ทำไมคนฉลาดถึงตัดสินใจโง่ๆ
มีข้อคิดที่อยากจะฝากพวกเราคือ คนคนเดียวกันเวลาต่างกันความฉลาดไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับว่าในขณะนั้นใจเขานิ่งขนาดไหนขณะเดียวกันคนสองคนถ้าบอกว่า คนหนึ่งหัวดีกว่าอีกคนหนึ่ง ฉลาดกว่าอีกคนหนึ่ง ก็ไม่แน่เสมอไป เราพบว่าบางสถานการณ์ นาย ก ก็ดูฉลาดกว่านาย ข ถ้ารบกันก็ชนะ แต่บางครั้งนาย ข ก็กลับฉลาดกว่านาย ก ได้ ถามว่าเป็นเพราะเรื่องอะไร ตรงนี้สำคัญ คนจำนวนมากมองข้าม จึงมองจุดบกพร่องของตัวเองไม่ออก
เราต้องเข้าใจอย่างนี้ก่อนว่า ในสถานการณ์หนึ่ง เมื่อพิจารณาด้วยดีแล้วผู้มีปัญญาก็มองออกว่า ควรตัดสินใจอย่างไรที่จะให้ผลดีที่สุด แต่ถ้าเมื่อใดก็ตามที่ใจของเขาถูกกิเลสครอบงำ จะเป็นด้วยความอยากเด่นอยากดังก็ตาม ด้วยความระแวงก็ตาม ด้วยความอวดดื้อถือดีก็ตามเขาก็จะตัดสินใจไปอีกแบบ ทั้งๆที่จริงตัวเองก็รู้ว่าตัดสินใจอย่างนี้ไม่ถูก มันควรต้องตัดสินใจอีกแบบ แต่เพราะการตัดสินใจอีกแบบที่ถูกต้อง มันมาขัดกับกิเลสที่เข้าครอบงำอยู่ ถ้าทำแบบนั้นแล้วเดี๋ยวมันไม่เด่นไม่ดัง ก็เลยไปเลือกทำอีกแบบที่คิดว่ามันจะเด่นมันจะดัง เลือกทำอีกแบบที่เป็นลักษณะการมีทิฏฐิอวดดื้อถือดี ปัญญาที่มีจึงเหมือนไม่มี เพราะไม่เลือกทำตามที่ปัญญาเห็น แต่กลับไปทำตามที่กิเลสสอน สุดท้ายก็พลั้งพลาดเสียทีไป
ใครเคยอ่านสามก๊ก คงจะจำบังทองได้ เป็นศิษย์ร่วมอาจารย์กับขงเบ้ง ท่านว่ามีความฉลาดทัดเทียมกันเลย แต่สุดท้ายบังทองเพิ่งจะนำทัพออกรบช่วยเล่าปี่แค่ยกสองยกก็ตายเสียแล้ว ก่อนจะบุกเสฉวนก็ตายเสียก่อน ถูกข้าศึกวางกลลวงล้อมยิงด้วยเกาทัณฑ์จนตายถามว่ามือขนาดบังทองฉลาดแสนฉลาด ทำไมถูกกลศึกลวงเอาง่าย ๆ แบบนั้น คำตอบเป็นเพราะความแข่งดีอยากจะเอาหน้าให้เหนือกว่าขงเบ้ง บังทองรู้สึกว่าตัวเองมาทีหลังชงเบ้งจึงอยากจะสร้างผลงาน ทั้งที่จริงตนก็รู้ว่าบุกไปอย่างนี้ไม่ปลอดภัย เสี่ยงมากที่จะถูกกลศึก แต่ทั้งๆรู้ก็ยังฝืนทำ เพราะหวังว่าถ้าสำเร็จจะได้หน้าได้ตาสุดท้ายก็เจอกลศึกข้าศึกจริงๆ ถูกรุมยิงด้วยเกาทัณฑ์แย่ไปทั้งกองทัพ ตนเองก็ตายกลางข้าศึก นี่เขาเรียกว่ากิเลสมันมาบังปัญญา ปัญญาที่มีอยู่เลยเหมือนไม่มี
โจโฉว่าเก่งแสนเก่งพออวดดื้อถือดีเข้าก็ย่ำแย่เสียหลายตอน บางครั้งสถานการณ์บังคับเตรียมจะสั่งถอยทัพอยู่แล้ว แต่เผอิญถูกขุนพลคนหนึ่งที่ตนเองหมั่นไส้อยู่แล้ว คือเอียวสิ้ว มารู้ทันความคิดตัวเอง ก็เลยสั่งจับเอียวสิ้วไปตัดคอเสีย แล้วฝืนไม่ถอยทัพ เพราะมีทิฏฐิจะทำให้เหมือนกับว่า เอียวสิ้วไม่ได้รู้ทันตัวเอง สุดท้ายกองทัพก็เลยย่ำแย่ถูกตีแตก ตนเองก็แทบเอาชีวิตไม่รอด เมื่อถูกทิฏฐิมานะมาบดบัง ปัญญาของโจโฉที่มีก็เหมือนไม่มี
เพราะฉะนั้น พวกเราหากต้องประสบความสำเร็จในชีวิต อย่าให้กิเลสในตัวเป็นเครื่องชี้นำ ไม่ต้องไปแข่งดีกับใครเลย ขอเพียงให้เราตั้งใจสู้กับกิเลสในตัว สำรวจตัวเองให้ดีหมั่นแก้ไขข้อบกพร่องในตัว แก้ข้อบกพร่องตัวเองไปได้มากเท่าไร เราก็จะโดดเด่นขึ้นมา โดยไม่ต้องไปแข่งกับใคร ไม่ต้องไปยกตัวเองขึ้นมาเลย มันจะเด่นขึ้นมาเอง ไม่ต้องไปสู้กับใครเขาหรอก สู้กับกิเลสในตัวของเรานี่แหละ นี่คือหน้าที่หลักของทุกคน ท่านบอกว่าคนที่รบชนะคนอื่นเป็นร้อยก็สู้คนที่รบชนะตัวเองคนเดียวไม่ได้ รู้หลักอย่างนี้แล้วเรามีสติปัญญามากเท่าใด ขอให้ใช้ให้เต็มประสิทธิภาพ ไม่ให้กิเลสทั้งหลายมาเป็นจุดอ่อนในตัวเรา จะเป็นทิฏฐิมานะก็ตาม ความอยากเด่นอยากดังก็ตาม อย่าให้มาบดบังปัญญาของเราได้ เอากิเลสเหล่านี้ออกไป ปัญญาของเราจะฉายชัดมากขึ้น ๆ ซึ่งจะทำได้ด้วยการหมั่นทำสมาธิอย่างสม่ำเสมอจะทำให้มีสติดีและใจมีพลังเอาชนะอำนาจกิเลสในตัวเองได้ ขอให้พวกเราทุกคนประสบความสำเร็จในการฝึกใจของเราให้เป็นสมาธิตั้งมั่น มีประสิทธิภาพในการประกอบกิจทั้งหลายทั้งทางโลกและทางธรรม ได้สำเร็จกันทุกท่านเทอญ
----------------------------------------------------------------------------------
หนังสือ " ทันโลกทันธรรม 1 "
พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ