ชาดก 500 ชาติ
จุลลกเศรษฐี-ชาดกว่าด้วยความฉลาดในการสร้างฐานะ
ในสมัยพุทธกาลขณะที่องค์พระบรมศาสดาทรงสอดส่องพระพุทธญาณ ณ วัดชีวกัมพวัณ กรุงราชคฤห์เพื่อโปรดเวไนยสัตว์ผู้ตกทุกข์ดังที่ทรงบำเพ็ญอยู่เป็นนิจ พลันสายพระเนตรทรงเห็นภิกษุหนุ่มจุลลปัณฐกะที่ท้อถอยสิ้นความเพียร เนื่องด้วยมีสติปัญญาทึบ
“เฮ้อ..ทำไมเราถึงได้ด้อยปัญญาเช่นนี้นะ ไม่บรรลุธรรมซะที สึกซะดีกว่า” พระพุทธองค์จึงทรงเสด็จไปรอภิกษุองค์นี้ที่ซุ้มประตูวัด เทศนาสั่งสอนแล้วทรงเนรมิตผ้าขาวให้ผืนหนึ่ง “เจ้าจงบริกรรมภาวนาและลูบคลำผ้าขาวนี้อย่าได้ว่างเว้น”
จากนั้นพระพุทธองค์ก็เสด็จจากไปทิ้งพระหนุ่มไว้ผู้เดียว ภิกษุหนุ่มได้เจริญภาวนาและลูบคลำผ้าขาวตามคำสั่งของพระพุทธองค์ได้มิว่างเว้น มิช้านานผ้าขาวนั้นก็คล้ำมอ พระหนุ่มจึงเกิดความคิด “สังขารเป็นสิ่งไม่เที่ยงแท้สัมผัสแต่สิ่งสกปรก ฮ้า..”
วาระนั้นพระพุทธเจ้าทรงทราบด้วยพระญาณจึงเปล่งพุทธวาจากับภิกษุหนุ่มได้ยินดุจประทับตรงหน้า “ผ้านั้นเศร้าหมองด้วยธุลีฉันใด ใจของคนเราก็ฉันนั้น เจ้าจงชำระธุลีแห่งจิตใจ คือราคะ โทสะ โมหะ ทั้ง 3_ประการนี้ออกเสียให้สิ้นเถิด”
รุ่งขึ้นสังฆมณฑลก็ขานพระคุณพระพุทธองค์กันถ้วนหน้า ด้วยเหตุที่เปลี่ยนพระปัญญาทึบให้บรรลุธรรมได้ชั่วยามหนึ่ง ในกาลอดีตตถาคตก็เคยช่วยเขาให้เกิดปัญญาสร้างฐานะมาแล้ว เดี่ยวเราจะเล่าให้ฟัง ย้อนไปในอดีตกาลกรุงพาราณสีที่รุ่งเรืองและคับคั่งไปด้วยการค้าพาณิชย์
กล่าวกันว่ากรวดทรายกลางถนน ณ ที่แห่งนี้ดุจทองคำและอัญมณีหากใครจะมีปัญญาหยิบเอาไป เศรษฐีผู้หนึ่งนามจุลลกะท่านเป็นบัณฑิตผู้คาดการใดไม่เคยพลาด ด้วยความสามารถในวิชานิมิตพยากรณ์ วันหนึ่งท่านเศรษฐีผู้นี้ได้นั่งรถม้าผ่านกลางใจเมืองเห็นหนูตายอยู่บนพื้นตัวหนึ่ง ท่านพินิจดูแล้วก็ทำนายออกมา “หากใครมีปัญญาย่อมสามารถนำหนูตายนี้ไปเป็นทุนให้เจริญรุ่งเรื่องได้”
มานพหนุ่มคนหนึ่งได้ยินคำที่เศรษฐีบัณฑิตกล่าว ด้วยความศรัทธาจึงเก็บหนูตายนั้นไว้ แล้วเขาก็พบกับป้าใจบุญคนหนึ่ง “พ่อหนุ่มหนูตายตัวนั้นนะ ป้าขอซื้อได้มั๊ย ป้าจะเอาไปให้แมวป้ากิน” “ด้วยความยินดีจ๊ะป้า”
แล้วมานพหนุ่มก็ได้เงินมา 1 กากนึก จากซากหนูตาย ซึ่งเป็นเงินเพียงน้อยนิดเหลือเกิน จากนั้นเขาก็นำเงินที่ได้ไปซื้อน้ำอ้อยจากไร่เพื่อมาไว้บริการคนเก็บดอกไม้ที่กลับมาจากป่า “ท่านกลับมาจากการเก็บดอกไม้คงเหน็ดเหนื่อยกันแล้ว ดื่มน้ำอ้อยให้ชื่นใจเถิด”
"โอ้ว ชื่นใจเหลือเกิน เจ้าเอาดอกไม้เนี่ยไปเป็นการตอบแทนน้ำใจที่เจ้ามีต่อพวกเราแล้วกัน” ชายหนุ่มนำดอกไม้ที่ได้ไปขาย พอได้เงินมาวันรุ่งขึ้นเขาก็นำเงินไปซื้อน้ำอ้อยอีก ครั้งนี้เขาลงทุนนำเข้าไปบริการถึงในป่า ซึ่งทำให้เขาได้ดอกไม้มามากยิ่งขึ้น
ชายหนุ่มปฏิบัติเช่นนี้อยู่ทุกวัน จนกระทั่งวันหนึ่งในต้นฤดูฝนพายุพัดแรงจนกิ่งไม้หักโค่นเกลื่อนอุทยาน มานพหนุ่มจึงใช้ปัญญาที่ชาญฉลาดอาสาขนกิ่งไม้เหล่านั้นออกมา “อ้าว เด็กๆ มาช่วยชั้นขนกิ่งไม้เหล่านี้หน่อยแล้วจะให้น้ำอ้อยเป็นรางวัล” “เย้ ช่วยกันขนเร็วพวกเราจะได้กินน้ำอ้อยให้ชื่นใจไปเลย ขนๆๆๆ”
มานพหนุ่มนำกิ่งไม้เหล่านั้นไปขายเป็นฟืนให้กับชายปั้นหม้อ ซึ่งครั้งนี้เขาได้เงินถึง 16 กหาปณะ กับโอ่งขนาดใหญ่อีก 1 ใบ ด้วยน้ำใจอันดีงามเขาจึงนำโอ่งใบนั้นไปใส่น้ำให้เหล่าคนเกี่ยวหญ้าของพาราณสีได้ดื่มกินกัน
ทุกคนซาบซึ้งในน้ำใจของเขาและพร้อมจะให้ความช่วยเหลือทุกครั้งที่เขาต้องการ ถัดจากนั้นอีกไม่กี่วัน มีกองม้าถึง 500_ตัวเข้ามายังพาราณสี ชายหนุ่มจึงขอจองหญ้าจากคนเกี่ยวหญ้าเหล่านั้นไว้ทั้งหมด “ท่านเป็นเจ้าของหญ้าทั้งหมดนี้ใช่หรือไม่ ข้าขอซื้อหญ้าให้ม้าข้ากินหน่อยเถอะ”
“หญ้าทั้งหมดในละแวกนี้เป็นของข้าเอง” ชายหนุ่มได้เงินจากการขายหญ้าทั้งหมด 1000 กหาปณะ แล้วโอกาสในการลงทุนก็เข้ามาหาเขาเอง วันหนึ่งมีเรือสำเภาบรรทุกสินค้าเข้ามาทอดสมอ ชายหนุ่มเห็นเรือเหล่านั้นก็เกิดปัญญาในการลงทุนรีบแต่งกายภูมิฐานแล้วไปเช่ารถม้า
“ลุงข้าขอเช่ารถม้าที่แพงที่สุด” “ได้เลยจ้าพ่อหนุ่ม” มานพหนุ่มได้นำเงินทุนที่มีทั้งหมดไปวางมัดจำสินค้าในเรือบรรทุกสินค้าเหล่านั้นทุกชิ้น “อะไรนะ สินค้าเหล่านี้ถูกท่านจองไว้หมดแล้วเหรอ” “ใช่ถ้าพวกท่านต้องสินค้าไปขายท่านก็ต้องซื้อจากข้า” ภายในวันเดียวชายหนุ่มเจ้าปัญญาก็สามารถหาเงินสดได้ถึง 2 แสน กหาปณะ
มานพหนุ่มที่เคยเป็นแค่ชายข้างถนน มาบัดนี้ได้กลายเป็นเศรษฐีและด้วยความกตัญญูรู้คุณ เขาจึงนำเงิน 1 แสน กหาปณะ ไปกราบขอบคุณท่านจุลลกะเศรษฐีผู้ที่ทำให้เขาได้เงินมามากมายจากการเก็บหนูตายบนถนนแค่เพียงตัวเดียว “เจ้าช่างมีน้ำใจดีงามและช่างเป็นคนกตัญญูรู้คุณด้วยความดีของเจ้า ข้าจะยกลูกสาวของข้าให้เจ้า ช่วยดูแลลูกสาวของข้าแทนข้าด้วยนะ เหอะๆ”
ในกาลต่อมาจุลลกะเศรษฐีก็ได้สิ้นชีวิตไปตามยถากรรม มานพหนุ่มจึงได้แต่งงานครองคู่กับลูกสาวผู้เป็นทายาทเพียงคนเดียวของจุลลกะเศรษฐีอย่างมีความสุขและได้ครอบครองสมบัติทั้งหมดของจุลลกะเศรษฐีสืบต่อไป
อปฺปเกนปิ เมธาวี ปาภเฏน วิจกฺขโณ สมุฏฐาเปติ อตฺตานํ อณุ อคฺคีว สนฺธนํ
คนมีปัญญาเฉลียวฉลาด ย่อมตั้งตนได้ด้วยทุนแม้น้อย
ดุจคนก่อไฟน้อยๆ ให้เป็นกองใหญ่ฉะนั้น
มานพในครั้งนั้น ต่อมาคือ พระจุลลปันถก
จุลลกเศรษฐีครั้งนั้น คือ พระชาติหนึ่งของพระพุทธเจ้า