วิกฤติพลังงานโลก
วิกฤติพลังงานโลกเคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง ครั้งแรกเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2516 เกิดจากสงครามระหว่างกลุ่มประเทศอาหรับกับอิสราเอล กลุ่มประเทศอาหรับซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันหลักของโลกได้ใช้น้ำมันเป็นอาวุธ โดยลดการผลิต เมื่อน้ำมันขาดตลาดน้ำมันจึงราคาสูงขึ้น จากบาร์เรลละ 3-4 เหรียญดอลล่าร์สหรัฐ มาเป็นบาร์เรลละ 10 กว่าเหรียญท แต่ต่อมาเมื่อภาวะสงครามคลายลง ราคาน้ำมันก็ค่อยๆลดลงมา
ครั้งต่อมาปี พ.ศ. 2523 เกิดสงครามระหว่างอิรักกับอิหร่าน ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันทั้งคู่ ราคาน้ำมันก็พุ่งพรวดขึ้นมาเป็นบาร์เรลละเกือบ 40 เหรียญ แต่พอสงครามสงบราคาน้ำมันก็ลดลงเหลือแค่ 10-20 เหรียญ แล้วก็คงที่อยู่อย่างนี้นับสิบปี จนอาจรู้สึกว่าราคาน้ำมันต่ำกว่าที่ควรจะเป็นด้วยซ้ำไป
แต่ทว่า วิกฤติพลังงานในปัจจุบันนี้ แตกต่างจากวิกฤติพลังงานในอดีตที่ผ่านมา เพราะครั้งก่อนๆนั้นเกิดจากเหตุชั่วคราว เช่น ประเทศผู้ผลิตน้ำมันรวมตัวกันลดการผลิต ราคาน้ำมันจึงสูงขึ้น ถือเป็นการขาดแคลนเทียม แท้จริงแล้วสามารถผลิตได้แต่ไม่ยอมผลิต ดังจะเห็นได้จากการที่เมื่อราคาน้ำมันสูงมากขึ้นก็จูงใจให้เกิดการลักลอบผลิตน้ำมันไปขายในตลาดมืด ผ่านไปสักพักหนึ่ง ปริมาณน้ำมันในตลาดเพิ่มขึ้น ราคาจึงค่อยๆลดลงมาหรือในกรณีที่ราคาน้ำมันสูงขึ้นเพราะเกิดภาวะสงครามเมื่อสงครามสงบราคาน้ำมันก็จะลดลง
แต่สภาวะที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ที่ราคาน้ำมันได้ถีบตัวสูงขึ้นมากกว่า 100 เหรียญต่อบาร์เรล ถือเป็นวิกฤติพลังงานที่แตกต่างจากครั้งก่อนๆ อย่างสิ้นเชิงเพราะเกิดจากการขาดแคลนจริงๆ เนื่องจากมีการใช้น้ำมันมากขึ้นในทุกภูมิภาคของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีนและอินเดีย กำลังการใช้กับกำลังการผลิตจึงเริ่มไม่สมดุลกัน ในแต่ละวันโลกใช้น้ำมันถึงวันละประมาณ 80กว่าล้านบาร์เรลทำให้กำลังการผลิตของโลกรับไม่อยู่ โอกาสที่จะค้นพบแหล่งน้ำมันแห่งใหม่ของโลกก็คงเป็นไปได้ยาก ทุกวันนี้แน้วโน้มราคาน้ำมันอาจจะมีขึ้นๆลงๆ บ้างตามเหตุการณ์เฉพาะหน้า แต่ถ้ามองในกรอบใหญ่โอกาสที่น้ำมันจะลดลงมาเหลือบาร์เรลละ 40-50เหรียญอย่างแต่ก่อน คงเป็นไปไม่ได้ มีแต่ว่าจะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ เราจึงต้องมองหาพลังงานทดแทน
แหล่งพลังงานเกือบทั้งหมดบนโลกนี้ มาจากดวงอาทิตย์ น้ำมันก็มาจากดวงอาทิตย์ เพราะน้ำมันเกิดจากกระบวนการที่ต้นไม้ได้รับแสงแดด แล้วก็สังเคราะห์แสงจนกระทั่งเติบโต ต่อมาก็ล้มตายและทับถมกัน นานเข้าก็กลายเป็นสารไฮโดรคาร์บอนที่อยู่ในรูปของน้ำมันบ้าง ถ่านหินบ้าง ก๊าซธรรมชาติบ้างเป็นต้น
แม้แต่พลังงานลมก็มาจากดวงอาทิตย์ เพราะเมื่อโลกได้รับความร้อนจากดวงอาทิตย์ อุณหภูมิของผิวโลกต่างกัน เมื่ออุณหภูมิต่างกัน ความหนาแน่นของอากาศก็ต่างกัน อากาศจึงมีการเคลื่อนตัวจากบริเวณที่อากาศหนาแน่นไปสู่บริเวณที่อากาศเบาบาง เกิดเป็นกระแสลมขึ้นมา นอกจากนี้ พลังงานลมยังทำให้เกิดพลังงานคลื่นอีกด้วย นอกจากนี้การผลิตพลังงานทดแทน เช่น ไบโอดีเซล ก็เป็นการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ในอีกรูปแบบหนึ่งเพราะพืชที่นำมาผลิตเป็นไบโอดีเซล ก็เจริญเติบโตจากการสังเคราะห์แสง ส่วนแหล่งพลังงานอื่นที่นอกเหนือจากพลังงานแสงอาทิตย์ อันได้แก่พลังงานนิวเคลียร์ และพลังงานความร้อนใต้พิภพนั้นก็ยังมีการใช้กันน้อย กรณีของพลังงานนิวเคลียร์นั้น ก็ยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันในเรื่องอันตรายจากกัมมันตรังสี ซึ่งหากเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาก็ร้ายแรงมาก
ดังนั้น แหล่งของพลังงานทดแทนระยะยาว ที่น่าสนใจที่สุดคือ พลังงานแสงอาทิตย์ เพียงแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ของแสงอาทิตย์ที่ตกกระทบโลกใน 1 วัน ก็มีปริมาณพลังงานมากกว่าพลังงานไฟฟ้าที่มนุษย์ทั้งโลกในปัจจุบันใช้ตลอดปีเสียอีก พลังงานแสงอาทิตย์จึงมีปริมาณเหลือเฟือให้เราใช้งาน และเทคโนโลยีในปัจจุบันก็สามารถเปลี่ยนรูปพลังงานแสงอาทิตย์มาเป็นพลังงานในรูปแบบที่เราใช้ได้สะดวก เช่นพลังงานไฟฟ้า หรือพลังงานในการขับเคลื่อนรถยนต์ เครื่องจักรต่างๆได้ เพียงแต่ว่า เทคโนโลยีเหล่านั้นยังมีต้นทุนสูงอยู่ ซึ่งถ้าหากมีการพัฒนาอย่างจริงจังเพื่อให้เกิดการนำไปใช้อย่างกว้างขวาง ราคาก็จะถูกลงได้
ดังนั้น เมื่อถึงวันหนึ่ง ที่ปริมาณน้ำมันเหลือน้อยและราคาน้ำมันสูงขึ้นจนถึงจุดพลิกผันที่การใช้พลังงานแสงอาทิตย์เริ่มมีต้นทุนต่ำกว่าการใช้พลังงานจากน้ำมัน โลกก็จะมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้พลังงานครั้งยิ่งใหญ่ การใช้พลังงานจากน้ำมันถ่านหิน และก๊าซจะลดปริมาณลงอย่างรวดเร็ว เปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดคือพลังงานแสงอาทิตย์กันอย่างกว้างขวาง ดังจะเห็นได้จากการใช้พลังงานทดแทน เช่น ไบโอดีเซล เริ่มมีความสำคัญขึ้นมา พืชต่างๆจะถูกนำมาผลิตเป็นเอทานอลเพื่อทำน้ำมันเชื้อเพลิง เพราะพืชเกือบทุกชนิด ทั้งอ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด แม้กระทั่งต้นไม้ต่างๆ ล้วนประกอบขึ้นด้วยสารไฮโดรคาร์บอน ซึ่งสามารถใช้ผลิตเป็นน้ำมันได้ทั้งสิ้น เพียงแต่กระบวนการผลิตมีความยากง่ายต่างกันไป
แต่ก่อนการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลทำกันไม่มาก เพราะราคาน้ำมันธรรมชาติมีการเปลี่ยนแปลงสูง เดี๋ยวขึ้นเดี๋ยวลงพอราคาน้ำมันลดลง การผลิตไบโอดีเซลก็ไม่คุ้มกับการลงทุนเพราะมีต้นทุนสูงกว่าการนำน้ำมันจากธรรมชาติมาใช้แต่ในปัจจุบันที่ราคาน้ำมันเกิน 100 เหรียญต่อบาร์เรลเช่นนี้ การผลิตไบโอดีเซลจึงคุ้มยิ่งกว่าคุ้ม ทางด้านเกษตรกรก็มีทางเลือกมากขึ้น เพราะตลาดไม่ได้อยู่ในมือของผู้ซื้ออีกต่อไป ชาวไร่มันสำปะหลังไม่จำเป็นต้องยอมขายมันสำปะหลังไปเป็นอาหารสัตว์ด้วยราคาที่ถูกแสนถูกเพราะสามารถนำพืชผลไปขายให้โรงงานผลิตไบโอดีเซล ซึ่งได้ราคาดีกว่าอีกด้วย โอกาสที่ราคาพืชผลการเกษตรจะตกต่ำติดดินเหมือนก่อนก็จะน้อยลงไป
ด้วยเหตุที่การปลูกพืชเพื่อนำไปผลิตเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงเริ่มมีความสำคัญขึ้นมาแทนที่การปลูกพืชเพื่อใช้บริโภค สิ่งที่ตามมาก็คือข้าว และพืชพันธุ์ธัญญาหารต่างๆ มีราคาสูงขึ้นเพราะผลผลิตน้อยลง จะเห็นได้ว่าวิกฤติพลังงานมีผลกระทบเป็นวงกว้าง เป็นลูกโซ่ต่อโยงไปเรื่องอื่นๆ อีกหลายเรื่องทีเดียว
อย่างไรก็ตามหากมองในแง่ดี การที่เกษตรกรซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ ของโลกจะได้รับผลประโยชน์ จากการที่ราคาพืชพันธุ์ธัญญาหารขยับตัวสูงขึ้นนี้ ย่อมเป็นการปรับสมดุลของความอยู่ดีกินดี ลดช่องว่างระหว่างคนที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการกับภาคเกษตรกรรม เพราะถ้าเรามองย้อนกลับไปตลอด 100 ปีที่ผ่านมา เกษตรกรทั่วโลกล้วนตกอยู่ในภาวะเสียเปรียบ เพราะราคาของพืชพันธุ์ธัญญาหารที่เพิ่มขึ้นนั้น ไม่อาจเทียบได้เลยกับค่าเงินเฟ้อและค่าครองชีพของประชาชนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก เพียงแต่ว่าทำอย่างไรที่จะป้องกันไม่ให้พืชพันธุ์ธัญญาหารที่เคยมีราคาถูกนี้ เกิดการขึ้นราคาก้าวกระโดดทันทีทันใด จนประชาชนปรับตัวไม่ทัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้มีรายได้น้อยที่อยู่นอกภาคเกษตรกรรม
เรื่องนี้จำเป็นต้องอาศัยการวางแผนที่ดี พิจารณาถึงผลกระทบรอบด้านและสิ่งที่จะตามมาภายหลัง ซึ่งจะต้องมีกระบวนการและมาตรการในการช่วยเหลือที่เหมาะสม ที่สำคัญก็คือ ทุกภาคส่วนต้องเสียสละ หันหน้าเข้าหากัน ด้วยจิตเมตตาปรารถนาจะให้ทุกๆคนได้อยู่ดีกินดี มีความเจริญในทุกภาคส่วนอย่างสมดุล สมดุลของโลกนี้เป็นสิ่งที่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้ เพราะโดยธรรมชาติ คนเรานั้นมีความพยายามที่จะปรับตัวเพื่อให้มีวิถีชีวิตที่ดีขึ้นอยู่แล้ว
ยกตัวอย่างเช่นประเทศฟิลิปปินส์ แต่ก่อนเคยส่งข้าวออกขาย พอราคาข้าวตกต่ำก็ชะลอการผลิตข้าว จนกลายเป็นประเทศที่นำเข้าข้าวมากที่สุดในโลกถึงปีละประมาณ 2 ล้านตัน แต่ต่อมาเมื่อข้าวมีราคาแพง ฟิลิปปินส์จึงเริ่มประกาศมาตรการ ส่งเสริมการทำนา ห้ามนำที่นาไปสร้างโรงงานอุตสาหกรรมหรือทำอย่างอื่นในอนาคตถ้าราคาข้าวยังคงแพงเช่นนี้ ฟิลิปปินส์ก็จะหยุดนำเข้าข้าวหันมาเพิ่มผลผลิตภายในประเทศของตน สมดุลของโลกจึงมีการปรับตัวของมันเองโดยธรรมชาติ
ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมหลัก ประเทศหนึ่งของโลก ถ้าหากรัฐบาลมีมาตรการที่ดี ขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบ ก็สามารถเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส ที่จะทำให้ประชาชนคนไทยอยู่ดีกินดีขึ้น แล้วในภาพรวมทั้งโลก ประชากรที่อยู่ในภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริกรก็จะเติบโต และได้รับส่วนแบ่งจากความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจไปพร้อมๆกัน
ประเด็นที่สำคัญที่อยากจะฝากไว้ก็คือ เมื่อพลังงานถูกใช้ไปมากขึ้น ไม่ได้ส่งผลแค่ทำให้ราคาน้ำมันหรือราคาพลังงานแพงขึ้นเท่านั้น แต่มลภาวะ ก็จะเพิ่มขึ้นด้วย เพราะการเผาผลาญน้ำมันทำให้เกิดไอเสีย มีของเสียเกิดขึ้น ชาวโลกทั้งหลายจึงต้องช่วยกันประหยัดพลังงานด้วย โดยลดการบริโภคสิ่งต่างๆ ที่ไม่จำเป็น สิ่งใดไม่ควรใช้อย่าใช้ ช่วยกันประหยัดคนละนิด เราก็จะลดการใช้พลังงานลงได้ เมื่อเราใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างประหยัดและคุ้มค่า โลกของเราก็จะสามารถรับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน และทุกคนย่อมดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันด้วยความผาสุก
----------------------------------------------------------------------------------
หนังสือ " ทันโลกทันธรรม 4 "
พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ