ความสมานฉันท์

วันที่ 29 สค. พ.ศ.2558

 

ความสมานฉันท์


            ทุกวันนี้บ้านเมืองของเรากำลังต้องการความสมานฉันท์ เป็นอย่างยิ่ง ซึ่งหลักในการสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ชัดเจนว่า ความสมานฉันท์เป็นความเอกภาพ ความสามัคคีกันในสังคมจะเกิดขึ้นได้ จะต้องยึดหลักสำคัญคือ การไม่มีอคติ 4 หรือการไม่ลำเอียง 4 ประการ ได้แก่


1.    ไม่ลำเอียงเพราะความรัก คือไม่มีฉันทาคติ
2.    ไม่ลำเอียงเพราะความชัง คือ ไม่มีโทสาคติ
3.    ไม่ลำเอียงเพราะความกลัว คือ ไม่มีภยาคติ
4.    ไม่ลำเอียงเพราะความหลง คือ ไม่มีโมหาคติ

 

เนื่องจากอคติ 4 นี้เป็นเหตุแห่งความแตกแยก กล่าวคือ 
            1.    ฉันทาคติ ลำเอียงเพราะความรัก เช่น การตัดสินต่างๆ โดยเอาความรัก ความชอบเป็นที่ตั้ง เมื่อรักใครชอบใคร ก็จะเข้าข้างคนนั้น หรือฝ่ายนั้นๆ โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องบางครั้งถึงกับหลับหูหลับตาเข้าข้างพรรคพวกเดียวกัน ทั้งที่ในใจลึกๆก็รู้ว่าผิด


            2.    โทสาคติ ลำเอียงเพราะความชัง เช่น เมื่อเกลียดชังใคร ไม่ชอบใจใคร ก็เห็นเขาเป็นศัตรู เมื่อมีเรื่องมีราวใดๆเกิดขึ้น ก็พร้อมจะกล่าวโทษ โยนความผิดให้เขา โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้อง บางครั้งอาจถึงกับหาเรื่องเขาเพราะความเกลียดชังก็มี


            3.    ภยาคติ ลำเอียงเพราะความกลัว เช่น การยอมเข้าข้างคนผิด เพราะกลัวว่าจะมีภัยมาถึงตัว บางครั้งแม้จะรู้ว่าความจริงคืออะไรก็ไม่กล้าที่จะยืนอยู่ข้างความถูกต้อง กลับเอาความอยู่รอดปลอดภัยของตนเองเป็นที่ตั้ง ความลำเอียงเช่นนี้ ย่อมทำให้สังคมบิดเบี้ยว ไม่มีใครกล้าทักท้วงการกระทำที่ไม่ถูกต้อง


           4.    โมหาคติ ลำเอียงเพราะความหลง เช่น การที่เราถูกชักจูงไปในทางที่ผิด หลงเข้าข้างคนผิด เพราะไม่ทันได้ไตร่ตรองพิจารณา หรือการที่คนเราขาดข้อมูล ขาดความรู้ความเข้าใจ ทำให้รู้เท่าไม่ถึงการณ์ เป็นเหตุให้ตัดสินสิ่งต่างๆ ผิดพลาดได้ 


            อคติทั้ง 4 นี้หากเกิดขึ้นเมื่อใดก็จะทำให้สังคมแตกแยก เป็นก๊กเป็นเหล่า เพราะคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ย่อมจะต่อสู้เพื่อแสวงหาความเป็นธรรม นับแต่โบราณกาลในทุกสังคม ไม่ว่าจะเป็นสังคมชาวพุทธ หรือสังคมของศาสนาใดก็ตาม ล้วนใช้ความยุติธรรมเป็นหลักในการวางรากฐานสังคม ประสบการณ์ที่สั่งสมมาทำให้รู้ว่า เมื่อใดก็ตามที่ขาดความเป็นธรรมแล้ว สังคมจะปั่นป่วนวุ่นวาย ดังนั้นในการปกครองทุกระบอบจะต้องมีกระบวนการยุติธรรมเกิดขึ้น และพยายามให้ความเป็นธรรมมากที่สุด ถ้ากระบวนการยุติธรรมขาดความเป็นธรรมเมื่อใด เมื่อนั้นสังคมจะมีปัญหา และอาจลุกลามสร้างความเสียหายใหญ่หลวงตามมา ตรงกันข้ามถ้ากระบวนการยุติธรรมยังคงอยู่ แม้เกิดความขัดแย้งขึ้นในสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ หากกระบวนการตัดสินดำเนินไปอย่างยุติธรรม รับฟังความเห็นข้อมูลหลักฐานจากคู่กรณีทั้ง 2 ฝ่าย อย่างเสมอกัน จากนั้นจึงตัดสินอย่างเที่ยงธรรม ผู้ที่ถูกตัดสินว่าผิดก็พอจะยอมรับคำตัดสินนั้นได้ รวมถึงพรรคพวกเพื่อนฝูงก็พอจะยอมรับได้เช่นกัน เมื่อเป็นเช่นนี้เรื่องราวความขัดแย้งนั้นๆ ย่อมจบลงได้ แต่ถ้ากระบวนการยุติธรรมไม่เป็นธรรมขึ้นมา เมื่อใด เมื่อนั้นปัญหาจะตามมามากมายทีเดียว


            เมื่อคนในสังคมผิดหวังจากกระบวนการยุติธรรมก็อาจจะเกิดการแสวงหาความเป็นธรรมด้วยวิถีทางของตัวเอง สร้างปัญหาตามมาอีก เพราะกติกาหรือหลักการของแต่ละคน ย่อมไม่เหมือนกัน ไม่ใช่กติการ่วมที่ทุกคนในสังคมยอมรับได้ ยิ่งไปกว่านั้น ปัญหาจากการแสวงหาความยุติธรรมด้วยวิธีการของตัวเองนี้ สามารถลุกลามกลายเป็นปัญหาระดับประเทศ หรือระดับโลกได้เลยทีเดียว 


            ดังเช่น เรื่องราวที่เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์กำแพงเบอร์ลินทลายสหภาพโซเวียตที่ยิ่งใหญ่แตกออกเป็น 15 ประเทศ ภาวะประจันหน้าของสหรัฐอเมริกา มหาอำนาจฝ่ายทุนนิยม กับสหภาพโซเวียตมหาอำนาจคอมมิวนิสต์ ที่เคยเป็นคู่สงครามเย็นกันมาตลอด 45 ปีได้จบลง ทั้งโลกเหลืออภิมหาอำนาจเพียงชาติเดียว คือสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในยุคนั้นคือ จอร์จบุช ถึงกับประกาศว่า บัดนี้โลกเข้าสู่ระเบียบโลกใหม่แล้ว ผู้คนต่างประหลาดใจว่าระเบียบโลกใหม่คืออะไร ในเมื่อโลกก็ยังเหมือนเดิม แต่สำหรับบุคคลที่อยู่ในตำแหน่งผู้นำประเทศมหาอำนาจนั้นย่อมรู้ดีว่า ถ้าโลกนี้มีมหาอำนาจสองฝ่าย คานอำนาจกันอยู่ มหาอำนาจทั้งสองฝ่ายนั้นจะต้องคอยเอาใจประเทศอื่นๆ เพื่อดึงมาเป็นพวก แม้จะเป็นประเทศเล็กประเทศน้อยก็ต้องให้ความสำคัญ ต้องเอาใจให้ดี เพื่อมิให้ประเทศเหล่านั้นไปเข้ากับมหาอำนาจฝ่ายตรงข้าม


            ดังนั้น เมื่อโลกเหลืออภิมหาอำนาจเพียงชาติเดียว สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ผู้ที่มีอำนาจก็คิดที่จะคุมโลกให้เป็นไปตามความคิดของ   ฝ่ายตนใครที่ยอมตามความคิดของตน ก็รับเข้ามาเป็นพวกหากใครไม่ยอมคล้อยตาม ก็ต้องกลายเป็นฝ่ายตรงข้าม ซึ่งบัดนี้ไม่มีมหาอำนาจใดให้พึ่งพิงอีกแล้ว แต่เมื่อเวลาผ่านไปสิบปี ความคิดที่จะคุมโลกนี้ กลับนำไปสู่สงครามครั้งใหม่ คือการก่อการร้าย เหตุการณ์ที่เครื่องบินชนตึก World trade center นั้น นำมาซึ่งความหายนะและความหวาดระแวงไปทั่วทั้งโลก แม้เป็นมภิมหาอำนาจยิ่งใหญ่ของโลก แต่ประชาชนของตนกลับต้องตกอยู่ในความหวาดผวาตลอดเวลา ถ้าเป็นสายการบินไม่ว่าจะเดินทางไปไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอเมริกา มาตรการตรวจค้นของก่อนขึ้นเครื่องจะต้องละเอียดยิบไปหมด เพราะกลัวการก่อการร้าย ประชาชนต่างอยู่ไม่เป็นสุขเลย ตั้งแต่วิกฤติ 11 กันยายน 2544 ครั้งนั้น


            แม้เป็นอภิมหาอำนาจ ที่มีแสนยานุภาพ มีปรมาณูนิวเคลียร์มหาศาล อย่างที่ไม่มีใครจะมารบชนะได้ ก็ใช่ว่าจะสามารถคุมทุกสิ่งทุกอย่างได้ ใหญ่เท่าใหญ่ก็ต้องรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพราะถ้าอีกฝ่ายรู้สึกว่าถูกรังแกไม่ได้รับความเป็นธรรมเมื่อใด ผลก็คือ เขาจะแสวงหาวิธีการต่อสู้แบบใหม่ แล้วความเสียหายก็จะเกิดขึ้นตามมา นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งในระดับโลก


            เพราะฉะนั้นในทุกสังคม ที่มีคนอยู่ตั้งแต่สองคนขึ้นไป เช่นในครอบครัว ถ้าตัดสินเรื่องราวต่างๆ อย่างเที่ยงธรรมปัญหาจะน้อย เพราะมีเหตุมีผลที่ทุกคนจะยอมรับได้ ไม่ได้กลั่นแกล้งกัน แต่เมื่อใดขาดความเที่ยงธรรม มีอคติเกิดขึ้น ปัญหาจะเกิดขึ้นตามมา ถ้าต่างฝ่ายต่างคิดว่าตนถูก ฝ่ายตรงข้ามผิด แล้วจะสมานฉันท์กันได้อย่างไร จะสมานฉันท์ได้ต้องมีทางเดียวคือมีหลักการยึดเอาความถูกต้อง ความจริงเป็นตัวตัดสิน เพราะความถูกต้องตรงตามความจริงนั้น เป็นสิ่งที่เห็นร่วมกันได้ แต่ถ้าตัดสินโดยถือว่า ใครเป็นพวกใคร ไม่ว่าสังคมไหนย่อมไม่มีทางสมานฉันท์ได้เลย 


            ความยุติธรรมจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อไม่มีอคติทั้ง 4 ประการ ซึ่งเราทุกคนต่างก็มีส่วนในเรื่องนี้ ใครที่ชอบเลือกข้างเลือกฝ่ายนั้น เลิกเสียเถิด เราเลือกส่วนรวมดีกว่า เลือกประเทศชาติดีกว่า อย่าไปเลือกใครคนใดคนหนึ่งเลย มองถึงความสงบสุข ความเจริญรุ่งเรือง ความมั่นคงของสังคมประเทศชาติ พระพุทธศาสนาเป็นหลัก แล้วเลิกถือเขาถือเรา เลิกแบ่งฝั่งแบ่งฝ่ายกันเสียเถิด


            นอกจากนั้นจงอย่าตัดสินเรื่องใดๆ ตามความชอบหรือไม่ชอบของเรา อย่าตัดสินหรือสื่อเรื่องราวใดๆ ออกไปเพียงเพราะความกลัว โดยเฉพาะผู้ที่ทำหน้าที่เป็นสื่อมวลชน ซึ่งมีอิทธิพลมากต่อคนในสังคม ขอให้สื่ออกไปตามความเป็นจริง อย่าสื่อออกไปเพียงเพราะเห็นผลประโยชน์เฉพาะหน้า หรือเพราะความกลัวจะถูกลงโทษหรือกลั่นแกล้ง 


            และทุกคนจะต้องพยายามฝึกตนเองให้มีปัญญาเพิ่มขึ้น เมื่อรับฟังข่าวสารใด อย่าเพิ่งเชื่อ อย่าให้สังคมของเราเป็นสังคมข่าวลือ แต่ให้แสวงหาความจริง มองภาพรวมให้ออก ศึกษาให้มาก ถ้าสังคมโดยรวมเป็นสังคมที่มีปัญญา ย่อมยากที่จะถูกชักจูงไปในทางที่ผิด สังคมก็จะเกิดเสถียรภาพมากขึ้น เมื่อสมาชิกในสังคมเป็นผู้มีปัญญา ผู้มีอำนาจก็จะเกรงใจ ไม่ว่าจะเป็นผู้มีอำนาจฝ่ายไหน เมื่อรู้ว่าไม่สามารถหลอกลวงประชาชนได้ ก็จะทำทุกอย่างด้วยความถูกต้อง แล้วความเป็นธรรมความจริงใจก็จะเกิดมากขึ้นๆ ไม่นานสังคมไทยก็จะเป็นสังคมที่สงบสุขด้วยความสมานฉันท์ เป็นสังคมที่พัฒนาแล้วอย่างแท้จริง
นี่คือหลักการสร้างความสมานฉันท์แบบชาวพุทธ คือใช้ความยุติธรรม ไม่ลำเอียง ไม่เลือกข้างแบ่งฝ่าย แต่ตัดสินอย่างเป็นธรรม ตามความเป็นจริงไม่เอาความรัก ความชัง ความกลัว มาเป็นตัวตัดสิน รวมทั้งไม่ปล่อยให้ความโง่เขลา ความไม่รู้ มาทำให้เกิดความผิดพลาด ในการตัดสิน แต่แสวงหาปัญญาแล้วตัดสินทุกอย่างตามความถูกต้องและความเป็นจริง เมื่อเป็นเช่นนี้จุดร่วมของสังคมจะเกิดขึ้นได้ แล้วความสามัคคีสมานฉันท์จึงจะเกิดขึ้น ความเจริญก้าวหน้าจึงจะตามมา ในที่สุด

----------------------------------------------------------------------------------

หนังสือ " ทันโลกทันธรรม 2  "

พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.062007399400075 Mins