การสร้างความคิดสร้างสรรค์

วันที่ 04 กย. พ.ศ.2558

 

การสร้างความคิดสร้างสรรค์

 

            ความคิดสร้างสรรค์ มีส่วนช่วยให้ชีวิตการทำงานก้าวหน้าได้อย่างมาก แต่ในยามที่ชีวิตมีเรื่องราวมากมายรุมเร้า ยามที่เราต้องเผชิญปัญหาที่แก้ไม่ตก ความคิดสร้างสรรค์กลับหดหาย ทำอย่างไรเราจึงจะหาทางออกให้กับชีวิตได้ เรื่องราวของพระอรหันต์ผู้เป็นเอตทัคคะรูปหนึ่งในครั้งพุทธกาล สามารถเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตให้กับเราได้ ท่านคือ พระจุลปัณฑก ผู้ออกบวชตามพระพี่ชายคือ พระมหาปัณฑกพระอรหันต์ แต่ปรากฏว่าพระจุลปัณฑกนั้นปัญญาทึบมาก พระพี่ชายให้ท่องคาถาเพียงบทเดียวซึ่งมีอยู่แค่ 4 วรรค เวลาผ่านไปถึง 4 เดือน พระจุลปัณฑกก็ท่องไม่ได้ สาเหตุเป็นเพราะว่า ภพในอดีตท่านเคยเป็นคนที่ฉลาดมาก แต่ชอบหัวเราะเยาะดูถูกว่าคนอื่นไม่ฉลาด เหมือนตน วิบากกรรมตามมาทำให้ปัญญาทึบ ท่องจำคาถาไม่ได้เลย พระมหาปัณฑกจึงลงความเห็นว่า พระน้องชายของท่านคงไม่มีวาสนาในพระพุทธศาสนาแล้ว พระจุลปัณฑกจึงน้อยอกน้อยใจ คิดจะลาสิกขาแต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเห็นด้วยพระญาณ ว่าแท้จริงนั้น พระจุลปัณฑก มีบุญมากพอจะบรรลุธรรมได้ พระองค์จึงเสด็จมาโปรด ทรงประทานผ้าขาวให้จุลปัณฑกผืนหนึ่งแล้วทรงให้ภาวนาว่า “ ระโชหะระณังๆ ” พร้อมทั้งให้ลูบผ้าขาวผืนนั้นไป เมื่อพระจุลปัณฑกปฏิบัติได้สักพักหนึ่ง ใจท่านก็ผ่อนคลาย เมื่อเห็นผ้าขาวเริ่มมีสีหมองคล้ำขึ้นมาเพราะโดนเหงื่อไคลจากมือ ท่านจึงคิดได้ว่า สรีระคนเรานี้ไม่สะอาดเลย ดูสิผ้าขาวแท้ๆ เมื่อมือเราไปสัมผัสไปมายังเปรอะเปื้อนได้ พิจารณาไปใจท่านก็น้อมลงสู่ศูนย์กลางกายเมื่อใจหยุดนิ่งเรื่อยไป สุดท้ายบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ณ ที่นั้นเอง พระจุลปัณฑกเป็นพระอรหันต์ผู้มีฤทธิ์มาก มีมโนมยิทธิ คือมีฤทธิ์สำเร็จด้วยใจ สามารถเนรมิตกายได้นับพันร่าง จึงได้รับการยกย่องจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าเป็นเอตทัคคะ คือเป็นเลิศทางด้านมีมโนมยิทธิ

 

            สำหรับพวกเราการท่องกลอนสัก 4 วรรคคงไม่ต้องใช้เวลาถึง 4 เดือน เพียงแค่ไม่กี่นาทีก็ท่องได้แต่ท่านจุลปัณฑก กลับท่องไม่ได้ด้วยเหตุที่ปัญญาทึบ แต่สุดท้ายท่านกลับเป็นพระอรหันต์ได้ด้วยการทำใจหยุดนิ่ง เพราะการทำใจหยุดนิ่งเป็นการไขกุญแจคลิกเข้าไป สู่ขุมคลังแห่งปัญญาอันกว้างใหญ่ไพศาล เป็นแหล่งแห่งความคิดสร้างสรรค์และความรู้แจ้ง จนกระทั่งปราบกิเลสในตัวได้หมด ก้าวสู่ความเป็นเลิศทางด้านมโนมยิทธิ มีฤทธิ์ทางใจ ได้อย่างน่าอัศจรรย์ ดังนั้นกุญแจที่จะไขไปสู่ความสำเร็จทุกประการก็คือการน้อมนำใจสู่ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 นั่นเอง

 

            อาตมภาพก็เคยมีประสบการณ์ในเรื่องนี้เช่นกัน คือ เมื่อปีพ.ศ. 2533 พระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโยท่านมอบหมายให้ไปศึกษาต่อทางพระพุทธศาสนาที่ประเทศญี่ปุ่น ตอนนั้นทั้งประเทศญี่ปุ่นมีพระไทยอยู่รูปเดียวคือตัวอาตมภาพเอง วัดก็ยังไม่มีอุบาสกที่จะดูแล อุปัฏฐากก็ยังไม่มีไปเพียงรูปเดียว ภาษาก็ยังพูดได้ไม่คล่อง แต่ก็ต้องทำให้ได้ ถ้าจะเปรียบทางโลกก็เหมือนกับทหาร ที่ออกฐานทัพแล้ว ไปอยู่ในดงข้าศึกเพียงคนเดียว ดังนั้นก็จะต้องคุ้มครองตัวเองให้ได้ ตั้งใจไว้เลยว่าไม่ว่างานจะยุ่งอย่างไร จะดึกดื่นแค่ไหนก็จะต้องสวดมนต์ทำวัตรนั่งสมาธิทุกวัน และจะเขียนบันทึกประจำวัน เพื่อพิจารณาทบทวนตนเองทุกๆวัน ก็ทำอย่างนี้เรื่อยมา แต่พอถึงช่วงที่จะเขียนวิทยานิพนธ์ ไม่ว่าจะเป็นช่วงปริญญาโท หรือปริญญาเอกกลายเป็นว่าต้องเพิ่มรอบการนั่งสมาธิขึ้นอีกหลายรอบ คือต้องเพิ่มช่วงสายด้วยพอฉันเช้าเสร็จแล้วก่อนจะลงมือศึกษาค้นคว้า ขีดเขียนวิทยานิพนธ์ก็จะต้องนั่งสมาธิก่อนเสมอ หลังเพลก็นั่งสมาธิต่ออีกรอบหนึ่ง วันหนึ่งจึงนั่งสมาธิหลายรอบ มีบางคนถามว่าการเขียนวิทยานิพนธ์เป็นงานที่ต้องใช้เวลามาก แล้วแบ่งเวลาไปปฏิบัติธรรม อย่างนี้จะทำวิทยานิพนธ์ทันหรือ สำหรับอาตมาภาพแล้วไม่ได้เสียเวลาเลย เพราะการปฏิบัติธรรมทำให้ใจเรานิ่ง เมื่อถึงเวลาทำงานเราก็สามารถตรึกตรองเรื่องต่างๆได้อย่างทะลุปรุโปร่ง ความคิดสร้างสรรค์จะเกิดขึ้นมาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

 

            มีบางครั้งที่เจอกับประเด็นที่ท้าทายเป็นประเด็นสำคัญที่จะต้องวิเคราะห์คลี่คลายปัญหาให้ได้ ก็จะลงมือรวบรวมข้อมูลทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ ศึกษาจนเข้าใจในระดับหนึ่ง จากนั้นก็จะนั่งสมาธิแล้วจำวัดตื่นเช้าขึ้นมามักจะได้คำตอบที่ชัดเจน การศึกษาวิจัยประเด็นสำคัญๆหลายๆอย่างที่ผ่านมา สามารถประสบความสำเร็จ เกิดผลงานทางวิชาการที่มีประโยชน์ ก็เพราะได้ผ่านกระบวนการเช่นนี้นี่เอง

            ดังนั้น เมื่อเราจะแก้ปัญหาเรื่องใด ก็ขอให้ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนั้นให้ครบถ้วนที่สุด ให้กว้างที่สุด ละเอียดที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วถ้าหากยังคิดไม่ออก ก็ให้ออกจากความคิด ทำจิตให้สงบแล้วจะพบคำตอบ นี่คือหัวใจสำคัญของการเกิดความคิดสร้างสรรค์ก็ว่าได้

----------------------------------------------------------------------------------

หนังสือ " ทันโลกทันธรรม 3  "

พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.020182549953461 Mins