ผู้ชนะในยุคข้อมูลข่าวสาร
ข้อมูลข่าวสารเป็นได้ทั้งขุมทรัพย์และกับดัก ผู้ชนะในยุคข้อมูลข่าวสาร จึงต้องดำเนินชีวิตอย่างผู้รู้ มิใช่ผู้ถูกครอบงำ ยุคนี้เป็นยุคที่ข้อมูลข่าวสารเป็นส่วนประกอบสำคัญในทุกกิจการงาน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้มาซึ่งข้อมูลที่ถูกต้องนอกจากนี้ในการถ่ายทอดข้อมูลและการเก็บรักษาข้อมูลก็ต้องทำด้วยความระมัดระวัง เพื่อป้องกันมิให้ข้อมูลผิดเพี้ยนหรือถูกกัดกร่อน
ข้อมูลถูกกัดกร่อนได้ด้วยเหตุปัจจัยหลายประการ เช่นการกัดกร่อนตามกาลเวลา เพราะเมื่อเวลาผ่านไป ข้อมูลก็ย่อมต้องผ่านกระบวนการต่างๆ ด้วยวัตถุประสงค์ต่างๆ จนอาจทำให้ข้อมูลผิดเพี้ยนไปจากความจริง และผิดเพี้ยนไปจากความเดิมอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยงได้การได้รับข้อมูลที่ผ่านการกัดกร่อนจนผิดเพี้ยนไปก็ย่อมส่งผลในการตัดสินใจพลอยผิดพลาดไปด้วย
ผู้ชนะในยุคข้อมูลข่าวสารจึงต้องมีฐานข้อมูล ที่ถูกต้องเพื่อการตัดสินใจที่แม่นยำและฉับไว แล้วทำอย่างไรจึงจะได้ข้อมูลที่ถูกต้อง
ประการแรกมีข้อมูลพื้นฐานอยู่ในใจ การแข่งขันในยุคข้อมูลข่าวสาร ทำให้สื่อต่างๆ นำเสนอข่าวสาร อย่างเร่งด่วนจึงมีโอกาสที่จะผิดพลาดในการให้ข้อมูล ยกตัวอย่างเรื่องของข้อมูลทางเศรษฐกิจ ในช่วงที่สหรัฐอเมริกาเกิดเศรษฐกิจ “ ซับไพรม์ ” ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก การติดตามข้อมูลข่าวสารจากหนังสือพิมพ์และสื่อต่างๆ ก็มีส่วนช่วยให้เราทันต่อเหตุการณ์ได้ แต่เราก็ต้องมีความระมัดระวังในการเก็บข้อมูล เพราะบางครั้งคอลัมน์เศรษฐกิจต่างๆ ในนิตยสารและหนังสือพิมพ์ที่เราอ่าน ลงข้อมูลตัวเลขผิดเพี้ยน บางครั้งก็ตกเลข 0 ไปตัวหนึ่ง บางที่ก็เกินมาตัวหนึ่ง จำนวนเลข 0 ที่คลาดเคลื่อนไปเพียง 1 ตัวนี้ ทำให้ความหมายผิดไปถึง 10 เท่า จาก1,000 ล้านกลายเป็น 10,000 ล้านเป็นต้น บางทีก็มีความผิดพลาดในขั้นตอนการแปลภาษา เช่นจากข้อมูลเดิมมีการใช้หน่วยเป็น billion คือพันล้าน แต่พอแปลแล้วกลับใช้หน่วยแต่หลักล้าน เพราะคนแปลดูผิด เห็นเป็นคำว่า million นั่นเอง แต่ได้ทำให้ความหมายเพี้ยนไปถึง 1,000 เท่าเป็นต้น
ในกรณีนี้เช่น ถ้าเราไม่มีข้อมูลพื้นฐานในใจ ก็อาจจะเชื่อตามที่เขาเขียนมา ยิ่งถ้านำข้อมูลนั้นไปใช้ ก็ยิ่งเกิดความคลาดเคลื่อนต่อๆไปอีกแต่ถ้าเรามีข้อมูลพื้นฐานจากการที่ได้ศึกษามาก่อน เราก็จะพอทราบว่า ขณะนี้เศรษฐกิจในอเมริกาเป็นอย่างไร อเมริกามีประชากรประมาณ 310 ล้านคน ชาวอเมริกันมีรายได้เฉลี่ยประมาณ 48,000 เหรียญดอลล่าร์สหรัฐต่อคนต่อปี ถ้าเรามีข้อมูลพื้นฐานอย่างนี้ เมื่อได้รับข้อมูลตัวเลขที่ผิดเพี้ยน ไปดังตัวอย่างข้างต้นเราก็อาจจะสามารถบอกได้ว่าข้อมูลนั้นๆไม่ถูก ดังนั้นหากเราจะตรวจสอบข้อมูลด้านไหน ก็ต้องสั่งสมข้อมูลในเรื่องนั้นๆ ไว้ในระดับหนึ่ง เพื่อที่ว่าถึงคราวจะรับข้อมูลใหม่ เราจะสามารถแยกแยะได้ว่า ข้อมูลนั้นน่าเชื่อถือหรือไม่ เรียกได้ว่ามีข้อมูลเข้ามาเมื่อไรก็ตรวจสอบในใจได้ตลอดเวลา ฝึกทำให้คุ้นเคยจนเป็นระบบอัตโนมัติ จะทำให้เราเป็นคนมีข้อมูลถูกต้องเที่ยงตรง
ประการที่สอง พิจารณาข้อมูลอย่างมีเหตุผล เมื่อเราได้รับส่งข้อมูลต่างๆ เราต้องไตร่ตรองตามดูเหตุและผล ของข้อมูลนั้นและต้องถอยออกมาดูด้วยว่า หลักการและเหตุผลที่ว่านั้น สอดคล้องกับภาพรวมไหม เปรียบเทียบกับเมื่อเรามองดูต้นไม้ ถ้าเราเพ่งมองแต่ที่ดอกผล เราก็จะไม่เห็นภาพต้นไม้ทั้งต้น การพิจารณาข้อมูลต่างๆ ก็เช่นกัน ต้องเจาะลึกทั้งรายละเอียด และต้องถอยออกมามองความเป็นไปในภาพรวม ถ้าทำได้อย่างนี้เราจะไม่ถูกชักจูงหรือโน้มน้าวด้วยข้อมูลที่ชี้นำไปในทางที่ผิด การเห็นภาพรวมนี้มีความสำคัญเพราะถ้าไม่รู้จักฝึกพิจารณาเช่นนี้ อาจตกเป็นเหยื่อ ขบวนการโฆษณาชวนเชื่อ เมื่อได้รับข้อมูลที่ดูมีเหตุผลก็สนใจ ติดตามคล้อยตามลึกไปเรื่อยๆ จึงมองไม่เห็นภาพรวม เพราะฉะนั้น รู้อะไรต้องรู้ให้จริงทั้งรายละเอียดและภาพรวมต้องตรวจสอบข้อมูลเสมอ อย่าเพิ่งเชื่อทันที ฝึกฝนจนทำได้โดยอัตโนมัติแล้วเราจะเป็นผู้มีปัญญาแตกฉาน เป็นคนมีความรู้ที่ไม่ใช่แค่รู้ตามตัวหนังสือ แต่ยังสามารถกลั่นกรองซึมซับความรู้นั้นมาเป็นของเราอย่างแท้จริงและสามารถหยิบยกมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ประการที่สาม อยู่ใกล้แหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้จริง แหล่งข้อมูลในแง่ของบุคคล ก็คือผู้ทรงคุณธรรมความรู้ เช่นพระภิกษุสงฆ์ ครูบาอาจารย์ ที่สามารถให้ความรู้ให้ความกระจ่างในเรื่องต่างๆ กับเราได้ ถ้าในแง่สื่อ ก็คือสื่อที่มีความเป็นกลางเชื่อถือได้ เช่นคอลัมน์ หรือข้อเขียนที่ให้ข้อมูลข่าวสารอย่างเป็นกลาง วิเคราะห์ข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา อ่านแล้วได้ความรู้ ศึกษาแล้วได้ปัญญา ไม่ใช่สื่อมวลชนที่ใช้ความฉลาดชักจูงเราไปในทางที่ผิด อย่างไรก็ตามเราก็ต้องใช้สติปัญญาของเราตรวจสอบข้อมูลอยู่เสมอด้วย ถ้ามีความสมเหตุสมผลสอดคล้องกับภาพรวม เราก็ให้น้ำหนักความเชื่อถือสื่อนั้นมากขึ้น แต่ถ้าตรวจสอบแล้วดูไม่เข้าทีเป็นข้อมูลชี้นำที่มีประโยชน์แอบแฝง หรือข้อมูลไม่เป็นกลาง มีความลำเอียง เมื่อแยกแยะได้ชัดเจนอย่างนี้ เราก็จะสามารถให้น้ำหนักความเชื่อถือของสื่อแต่ละฉบับ แต่ละคอลัมน์ได้ตรงตามความเป็นจริง
ขณะเดียวกันในแง่ของหนังสือ เราคงไม่อ่านเฉพาะหนังสือที่ให้ความบันเทิง แต่ควรอ่านหนังสือที่ให้ความรู้ หนังสือที่เขียนโดยบัณฑิต นักปราชญ์ เราก็จะพัฒนาความรู้ เพิ่มพูนสติปัญญา ได้รับแง่มุมมองใหม่ๆ ขึ้นมาอย่างมากมาย ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยให้ระบบอัตโนมัติในการตรวจสอบ ข้อมูลของเรามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ประการที่สี่ เข้าถึงภาคปฏิบัติ เรื่องบางเรื่องมีความเป็นไปได้ในทางทฤษฎี แต่ไม่สามารถใช้ได้จริงในทางปฏิบัติ จะด้วยเหตุปัจจัยใดๆก็ตาม ในการตัดสินเรื่องต่างๆ ที่ยากจะชี้ชัดว่าถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ บางครั้งจึงต้องทดลองปฏิบัติดู เช่นเรื่องที่มีความเห็นเป็นสองฝ่าย ต่างฝ่ายต่างมีเหตุผลน่าเชื่อถือมาสนับสนุนจนยากจะหาข้อสรุปได้ ถ้าเรื่องเหล่านี้สามารถพิสูจน์ได้ในทางปฏิบัติก็ควรทดลองปฏิบัติ เพราะนั่นคือทางออกที่จะได้คำตอบชัดเจนที่สุด
ในช่วงเวลาสามสิบกว่าปีที่ผ่านมา ประเทศจีนพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะใช้หลักการทดลองปฏิบัตินี้ ซึ่งแต่เดิมนั้นการดำเนินนโยบายจะต้องยึดคัมภีร์ของคาร์ล มาร์กซ, เลนิน และเหมาเจ๋อตุงอย่างเคร่งครัดใครมีความคิดเกี่ยวกับการตลาดแม้เพียงนิดเดียว ก็จะถูกโจมตีวิพากษ์วิจารณ์ กล่าวหาว่าเป็นทุนนิยม จนกระทั่งเติ้งเสี่ยวผิงขึ้นมามีอำนาจ จึงได้ทดลองนำระบบเศรษฐกิจการตลาดมาใช้โดยทดลองไปปรับปรุงไป เหมือนคลำหินข้ามห้วย คือเดินข้ามห้วยทั้งที่ไม่เห็นว่าใต้พื้นน้ำนั้นเป็นอย่างไรแต่ค่อยๆคลำหินไปเดินไปเรื่อยๆ ถ้าไปได้ก็ไปต่อ แต่เป็นหลุมเป็นบ่อก็เลี่ยงไปทางอื่น แรกๆก็มีคนคัดค้านมากมาย เพราะขัดแย้งกับหลักการของคอมมิวนิสต์เติ้งเสี่ยวผิงจึงบอกว่า แมวสีอะไรไม่สำคัญถ้าจับหนูได้ก็ถือเป็นแมวดี เช่นระบบการบริหารจากส่วนกลางซึ่งถือกันว่าเป็นการบริหารเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ พวกทุนนิยมก็ยังเลือกนำไปใช้ แล้วเหตุใด คอมมิวนิสต์จะนำระบบการตลาดแบบทุนนิยมมาใช้บ้างไม่ได้ และเมื่อการทดลองของเติ้งเสี่ยวผิงประสบผลสำเร็จนั้นเสียงคัดค้านก็ค่อยๆหมดไป จะเห็นได้ว่าการลงมือปฏิบัติจริงที่เห็นผลเป็นรูปธรรม โดยเริ่มจากหน่วยเล็กๆ ถือเป็นการทดลองนำร่องไปก่อนทำให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนมากกว่าการมัวแต่นั่งถกเถียงกันทางทฤษฎี
กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ก็เช่นกัน การศึกษาทฤษฎีต่างๆ โดยใช้สมการคณิตศาสตร์หาคำตอบ ได้ผลมาอย่างไรก็ต้องทำการพิสูจน์ โดยทดลองจริงให้ปรากฏ ผลเป็นรูปธรรมดังเช่นทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ ที่มาจากการคำนวณทางคณิตศาสตร์กรณีที่ว่า แสงเดินทางเป็นเส้นโค้งตามแรงโน้มถ่วงของโลก ถ้าทดลองแล้วได้ผลจริงตามนั้น ทฤษฎีก็จะได้รับความเชื่อถือ ยิ่งทดลองซ้ำๆแล้วได้ผลตรงกันนับร้อยนับพันครั้งทฤษฎีก็ยิ่งมีน้ำหนักได้รับความเชื่อถือมากขึ้นเรื่อยๆ
กระบวนการแก้ปัญหาต่างๆ ทางสังคมก็เช่นกัน ถือเป็นวิทยาศาสตร์สังคม บางเรื่องต้องอาศัยการประชุมพิจารณาครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อหาคำตอบที่เหมาะสมแต่บางเรื่องก็ไม่ควรต้องเสียเวลาถกกันให้วุ่นวายเพราะอาจจะหาคำตอบไม่ได้ แต่ให้ทดลองปฏิบัติเพื่อพิสูจน์ว่า จะได้ผลตามคาดการณ์ไว้หรือไม่ ถ้าใช่ก็เดินหน้าต่อ ถ้าไม่ใช่ก็กลับมาศึกษาปรับเปลี่ยนวิธีการ แล้วลองทำใหม่จนกว่าจะบรรลุเป้าหมายที่วางไว้
ถ้าถือหลักตามนี้ เราก็จะเป็นคนหนึ่งที่เมื่อรับข้อมูลใดมาก็สามารถกลั่นกรองพิจารณา และประเมินคุณค่าข้อมูลเหล่านั้นได้ถูกต้อง ตรงตามความเป็นจริง นอกจากนี้ในส่วนของข้อมูลในอดีตที่ถูกกัดกร่อนไปตามกาลเวลา เราก็สามารถเชื่อมโยงย้อนไปตรวจสอบ จนพบว่าข้อมูลจริง เหตุการณ์จริงเป็นอย่างไร แล้วสุดท้ายเราเองจะเป็นผู้ที่สามารถให้ข้อมูลใหม่ซึ่งนำไปสู่การนำเสนอข้อพิสูจน์ใหม่ๆ ที่ดีขึ้นอีกด้วย
เช่นนี้แล้วจึงจะเรียกว่า เป็นผู้ชนะในยุคข้อมูลข่าวสารมั่งคั่งด้วยทรัพย์สิน คือมีข้อมูลที่มีคุณค่า และสามารถบริหารจัดการข้อมูลให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านได้โดยธรรม
----------------------------------------------------------------------------------
หนังสือ " ทันโลกทันธรรม 4 "
พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ