ชาดก 500 ชาติ
กัณหทีปายนชาดก ชาดกว่าด้วยความรักที่มีต่อบุตร
ในสมัยพุทธกาล เมื่อครั้งที่พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภภิกษุผู้กระสันรูปหนึ่ง จึงทรงตรัสถามกับภิกษุรูปนั้น “ ดูกรภิกษุ ได้ยินว่าเธอกระสันจริงหรือ ” “ เออ จริงพระเจ้าค่ะ ”
“ ดูกรภิกษุเมื่อครั้งพระพุทธเจ้ายังไม่เกิดขึ้น โบราณกบัณฑิตได้บวชในลัทธินอกพุทธศาสนา ไม่มีความยินดี ยังประพฤติพรหมจรรย์อยู่ได้กว่า ๕๐ ปี ไม่แสดงความที่ตนกระสันได้ปรากฎแก่ใคร ๆ เพราะกลัวหิริโอตตัปปะจะทำลาย เธอบวชในศาสนาที่จะนำออกจากทุกข์ เห็นปานนี้ตั้งอยู่เฉพาะพระพักตร์ของพระพุทธเจ้าผู้เป็นครูเช่นเรา เหตุไรจึงทำความกระสันให้ปรากฏในท่ามกลางบริษัท ๔ เหตุไรจึงไม่รักษาหิริโอตตัปปะของตนไว้ ” เมื่อพระพุทธองค์ทรงตรัสพุทธโอวาทแก่ภิกษุรูปนั้นแล้วจึงทรงนำเรื่องในอดีตมาสาทกดังนี้
ในอดีตกาลพระเจ้าโกสัมพิกะครองราชสมบัติอยู่ในพระนครโกสัมพีแคว้นวังสะ ครั้งนั้น ณ นิคมแห่งหนึ่งมีพราหมณ์ ๒ คน มีสมบัติคนละ ๘๐ โกฏิ เป็นสหายรักกัน ทั้งสองเห็นโทษของกามคุณ จึงนำทรัพย์สมบัติไปทำทานแล้วออกบวชเป็นดาบส สร้างอาศรมอยู่ในป่าหิมพานต์ “ เอาล่ะ เราสร้างอาศรมแล้ว บำเพ็ญเพียรที่นี่ก็แล้วกัน ” “ ที่สงบแบบนี้ เราคงเข้าถึงฌานได้ ”
ทีปยนดาบส และมัณฑัพยะดาบสบำเพ็ญเพียรอยู่ในป่าหิมพานต์ ยังชีพด้วยเผือก มัน และผลไม้อยู่ ๕ ปี ก็ยังไม่สามารถทำฌานให้เกิดขึ้นได้ ล่วงไปจน ๕๐ ปี วันหนึ่งดาบสทั้งสองได้เดินทางไปหาเพื่อนชื่อ มัณฑัพยะ ที่แคว้นกาสี
นายมัณฑัพยะให้การต้อนรับเป็นอย่างดี แล้วได้สร้างบรรณศาลาถวาย แล้วบำรุงด้วยปัจจัย ๔ “ เชิญพวกท่านอยู่ที่นี่ตามสบายเถิด ” สองดาบสอยู่ที่นั้น ๓-๔ พรรษา แล้วจึงลานายมัณฑัพยะเที่ยวจาริกไปถึงเมืองพาราณสี อาศัยอยู่ในป่าช้า ต่อมาทีปายนดาบสได้กลับมาไปที่บ้านของสหายอีกครั้ง แต่มัณฑัพยะดาบสยังคงอาศัยอยู่ที่ป่าช้า “ ท่านไม่ไปกับข้ารึ ” “ เชิญท่านเถิด ข้าจะอยู่ที่นี่แหละ ”
อยู่มาวันหนึ่งมีโจรเข้าไปขโมยของในเรือนชาวบ้านพบเข้าก็พากันไล่จับโจร เมื่อจวนตัว โจรจึงรีบวิ่งเข้าป่าช้า แล้วทิ้งห่อทรัพย์ไว้ที่ประตูบรรณศาลาของมัณฑัพยะดาบส
“ โหย ไม่ไหวแล้ว ขนาดหนีเข้าป่าช้ายังตามมาอีก ทิ้งสมบัติพวกนี้ไว้แล้วเผ่นหนีก่อนดีกว่า ” ชาวบ้านที่ไล่จับโจรมาถึงป่าช้า เมื่อเห็นห่อสมบัติที่โจรทิ้งไว้หน้าบรรณศาลา ก็เข้าใจว่ามัณฑัพยะดาบสเป็นโจร พากันด่าทอและรุมทำร้ายมัณฑัพยะดาบส
“ หนอย นักบวชชั่ว ตอนกลางวันเป็นนักบวช ตกดึกกลายเป็นโจร ” “ นั่นสิ พวกเราปล่อยไว้ไม่ได้ ตื้บมันเลยดีกว่า ” เมื่อทุบตี ต่อว่า มัณฑัพยะดาบสจนหน่ำใจแล้ว ชาวบ้านก็พาตัวส่งพระราชา พระราชาไม่ทรงพิจารณาให้ถี่ถ้วนก็สั่งให้ราชบุรุษเอาตัวไปเสียบหลาวเสีย
“ โจรชั่วแอบอ้างตัวเป็นผู้ทรงศีลแบบนี้ ต้องจับไปเสียบหลาว ทหารเอาตัวมันไป ” พวกราชบุรุษนำตัวมัณฑัพยะดาบสไปเสียบหลาวไม้ตะเคียนในป่าช้าแต่เสียบหลาวไม่เข้า แม้จะลองเอาไม้สะเดาหรือหลาวเหล็กก็เสียบไม่เข้า “ เจ้านี่มันต้องเล่นของแน่ ๆ เลย ถึงเสียบหลาวไม่เข้า ”
มัณฑัพยะดาบสได้นึกถึงกรรมของตนในอดีตจึงเกิดญาณระลึกชาติได้ เห็นว่าชาติก่อนนั้นตนเกิดเป็นบุตรนายช่างไม้ เข้าป่าไปถางไม้กับบิดา เมื่อรู้สึกเบื่อก็จับแมลงวันมาตัวหนึ่งแล้วเอาหนามไม้ทองหลางมาเสียบก้น หนามทองหลางติดอยู่ในตัวแต่ไม่ได้ทำให้แมลงวันตาย ต้องทุกข์ทรมานจนสิ้นอายุขัย
กรรมจึงตามมาในชาตินี้ เมื่อรู้ว่าไม่อาจพ้นบาปกรรมได้ก็สู้รับเสียดีกว่า “ ท่านราชบุตรหากต้องการแทงหลาวให้เข้า ท่านก็จงไปเอาหลาวไม้ทองหลางมาเถิด ” พวกราชบุรุษกระทำตามที่มัณฑัพยะดาบสบอก ก็สามารถเสียบหลาวเข้า จากนั้นก็จัดยามเฝ้ามัณฑัพยะดาบสเอาไว้
ทีปยนดาบสเดินทางมาหามัณฑัพยะดาบสด้วยความคิดถึงสหายเก่า ได้ฟังข่าวในระหว่างทางว่ามัณฑัพยดาบสถูกหลาวเสียบก็รีบเดินทางไปหา “ ท่านทำผิดอะไรถึงได้ถูกเสียบด้วยหลาวแบบนี้ ” “ นี่เป็นเรื่องเข้าใจผิด ความจริงแล้วข้าไม่ได้ทำอะไรเลย ” “ แล้วท่านโกรธเคืองคนที่ทำร้ายท่านหรือเปล่า ”
“ ข้าไม่โกรธหรอก นี่เป็นเพราะกรรมของข้าเอง ” “ ร่มเงาของผู้มีศีลเช่นท่าน เป็นความสุขสำหรับข้า ” พูดจบทีปายนดาบสก็นั่งลงกับพื้นเอาตัวพิงหลาวอยู่ เลือดที่ไหลจากตัวมัณฑัพยดาบสก็หยดลงบนตัวทีปายนดาบสจนเลือดแห้งดำไปทั้งตัว จึงได้นามเติมต้นว่า กัณหทีปายน เพราะนั่งพิงหลาว
ตลอดคืนจนรุ่งนั้นเอง วันรุ่งขึ้นพวกยามจึงไปกราบทูลเหตุการณ์นั้นแก่พระราชา พระราชาจึงรีบเสด็จไปดู “ ท่านดาบส ทำไมท่านมานั่งพิงหลาวแบบนี้ ” “ ข้ามานั่งเฝ้าสหาย มหาบพิตรทรงทราบแล้วหรือ ว่าสหายของข้าทำผิดจริงหรือไม่ จึงได้ลงพระราชอาญา ” “ ความจริงเราก็ไม่ทันได้ไตร่ตรองให้ดีเพราะเห็นชาวบ้านบอกว่าดาบสผู้นี้เป็นโจร ”
ทีปายนดาบสกล่าวสอนพระราชาพิจารณาให้ถี่ถ้วน เมื่อพระราชาทรงทราบว่า มัณฑัพยะดาบสไม่มีความผิดจึงรับสั่งให้ถอนหลาวออก พวกราชบุรุษก็ไม่สามารถจะถอนหลาวออกได้ “ อะไรกันตอนแรกแทงไม่เข้า มาตอนนี้ถอนไม่ออกอีก ”
“ มหาบพิตรที่เป็นแบบนี้เพราะกรรมของเราเอง ถ้าพระองค์จะทรงกรุณา ก็ให้ตัดหลาวไม้ให้เสมอหนังของเราด้วยเถิด ” พระราชาสั่งให้ราชบุรุษทำตามประสงค์ของมัณฑัพยดาบส จากนั้นขอขมาดาบสทั้งสอง พร้อมทั้งนิมนต์ให้อยู่ในพระราชอุทยานและให้การดูแลเป็นอย่างดี
ตั้งแต่นั้นมามัณฑัพยะดาบสได้ชื่อเติมหน้าว่า อาณิมัณฑัพยะ อาศัยอยู่ในพระราชอุทยานนั้น ส่วนทีปายนดาบสเมื่อรักษาแผลมัณฑัพยะดาบสหายดีแล้วก็กลับไปสำนักนายมัณฑัพยะผู้เป็นสหายคฤหัสถ์ของตน เมื่อทีปายนดาบสมาถึงบรรณศาลา นายมัณฑัพยะพร้อมด้วยบุตรภรรยาได้นำอาหาร เครื่องหอม ดอกไม้มาต้อนรับแล้วนั่งฟังข่าวอาณิมัณฑัพยดาบส
ขณะนั้นบุตรของนายมัณฑัพยะชื่ออยัญญทัตตกุมารเล่นลูกข่างอยู่ข้างจอมปลวก ซึ่งมีงูพิษอาศัยอยู่ลูกข่างตกถูกหัวงูในโพรงจอมปลวก
เมื่อกุมารนั้นลวงมือไปเก็บลูกข่าง ก็ถูกงูที่กำลังโกรธกัดจนสลบ “ โอ้ย ” “ ตายแล้ว ลูกเราถูกงูกัด ” “ ท่านดาบส ช่วยลูกของข้าด้วย ท่านต้องมียา หรือมีคาถาช่วยลูกข้าได้แน่ ๆ ” “ เราไม่มียารักษา แล้วก็ทำอย่างที่ท่านว่าไม่ได้หรอก ” “ ถ้าอย่างนั้นท่านช่วยทำสัตยาธิษฐานเพื่อช่วยลูกของข้าด้วยเถิด ”
เมื่อสหายขอให้ช่วย ทีปายนดาบสจึงไม่อาจนิ่งดูดายได้ จึงตั้งจิตอธิษฐานทำสัจกิริยา แล้ววางมือลงบนศีรษะยัญญทัตตกุมาร “ เมื่อตอนแรกที่เราบวช เรายินดีประพฤติพรหมจรรย์ได้เพียง ๗ วันเท่านั้น จากนั้นแม้เราไม่ยินดีก็ทนประพฤติพรหมจรรย์ถึง ๕๐ กว่าปี ด้วยความสัตย์อันนี้ ขอให้ยัญญทัตตกุมารจงรอดชีวิตเถิด ”
เมื่อกล่าวสัจกิริยาแล้ว พิษในกายท่อนบนของยัญญทัตตกุมารก็หาย สามารถลืมตาแล้วก็ร้องเรียกแม่ได้ “ สัจกิริยาของเราช่วยท่านได้เท่านี้ ท่านจงทำสัจกิริยาบ้างเถิด ” นายมัณฑัพยะวางมือลงที่หน้าอกบุตรชายแล้วกล่าวสัจกิริยาบ้าง “ เมื่อแขกจะมาพักที่บ้าน บางครั้งข้าก็ไม่อยากให้พัก แต่ก็ยอมให้พัก เรื่องนี้ไม่เคยมีใครรู้มาก่อน ด้วยความสัตย์นี้ของให้ลูกองข้าจงรอดชีวิตด้วยเถิด ”
เมื่อบิดาทำสัจกิริยาพิษในกายตอนเหนือสะเอวของยัญญทัตตกุมารก็หายไป สามารถลุกนั่งได้แต่ไม่สามารถยืนได้ นายมัณฑัพยะจึงบอกให้ภรรยาของตนทำสัจกิริยาบ้าง “ ข้ามีคำสัตย์ที่ไม่อาจบอกต่อหน้าท่านได้ ” “ น้องหญิงเจ้าจงทำเพื่อช่วยลูกของเราเถิด ”
“ ลูกรัก งูพิษที่กัดเจ้ากับพ่อของเจ้านั้น ก็เป็นสิ่งที่แม่ไม่รักไม่ชอบด้วยกันทั้งคู่ ด้วยความสัตย์นี้ขอให้ลูกจงรอดชีวิตเถิด ” เมื่อสิ้นสัจกิริยา พิษทั้งหมดก็หายไป ยัญญทัตตกุมารสามารถลุกขึ้นเดินและเล่นต่อไปได้
นายมัณฑัพยะได้ถามถึงสาเหตุที่ทีปายนดาบสฝืนประพฤติพรหมจรรย์จนถึงห้าสิบปีโดยไม่ยอมสึกมาครองเรือน “ ถ้าท่านไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์แล้วทำไมท่านไม่ออกมาครองเรือนหละ ” “ เพราะเราไม่อยากให้ใครว่าเราเป็นคนเหลวไหล กลับกรอกนะสิ แล้วท่านหละ ถ้าไม่อยากต้นรับแขกแล้วฝืนใจทำไมกัน ”
“ ข้าทำตามบรรพบุรุษนะสิ เพราะไม่อยากให้ใครมาว่าได้ ว่าไม่ทำตามธรรมเนียมของตระกูล ” พูดจบนายมัณฑัพยะจึงหันไปถามถึงสาเหตุที่ภรรยาฝืนใจครองเรือนอยู่ด้วยกัน โดยไม่ได้มีความรักต่อตนเลย “ น้องหญิง ข้าไม่รู้มาก่อนเลย ว่าเจ้าไม่ได้รักข้า ทำไมเจ้ายังฝืนทนอยู่กับข้าด้วยหละ ”
“ เพราะตระกูลของข้า ไม่มีผู้หญิงคนไหนแต่งงาน มีสามีใหม่เลยนะสิ ข้าไม่อยากให้ใครว่าข้าได้ ว่าไม่ทำตามธรรมเนียมของตระกูล ” ภรรยาของนายมัณฑัพยะรู้ตัวว่าความลับของนางจะทำให้ผู้เป็นสามีโกรธ จึงขอโทษสามีต่อหน้าดาบส เพื่อจะได้รับการยกโทษ “ ข้ารู้ ว่าข้าไม่ควรพูดแบบนั้น แต่ทำไปก็เพื่อลูกของเรายกโทษให้ข้าด้วยเถิด ” “ ข้าไม่โทษเจ้าหรอก ต่อไปเจ้าก็อย่าได้ทำแบบนั้นอีก ”
เมื่อสหายยกโทษให้ภรรยาแล้ว ทีปายนดาบสจึงบอกให้นายมัณฑัพยะทำทาน ด้วยเชื่อในกรรมและผลของกรรม “ ต่อไปท่านจงทำทานด้วยศรัทธาเถิด ” “ ข้าจะทำตามที่ท่านบอก ตั้งแต่นี้ต่อไป ขอให้ท่านมีจิตที่เลื่อมใสยินดีในการฟระพฤติพรหมจรรย์เถิด ” ตั้งแต่นั้นมาภรรยาของนายมัณฑัพยะก็มีความเสน่หาในสามีเป็นอย่างดี นายมัณฑัพยะก็มีจิตเลื่อมใสถวายทานด้วยศรัทธา
ทีปายนดาบสก็บรรเทาความเบื่อหน่าย ประพฤติพรหมจรรย์ ทำฌานและอภิญญาให้เกิดขึ้น พระศาสดาแสดงธรรมเทศนาจบ ภิกษุผู้กระสันได้บรรลุโสดาปัตติผล และทรงประชุมชาดกว่า
นายมัณฑัพยะในครั้งนั้น กำเนิดเป็น พระอานนท์
ภรรยาในครั้งนั้น กำเนิดเป็น นางวิสาขา
บุตรในครั้งนั้น กำเนิดเป็น พระราหุล
อาณิมัณฑัพยะดาบส กำเนิดเป็น พระสารีบุตร
กัณหทีปายนดาบส เสวยพระชาติเป็น พระพุทธเจ้า