ชาดก 500 ชาติ
มณิกัณฐชาดก-ชาดกว่าด้วยขอสิ่งที่ไม่ควรขอ
ในสมัยพุทธกาลเมื่อครั้งที่พระบรมศาสดาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่อัคคาฬวเจดีย์ เมืองอาฬวี ทรงปรารภกุฏิการสิกขาบทที่ภิกษุชาวเมืองอาฬวีพากันสร้างกุฏิด้วยการเที่ยวขอไม่มีขีดจำกัด เป็นเหตุให้ชาวเมืองอาฬวีเดือดร้อน เห็นพระภิกษุที่ไหนก็กลัวหลบหนีหน้าไปหมด
“ ชาวบ้านทั้งหลายวันนี้อาตมามาบอกบุญ ขอพวกท่านจงร่วมทำทานกันเถิด ” “ สร้างกุฏิถวายพระนี่ ได้บุญเยอะเชียวน่า พวกท่านอย่าได้คลางแคลงใจในการทำทานเลย ” “ นี่บ้านเมืองเราเป็นอะไรไปแล้วเนี่ย เป็นพระแทนที่จะใช้กลับมีแต่ขอ ” “ นั่นนะสิ พวกเราก็หาเช้ากินค่ำขอกันแบบนี้แล้วเราจะให้ทานได้ยังไง ”
“ นั่น ๆ มากันอีกแล้ว พวกเรารีบหลบกันเถอะ ” ครั้งนั้นพระมหากัสสปได้ธุดงค์ไปจนถึงเมืองอาฬวี แล้วก็ไปบิณฑบาต พวกชาวบ้านที่เห็นแม้แต่พระเถระก็พากันหวาดกลัวเหมือนอย่างนั้น “ นั้น ๆ มีพระมาอีกแล้ว เรารีบหลบไปซ่อนกันดีกว่า เร็ว ”
“ ดูท่าจะเป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่นะ ข้าว่าท่านคงไม่ขอให้เราทำทานสร้างกุฏิเหมือนพระรูปอื่นหรอก ” “ เจ้ารู้ได้ยังไง ข้าว่าเราหลบไปก่อนดีกว่า ถ้าพระรูปนี้เกิดเอ่ยปากขอ พวกเราจะลำบากใจกันเปล่า ๆ นะ ” “ ก็จริง แบบนี้เราเผ่นก่อนดีกว่า ”
เมื่อพระมหากัสสปกลับจากบิณฑบาตแล้ว ภายหลังภัตตาหารจึงเรียกภิกษุทั้งหลายมาซักถาม “ ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เมื่อก่อนเมืองอาฬวีนี้หาภิกษาหารได้ง่าย เพราะเหตุไรบัดนี้จึงหาภิกษาหารได้ยาก ” “ เออ คือ สงสัยพวกชาวบ้านคงกลัวว่าเราจะขอให้พวกเขาสร้างกุฏิกระมัง ” “ เฮ้อ เราก็แค่อยากจะให้ชาวบ้านได้บุญเยอะ ๆ ก็เลยขอไปแบบนั้น ” “ ไม่ใช่แค่ชาวบ้านได้บุญ พวกเราเองก็จะได้สบายด้วย ”
ครั้นได้ทราบเหตุการณ์นั้นพระมหากัสสปจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ณ อัคคาฬวเจดีย์ แล้วกราบทูลเนื้อความนั้นให้ทรงทราบ พระศาสดาจึงรับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ แล้วทรงสอบถามพวกภิกษุชาวเมืองอาฬวี “ เราได้ข่าวว่าพวกเธอให้เขาสร้างกุฏิด้วยการเที่ยวขอนั้น เป็นจริงหรือไม่ ” “ จริงพระเจ้าค่ะ พวกข้าขอแก่ชาวบ้านเช่นนั้นจริง ” “ พวกข้าพเจ้าแค่ต้องการให้ชาวบ้านได้บุญเท่านั้นเองพระเจ้าค่ะ ”
พระบรมศาสดาจึงทรงติเตียนภิกษุเหล่านั้น แล้วตรัสว่า “ ดูก่อนภิกษุทั้งหลายขึ้นชื่อว่าการขอนี้ย่อมไม่เป็นที่ชอบใจ แม้ของพวกนาคทั้งปวงผู้อยู่ในนาคพิภพอันบริบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ จะป่วยกล่าวไปใยถึงพวกมนุษย์ผู้ทำทรัพย์ให้เกิดขึ้นสัก ๑ กหาปณะ ก็ยังยาก เป็นประหนึ่งทำเนื้อให้เกิดขึ้นจากหินดังนี้แล้ว ”
เมื่อทรงติเตียนภิกษุเหล่านั้นแล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงนำเอาเรื่องอดีตมาสาทกดังนี้ ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ซึ่งมีทรัพย์สมบัติมาก
แม้ในเวลาพระโพธิสัตว์นั้นเที่ยววิ่งเล่นได้ มารดาของพระโพธิสัตว์บังเกิดบุตรอีกคนหนึ่ง ต่อมาเมื่อพี่น้องทั้งสองนั้นเจริญวัยแล้ว มารดาบิดาก็ทำกาลกิริยา จึงมีความสังเวชสลดใจ พากันบวชเป็นฤาษี
“ ฮือ ๆ ท่านพ่อท่านแม่ ทำไมท่านจากเราไปเร็วเหลือเกิน ต่อไปข้าจะอยู่อย่างไร ” “ ธรรมดาโลกเราก็เป็นเช่นนี้ล่ะ เจ้าอย่าได้เสียใจไปเลย ” “ ท่านพี่แล้วแบบนี้เราจะทำอย่างไรต่อไปดี ”
“ ชีวิตคนเราจะหาความแน่นอนก็ไม่มี แบบนี้เราเข้าไปบวชเป็นฤาษีดีกว่า ” ฤาษีทั้งสองนั้นได้สร้างสร้างบรรณศาลาอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำคงคา บรรณศาลาของฤาษีพี่ชายอยู่เหนือแม่น้ำคงคา ส่วนบรรณศาลาของฤาษีผู้น้องนั้นตั้งอยู่ใต้แม่น้ำคงคา “ เอาล่ะต่อไปเราก็ตั้งใจบำเพ็ญเพียรกันเถอะนะ ”
“ ทำไมเราไม่สร้างบรรณศาลาอยู่ที่เดียวกันเสียเลยล่ะท่านพี่ ” “ อยู่แยกกันดีแล้ว เราจะมีสมาธิ (Meditation) กับการบำเพ็ญเพียร ” “ ไว้ข้าจะแวะไปหาท่านบ่อย ๆ ก็แล้วกันนะ ” อยู่มาวันหนึ่ง พระยานาคนามว่ามณิกัณฐะ ออกจากนาคพิภพ จำแลงเพศเป็นมาณพน้อย เที่ยวไปตามฝั่งแม่น้ำคงคา ไปถึงอาศรมของฤาษีผู้น้อง จึงไหว้แล้วนั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง
“ มานพน้อย เชิญท่านดื่มน้ำ แล้วนั่งพักที่นี่ก่อนเถิด ” “ ขอบคุณท่านมาก ท่านบำเพ็ญเพียรที่นี่มานานแล้วรึ ” “ ข้าก็เพิ่งมาบำเพ็ญเพียรได้มานานว่าแต่ท่านกำลังจะไปที่ใดรึ ” “ ข้าก็เดินทางท่องเที่ยวตามฝั่งคงคามาเรื่อย ๆ จนได้มาเจออาศรมของท่านนี่แหละ ” ดาบสผู้น้องและมานพหนุ่มได้พูดคุยกันพักใหญ่ ต่างกระทำสัมโมทนียกถาได้เป็นผู้สนิทสนมคุ้นเคยกัน ไม่เป็นอาจเว้นว่างห่างกัน
“ ได้คุยกับท่านแล้วเรารู้สึกดีจริง ๆ ” “ นั่นสิเรากับท่านต่างก็พูดคุยกันถูกคอ เหมือนรู้จักกันมาหลายปีเลยที่เดียว ” “ มีท่านเป็นเพื่อนคุย เราไม่เหงาเลย ” “ ดี ถ้าอย่างนั้น ข้าจะมาแวะเวียนหาท่านทุกวันเลย ” มณิกัณฐะนาคมายังสำนักของดาบสผู้น้อง แล้วนั่งสนทนาปราศรัยกันอยู่เป็นประจำ ยิ่งสร้างความคุ้นเคยและความสิเน่หา และได้เปิดเผยความถึงเรื่องที่ตนเป็นพญานาคจำแลงมา “ ถึงว่าสิ ข้าก็คิดอยู่ว่าท่านต้องไม่ใช่คนธรรมดาเป็นแน่แท้ ” “ เราขอขอบคุณท่านที่ไม่รังเกียจหรือว่าเกรงกลัวเราเหมือนคนอื่น ๆ ”
ด้วยความสิเน่หาในพระดาบส ทุกครั้งก่อนที่มณิกัณฐะนาคจะกลับไปนั้น ได้เปลี่ยนแปลงอัตภาพแล้วเอาขนตหางตวัดรัดรอบพระดาบส แล้วแผ่พังพานใหญ่ไว้เหนือศีรษะนอนพักอยู่หน่อยหนึ่ง พอบรรเทาความสิเน่หานั้นแล้วจึงคลายร่างไหว้พระดาบสลากลับยังนาคพิภพของตน
“ เราต้องกลับไปยังนาคพิภพของเราแล้วล่ะ เวลาช่างผ่านไปเร็วนัก ข้ายังไม่อยากกลับเลยนะเนี่ย ” “ ท่านกลับไปก่อนเถอะ วันหลังค่อยมาใหม่ก็ได้นะ ” “ พรุ่งนี้เราจะรีบมาหาท่านก็แล้วกันนะ ” “ ไม่ต้องรีบหรอก ไว้ว่าง ๆ ท่านค่อยมาหาเราก็ได้ ” ด้วยเพราะความกลัวพญานาคนั้นพระดาบสจึงซูบผอมเศร้าหมองผิวพรรณไม่ผ่องใส เกิดเป็นโรคผอมเหลือง มีเนื้อตัวสะพรั่งไปด้วยแถวเส้นเอ็น
“ เฮ้ย ช่างน่ากลัวเสียจริง แบบนี้เราจะทำยังไงดี ถ้าต้องเจอแบบนี้ทุกวัน ข้ามีหวังตายแน่ ๆ เลย ดีล่ะ ข้าเอาเรื่องนี้ไปปรึกษาท่านพี่ดีกว่า ” เมื่อความกลัวทำให้ไม่เป็นอันกินอันนอนดาบสผู้น้องจึงตัดสินใจไปหาดาบสพี่ชาย
“ ดูก่อนท่านผู้เจริญ เพราะเหตุใดท่านจึงซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณทราม เกิดเป็นโรคผอมเหลือง เนื้อตัวสะพรั่งด้วยแถวเส้นเอ็น ” “ ที่ข้ามาหาท่านเพราะข้ามีเรื่องทุกข์ใจ อยากให้ท่านช่วยเหลือ ” “ มีสิ่งใดที่ข้าจะช่วยก็บอกมาเถิด ” ดาบสผู้น้องได้บอกถึงเรื่องราวและสาเหตุที่ทำให้ตนมีความทุกข์นั้นแก่ดาบสผู้พี่ “ ท่านผู้เจริญ ก็ท่านไม่ต้องการให้พญานาคนั้นมาหรือ ” “ ใช่แล้วล่ะท่านพี่ กลัวว่าสักวันหนึ่ง ข้าจะโดนรัดจนตายไปเลย ”
เมื่อดาบสผู้พี่ได้ฟังดังนั้นแล้ว จึงออกอุบายให้ดาบสผู้น้องร้องขอของอันเป็นที่หวงแหนของพญานาคตนนั้น “ พญานาคนั้นเมื่อมายังสำนักของท่านประดับเครื่องประดับอะไรมารึ ” “ ที่ข้าเห็นก็มีเพียงแก้วมณีดวงหนึ่งเท่านั้น ” “ ดีเลย เมื่อพญานาคนั้นมาไหว้ท่านแล้วยังไม่ทันนั่ง จงรีบขอดวงแก้วมณี เมื่อขออย่างนั้น พญานาคนั้นไม่จักรัดท่านด้วยขนตเลย แต่จักไปในทันที วันรุ่งขึ้นพญานาคมายืนที่อาศรมบทยังไม่ทันเข้าไป ท่านพึงขออีก ในวันที่สามท่านก็จงไปยืนอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำคงคา พอพญานาคนั้นผุดขึ้นจากน้ำพึงร้องขอทันที เมื่อเป็นอย่างนี้พญานาคนั้นจักไม่มาหาท่านอีกต่อไป ” “ ถ้าอย่างนั้นข้าจะลองทำตามที่ท่านแนะนำก็แล้วกันนะ ”
ดาบสผู้น้องรับคำแล้วกลับไปบรรณศาลาของตน วันรุ่งขึ้นเมื่อพญานาคเข้ามายังบรรณศาลาเหมือนเช่นเคย ยังไม่ทันได้นั่ง ดาบสผู้น้องก็ร้องขอดวงแก้วมณีนั้นทันที “ ท่านจงให้แก้วมณีเครื่องประดับนั้นแก่เราเถิด ”
พญานาคนั้นไม่นั่ง แต่กลับหนีไปในทันที ครั้นวันที่สองพญานาคนั้นมายืนอยู่ที่ประตูอาศรมบทเท่านั้น ดาบสผู้น้องก็ร้องขอดวงแก้วมณีอีก “ เมื่อวานท่านยังไม่ให้แก้วมณีแก่เรา แม้วันนี้ ท่านก็จงให้ในบัดนี้เถิด ” เมื่อเป็นเช่นนั้นพญานาคก็ไม่ได้เข้าไปยังอาศรมบทและรีบหนีไป
ในวันที่สามดาบสผู้น้องได้ไปยืนรอพญานาคที่ฝั่งแม่น้ำคงคาตามอุบายของดาบสผู้พี่ เมื่อพญานาคนั้นโผล่ขึ้นจากน้ำ ดาบสผู้น้องก็ร้องขอดวงแก้วมณีจากพญานาคอีกเป็นครั้งที่สาม “ เมื่อเราร้องขออยู่วันนี้เป็นวันที่สามแล้ว บัดนี้ท่านจงให้แก้วมณีดวงนั้นแก่เราเถิด ” พญานาคแม้อยู่ในน้ำ เมื่อจะห้ามดาบสนั้นไม่ให้ขอ จึงได้กล่าวขึ้นว่า “ ข้าวและน้ำอันไพบูลย์ยิ่งย่อมเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้า เพราะเหตุแก้วมณีดวงนี้ข้าพเข้าจักให้แก้วมณีดวงนั้นแก่ท่านไม่ได้ ท่านก็ยิ่งขอหนักขึ้น ทั้งข้าพเจ้าก็จักไม่มาสู่อาศรมของท่านอีกด้วย
เมื่อท่านของแก้วมณีอันเกิดแต่หินดวงนี้ ย่อมทำให้ข้าพเจ้าหวาดเสียว เหมือนชายหนุ่มที่มีมือถือดาบอันลับแล้วที่หิน มาทำให้ข้าพเจ้าหวาดเสียวฉะนั้นข้าพเจ้าจักให้แก้วมณีดวงนั้นแก่ท่านไม่ได้ ท่านก็ยิ่งขอหนักขึ้น ทั้งตัวข้าพเจ้าก็จักไม่มาสู่อาศรมของท่านอีกต่อไป ” พญานาคนั้นครั้นกล่าวอย่างนี้แล้วจึงดำน้ำลงไปยังนาคพิภพทีเดียว แล้วไม่กลับมาอีกต่อไป “ ฮะ ฮ่า ฮ่า สำเร็จ ต่อไปข้าก็ไม่ต้องโดนพญานาครัดตัวแล้วล่ะ ” เมื่อพญานาคไม่ได้แวะเวียนมายังบรรณศาลาอีกดาบสผู้น้องก็กลับมากินได้ นอนหลับเหมือนเดิม ร่างกายก็กลับมาสมบูรณ์ผ่องใสดังเดิม “ ค่อยสบายใจหน่อย แบบนี้ข้าก็กินได้นอนหลับเหมือนเดิมแล้ว ”
ดาบสผู้น้องสบายใจอยู่ได้ไม่นานนัก ในเวลาต่อมาพระดาบสนั้นก็กลับเป็นผู้ซูบผอมเศร้าหมองผิวพรรณไม่งดงามเกิดเป็นโรคผอมเหลืองมีเนื้อตัวสะพรั่งด้วยแถวเส้นเอ็น หนักยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อนเพราะไม่ได้เห็นพญานาคผู้น่าดูตนนั้น “ เฮ้อ ทำไมเราถึงได้คิดถึงแต่พญานาคตนนั้นนะ ป่านนี้จะทำอะไรอยู่ทำไมไม่แวะเวียนมาหาเราบ้างเลย ”
ฝ่ายดาบสผู้พี่คิดว่าจักรู้เรื่องราวของดาบสผู้น้อง จึงไปยังสำนักดาบสนั้น ได้เห็นดาบสผู้น้องนั้นมีโรคผอมเหลืองหนักกว่าเดิม “ ท่านผู้เจริญ เพราะเหตุไรหนอท่านจึงเกิดโรคผอมเหลืองยิ่งกว่าเดิม ” “ ตอนแรกข้าก็ดีใจที่ไล่พญานาคไปได้สำเร็จ แต่พอนานวันเข้า ข้าก็กลับคิดถึง จนไม่เป็นอันกินอันนอนเลยล่ะท่านพี่ ”
“ บุคคลรู้ว่าสิ่งใดเป็นที่รักของเขาก็ไม่ควรขอสิ่งนั้น บุคคลย่อมเป็นที่เกลียดชังเพราะขอจัด พญานาคถูกพราหมณ์ขอแก้วมณีตั้งแต่นั้นมาพญานาคก็ไม่ได้มาให้พราหมณ์นั้นเห็นอีกเลย ” เมื่อดาบสผู้พี่ครั้นกล่าวกับดาบสผู้น้องอย่างนั้น แล้วจึงกล่าวปลอบโยนแล้วกลับไปยังอาศรมของตน “ ผู้เจริญตั้งแต่บัดนี้ไปท่านอย่าเศร้าโศกเสียใจเลย ” “ ขอบคุณท่านที่เตือนสติข้า ต่อไปข้าจะตั้งใจบำเพ็ญเพียรไม่คิดถึงเรื่องนี้อีกแล้ว ”
ครั้นในกาลต่อมาดาบสพี่น้องทั้งสองนั้นทำฌานและสมาบัติให้บังเกิดแล้วได้มีพรหมโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้า พระบรมศาสดาทรงตรัสกับภิกษุทั้งหลาย “ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ขึ้นชื่อว่าการขอไม่เป็นที่ชอบใจ แม้ของพวกนาคที่อยู่ในนาคพิภพอันสมบูรณ์ด้วยรัตนทั้ง ๗ ประการ จะป่วยกล่าวไปใยถึงมนุษย์ทั้งหลายเล่า ” พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า
ดาบสน้องชายในกาลนั้น ได้เป็นพระอานนท์ ในบัดนี้
ส่วนดาบสผู้พี่ชาย คือเราตถาคต ฉะนี้แล