คุณภาพใจในยุคสังคมไซเบอร์

วันที่ 16 กย. พ.ศ.2558

 

คุณภาพใจในยุคสังคมไซเบอร์


เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในประเทศจีนเมื่อไม่นานมานี้ หญิงคนหนึ่งทำงานเป็นพนักงานของโรงแรม โดยมีหน้าที่ล้างเท้าทำเล็บให้กับแขกที่มาพัก ครั้งหนึ่งได้มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐมาพักที่โรงแรม และหญิงผู้นี้ทำหน้าที่ล้างเท้าให้ เจ้าหน้าที่รัฐได้ลวนลามเธอ เธอจึงต่อสู้และใช้มีดแทงเขาจนถึงแก่ความตาย จากนั้นเธอได้เข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ แม้จะรู้ว่าต้องถูกลงโทษสถานหนัก เพราะผู้ตายเป็นผู้มีอำนาจมาก
แต่เมื่อข่าวนี้ปรากฏขึ้นในอินเตอร์เน็ต เรื่องราวของเธอก็แพร่กระจายไปอย่างกว้างขวางในชั่วพริบตา มีผู้คนเข้ามาแสดงความคิดเห็นอย่างมากมาย จนเกิดเป็นกระแสสังคม ยกย่องเธอว่าเป็นวีรสตรีผู้กล้า ที่หาญสู้กับความอยุติธรรม สู้กับการข่มเหงรังแกจากเจ้าหน้าที่รัฐที่ไร้ศีลธรรมเมื่อทั่วโลกจับตามอง จึงเกิดแรงกดดันที่ส่งผลให้พิพากษาตัดสินให้เธอพ้นผิด และได้รับอิสรภาพในเวลาต่อมา 


เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศจีนนี้ แสดงให้เห็นถึงพลังของกระแสความคิดเห็นในสังคมไซเบอร?สเปซ เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศจีนนั้น การแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ หรือการชุมนุมกันเป็นจำนวนมากนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยนโยบายการปกครองที่เข้มงวด เน้นการปกครองภายในประเทศเป็นสำคัญ แต่ถึงอย่างนั้นสิ่งที่เป็นไปได้ยากในสังคมชีวิตจริง กลับเกิดขึ้นได้อย่างง่ายดายในสังคมไซเบอร์
อิสรเสรีทางความคิด เปิดกว้างอย่างเต็มที่ในโลกไซเบอร์ ทุกคนมีสิทธิ์มีเสียง และสามารถส่งสารถึงผู้อื่นได้โดยไม่จำเป็นต้องแสดงตัว ทั้งมีความปลอดภัยและเป็นประชาธิปไตย แต่สิ่งนี้ก็เป็นดาบสองคมที่มีอันตรายอย่างยิ่ง ในสังคมจริง การที่เราจะพูดคุยกับใคร หรือนำเสนอข้อมูลข่าวสารใด หรือหากจะแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณชน เราทุกคนต่างต้องรับผิดชอบในทุกคำพูด ทุกการแสดงออกของเรา ดังนั้นมารยาททางสังคมและความเคารพเกรงใจกันในสังคมจึงมีอยู่สูง เพราะเห็นหน้าค่าตากันอยู่ รู้ว่าใครเป็นใคร พลังทางสังคมเช่นนี้เองที่ช่วยควบคุมกำกับให้คนเรามีความสำรวมระวังในการใช้คำพูด และแสดงออกอย่างเหมาะสม เพราะเกรงกลัวต่อบทลงโทษทางสังคม ทั้งในแง่การลงโทษทางกฏหมาย และการยอมรับของสังคม 


แต่ในสังคมไซเบอร์ ที่ไม่จำเป็นต้องแสดงสถานะที่แท้จริงของตน กิเลสดิบๆในใจของคนจึงถูกแสดงออกมาอย่างไม่เกรงใจใคร มีการใช้ภาษาที่หยาบคายโดยไม่ต้องกลัวถูกชกหน้า มีการกล่าวหากันโดยไม่ต้องกลัวถูกฟ้องหมิ่นประมาท และมีเรื่องอื่นๆอีกมากมายที่คนเราไม่กล้าทำในสังคมจริงๆ เมื่อคนเราเสพคุ้นสิ่งเหล่านี้จนเป็นนิสัยในที่สุดก็จะรู้สึกว่า ความก้าวร้าวรุนแรง หรือเรื่องที่ผิดเพี้ยนทั้งหลายนั้น เป็นเรื่องธรรมดา สิ่งเหล่านี้ล้วนบ่งบอกว่า คุณภาพใจของคนเราได้ตกต่ำลงไปอย่างไม่รู้ตัวและแน่นอนว่า ในสังคมไซเบอร์ที่เชื่อมโยงผู้คนจำนวนมหาศาลไว้ด้วยกันนี้ กระแสใจของคนย่อมส่งผลกระทบซึ่งกันและกัน และการกระทบถึงเยาวชนอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เยาวชนของเราจะเป็นเช่นไร เมื่อได้ซึมซับความก้าวร้าว อคติ กิเลสต่างๆ ในโลกที่เขาก็สามารถเข้าไปได้โดยไม่มีใครรู้เช่นกัน


คุณภาพของใจจึงถูกบ่อนทำลายไปเรื่อยๆ เช่นนี้ยากที่จะป้องกัน แม้จะใช้มาตรการทางกฎหมาย หรือใช้เทคโนโลยีควบคุมตรวจสอบ ทั้งหมดก็ยังเป็นเพียงการวิ่งตามปัญหา ทางเดียวเท่านั้นที่จะยับยั้งวงจรการบ่อนทำลายนี้ได้ นั่นคือการฟื้นฟูศีลธรรมขึ้นมาในใจคน เมื่อใดก็ตามที่คนเราได้เรียนรู้ความเป็นจริงของชีวิตอย่างถ่องแท้ เมื่อนั้นความละอายและเกรงกลัวต่อบาปจะเกิดขึ้นมาในใจ แม้ไม่มีใครรู้ไม่มีใครเห็น ไม่จำเป็นต้องมีมาตรการ หรือระบบตรวจสอบใดๆ คนเราก็สามารถยับยั้งชั่งใจละเว้นความชั่วได้ด้วยตนเอง


ดังนั้นแม้พลังทางสังคมจะอ่อนกำลังลงไป แต่เราก็สามารถคุ้มครองใจเรา และคุ้มครองโลกได้ ด้วยพลังแห่งศีลธรรม เมื่อเราร่วมกันสร้างเครือข่ายคนดี ช่วยกันแบ่งปันเรื่องราวดีๆ ทำหน้าที่กัลยาณมิตรอย่างไม่ลดละ สักวันหนึ่งโลกไซเบอร์ก็จะเฟื่องฟูด้วยศีลธรรมเช่นกัน

----------------------------------------------------------------------------------

หนังสือ " ทันโลกทันธรรม 5  "

พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0017431656519572 Mins