท่าไรก็เป็นของคนนั้น ขยันมากก็ได้มาก ขยันน้อยก็ได้น้อย จนปรากฏว่าพื้นที่ผืนเล็กๆ เหล่านี้ให้ผลผลิตทางการเกษตรที่มีมูลค่าแทบจะเลี้ยงดูคนทั้งประเทศได้เลยทีเดียวหลังจากพัฒนาระบบการเกษตรให้เจริญแล้ว จีนก็ได้ขยายการพัฒนาไปในด้านต่างๆ อีกมากมาย
เห็นได้ชัดเจนว่าความเป็นธรรมทำให้เกิดวิริยะอุตสาหะเพิ่มขึ้นได้ เพราะรู้สึกว่าสิ่งที่ทุ่มเทไปนั้นคุ้มค่า ตรงกันข้ามกับความรู้สึกของคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ยิ่งถ้าเป็นคนที่ไม่รู้จักเรื่องบุญ เห็นเพียงประโยชน์ที่จะกลับมาในชาตินี้เท่านั้น หากรู้สึกว่างานที่ทำไม่ได้ให้ผลตอบแทนอย่างที่ควรจะได้ก็ย่อมไม่อยากทำงานนั้นๆ เพราะฉะนั้นถ้าหน่วยงาน บริษัทห้างร้านต่างๆ มีระบบประเมินประสิทธิภาพการทำงานของบุคลากรอย่างเป็นธรรม มีการประเมินผลงานอย่างเป็นธรรม ก็จะสามารถสร้างแรงจูงใจให้บุคลากรทุ่มเทให้กับการทำงานได้อย่างดี
ฉะนั้น ความยุติธรรมจึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนทีเดียว โดยเฉพาะเมื่อเกี่ยวพันกับคนหมู่มาก ปัญหาของระบอบคอมมูน ก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ไม่สามารถสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นได้กลับทำให้คนขาดแรงจูงใจในการทำงาน เพราะความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นระบบคอมมูนในรัสเซียหรือจีน ต่างไม่สามารถนำพาประเทศให้เจริญก้าวหน้าได้ ต้องเอาระบบเศรษฐกิจการตลาดเข้ามา เพราะเปิดโอกาสให้แต่ละคนใช้ศักยภาพตัวเองได้อย่างเต็มที่ ทำเท่าไร ขยันเท่าไรมีความสามารถเท่าไร ก็ได้รับผลตามนั้น ซึ่งผลพวงที่ตามมาก็คือ เรื่องของมือใครยาวสาวได้สาวเอา ฉะนั้น รัฐจำเป็นต้องให้ความเป็นธรรมอีกด้านหนึ่ง คือ สวัสดิการสังคม คอยดูแลคนที่ด้อยโอกาสให้เขามีโอกาสได้รับสิ่งต่างๆ อย่างเป็นธรรมด้วยเช่นกัน เป็นการรักษาความสมดุลของสังคมอีกด้านหนึ่ง จึงมีหลายมุมมองที่ต้องพิจารณาเพื่อให้สร้างและรักษาความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในทุกมิติ เพื่อให้สังคมของเราได้เจริญพัฒนาอย่างร่มเย็นเป็นสุข
----------------------------------------------------------------------------------
หนังสือ " ทันโลกทันธรรม 2 "
พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ