เลี้ยงดูบุตรหลานให้เชื่อฟัง
คำถาม : เวลาใช้งานลูกหลานก็จะมีบ้างที่พวกเขาทำเฉยเหมือนไม่ใส่ใจ คนอื่นมักจะบอกว่าเราเป็นคนไม่มีอำนาจ แล้วต้องใช้อำนาจในการเลี้ยงดูลูกหลานอย่างไรถึงจะถูกต้อง...?
คำตอบ : คำว่า อำนาจ นัยนี้คล้ายกับคำว่า บารมี เหตุเพราะพูดแล้วไม่มีใครเชื่อฟัง คนอื่นเขาจึงว่าเราไม่มีอำนาจ ไม่มีบารมี ตรงกันข้ามกับคนที่มีอำนาจและบารมี คนรอบข้างมักจะเกรงใจ พอพูดอะไรออกไปแล้วเขาเกรงใจและทำตามที่เราพูด คำพูดเราก็มีน้ำหนัก แล้วทำอย่างไรเราถึงจะกลายเป็นคนมีอำนาจ มีบารมี พูดแล้วคนรอบข้างรับฟัง ไม่เฉพาะกับลูกหลาน แม้แต่ภรรยาหรือสามีก็เกิดความเกรงใจด้วย
มีหลักใหญ่ๆ 2 ข้อด้วยกัน ข้อแรกคือ ทำตนเป็นคนนิ่ง ถ้าเราพูดกึ่งบ่นหรือพูดมากไปเรื่อย คำพูดเราก็จะไม่มีน้ำหนัก เราเป็นผู้พูดจึงมักจะรู้สึกว่า ทุกคำพูดของตนเองมีเหตุผลไปหมด แต่บางครั้งถ้อยคำเหล่านั้นมากเกินไป ถึงแม้คนฟังรู้สึกเกรงใจและอยากจะทำตาม แต่คำสั่งสอนเหล่านั้นมากเกินไปจนเขาทำตามไม่ไหว น้ำหนักในคำพูดของเราจึงหายไป
เพราะฉะนั้น ขอให้เราทำใจให้นิ่งก่อน โดยเริ่มต้นด้วยการหาเวลาสวดมนต์ นั่งสมาธิเป็นประจำสม่ำเสมอทุกวัน ก่อนจะพูดอะไรออกไปให้เราคิดไตร่ตรองให้ดี เมื่อเห็นอะไรไม่ถูกต้องเรายังไม่ควรพูดออกไปในทันที และควรพูดให้น้อยลงจากที่เคยทำเหลือเพียง 1 ใน 5 หรือ 1 ใน 10 ได้ยิ่งดี
แม้แต่ในด้านการทำงานก็เช่นเดียวกัน ในที่ประชุมถ้าเราพูดไปเรื่อยคำพูดของเราจะมีน้ำหนักน้อย แต่ถ้าเราไตร่ตรองให้ดีก่อนพูด ทั้งน้ำเสียง วาจา ความหนักแน่นก็จะเกิด นานๆพูดครั้งคนรอบข้างก็จะตั้งใจฟังเรา ทุกอย่างที่จะออกมานั้นควรเริ่มจากนิ่ง แล้วไตร่ตรองก่อนเสมอ
ข้อสองคือ ควรให้เหตุผลอย่างชัดเจนและหนักแน่น ในสิ่งที่กำลังพูด เพราะจะเป็นตัวสนับสนุนน้ำหนักคำพูดของเราได้เป็นอย่างดี พอเราทำอย่างนี้สม่ำเสมอ แม้ว่าภายหลังเกิดเรื่องราวเฉาะหน้าที่เราอาจจะไม่มีโอกาสอธิบายได้ละเอียด แต่แค่เราพูดเกริ่นออกไปคนอื่นก็จะเข้าใจได้ในทันที ทั้งอำนาจบารมี และความเกรงใจก็จะตามมา
----------------------------------------------------------------------------------
หนังสือของสำนักพิมพ์ ทันโลกทันธรรม โดยพระมหาสมชาย ฐานวุฑโฒ
http://www.tltpress.com/
วางแผงจำหน่ายแล้วที่ร้านหนังสือ
ซีเอ็ดบุ๊คเซ็นเตอร์ , นายอินทร์ , ศูนย์หนังสือจุฬา , คิโนะคุนิยะ , บุ๊คสไมล์ ฯลฯ