ชาดก 500 ชาติ
มาตุโปสกชาดก-ชาดกว่าด้วยพญาช้างยอดกตัญญู
ในสมัยหนึ่งครั้งเมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่วัดเชตะวันเมืองสาวัตถี ได้เกิดเรื่องราวถกเถียงกันในหมู่สงฆ์ ถึงเรื่องวินัยสงฆ์ของภิกษุผู้เลี้ยงมารดารูปหนึ่ง
ภิกษุที่ว่านี้เมื่อออกบวชในพุทธศาสนาก็ไม่สามารถปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังได้ เพราะต้องคอยมาปรนนิบัติผู้เป็นมารดาที่อาศัยอยู่ในบ้านตามลำพัง “โยมแม่แข็งใจลุกขึ้นมาทานข้าวปลาซะหน่อยเถอะ”
“ขอบใจลูกเอ๋ย แม่นะแก่แล้วร่างกายก็ไม่ค่อยจะแข็งแรง เป็นภาระของพระจริงๆ เล้ย แทนที่จะได้ปฏิบัติธรรมกลับต้องมาดูแลแม่ซะงั้น” “โยมแม่อย่าพูดเช่นนั้นเลย ลูกมีหน้าที่ต้องดูแลแม่อยู่แล้ว” “ดูซิท่านภิกษุรูปนี้กลับไปบ้านอีกแล้ว” “เฮ้อ...คงเป็นห่วงแม่เขานั้นแหละ นี่ก็คงจะเอาข้าวปลาอาหารไปให้ละมั้งเนี่ย” “แล้วอย่างนี้ไม่ผิดวินัยสงฆ์หรือท่าน”
เมื่อพระศาสดาทราบเรื่องก็ทรงตรัสกับภิกษุเหล่านั้นว่า “ภิกษุทั้งหลาย อย่าถือโทษภิกษุรูปนี้เลย แม้ในกาลก่อนเค้าก็เคยปรนนิบัติผู้เป็นมารดามาดั่งเช่นภพนี้” แล้วพระองค์ก็ทรงตรัสเล่า มาตุโสกชาดกดังนี้
ในป่าลึกแห่งหนึ่งมีพญาช้างเผือกขาวปลอดมีรูปร่างสวยงาม มีช้างแปดหมื่นเชือกเป็นบริวาร “ตามเรามาเถอะ วันนี้เราจะนำทางพวกเจ้าเข้าไปหาผลไม้ที่ริมป่า” “ดีจังเลยผลไม้แถบนี้ข้ากินมาหมดแล้ว อยากกินที่อื่นบ้าง” “กินจนจะหมดป่าอยู่แล้วเจ้านะ ท่านพญาช้างข้าว่าทิ้งยายช้างไว้ที่ในป่านี้เถอะ ขืนพาไปผลไม้ด้านโน้นคงหมดป่ากันพอดี” “แหม ที่เจ้าล่ะกินจนไม่เหลือให้ช้างตัวอื่นได้กินบ้างเลย” “เอาละๆ พวกเจ้าอย่าทะเลาะกันอีกเลย เสียงดังไปเดี๋ยวสัตว์ตัวอื่นๆ เค้าจะตกใจกันหมด”
พญาช้างเผือกตัวนี้มีความกตัญญูรู้คุณมารดา ทุกครั้งที่ออกหาอาหารก็จะนำกลับมาให้มารดาที่ตาบอดกินเสมอ “ผลไม้สดพวกนี้แม่คงชอบ รสหวานดีนักเก็บเอาไปฝากแม่เยอะๆ ดีกว่า” “เราจะอยู่ดูแลฝูงที่นี่รบกวนพวกเจ้าช่วยนำผลไม้เหล่านี้ไปให้แม่ของเราด้วยนะ” “ได้เลยท่านพญาช้าง เรายินดีช่วยเหลือท่านอยู่แล้ว” “นั่นใช่ไหม๊ ผลไม้ที่ท่านจะฝากไปให้แม่ท่านนะ อูย..น่ากินทั้งนั้นเลยนะ ท่านแม่คงจะชอบใจ” “อืม..ขอบใจพวกเจ้ามาก เดินทางกันดีๆ ละ” ผลไม้รสหวานเหล่านั้นแทนที่จะเป็นอาหารให้กับช้างตาบอด แต่ก็ถูกช้างบริวารที่นำอาหารมากินเสียระหว่างทาง
“หือ..ผลไม้เนี่ยรสหวานจริงๆ เลยนะ หือ..ข้านี่ชอบจริงๆ เลย” “แต่ผลไม้พวกนี้ ท่านพญาช้างนะ ให้พวกเรานำไปให้แม่ของท่านนะ” “ไม่เป็นไรหรอกนะเดินทางมาตั้งไกล ก็ต้องมีหิวกันบ้างแหละ ท่านพญาช้างคงเข้าใจพวกเราดี” “ใช่ๆๆๆ กินไปเหอะน่า..กลัวนักก็ไม่ต้องกิน เดี๋ยวข้ากินเอง หวานปาก”
เมื่อพญาช้างกลับมาพบว่ามารดาไม่ได้อาหาร ก็คิดจะละจากโขลงเพื่อเลี้ยงดูมารดา “นี่แม่ไม่ได้ทานอะไรตั้งแต่ลูกไปเลยเรอะ ไม่น่าเลย ในเมื่อเป็นหัวหน้าโขลงแล้วลูกไม่สามารถดูแลแม่ได้ งั้นเราก็ออกจากโขลงกันเถอะ ลูกจะพาแม่ไปอยู่ที่ชายป่าด้านโน้น เราจะอยู่ด้วยกันตามลำพังก็พอนะแม่” “แม่เป็นภาระของเจ้าจริงๆ แม่น่าจะตายๆ ไปซะ เจ้าจะได้อยู่อย่างสบาย”
“แม่อย่าพูดอย่างนี้เลย ลูกอยากดูแลแม่ ไม่ได้เป็นภาระอะไรของลูกเลย แม่สบายใจเถอะ” ในขณะที่ช้างเชือกอื่นกำลังหลับพักผ่อน พญาช้างก็แอบพาช้างมารดาหนีออกจากโขลงไปอยู่ที่เชิงเขา แล้วให้มารดาพักอยู่ที่ถ้ำแห่งหนึ่ง “แม่จ๊ะเรารีบหนีไปกันเถอะ ก่อนที่ช้างเชือกอื่นจะตื่นขึ้นมาซะก่อน”
“จ๊ะ เจ้าก็ระวังๆ นะ รีบๆ มันอันตรายนะลูก” พญาช้างพาแม่ช้างตาบอดเดินทางมาถึงถ้ำในป่าแห่งหนึ่ง ก็ตกลงใจอยู่ในถ้ำแห่งนี้ “แม่นอนพักอยู่ในถ้ำนี้ก่อนนะจ๊ะ เดี๋ยวลูกจะไปหาผลไม้มาให้กิน” “เฮ่อ จ๊ะ ดีเหมือนกัน เดินทางมาไกล แม่ชักเหนื่อยเหมือนกัน”
พญาช้างกับแม่อาศัยอยู่ในป่าเพียงลำพัง ดำรงชีวิตด้วยความสงบสุข จนอยู่มาวันหนึ่งมีพรานป่าชาวเมืองพาราณสีคนหนึ่งนั่งร้องไห้อยู่ในป่า เพราะเข้าป่ามาแล้วหลงทางออกจากป่าไม่ได้ “ทำไม่ท่านถึงมานั่งร้องไห้ในป่านี้ละ” “โอ้ย..ตายๆๆๆ นี่เราหลงทางซะแล้วนะซิ โอ้ย..เดินวนเวียนอยู่ในป่านี้ตั้งสองสามวันแล้ว ยังหาทางออกไม่ได้เลย โอย..ไปทางไหนกันว่ะเนี่ย” “อย่าร้องห่มร้องไห้ไปเลย เราจะพาท่านออกไปเอง” ด้วยความเมตตากรุณาพญาช้างจึงนำทางนายพรานออกจากป่า แต่ฝ่ายพรานเมื่อพบช้างที่สวยงามอย่างพญาช้างก็คิดแผนร้าย
“ว้าว ช้างเชือกนี้รูปร่างสูงใหญ่สง่างามจริงๆ ถ้าเรานำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระราชา เราต้องได้รับทรัพย์ตอบแทนเป็นอย่างมากมายเป็นแน่ ฮืม..รวยแน่เราคราวนี้” ช่วงนี้ในวังกำลังต้องการช้างงามอยู่พอดี หักกิ่งไม้วางไว้เป็นทางดีกว่าจะได้ให้คนในวังตามมาจับช้างเผือกนี้ได้ ฮึม..ฉลาดจริงๆ เลยนะเราเนี่ย
ในสมัยนั้นช้างมงคลของพระราชาได้ตายลง พระราชาจึงมีรับสั่งให้ตีกลองร้องประกาศให้คนที่มีช้างงามให้เอามาถวาย “ประกาศๆๆๆ ประกาศจากพระราชา บัดนี้ช้างมงคลของพระราชาได้เสียชีวิตแล้วราษฎรคนไหนมีช้างงามมาถวาย จะได้รับรางวัลอย่างงาม”
นายพรานเมื่อออกจากป่าได้แล้ว ก็รีบนำเรื่องช้างงามมาทูลต่อพระราชาเพื่อหวังได้รางวัล พระราชาเมื่อทราบแล้วก็ปรารถนาจะครอบครองพญาช้างนั้น จึงให้นายควาญช้างพร้อมบริวารติดตามนายพรานเอมาจับพญาช้างไปถวาย
“เร็วๆ เข้าเถอะท่านควาญช้าง เดี๋ยวช้างเผือกนั่นนะ จะหนีไปอยู่ที่อื่นซะก่อน” “แล้วช้างที่เจ้าว่านะ งามจริงหรือเปล่าไม่ใช่หลอกให้ข้ามาเสียเวลาแน่นะ” “โอ้ย..อย่าให้พูดเลยนายท่าน ถ้าท่านเห็นแล้วท่านจะตกใจ” นายพรานนำทางควาญช้างและบริวารมาจนถึงสระน้ำแห่งหนึ่งในป่า
ขณะนั้นพญาช้างกำลังกินน้ำอยู่ในสระ “นั่นไงๆๆ ท่านควาญช้าง ช้างเผือกที่ว่าอยู่ตรงนั้นไง” นายควาญช้างเมื่อพบพญาช้างแล้วก็ถูกใจมาก “โอ้โห ช้างเผือกเชือกนี้ช่างสง่างามเหมือนที่เจ้าบอกจริงๆนี่แหละ ช้างมงคลที่เหมาะสมเคียงคู่กับพระราชา”
เมื่อพญาช้างเห็นนายพรานกลับมาพร้อมผู้คนอีกกลุ่มใหญ่ก็รู้ว่าภัยจะมาถึงตัว แต่ก็สู้ไม่ได้ ยอมให้ควาญช้างนำตัวไปในเมืองพาราณสี “โธ่เราโดนจับอย่างนี้ แล้วใครจะมาดูแลแม่ละ”
ฝ่ายช้างมารดาเมื่อไม่เห็นลูกกลับมาก็ได้แต่คร่ำครวญคิดถึงลูก “ลูกข้าป่านนี้ยังไม่กลับมา สงสัยจะถูกพระราชาหรือมหาอำมาตย์จับตัวไปเสียแล้ว จะเป็นตายร้ายดียังไงก็ไม่รู้”
เมื่อควาญช้างพาพญาช้างมาถึงเมืองก็ประพรมน้ำหอมพญาช้าง ประดับเครื่องทรงและนำไปไว้ที่โรงช้าง รอให้พระราชาลงมาทอดพระเนตร “เอ้าช่วยกันหน่อย เป็นบุญของเจ้าแล้วนะ ต่อไปนี้เจ้าจะได้รับใช้พระราชาแล้ว” เมื่อควาญช้างนำความขึ้นกราบทูล พระราชาก็ทรงนำอาหารรสดีต่างๆ มาให้พญาช้าง “พญาช้างผู้ประเสริฐเชิญกินอาหารเสียก่อนเถิด เราดีใจที่ได้เจ้ามาเป็นช้างมงคล ต่อไปนี้เจ้าก็ถวายตัวทำงานให้เราเถิด”
พญาช้างเมื่อเห็นอาหารดีๆ ก็คิดถึงมารดา ไม่ยอมกินอาหารนั้น “ป่านนี้แม่คงหิวแล้ว โธ่เอ้ยจะทำยังไงดีนี่” “พญาช้างเจ้ากังวลอะไรเหรอ ทำไม่เจ้าไม่ยอมกินอาหารที่เรานำมาให้ละ” “หม่อมฉันเป็นห่วงนางช้างผู้เป็นมารดา นางตาบอดไม่มีใครดูแล ป่านนี้จะเป็นอย่างไรบ้างก็ไม่รู้” พระราชาเมื่อฟังแล้วก็เกิดความเศร้าใจมีรับสั่งให้ปล่อยพญาช้าง “พญาช้างนี้เลี้ยงดูมารดาตาบอดอยู่ในป่า ท่านทั้งหลายปล่อยเขาไปเถอะ”
พญาช้างเมื่อถูกปล่อยตัวก็รีบกลับไปยังถ้ำที่มารดานอนอยู่ เมื่อไปถึงก็รีบนำน้ำในสระมารดตัวมารดาที่นอนร่างกายผ่ายผอมเพราะไม่ได้กินอาหารมาแล้ว 7 วัน “โธ่แม่คงทรมานมากซินะ ไม่ได้ทานอะไรมาตั้ง 7 วัน ผิวก็แห้งแตก น้ำเนี่ยคงช่วยให้แม่สดชื่นขึ้นมาได้บ้างนะจ๊ะ” ช้างมารดาเมื่อถูกน้ำราดตัวก็ตกใจ เกิดความวิตก “เกิดอะไรขึ้น น้ำมาจากไหนกัน จะทำยังไงดีลูกก็ไม่อยู่ด้วย” “แม่จ๊ะอย่ากลัวไปเลย นี่ลูกเอง ลูกกลับมาแล้ว พระราชาผู้ทรงธรรมได้ปล่อยให้ลูกออกมาแล้วจ๊ะ”
“โอ้ ลูกรักของแม่เจ้ากลับมาแล้ว เจ้าปลอดภัยดีใช่ไหม๊” “ลูกปลอดภัยดีแม่ ไม่มีใครทำอันตรายแก่ลูกเลย เค้าจับลูกไปเพื่อให้ไปรับใช้พระราชา แต่เมื่อพระราชาทรงทราบว่าลูกต้องดูแลแม่ พระองค์ก็ปล่อยให้ลูกกลับมาจ๊ะ” “ขอให้พระองค์มีพระชนม์ยืนนานที่กรุณาปล่อยลูกของแม่มา”
ฝ่ายพระราชาที่เลื่อมใสในความกตัญญูของพญาช้าง มีรับสั่งให้ตั้งอาหารไว้เพื่อพญาช้างและมารดาเป็นประจำตั้งแต่วันที่ปล่อยพญาช้างไป “เอ้าๆๆ กินกันเยอะๆ เลยนะ ผลไม้พวกนี้รถดีทั้งนั้นเลย” “เป็นพระมหากรุณาธิคุณแท้ๆ ขอให้พระองค์ทรงพระเจริญเถิด”
เพื่อเทิดทูนความกตัญญูของพญาช้าง พระราชาจึงรับสั่งให้สร้างรูปเหมือนพญาช้าง จัดงานฉลองช้างขึ้นเป็นประจำทุกปี “เจ้าต้องเป็นเด็กกตัญญูเหมือนพญาช้างนะลูก” “จ๊ะแม่ ลูกจะรักแม่เหมือนท่านพญาช้างรักแม่ของเค้านะคะ” กาลต่อมาแม่ช้างก็สิ้นอายุขัย พญาช้างจึงตัดสิ้นใจเข้าไปในเมือง ถวายตัวรับใช้พระราชาจนสิ้นชีวิต
พระราชาในกาลนั้น กำเนิดเป็น พระอานนท์
พรานป่า กำเนิดเป็น พระเทวทัต
ควาญช้าง กำเนิดเป็น พระสารีบุตร
นางช้าง กำเนิดเป็น พระนางมหามายาเทวี
พญาช้าง เสวยพระชาติเป็น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า