โลกร้อน

วันที่ 29 สค. พ.ศ.2558

 

โลกร้อน


โลกในพระพุทธศาสนาแบ่งเป็น 3 อย่างคือ 


1.    โอกาสโลก คือโลกทางด้านภูมิศาสตร์ทั้งดิน น้ำ ภูเขา ฟ้า อากาศ ทั้งหลายเหล่านี้รวมเรียกว่า โอกาสโลก คือโลกทางภูมิศาสตร์ที่เราคุ้นเคย จับต้องได้
2.    ขันธโลก คือขันธ์ 5 ได้แก่ตัวของคนเราและสัตว์ต่างๆ ที่อาศัยโลกนี้อยู่ อาศัยบนโอกาสโลกที่เป็นโลกกลมๆ มีท้องฟ้า มีอากาศ มีแผ่นดิน มีแม่น้ำ มีภูเขา มีมหาสมุทรดังกล่าวนั่นเอง
3.    สัตวโลก พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำภาษีเจริญพระมงคลเทพมุนี ( สด จนฺทสโร ) ท่านกล่าวเอาไว้ว่า สัตว์โลกคือดวงเห็นดวงจำ ดวงคิด ดวงรู้ ที่รวมหยุดนิ่งเป็นจุดเดียวอยู่ที่ศูนย์กลางกายซึ่งก็คือใจนั่นเอง อาศัยอยู่ที่ศูนย์กลางกายในตัวของเรา ซึ่งตัวเราก็คือขันธโลกที่อาศัยอยู่บนโอกาสโลกอีกทอดหนึ่ง


            โลกสามซ้อนเป็นชั้นๆอย่างนี้ สัตวโลกคือใจอาศัยอยู่บนขันธโลกคือตัวของเรา ขันธโลกก็อาศัยอยู่บนโอกาสโลกอีกต่อหนึ่ง โลกทั้งสามนี้มีความเกี่ยวเนื่องกัน เมื่อโอกาสโลกแปรปรวนเช่นอากาศร้อนไปบ้าง หนาวไปบ้าง ก็ส่งผลกระทบต่อขันธโลก คือร่างกายของเรา ทำให้รู้สึกร้อน รู้สึกหนาว และความไม่สบายกายนี้ก็ส่งผลกระทบต่อสัตวโลกคือ ใจด้วย เช่นเกิดความรู้สึกหงุดหงิดขึ้นมา ขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับสัตว์โลก คือใจของเราก็มีผลสืบเนื่องไปกถึงขันธโลกคือ ร่างกายของเรา และยังส่งผลไปถึงโอกาสโลกคือโลกทั้งใบนี้ได้เช่นกัน


            สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อเนื่องกันอยู่ตลอดเวลา ดังตัวอย่างเหตุการณ์ที่เกิดหมอกควันปกคลุมทั่วเมืองเชียงใหม่ เมื่อต้นปีพ.ศ. 2550 จนบางครั้งเครื่องบินไม่สามารถลงจอดได้ สภาวะอากาศเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ จนทางการต้องแนะนำให้ผู้ที่ออกจากบ้านต้องสวมผ้าปิดจมูก สาเหตุของการเกิดมลภาวะครั้งนี้เกิดจากการเผาป่า โดยผลสำรวจจากดาวเทียม พบว่ามีการจุดไฟเผาป่า นับพัน นับหมื่นจุด ทั้งเขตภาคเหนือของไทย พม่า ลาว และจีนตอนล่าง จนเกิดเป็นหมอกควันปกคลุมพื้นที่ และที่หนักยิ่งกว่าเหตุการณ์นี้คือที่อินโดนีเซีย บนเกาะสุมาตรา ซึ่งก็เกิดจากการจุดไฟเผาป่าเช่นกัน ปกติพื้นที่บริเวณเกาะสุมาตราจะมีฝนตกชุก เมื่อเข้าสู่ฤดูมรสุมฝนก็จะช่วยดับไฟป่าได้ แต่บางปีที่มีการเกิดปรากฏการเอลนิโน ฝนมาช้าและมาน้อย ไฟที่จุดจึงไม่ยอมดับ ไหม้เป็นเดือนเป็นปี และไหม้ไล่ลงไปถึงรากต้นไม้ คุลงไปในแผ่นดินอีกด้วย ควันจากเกาะสุมาตราแผ่คลุมไปถึง สิงคโปร์ มาเลเซีย และภาคใต้ของไทย บางช่วงก็มาถึงเกาะภูเก็ตพัดมาไกลเป็นพันๆกิโลเมตร จากการที่คนทำอะไรแบบมักง่ายคิดถึงแต่ประโยชน์ส่วนตัว ไม่คิดถึงส่วนรวม ส่งผลกระทบถึงโอกาสโลก ลมฟ้าอากาศก็แปรปรวน แล้วควันเหล่านี้ก็เป็นคาร์บอนไดออกไซด์มากมายที่ลอยไปบนฟ้า ทำให้โลกเหมือนอยู่ในเรือนกระจก เมื่อแสงอาทิตย์ส่องลงมา แทนที่ความร้อนจะกระจายหายไป มันจะสะท้อนกับโมเลกุลของคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ ทำให้เกิดการกักเก็บความร้อน โลกจึงร้อน โดยทั่วไปการปลูกต้นไม้บางชนิดที่ต้องการอากาศอบอุ่นนั้น เราจะปลูกในเรือนกระจกที่แม้อากาศภายนอกจะหนาวเย็นถึง 0 องศา แต่อากาศภายในเรือนกระจกก็จะมีอุณหภูมิที่สูงกว่าอากาศภายนอก เนื่องจากเมื่อแสงส่องเข้ามาความร้อนจะถูกกักเก็บไว้ แต่ถ้าเมื่อใดโลกทั้งใบเหมือนอยู่ในเรือนกระจก อุณหภูมิของโลกก็จะสูงขึ้น ภูเขาน้ำแข็งที่ขั้วโลกก็จะละลายลงมาจนน้ำท่วมแผ่นดินที่เราอาศัยอยู่แล้วเราจะอยู่ได้อย่างไร


            นี่คือผลจากการทำอะไรอย่างมักง่าย เอาสะดวกเข้าว่าเหตุผลในการเผาป่า ก็เพียงเพื่อจะได้เก็บเห็ด เพราะเมื่อต้นไม้ใบหญ้าถูกเผาเป็นเถ้าถ่าน ถ้ามีฝนตกมาก็จะมีเห็ดขึ้นเท่านั้นเอง บางครั้งเผาป่าก็เพียงเพื่อจะมีหญ้าเลี้ยงวัว  เผาป่าเป็นพันเป็นหมื่นไร่ หมดทั้งภูเขาเพื่อที่ว่าเมื่อเผาเสร็จ ประเดี๋ยวหญ้าอ่อนๆ เขียวๆ ก็จะขึ้นวัวจะได้กินหญ้า ถ้ามีคนมักง่ายเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว ไม่คิดถึงผลกระทบส่วนรวมมากเข้าๆ ย่อมเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากมายมหาศาลแน่นอน
ตรงกันข้ามถ้าแต่ละคนคิดว่า เราจะมีส่วนช่วยโลกได้อย่างไรกันบ้าง เช่น ช่วยกันปลูกต้นไม้คนละต้นสองต้น เพื่อให้ต้นไม้ช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ แล้วคายออกซิเจนออกมา โลกจะได้เย็นลง อย่างนี้ก็เกิดประโยชน์ 


            ญี่ปุ่นก็เคยประสบปัญหาหนักมาแล้ว ในช่วงพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ ส่งผลให้ผู้ที่ได้รับสารพิษป่วย เป็นโรคมินามาตะและโรคอิไตอิไต โดยเกิดจากโรงงานปล่อยสารปรอทลงไปในน้ำ ปลาไปกินสารปรอท แล้วคนไปจับปลามากิน สารปรอทก็เลยเข้าร่างกาย คำว่า “ อิไตอิไต ” แปลว่า “ เจ็บๆ ” เพราะระบบประสาทผู้ป่วยจะแปรปรวนอ่อนไหวมาก แค่ลมพัดมาโดนตัวก็ยังเจ็บ จึงร้อง “ เจ็บๆ... ” จนกระทั่งตาย และยังมีอีกสารพัดโรคที่เกิดขึ้น ญี่ปุ่นเลยหันมารณรงค์กันขนานใหญ่ว่าต้องดูแลสิ่งแวดล้อม ปลูกป่าให้เขียวทั้งเกาะ ให้เขียวทั้งประเทศ ควบคุมการปล่อยน้ำเสีย อากาศเสีย แก๊สพิษต่างๆ จนกระทั่งปัจจุบันแม้ญี่ปุ่นจะเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่มีความหนาแน่นของโรงงาน อยู่อันดับต้นๆ ของโลก แต่ก็รักษาสิ่งแวดล้อมได้ดี


            ขณะที่ประเทศจีนและอินเดียกำลังเป็นที่เกรงกันว่าเมื่อเศรษฐกิจพัฒนาพัฒนามากขึ้น จะมีโรงงาน มีรถยนต์เพิ่มขึ้นมาอีกมากมายจะเกิดการปล่อยสารพิษปริมาณมหาศาล ซึ่งระบบนิเวศน์ของโลกคงรับไม่อยู่ ความกลัวนี้ก็มีเหตุผล แต่ถ้าทุกคนสร้างจิตสำนึกในการรักษาสิ่งแวดล้อมพร้อมๆ กับการก้าวไปของเศรษฐกิจ เราก็จะผ่านวิกฤติตรงนี้ไปได้ ฉะนั้น ใจของคนแต่ละคนจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสว่า “ มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา มโนเสฏฺฐา มโนมยา ” คนเรามีใจเป็นใหญ่ สำคัญอยู่ที่ใจ ถ้าใจดีตระหนักถึงความสำคัญ ของสิ่งแวดล้อม ตระหนักถึงเรื่องส่วนรวม ไม่เอาประโยชน์ส่วนตัวเป็นใหญ่ สร้างจิตกระแสอย่างนี้ขึ้นมาได้ โลกเราจะสงบร่มเย็น ภาวะโลกร้อนก็ไม่น่ากลัวอีกต่อไป นี่เป็นเรื่องของผลกระทบของโลกทั้งสามที่เราเห็นกันอยู่ แต่ในความเป็นจริงยังมีผลกระทบที่เรามองไม่เห็น ที่วิทยาศาสตร์ยังศึกษาไม่ถึงอีกมากมาย เช่น เรื่องของไฟบรรลัยกัลป์ล้างโลก คือโลกของเราจะมีช่วงเกิดขึ้น ตั้งอยู่ เสื่อมสลาย แล้วค่อยๆฟื้นขึ้นมาใหม่ วนอยู่อย่างนี้เมื่อไรที่ใจคนเร่าร้อนด้วยโทสะ ความโกรธ สิ่งแวดล้อมจะได้รับผลกระทบเหมือนได้รับกระแสความร้อนจากใจ ของคน โลกจะร้อนขึ้น เป็นความร้อนแฝงข้างใน พอระอุเต็มที่แล้ว พระอาทิตย์ที่มีอยู่ดวงเดียวจะกลายเป็นสองดวง สามดวงจนถึงเจ็ดดวง โลกทั้งโลกจะลุกเป็นไฟ นั่นคือไฟบรรลัยกัลป์ล้างโลก มนุษย์ สัตว์ พืชพันธุ์ไม้ จะถูกเผาผลาญจนหมดสิ้น โลกจะถูกเผาผลาญอย่างยาวนาน แล้วไฟนี้เผาผลาญนานมากจากแรงโทสะที่สะสมอยู่ในใจของมนุษย์ น่ากลัวยิ่งกว่าภาวะโลกร้อนที่นักวิทยาศาสตร์วิตกกังวลกันมากนัก


            ใจคนส่งผลถึงสิ่งแวดล้อมได้ขนาดนั้น ดังเช่นที่เราอาจจะเคยรู้สึกแปลกใจว่าในเมืองๆเดียวกัน อุณหภูมิเท่าๆกัน ถ้าเราเข้าไปในสถานที่ที่สงบเช่น โบสถ์  เราจะรู้สึกว่าอากาศเย็นสบาย บรรยากาศสงบ แต่ถ้าเราเข้าไปในไนท์คลับ ผับ บาร์ ต่อให้ไปช่วงกลางวันที่เขาปิดร้าน ไม่มีคนอยู่ ลองวัดอุณหภูมิด้วยเทอร์โมมิเตอร์ แม้อุณหภูมิจะพอๆกันกับในโบสถ์ แต่เรากลับรู้สึกร้อน นี่เพราะใจคนคือตัวสร้างบรรยากาศ  ตั้งแต่ครั้งโบราณมา ปู่ ย่า ตา ยาย จะรู้หลักข้อนี้ดี ช่วงไหนที่ลมฟ้าอากาศแปรปรวน เกิดข้าวยากหมากแพง ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล ตั้งแต่พระเจ้าแผ่นดินลงมาจนถึงประชาชน จะพากันนุ่งขาวห่มขาว ถือศีลทำภาวนา 7 วัน 7 คืน แล้วทุกอย่างจะค่อยๆ คลี่คลาย ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล ทุกอย่างดีขึ้น เพราะใจของคนเรานี่เอง ที่ส่งผลถึงบรรยากาศ ยิ่งคนหมู่มากรวมใจกันยิ่งมีพลัง


            ดังนั้น ถ้าหากเราพร้อมใจกันปฏิบัติธรรม จนเกิดเป็นพลังสิ่งที่ตามมา ก็คือ ลมฟ้าอากาศจะดี โลกไม่แปรปรวน เป็นโลกที่เย็นสบายภัยพิบัติทั้งหลายเช่น น้ำท่วม แผ่นดินไหว สึนามิ พายุ ฯลฯ ก็จะค่อยๆคลี่คลายไป ทุกคนจะสามารถอยู่บนโลกนี้ได้อย่างมีความสุข สุขภพนี้แล้ว สร้างความดีสร้างบุญทำให้สุขภพหน้าด้วย แล้วสุดท้ายสุขอย่างยิ่ง ก็คือ ไปที่สุดแห่งธรรม

----------------------------------------------------------------------------------

หนังสือ " ทันโลกทันธรรม 2  "

พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0013343493143717 Mins