ชาดก 500 ชาติ
สกุณีคติชาดก-ชาดกว่าด้วยไม่หากินไกลถิ่น
พุทธกาลสมัยหนึ่งสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับจำพรรษาในพระเชตวันมหาวิหารนครสาวัตถี ทรงปรารภกับภิกษุจำนวนมาก เมื่อออกนอกพระอารามได้จาริกไปในสถานที่อันไม่ควรแก่สมณะสงฆ์
“ ดูกรภิกษุสามเณรทั้งหลาย หากเที่ยวภิกขาจารไปในชนบทก็ไม่สู้จะพบเห็นหรือได้ข้องแวะกับสิ่งไม่สมควรแก่สงฆ์นัก แต่เมื่อใดภิกษุต้องผ่านเข้าในชุมชน อันมีผู้คนหลากหลายอาชีพ บางครั้งต้องพบเห็นการทำบาปอันน่าโศกเศร้าทำให้จิตใจไม่สงบ ไม่สามารถปฏิบัติความเพียรทางสมาธิ(Meditation)ได้ ”
เมื่อได้ฟังพระพุทธองค์ปรารภแล้วภิกษุทั้งหลายก็ได้ออกไปบิณฑบาต ครั้นภิกษุรูปหนึ่งออกไปแถวโรงฆ่าสัตว์ ก็เห็นภาพอันน่าหดหู่ใจ “ แพะยังไม่แล่หนังยังไม่ได้ต้มเลยนะสมณะ โรงฆ่าสัตว์ไม่มีอาหารถวายหรอก ฮ่า ฮ่า ฮ่า ” “ ปาณาติบาต เอาชีวิตผู้อื่นมาเลี้ยงชีวิตตนเช่นนี้ บาปกรรม ๆ ”
ขณะที่บางคราวภิกษุก็บังเอิญต้องผ่านเข้าไปใกล้อโคจรสถาน เช่น บ้านเหล่าคณิกาสำหรับบุรุษผู้หลงมัวเมาในมังสากามารมณ์ให้เกิดอุทัดขัดข้องแก่เพศบรรพชิต จนพระหลายรูปต้องมัวหมองอย่างไม่ควรจะเป็น
เหตุการณ์ดังกล่าวนี้เมื่อภิกษุกลับสู่พระอารามแล้วก็นำมาปรารภข้ออาบัติกันอยู่เนือง ๆ “ นี่ท่าน เมื่อเช้าเราเดินผ่านโรงฆ่าสัตว์ นักฆ่าสัตว์กำลังจะแล่เนื้อแพะ ข้าเห็นแล้วหดหู่ใจจริง ๆ ” “ ท่านก็เจอเรื่องแบบนี้เหรอนี่ เมื่อเช้าเราสองคนก็เจอ เดินผ่านที่อโคจรเดินผ่านนางคณิกา จนพวกข้ารู้สึกมัวหมองอย่างไม่เคยมาก่อน ” ซึ่งความสับสนทุกข์ร้อนของภิกษุทั้งหลายย่อมแจ้งในพระญาณอันมากด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระพุทธองค์ดังเคยเป็นมาเสมอ
จึงทรงประทานโอวาทสั่งสอนภิกษุทั้งหลายนั้นให้ระมัดระวังและสำรวมกายใจ รำลึกอยู่เสมอในสถานที่ซึ่งปลอดภัยแก่นักบวช “ ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ในอดีตนกมูลไถตัวหนึ่งเกือบถึงแก่ชีวิตเพราะหลงออกไปอยู่ในสถานที่ ที่ไม่สมควรมาแล้ว ” “ ข้าแต่พระพุทธองค์โปรดทรงเล่าเรื่องอดีตชาติที่ตรัสนั้นแก่พวกเราด้วยเถิด ” พระพุทธองค์ทรงระลึกพระชาติครั้งนั้น ด้วยญาณบุพเพนิวาสานุสติตรัสเล่าสกุณีคติชาดกขึ้นดังนี้ ณ ผืนนาอันกว้างใหญ่ในอดีตกาลนั้น การกสิกรรมยังเป็นอาชีพเดียวของหมู่ชน
เมื่อปลายหนาวจะเข้าฤดูฝนทุกปี จะมีชาวนามาไถ่พลิกพื้นนาเตรียมหว่านเมล็ดพันธ์ธัญญพืชรับฤดูพรรษา กลางพรรษาข้าวกล้าก็จะเปลี่ยนสีน้ำตาลของพื้นดิน เป็นพรมสีเขียวของต้นข้าว ที่จะสะบัดใบโบกลาเม็ดฝนปลายฤดู เพื่อยืนต้นชูรวงไปจนจบฤดูแล้ง
เมื่อลมอุ่นผ่านมาทักทาย ใบข้าวหลายใบก็สลัดตัวเองร่วงใบ เพื่อรักษาอาหารเลี้ยงรวงและเมล็ด จนลมร้อนโบกโบยข้าวทุกรวงก็สุกเป็นสีทองเต็มทุ่ง รอชาวนามาเก็บเกี่ยวเอาไปเหมือนที่เคยเป็น และช่วงเวลานี้นกกานา ๆ ชนิดก็จะมาเยือนผืนนาเหมือนแม่บ้านจับจ่ายตลาด
หลังจากฟางเส้นสุดท้ายถูกเก็บเอาไป ก็จะไม่มีใครกลับมาทุ่งนาอีก ก้อนดินตะปุ่มตะป่ำถูกเผาจนแข็งเป็นหินไม่เป็นที่ปรารถนาของใคร นอกจากนกตัวเล็ก ๆ ชนิดหนึ่ง ที่อาศัยและพักพิงอยู่กับรอยไถนี้ มันคือนกมูลไถครอบครัวหนึ่ง
นกมูลไถมีขนาดเล็กแต่ว่องไว และปลอดภัยอย่างยิ่งในพื้นที่ที่มีก้อนไถเช่นนี้ “ ตื่น ตื่น ตื่น ตื่นเร็ว ๆ เถอะลูก เดี๋ยวแดดร้อนพวกหนอนจะหนีลงใต้ดินกันหมด แล้วพวกเจ้าจะอดกินกันนะ ” “ ใช่ ๆ วันนี้ท้องฟ้าปลอดโปร่งดีด้วย พวกเหยี่ยวก็ไม่มีสักตัวหนึ่ง เหมาะแก่การออกหากินจริง ๆ ”
นกมูลไถเหล่านี้มีวินัยเคร่งครัดไม่เคยบินออกไปไกลจากที่นาของตนเลย เพราะสามารถหลบภัยซอกซอนในระหว่างก้อนดินแข็ง ๆ นั้นได้ เมื่อลูก ๆ เริ่มโตขึ้นพ่อแม่นกก็คอยดูอยู่ห่าง ๆ อย่างห่วง ๆ โดยที่ไม่รู้เลยว่าลูกนกตัวหนึ่งคิดนอกคำสั่งอยู่ “ เอานี่ พี่จับหนอนมาให้ อย่างอนสิ ” “ โอ้ย เบื่อ ๆๆๆ เบื่อ ไม่เห็นสนุกตรงไหนเลย พี่กินเถอะเดี๋ยวฉันจะไปเดินเล่นแถว ๆ นั้นหน่อย ” “ ตามใจเจ้าก็แล้วกัน แต่อย่าออกไปไหนไกลละ ”
เมื่อลูกนกมูลไถมีโอกาสพ้นสายตาพี่และพ่อแม่แล้ว มันก็บินหนีออกจากบริเวณที่นาของตน ไปยังป่าโปร่งที่หมายตาไว้ “ วู้ ว้าว สุดยอดไปเลยได้เห็นสีเขียว ๆ แดง ๆ กับเขามั่ง โห โลกนี้ช่างสดใสสวยงามจริง ๆ เลย ไม่เห็นจะมีอะไรหน้ากลัวตรงไหนเลย รู้แบบนี้บินออกมาตั้งนานแล้ว อากาศดีจริง ๆ เลย ” การที่นกมูลไถบินออกนอกถิ่นของตนนี้ นับว่าประพฤติผิดอย่างน่ากลัว เพราะถิ่นที่มันมาเยือนนับเป็นสถานที่อโคจรของนกมูลไถ่
“ ฮ่ะฮ่าฮ่า อโคจร แปลว่าไม่ควรมา แต่เมื่อเจ้าเข้ามา ข้าก็จะจัดให้เจ้าละเจ้านกมูลไถ่ตัวน้อยเอ๋ย เสร็จข้าแน่ ฮ่าฮ่าฮ่า ดีจริงเชียวไม่ต้องเสียเวลาออกล่าเหยื่อให้เหนื่อย จะเอาไปทำอะไรกินดีน๊า ต้มยำ หรือผัดกระเพราดี ”
นับเป็นเคราะห์ร้ายหรือบทลงโทษที่ไม่เชื่อฟังพ่อแม่ก็ตาม นกมูลไถก็ตกอยู่ในอันตรายอย่างสุดเลี่ยงไม่ได้ เป็นไปตามกฎของธรรมชาติก็ต้องดำเนินไปในพริบตาที่นกมูลไถตกอยู่ในกรงเล็บเหยี่ยว มันก็รู้ชะตากรรมของตัวเอง
“ โอ้ย โธ่เอ้ย นี่เพราะเราดื้อต่อพ่อแม่แท้ ๆ ไม่น่าเลยเรา ” เหยี่ยวนักล่าจับเอานกมูลไถ่ขึ้นไปคาบไว้บนไม้สูง เพื่อที่จะฉีกเนื้อเจ้านกมูลไถ่กิน แต่เมื่อได้ยินคำรำพรรณก็หยุดฟังอย่างพิศวง “ ฮือ ๆ ไม่น่าเลย ไม่ควรเลยจริง ๆ ไม่น่าออกมาจากถิ่นหากินเลย นี่ถ้าเราไม่ออกมานะ ใครก็ทำอะไรไม่ได้หรอก ฮือ ๆ ”
“ หะ เจ้านกน้อย เมื่อกี้เจ้าว่าอยู่ที่ไหนนะ ที่ว่าเจ้ารอดจากกรงเล็บข้าได้ ” “ ตรงที่ไกล ๆ โน่นจ๊ะที่โล่งๆ ที่เต็มไปด้วยก้อนดินไถโน่น โน่นหน่ะ ” “ นี่เจ้า หมายความว่า ถ้าเจ้าได้ไปอยู่ที่นั่นแล้วละก็ พญานกอย่างข้าจะจับเจ้ากินไม่ได้งั้นรึ ”
“ ใช่ จ๊ะ ใช่ ” “ ฮ่ะ ฮ่าฮ่า ไอ้ลูกนกน้อย เจ้าพูดจาโอหังนัก ถึงเจ้าจะอยู่ตรงไหน เจ้าก็ไม่รอดตายไปได้หรอก ไม่มีใครเคยพ้นกรงเล็บพญาเหยี่ยวอันแหลมคมของข้า ฮ่าฮ่าฮ่า ” “ แต่ แต่ แต่ แม่นกจ๋าบอกว่า ถ้านกมูลไถอย่างพวกเราอยู่กับก้อนไถในนา ก็จะปลอดภัยเหมือนอยู่ในวอลโว่เลยนะจ๊ะ”
คำอธิบายของนกตัวกระจ้อยหร่อยเป็นเหมือนคำท้าทาย และธรรมดาของผู้ยิ่งใหญ่มักทนการท้าทายไม่ได้ “ หึ ๆๆๆๆ ลองดูกันก็ได้ เจ้านกน้อย ข้าจะพาเจ้าไปปล่อยในนาที่มีก้อนดินไถของเจ้า ดูสิเจ้าจะหนีข้าไปไหนพ้น ”
พูดเสร็จเหยี่ยวนักล่าก็พาเจ้านกมูลไถหวนกลับไปยังทุ่งนาอีกครั้ง “ คราวนี้ล่ะเจ้านกน้อย ข้าจะฉีกเนื้อเจ้าจิกกินสะกลางทุ่งนานี้เลย หนอย บังอาจมาท้าทายพญาเหยี่ยวอย่างข้า ” เมื่อถึงถิ่นที่อยู่ นกมูลไถก็ถูกปล่อยลงบนดินก้อนไถกลุ่มหนึ่ง
เหยี่ยวนักล่าก็รีบบินทะยานขึ้นไปอยู่บนเบื้องสูง “ ฮ่าฮ่าฮ่า เจ้านกน้อย รีบหายใจเร็วเข้าก่อนที่จะไม่มีโอกาศจะหายใจอีก ฮะฮ่าฮ่าฮ่า เกิดมาเป็นเหยื่อจะอยู่ที่ไหนก็ไม่พ้นหรอก ” เมื่อโผ่ขึ้นสูงได้ระดับ พญาเหยี่ยวนักล่าก็ตีลังกาพุ่งดิ่งลงยังนกมูลไถบนพื้นดิน
ยิ่งใกล้ก็ยิ่งทวีความเร็วมากขึ้น นกมูลเตรียมตัวพร้อมอยู่บนก้อนดิน ซึ่งมันคัดเลือกไว้อย่างเร็วแล้วยืนแข็งเหมือนตกตะลึง ความเร็วที่โฉบลงมานั้นเร็วเหมือนดาวตก แต่ฉับพลันทันใดนั้นเองลูกนกมูลไถก็กระโดดหลบไปใต้ก้อนไถอย่างรวดเร็วตามธรรมชาติของมันที่มีมา
นักล่าเมื่อยั้งไม่ทันก็ไถลเข้ากระแทกก้อนดินไถอันแหลมคมสุดแรงเกิด เลือดพุ่งทะลักออกจากร่าง ปักคาก้อนดินไถอย่างสิ้นฤทธิ์ พญาเหยี่ยวดินพราด ๆ ได้อีกไม่นาน ก็สิ้นลมหายใจมอดม้วยมรณา เมื่อได้ยินคำรำพึงส่งท้ายของเจ้านกมูลไถอีก
“ หึ หึ อุบายลวงศัตรูเมื่อครู่นี่ เป็นสิ่งที่บิดามารดาสอนเรามา แม้เราเคยดื้อรั้นแทบม้วยมรณา รู้ตัวก่อนก็ไม่มีสายสหายเอ๋ย ” เมื่อจบเทศนาสกุณีคติชาดกแล้ว พระพุทธองค์ทรงแสดงอริยสัจประทานโอวาทมิให้ภิกษุไปในที่อโคจรโดยประมาทอีก
พญาเหยี่ยว ได้กำเนิดเป็นพระเทวทัต
ส่วนนกมูลไถ เสวยพระชาติ เป็นเราตถาคต ฉะนี้แล