ชาดก 500 ชาติ
กุททาลชาดก-ชาดกว่าด้วยความความชนะที่ดี
ความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนานั้น เปรียบดังบัวบานขึ้นกลางชมพูทวีป ย่อมเป็นที่พึ่งอันประเสริฐของเหล่าศาสนิกชน ซึ่งขาดผู้ชี้แนะนำทาง ในมหานครสาวัตถีของโกศลรัฐนั้น นอกจากสาวกสาวิกาจะหลั่งไหลเข้ามายังพระเชตวันไม่ขาดสายแล้ว
พุทธธรรมยังเผื่อแผ่ไปถึงบุคคลอื่น ๆ ที่แม้ยังไม่ได้ฝั่งศรัทธากับศาสนาของพระพุทธเจ้าก็พลอยได้รับความสุขอยู่เสมอเช่นกัน ดังมานพชาวสาวัตถีนาม จิตหัตถก็เป็นผู้หนึ่งที่รู้สึกชื่นชอบพระศาสนาของสมเด็จพระพุทธศาสดาโดยในอื่น มิได้สดับคำสอนโดยนิสัย
จิตหัตถเป็นชาวกสิกรรม เมื่อว่างจากการเพาะปลูกก็มักแวะเวียนเข้ามายังเขตสังฆาวาสเสมอ “ อือ วันนี้เข้าไปฟังธรรมหน่อยดีกว่าเรา ไม่ได้ไปตั้งหลายวันแล้ว ”
วันหนึ่งมานพหนุ่มผู้นี้เกิดติดใจในอาหารที่พระเถระท่านหนึ่งแบ่งให้กิน จึงเกิดความคิดจะบวชขึ้นเพราะกิเลสนี้ “ อือ อร่อยจริง ๆ ทำงานมาเหนื่อย ๆ เจออาหารอร่อย ๆ อย่างนี้ หายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้งเลยเรา อยากจะกินอาหารอร่อยอย่างนี้ทุกวันจริง ๆ แต่จะไปหาที่ไหนมากินละ เฮ้อ ได้การละ อย่างนี้เราก็บวชสะ ก็สิ้นเรื่อง แค่นี้ก็จะได้กินอาหารอร่อยอย่างนี้ทุกวันแล้ว ”
เมื่อคิดได้ดังนั้น มานพผู้หลงรสอาหารของพระ ก็ปวารนาเข้าบวชในพระเชตวันอาราม ครั้นผ่านขั้นตอนนี้แล้วก็ได้บวชเป็นภิกษุในสำนักพระสารีบุตรสมปรารถนา “ เฮ้ย ได้บวชอย่างที่ใจต้องการแล้วสินะเรา คราวนี้ก็จะได้ทานอาหารอร่อย ๆ ทุกวันเลย ”
พระจิตหัตถเป็นภิกษุอยู่ได้สัก ๑๕ วัน พอคุ้นเคยมีความสุขกับอาหารดี ๆ ที่มีผู้มาถวายก็เริ่มอึดอัดต่อกฎระเบียบจึงลาสึกออกไป ครั้นคิดถึงอาหารถูกปากก็มาขอบวชใหม่อีกเขากระทำอยู่เช่นนี้ถึง ๖ ครั้ง จนจำพระอภิธรรมได้ขึ้นใจ “ จะทำยังไงดีนะ พอสึกไปก็ยังคิดถึงอาหารรสอร่อย แต่วินัยสงฆ์ก็เคร่งครัดเหลือเกิน ”
การบวชครั้งสุดท้ายของพระจิตหัตถ คือครั้งที่ ๗ ดังนั้นจึงกลายเป็นผู้ทรงพระอภิธรรม ๗ พระคำภีร์ กุศลกรรมนี้ทำให้ท่านดื่มด่ำในธรรมรสไม่ดิ้นรนจะลาสิกขาบทอีก
ทั้งยังบำเพ็ญตนอนุเคราะห์ภิกษุใหม่ด้วยการบอกธรรมให้ นานวันท่านยิ่งเจริญวิปัสสนาดำเนินจิตเข้าอรหัตผลโดยผลความดีนั้น ภิกษุทั้งหลายเมื่อยกข้ออนุเคราะห์การบอกธรรมขึ้นสนทนาในธรรมสภา ก็มักมีสรรเสริญพระจิตหัตถและติฉินท่านไปพร้อมกัน
เหตุเพราะมีนิสัยปุถุชนขนาดครองผ้ากาสาวพัสตร์ถึง ๖ ครั้งนั้นเอง “ บัณฑิตทั้งหลาย แม้ในการก่อนเพียงจอบขุดดินเล่มเดียว ก็เคยทำให้สละเพศบรรพชิตได้ถึง ๖ ครั้งมาแล้ว ” แล้วพระองค์ก็ทรงตรัสเล่า กุททาลชาดกขึ้นดังนี้
ในกาลอดีตโน้น ครั้งที่พระเจ้าพรหมทัตยังคงขับคชาทารออกรบขยายอาณาเขตของพาราณสี ครั้งหนึ่งเมื่อมีชัยชนะกลับมาก็ปรารถนาจะลงสรงน้ำสระเกล้าในคงคามหานทีดังเช่นทุกคราว
“ เดินทางมาเหน็ดเหนื่อย ร้อนเหลือเกิน เราจะสรงน้ำตรงแม่น้ำนั้นสะหน่อย ” “ กระหม่อมได้เตรียมอาภรเรียบร้อยแล้วพระเจ้าค่ะ ”
“ ฮ่ะ ฮ่า ฮ่า เราชนะแล้ว เราชนะแล้ว ” เมื่อไปถึงแม่น้ำพระองค์ก็ทรงสนพระทัยชายผู้หนึ่งที่ยืนตะโกนก้องอยู่ริมพระแม่คงคา “ เอ๊ะ ชายผู้นั้นหัวเราะอะไรกัน เขาชนะอะไรกันรึ ทหารนำตัวชายผู้นั้นมาพบกับเราหน่อยสิ ” ครั้นเมื่อพระองค์ทรงสระเศียรเกล้าเป็นมงคลดีแล้ว ก็ตรัสถามมานพหนุ่มผู้นั้น “ เราเพิ่งชนะสงครามปัจจันตชนบทมา ส่วนท่านล่ะ ชนะอะไรมา ” ทิศ
“ มหาราช ถึงท่านจะชนะมาทั้ง ๑๐ แต่หายังต้องการครองเป็นของตนอยู่เช่นนี้ ก็ยังหาได้ชนะเด็ดขาดไม่ ” “ ชนะเด็ดขาดเป็นของเราแล้ว ปัจจามิตรใด ๆ เราปราบราบคาบสิ้นแล้ว ยังมีสงครามที่ไหนให้เรารบอีกเล่า ” “ นี่ยังไม่ใช่ชัยชนะโดยเด็ดขาด การได้ชัยชนะเพียงครั้งเดียวไม่กลับมาพ่ายแพ้อีกต่างหากล่ะ คือ ชนะเด็ดขาด พระองค์ต้องทรงเอาชนะกิเลสภายในตนให้ได้ เพียงครั้งเดียวก็จะไม่ทรงพ่ายแพ้อีกตลอดกาล ” มานพในอาภรณ์นักบวชนั้น แสดงพระสูตรสาทก ว่า “ ผู้ชนะหมู่มนุษย์ในสงครามถึงล้านคนยังสู้ผู้ที่ชนะตนเพียงคนเดียวไม่ได้ ผู้ชนะดังนี้จึงถือเป็นจอมทัพอย่างแท้จริง ” ราชาพรหมทัตสดับธรรมมีเหตุผลเช่นนี้ ก็มีพระทัยน้อมให้ทรงละกิเลส ปรารถนาจะรู้ที่มาแห่งชัยชนะกิเลสของมานพผู้นี้ มานพผู้ถวายเทศนาก็เล่าขานว่า
“ มหาราชผู้เจริญ ข้าพเจ้านามว่ากุททาล เกิดและเลี้ยงชีพด้วยอาชีพกสิกรรม อาศัยจอบที่ตกทอดมาแต่ปู่ทวด พลิกพื้นแผ่นดินเพาะปลูกอยู่ในชนบท ปลูกน้ำเต้าฝักแฝงใด ๆ ก็ล้วนบันดาลขึ้นจากแรงและจอบเล่มนี้ ข้าพระองค์จึงบำรุงดูแลทั้งใบจอบ ด้ามจอบ อย่างรักใคร่หวงแหน เหตุเพราะเป็นทรัพย์สมบัติชิ้นเดียวที่มี แต่เมื่อผ่านหลายฤดูกาลนานเข้า เกิดเบื่อหน่ายชีวิตคฤหัสถ์คิดออกบวชเป็นฤาษี ข้าพระองค์จึงเช็ดถูจอบอย่างดี นำมันห่อผ้าจนหนาแน่นแล้วนำไปฝั่งไว้ในที่มิดชิดเพราะยังรักอาลัยอยู่มาก จากนั้นก็ออกเสาะหาเครื่องนุ่งห่มใหม่ ถือเพศบรรพชิตเป็นพระฤาษีออกมุ่งสู่หิมวันตประเทศ แสวงวิโมกธรรมข้าพระองค์บวชเป็นฤาษีอยู่ได้ไม่นานสักเท่าไหร่ก็คิดถึงจอบเล่มนี้
เพราะเป็นสมบัติคู่กายคู่ชีวิตกันมานาน จึงออกจากเพศฤาษีกลับมายังสวนผัก ขุดเอาจอบมาเช็ดถูทำกสิกรรมกันต่อ ข้าแต่มหาราช ข้าพระองค์เมื่อเบื่อชีวิตปุถุชนก็เอาจอบฝั่งดินไปเป็นฤาษี ครั้นเบื่อหน่ายเพศบรรพชิตก็สึก เป็นเช่นนี้มา ๖ ครั้งแล้ว
สุดท้ายข้าพระองค์ได้นำตัวตั้งของกิเลส คือจอบคู่ชีวิตเล่มนี้ขว้างทิ้งลงแม่น้ำ ข้าพระองค์หันหลังเขวี้ยงมันไป เพื่อจะได้ไม่พบเห็นจุดที่มันจมอยู่อีกต่อไป และข้าพระองค์ก็ตัดขาดกิเลสกับมันแต่บัดนั้น เมื่อเหวี่ยงกิเลสจมหายจิตใจก็เบิกบานในชัยชนะที่ไม่อาจตกอยู่ในอำนาจรักใคร่อยากได้มันอีก มหาราชที่มาแห่งคำว่าเราชนะแล้ว เราชนะแล้ว มีดังนี้ และตัวเราก็จักเป็นฤาษีในป่าหิมพานต์ไม่กลับมาเป็นทุกข์อีก ”
พระเจ้าพรหมทัตสดับแล้วทรงละกิเลสได้ด้วยอำนาจตทังคปหานมีพระทัยอยากบรรพชา ทวยทหารก็พากันละกิเลสได้เช่นเดียวกันทั้งกองทัพ “ เราจะนำคนทั้งหลายตามออกบวช ” ครั้งนั้นพาราณสีและเมืองปริมณฑลอีก ๗ พระนครก็เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมโหฬาร กษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดี ทวยทหารพลนิกรมากมาย พากันสละทรัพย์สมบัติออกถือบวชติดตามพระเจ้าพรหมทัต “ หม่อมฉันก็ประสงค์จะสละซึ่งกิเลสตามพระองค์ออกบวชเช่นกันพระเจ้าค่ะ ” ขบวนพระมหากษัตริย์ทรงดำเนินตามหลังกุททาลฤาษีมุ่งสู่หิมวันตประเทศ ออกสู่มหาภิเนษกรมณ์
ครั้งนั้นมหาชนหลั่งไหลสละกิเลส ออกบวชในกาลนั้นเป็นระยะทางถึง ๑๒ โยชน์ หรือ ๑,๙๒๐ กิโลเมตรทีเดียว กุททาลฤาษีทำบริกรรมแล้วบวชให้พระราชาและเหล่าบริษัททั้งหมด ทั้งหมดเพ่งกสิณเจริญพรหมวิหารธรรมจนสังขารวัยดำเนินไปถึงจุดสิ้นสุดอย่างมีความสุข
พระพุทธเจ้าแสดงธรรมเทศนาชาดกนี้แล้ว ตรัสว่า “ อำนาจกิเลสปลดเปลื้องได้ยาก กระทำให้ผู้เป็นบัณฑิตกลายเป็นผู้ไม่มีความรู้ไปได้ ซึ่งจิตที่บำบัดแล้วย่อมนำสุขมาให้ด้วยประการฉะนี้ ” ในพุทธกาลนั้น พระพุทธองค์ สืบอนุสนธิ ประชุมชาดกว่า
พระเจ้าพรหมทัต กำเนิดเป็น พระอานนท์
พุทธบริษัทในครั้งนั้น กำเนิดเป็นพุทธศาสนิกชน
กุททาลฤาษี เสวยพระชาติเป็นพระพุทธเจ้า