เรียนอย่างไรให้มีความสุขในมหาวิทยาลัย
ช่วงนี้อยู่ในช่วงเปิดเทอมใหม่ บรรยากาศทุกอย่างสดใส มีน้องใหม่เข้ามาในมหาวิทยาลัยต่างๆ มากมาย สำหรับน้องใหม่แต่ละคนบรรยากาศในรั้วมหาวิทยาลัยคงเป็นบรรยากาศที่แปลกใหม่ ต่างจากชีวิตในโรงเรียนมาก เมื่ออยู่ชั้นประถมชั้นมัธยม ถึงเวลาแปดโมงก็ต้องไปโรงเรียน อาจารย์ก็เช็คชื่อเข้าห้องเรียน ห้ามเบี้ยวถ้าโดดเรียนอาจารย์ก็รู้ มีเครื่องแบบนักเรียนใส่ อยู่ในกรอบที่มีครูอาจารย์ดูแลใกล้ชิด
แต่พอเข้ามหาวิทยาลัย ถือว่าโตแล้วต้องรับผิดชอบตัวเองไม่มีใครเช็คชื่อ จะเข้าเรียนหรือไม่ก็แล้วแต่ความพอใจ เรียนก็ไม่เต็มวันเหมือนกับในโรงเรียน สัปดาห์หนึ่งเรียนประมาณ 20 ชั่วโมงเท่านั้น เพื่อให้นักศึกษาเอาชั่วโมงว่างไปค้นคว้าด้วยตัวเอง ไม่ใช่เรียนในลักษณะครูป้อนให้เหมือนกับในโรงเรียน แต่ว่านักศึกษาบางคนกลับเอาเวลาไปเที่ยวเล่นแทน ไม่เฉพาะชั่วโมงว่าง แม้ชั่วโมงเรียนบางคนก็คิดว่าโดดเรียนก็ไม่เป็นไร ถึงเวลาก็สอบให้ได้แล้วกัน ชีวิตเสรีกว่าเก่าผลคือ สำหรับบางคนแล้วเป็นเรื่องอันตราย
อาตมภาพมีเพื่อนคนหนึ่ง เรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษามาด้วยกัน พอสอบเข้าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ เขาไปเข้าคณะวิศวะอาตมภาพอยู่คณะแพทย์ แต่ก็ไปซ้อมกีฬาด้วยกัน ชีวิตในมหาวิทยาลัยเสรีมาก เทอมแรกเขาก็เลยใช้ความเสรีอย่างเต็มที่ ทั้งที่เดิมเป็นเด็กเรียนดี จึงสอบเข้าคณะวิศวะ จุฬาฯ ได้ แต่เชื่อไหม ผลการสอบเทอมแรกออกมาปรากฏว่าได้เกรด 0.7 เจ้าตัวเห็นใบเกรดแล้วช็อคเลย ทั้งคุณพ่อคุณแม่ญาติพี่น้องทุกคนช็อคหมด เขารู้ว่าถ้าแก้ไม่ได้ละก็ถูกรีไทร์แน่นอนเพราะว่าเกรดที่ถือว่าผ่านต้อง 2.00 ขึ้นไป ถ้าหากสิ้นปีแรก ใครต่ำกว่า 2 ก็ถือว่า ติดโปรเบชั่น ถ้าหากเกรดต่ำว่า 1.75 ก็ต้องเรียนซ้ำชั้น ถ้าต่ำกว่า 1.5 จะถูกรีไทร์ คือไล่ออกจากมหาวิทยาลัยเลย
เมื่อเกรดเทอมแรกได้ 0.7 นี่ถือว่าต่ำมาก มีโอกาสถูกรีไทร์สูงมาก ถ้าเทอมสองไม่รีบแก้ตัว ดึงเกรดเฉลี่ยขึ้นมาให้ได้ละก็เสร็จแน่นอน ดังนั้นพอเกรดเทอมแรกออก เขาหยุดการเล่นทุกอย่าง กลับเข้าห้องเรียนและทุ่มเทกับการเรียนอย่างเต็มที่ เทอมสองได้เกรด 3.4 เกรดเฉลี่ยจึงได้ 2.1 พอรอดตัว พ้นรีไทร์ไปได้ นี่ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งน่าหวาดเสียวมาก
ถ้าเขาเจอเกรดเทอมแรก 0.7 แล้วช็อค เสร็จแล้วเทอมสองยังช็อคต่อ ผลก็คงถูกรีไทร์ให้ออกจากมหาวิทยาลัย อนาคตเปลี่ยนไปหมดเลย จากที่ภูมิใจสอบเข้าวิศวะ จุฬาฯ ได้ เพียงปีเดียวทุกอย่างจะเหมือนตกจากฟ้าลงมากองอยู่พื้นดิน
จึงขอฝากถึงน้องใหม่ หรือแม้พี่เก่าในรั้วมหาวิทยาลัยก็ตาม ว่าอย่าเพลินจนเกินไป เมื่อไม่มีครูอาจารย์มาจ้ำจี้จ้ำไช เหมือนสมัยอยู่ประถมมัธยม เรายิ่งต้องจ้ำจี้จ้ำไชตัวเอง ต้องรับผิดชอบตัวเองต้องมีวินัยในการศึกษาเล่าเรียน ถึงเวลาเรียน เรียน ถึงคราวว่างจะเล่น เล่น รับผิดชอบตัวเองได้แยกให้ออก
เรื่องนี้มีประสบการณ์ที่เคยพบมาด้วยตัวเองคือ นิสิตนักศึกษาชมรมพุทธจะมีลักษณะแปลกจากนิสิตคนอื่นอยู่บ้างคือถ้าหากเป็นนิสิตนักศึกษาทั่วไป คนไหนที่ชอบโดดเรียนจนติดเป็นนิสัย เกรดก็มักจะรั้งท้ายปลายแถว หนึ่งกว่าๆ สองนิดๆ แถวๆนั้น แล้วมักจะเป็นอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ แต่ของนิสิตนักศึกษาชมรมพุทธจะไม่ใช่ บางช่วงถ้ากิจกรรมกำลังหนัก เกรดอาจจะตกลงมาสักนิด แต่ว่าถ้าเป็นจังหวะปลอดกิจกรรมเมื่อใด เกรดพร้อมจะพุ่งปรู๊ดขึ้นไปทันที เพราะหากจะมีช่วงขาดเรียนอยู่บ้าง ก็ไม่ใช่เพราะชอบโดดเรียนหรือไปเที่ยวเตร่เฮฮา แต่ด้วยความจำเป็นของงานที่สร้างสรรค์ เป็นประโยชน์ต่อเยาวชนและต่อส่วนรวมของประเทศ
อาตมภาพตอนเรียนอยู่ ปี3 คณะแพทย์ จุฬาฯ เมื่อปี 2524 เป็นปีแรกที่มีการจัดนิทรรศการร่วมกันระหว่างชมรมพุทธศาตร์ 6 สถาบันโดยจัดที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ชื่อนิทรรศการคนไทยต้องรู้ เนื่องจากเป็นครั้งแรก และเป็นนิทรรศการใหญ่ต้องใช้การเตรียมการมาก ตั้งแต่ช่วงเตรียมงานจนกระทั่งเสร็จงาน สองสัปดาห์เต็มๆ อาตมภาพไม่ได้เหยียบเท้าเข้าไปคณะแพทย์เลยแม้แต่ก้าวเดียว เรียกว่าโดดเรียน สองสัปดาห์เต็มเลย นี่เป็นเรื่องใหญ่มาก แต่ก็ต้องตัดใจ เพราะว่างานมันรออยู่และมีความสำคัญ แต่ตัวเราก็ต้องคำนวณไว้ก่อนว่า ถึงอย่างไรการเรียนเราก็ไปได้ ช่วงสองสัปดาห์นั้นก็ไม่ห่วงเรียนเลย ไปลุยงานเต็มที่ จนกระทั่งถึงตอนประชุมสรุปงาน พอแนะนำตัว นักศึกษาชมรมพุทธรามคำแหงใหม่ๆหลายคนยังแปลกใจ เพราะนึกว่าอาตมภาพเป็นนักศึกษารามคำแหงด้วยกัน เนื่องจากเห็นทำงานขลุกอยู่ตลอด
งานถือว่าประสบความสำเร็จมาก มีคนมาชมนิทรรศการประมาณสามหมื่นคน แต่พอเสร็จงานเก็บงานเรียบร้อย รีบกลับเข้าห้องเรียน เหลือเวลาอีก 7 วันจะสอบมิดเทอม ไปยืมสมุดโน้ตเพื่อนที่เข้าเรียนไปถ่ายเอกสาร รวมหนังสือทุกวิชาว่ามีเนื้อหาเท่าใดวางแผนเลย 7 วันนี้จะต้องทำอะไรบ้าง ทุ่มดูหนังสือเต็มที่แล้วก็สอบ เรียนอย่างนี้มาตลอดก็เลยไม่ได้เกียรตินิยมกับเขา ได้เกรดสามเศษๆ พอเอาตัวรอดได้ แต่บางจังหวะที่เป็นกิจกรรมไม่หนักนัก คะแนนก็พร้อมจะพุ่งขึ้นมาท็อปได้เหมือนกัน ลักษณะของนิสิตนักศึกษาชมรมพุทธจะเป็นอย่างนี้
นั่นเป็นสมัยเมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้ว ยุคนั้นเป็นยุคบุกเบิกของชมรมพุทธ งานขยายใหญ่เป็นงานระดับประเทศ แต่คนทำงานยังไม่มากจึงต้องรับงานหนักกันหน่อย แต่ช่วงหลังมาผลงานของชมรมพุทธขยายกว้างชัดเจน คนช่วยงานมีมากขึ้น สามารถแบ่งงานกันได้ จึงไม่หนักมากเหมือนก่อน เห็นน้องๆหลายคนรับปริญญา แล้วเอาปริญญามาให้ดู ชาวชมรมพุทธนี่เกียรตินิยมเยอะนะอันดับหนึ่งก็มีเหรียญทองก็มี เหรียญเงินก็มี เห็นแล้วก็ชื่นใจ อย่างนี้ถือว่า เยี่ยม ได้ทั้งวิชาความรู้ ได้ทั้งการฝึกตัวเองในการทำงานจริง ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมาก
โดยสรุปก็คือ ขอให้นิสิตนักศึกษาใหม่ในรั้วมหาวิทยาลัย รักษาระเบียบวินัยในการศึกษาเล่าเรียน รักษาวินัยเรื่องเวลาให้ดีถึงเวลาเรียนก็เรียน ถึงเวลาทำกิจกรรมก็ทำ เวลาเรียนไม่ห่วงงาน เวลาทำกิจกรรมก็ไม่ห่วงเรื่องเรียน จัดสรรเวลาให้ดี การศึกษาของเราจะไปได้ แล้วเราก็จะใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยได้อย่างมีความสุข สำเร็จการศึกษาเป็นบัณฑิตที่สมบูรณ์
----------------------------------------------------------------------------------
หนังสือ " ทันโลกทันธรรม 1 "
พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ