อานุภาพพระมหาสิริราชธาตุ

พระมหาสิริราชธาตุ รุ่นดูดทรัพย์ สำหรับ ผู้สร้างพระธรรมกายประจำตัวภายในมหาธรรมกายเจดีย์นั้น จะได้รับของที่ระลึกเป็นพระธรรมกายของขวัญ

อานุภาพพระมหาสิริราชธาตุ เรื่องที่ ๓๗๗เฉียดชิงภพ

เรื่องที่ ๓๗๗เฉียดชิงภพ
ทุกคนจึงหันไปที่ปลั๊กสายพ่วงเป็นจุดเดียวกัน เห็นควันพวยพุ่งและประกายไฟวิ่งขนาบไปตามสายไฟเส้นเล็กที่เชื่อมต่อกันไว้อย่างรวดเร็ว เกินกว่าที่ทุกคนจะทันตั้งตัว



 

 
 
คุณพิมพ์วรัตน์ สุขเจริญ
นึกถึงบุญกุศลเมื่อยามเกิดเหตุคับขัน
 
 

คุณพิมพ์วรัตน์ สุขเจริญ เป็นนักศึกษาสถาบันเทคโนโลยี พระจอมเกล้าพระนครเหนือ เธอได้มาร่วมบุญอาทิตย์ต้นเดือน และร่วมงานบุญทอดกฐินคุณยาย เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๙ จากการที่ได้มาสัมผัสบรรยากาศการปฏิบัติธรรม มีการจัดเตรียมสถานที่ไว้อย่างเรียบร้อยและสวยงามให้ความสะดวก และมีกัลยาณมิตรต้อนรับด้วยสีหน้า ที่ยิ้มแย้มแจ่มใส มีมิตรไมตรีต่อกัน ทำให้เธอประทับใจมาก และเป็นจุดหันเหชีวิตในการเข้าวัดและรับบุญเป็นอาสาสมัครช่วยงานจราจรที่วัดพระธรรมกายแห่งนี้ รวมทั้งยังได้เพื่อนๆ ในวัยเดียวกันที่อยู่ชมรมพุทธศาสตร์ของสถาบัน เป็นกัลยาณมิตรให้แก่กันและกัน ได้ทำคุณประโยชน์ให้กับพระพุทธศาสนา แทนที่จะใช้เวลาไปในการเที่ยว กิน หรือเล่นสนุกไปวันๆ แบบวัยรุ่นทั่วไป เธอใช้เวลานี้ในการทำทาน นั่งสมาธิ และร่วมกลุ่มกันปล่อยปลาบ่อยๆ นับเป็นภาพลักษณ์ที่ดีสำหรับวัยรุ่นในปัจจุบัน ที่สามารถปฏิบัติตัวเองได้เช่นนี้ ซึ่งหาได้ยากในวัยรุ่นยุคปัจจุบันที่สังคมตะวันตกกำลังคุกคามวัฒนธรรมที่ดีงามของบ้านเราไปทุกขณะ

คุณพิมพ์วรัตน์มีความตั้งใจอย่างมากที่จะสร้างองค์พระธรรมกายประจำตัว เพื่อบูชาธรรมพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) และปรารถนาที่จะเป็นเจ้าขององค์พระมหาสิริราชธาตุ จึงตั้งใจอาราธนาท่านมาอยู่กับตัวเองเพื่อเป็นสิริมงคลกับชีวิต ดังนั้นจึงตั้งหน้าตั้งตาเก็บออมเงินทุกบาททุกสตางค์ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจสำหรับเธอ ซึ่งทุกครั้งเคยตั้งใจเก็บเงินเพื่อจะซื้อของที่ถูกใจ แต่ก็ไม่เคยได้เลย ครั้งนี้พอเธอเก็บเงินไม่กี่เดือนก็สามารถรวบรวมปัจจัยครบตามจำนวน และสร้างองค์พระได้สมใจนึก เมื่อได้รับพระของขวัญมาแล้ว เธอก็หมั่นตรึกระลึกนึกถึงบุญและระลึกถึงท่านตลอดเวลา และด้วยบุญกุศลที่เธอสร้างประกอบกับการประพฤติปฏิบัติตามคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์ ทำให้รอดพ้นจากภัยอันตราย ที่เป็นเรื่องเฉียดฉิวระหว่างความเป็นกับความตาย จะเรียกว่าศึกชิงภพกันเลยทีเดียวก็ได้ คือชิงที่จะอยู่ในภพปัจจุบันหรือจะไปอยู่ยังสัมปรายภพ


เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๒ ตอนนั้นคุณพิมพ์วรัตน์จะต้องทำโครงงาน (Project) การทำวีดีทัศน์ เกี่ยวกับภาพถ่ายใต้น้ำ กับเพื่อนๆ ที่สถาบัน ในวันเกิดเหตุเป็นวันหยุดราชการ (วันฉัตรมงคล) ซึ่งเธอได้นัดหมายกับอาจารย์ไว้ว่าจะไปตัดต่อเทปวีดีโอที่สถาบัน แต่พอดูเทปที่ถ่ายเอาไว้ปรากฏว่าภาพเสีย ซึ่งจะต้องทำการถ่ายทำใหม่

 
ปลั๊กไฟที่ช็อตและประกายไฟวิ่งไปตาม
สายไฟอย่างรวดเร็ว
 
 

ดังนั้นในวันนั้นทุกคนรวม ๖ ชีวิต จึงเริ่มดำเนินงานกันตอนบ่าย อาจารย์ผู้คุมการทำงานได้บอกให้เธอไปขออนุญาตอาจารย์หัวหน้าแผนกที่บ้านพักก่อนจะเปิดโรงดำน้ำ ตอนเดินกลับจะผ่านศาลพระภูมิ เธอได้ขออนุญาตภุมเทวดาที่รักษาอยู่บริเวณนั้นด้วย เพื่อขออนุญาตทำการถ่ายทำ และขออย่าให้เกิดอุปสรรคใดๆ ตลอดการทำงาน ขอให้งานสำเร็จลุล่วงไปด้วยดีทุกอย่าง ปกติเวลาอยู่ที่บ้านเธอจะอธิษฐานจิตขอพรองค์พระมหาสิริราชธาตุ และหลวงพ่อสดวัดปากน้ำทุกวันว่าขออย่าได้พบกับคำว่า "อุปสรรค" และขอให้งานหรือสิ่งใดก็ตามที่กำลังทำอยู่นั้นสำเร็จได้ด้วยดี พอเดินทางมาถึงโรงดำน้ำ ปรากฏว่าน้ำท่วม เนื่องจากคืนก่อนหน้านี้เกิดฝนตกลงมาอย่างหนัก ทำให้น้ำเอ่อท่วมสูงถึงบริเวณข้อเท้า ต้องเดินลุยน้ำทำงานซึ่งเป็นเรื่องที่เสี่ยงอันตรายเป็นอย่างมาก เพราะบริเวณพื้นโรงดำน้ำจะต่ำกว่าพื้นถนนและท่อระบายก็อุดตัน ถ้าหากจะวิดน้ำออกก็คงจะเสียเวลาหลายชั่วโมง เธอและคณะจึงตัดสินใจดำเนินการถ่ายทำทั้งๆ ที่มีน้ำท่วมขังอยู่อย่างนั้น ปกติถ้ามีการเรียนในพื้นที่บริเวณนั้นจะต้องทำให้แห้งก่อนเสมอ เพราะฉะนั้นอุปกรณ์ทุกสิ่งทุกอย่างจะไม่มีทางหนีพ้นน้ำ อาจารย์ท่านหนึ่งเป็นผู้ถือกล้องถ่าย ส่วนอาจารย์อีกท่านจะเป็นผู้ให้คำปรึกษาในการถ่ายทำ คุณพิมพ์วรัตน์และเพื่อนๆ เป็นผู้ควบคุมการสาธิตของรุ่นน้องที่มาเป็นตัวแสดง ขณะนั้นต้องให้รุ่นน้องทั้ง ๒ คนอยู่ในถังดำน้ำความจุประมาณ ๑๒ ตัน อาจารย์ที่เป็นตากล้องจะใช้สายพ่วงเสียบปลั๊กมอนิเตอร์ (Moniter) และปลั๊กพ่วงไว้ใช้เชื่อมต่อแบตเตอรี่กับตัวกล้อง ขนาดของสายพ่วงไม่ใช่สายธรรมดา คือต้องเป็นสายไฟใหญ่ต่อกับแบตเตอรี่สายไฟเล็กยาวประมาณครึ่งเมตรโดยไม่มีสายดินต่อ แต่จะใช้เทปพันสายไฟธรรมดา เมื่อทุกอย่างถูกเตรียมไว้พร้อมแล้วในการถ่ายทำ อาจารย์ก็ให้เพื่อนอีกคนเสียบปลั๊กสายไฟส่วนหนึ่งที่พันอยู่กับเครื่องอัดอากาศ ป้องกันการตกท้องช้างของสายไฟ ทันทีที่เสียบปลั๊กก็เกิดไฟฟ้าช็อตและมีประกายไฟแลบออกมา จึงทดลองเสียบใหม่อีกครั้ง ทุกอย่างยังปกติเหมือนเดิม

 
รุ่นน้องที่เป็นตัวแสดงอยู่ในถังดำน้ำ
ความจุประมาณ ๑๒ ตัน
 

หลังจากนั้นจึงเริ่มเดินกล้องถ่ายทำ ขณะที่กำลังถ่ายทำกันอยู่ก็ได้กลิ่นเหม็นเหมือนยางไหม้ ทุกคนจึงหันไปที่ปลั๊กสายพ่วงเป็นจุดเดียวกัน เห็นควันพวยพุ่งและประกายไฟวิ่งขนาบไปตามสายไฟเส้นเล็กที่เชื่อมต่อกันไว้อย่างรวดเร็ว เกินกว่าที่ทุกคนจะทันตั้งตัว อาจารย์ผู้คุมได้สติก่อนเพื่อน จึงบอกให้เธอรีบวิ่งไปดึงปลั๊กไฟ แต่ตำแหน่งที่เธอยืนอยู่นั้นต้องวิ่งลุยน้ำข้ามสายไฟฟ้าที่กำลังช็อตอยู่ประมาณ ๒-๓ เมตร เพื่อไปดึงปลั๊กอีกตัว ขณะที่กำลังเอื้อมมือจะดึงปลั๊กก็เกิดไฟลุกไหม้ขึ้น มีเสียงดัง "ปึ๊ป" อีกทีก่อนที่จะถึงเต้าเสียบไฟเพียงแค่คืบเท่านั้น เมื่อรู้ว่าไม่ทันการณ์แล้ว อาจารย์ก็บอกให้เธอไปสับคัตเอาท์ที่อยู่ท้ายโรงงาน (มุมด้านซ้ายหลังถังดำน้ำที่มีความจุ ๑๒ ตัน) ซึ่งก็ต้องวิ่งลุยน้ำข้ามสายไฟไปอีก ๖ เมตร ถึงจะไปถึงตรงที่สับคัทเอาท์ ขณะที่วิ่งไปมีแต่ความมั่นใจว่าจะไม่เกิดอะไรขึ้นอย่างแน่นอน คิดในใจว่าพระท่านอยู่กับเราท่านจะคุ้มครองเราให้ปลอดภัย ตอนนั้นใจจดจ่ออยู่ในบุญที่เคยได้ร่วมสร้างพระธรรมกายประจำตัว เมื่อจิตใจอยู่ในบุญจึงทำให้เธอมีความมั่นใจเธอสามารถวิ่งไปสับคัทเอาท์ได้สำเร็จ ทันทีที่สับคัทเอาท์เสร็จสายไฟก็หล่นลงไปในน้ำทันที ซึ่งเธอไม่อยากจะเชื่อตัวเองเลยว่าช่วงขณะเวลาที่เหลืออยู่ทุกวินาทีที่วิ่งลุยน้ำไปขณะไฟกำลังช๊อตอยู่นั้นจะทันเหตุการณ์ เพราะถ้าหากเธอวิ่งไปไม่ทันทุกคนที่อยู่ในที่นั้นจะคงถูกไฟช็อตตายกันทั้งหมดแน่ เพราะทุกคนยืนอยู่ในน้ำ เธอลองย้อนไปดูสายไฟที่ช็อตที่ตกอยู่ในน้ำ ปรากฏว่าสายไฟหลอมละลายจนขาดเป็น ๒ เส้น เห็นแต่ลวดทองแดงในสายไฟ คุณพิมพ์วรัตน์คิดว่านี่ถ้าไม่มีใครได้สติคงตายกันไปหมดแล้ว โชคดีที่อาจารย์บอกให้ไปดึงคัทเอาท์ลงก่อนทั้งๆ ที่เพื่อนอีกคนยืนอยู่ใกล้กว่า ขาก็ยาวกว่ามากแต่ก็ต้องเป็นเธอที่ต้องเป็นคนดึงคัทเอาท์ นี่คงเป็นเพราะอานุภาพพระมหาสิริราชธาตุที่ช่วยให้เธอสามารถตัดไฟได้ทันก่อนที่จะเกิดอะไรที่ร้ายแรงไปกว่านี้ จากเหตุการณ์ครั้งนี้เธอกล่าวว่าเธอได้อุทาหรณ์ที่เตือนให้้รู้ว่าชีวิตคนเราจะอยู่ไม่ได้หากมีความประมาท ทุกๆ นาทีไม่สามารถจะรู้ได้ว่าจะหมดลมหายใจเมื่อใด ฉะนั้นขอให้ทุกท่านหมั่นเร่งสร้างบุญสร้างบารมีกันเพื่อเป็นเสบียงติดตัวไปภายภาคหน้า

 
หมั่นทำบุญกุศลเพื่อเป็นเสบียงติดตัว
ไปในภายภาคหน้า
 
 

เรื่องนี้เป็นความประมาทที่น่าหวาดเสียวที่สุด การทำกิจกรรมอะไรๆ เกี่ยวกับไฟฟ้านั้นต้องระมัดระวังอย่างรอบคอบ ไฟฟ้ามีอันตรายร้ายแรงกว่าถูกงูพิษกัด เพราะงูกัด เราปฐมพยาบาลถูกวิธี พาไปรักษาให้ทันการรักษายังมีเซรุ่มแก้พิษงู แต่ถ้าถูกไฟฟ้าช็อตแล้ว สลัดออกไม่ได้ มีแต่ตายสถานเดียว แม้สลัดออกได้ก็ต้องมาพิการถึงตัดแขนขา หรือเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต หมดสมรรถภาพของอวัยวะ
โดยเฉพาะเรื่องน้ำนั้น เป็นสื่อไฟฟ้าอย่างดี ในตัวคนเองก็มีน้ำอยู่ในร่างกายมากทั่วตัว ไม่เว้นแม้ผิวหนัง ร่างกายของคนจึงเป็นสื่ออย่างดีด้วยเหมือนกัน ช่างไฟฟ้าหรือคนที่มีความรู้เรื่องไฟฟ้า เมื่อจะทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้าจึงต้องใส่รองเท้ายาง ใส่ถุงมือให้เป็นฉนวนกั้นกระแสไฟ


การเสียบปลั๊กไฟครั้งแรกช็อต เป็นเครื่องหมายว่า ต้องมีสิ่งขัดข้องเกิดขึ้นแล้ว ควรเฉลียวใจ สายไฟที่ใดอาจเปียกน้ำ หรือมีน้ำเข้าไปขังในปลั๊กอยู่ก่อน การเสียบครั้งที่สอง ไฟไม่ช็อต ไม่ได้หมายความว่าสาเหตุหมดไป อาจเป็นเพราะเครื่องมือยังไม่ได้ทำงานก็ได้ ครั้นพอใช้งาน ทำให้กระแสไหลออกมาจากสายทั้งสองคือ ขั้วบวก และลบ ย่อมทำให้ความชื้นเข้ามาเป็นสื่อ เกิดการช็อตขึ้นมาอีกครั้ง จนเป็นเปลวลุกไหม้


การช็อตของไฟฟ้าทุกครั้ง วิธีที่ดีที่สุดต้องแก้ไขสับสวิทซ์ตัดไฟทั้งหมด การแก้ที่ปลั๊กเป็นการเสี่ยงเกินไป เพราะไฟลุกเป็นเปลวแล้ว จะลุกลามไปตามสายไฟอย่างรวดเร็ว เหมือนที่คุณพิมพ์วรัตน์ประสบนั่นหากสายไฟ ถูกไฟลุกไหม้ขาด สายตกลงไปในน้ำทั้งที่กระแสไฟกำลังไหลอยู่ เปลวไฟดับก็จริง แต่กระแสไฟฟ้าไม่ได้หยุดไหล ก็ไม่รู้จะถูกไฟดูดตายกี่คน ใครที่อวัยวะสัมผัสอยู่กับน้ำที่ขณะนั้น คงไม่มีใครรอด


ต้องถือว่าเป็นบุญจริงๆ ที่คุณพิมพ์วรัตน์วิ่งไปพร้อมนึกถึงบุญกุศลที่ตนเคยทำไว้ที่่วัด เรียกว่า เป็นเสมือนเรียกบุญใช้ยามคับขัน ตนเองก็มีพระมหาสิริราชธาตุติดตัวอยู่ อธิษฐานให้ท่านช่วย


บุญกุศลเป็นพลังงานชนิดหนึ่ง เป็นของมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เหมือนวัตถุสิ่งของ ไฟฟ้าก็เป็นพลังงานชนิดหนึ่ง ทำนองเดียวกัน ขณะนั้นกำลังทำหน้าที่ทำลาย คือลุกไหม้เป็นเปลวไฟ ส่วนพลังบุญ ทำหน้าที่อุปถัมภ์ช่วยเหลือ จึงพอต้านกันไว้


ด้วยเหตุนี้การนึกถึงบุญกุศลในยามคับขัน จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่สุด ซึ่งก็เป็นเรื่องทำได้เฉพาะผู้ที่เคยกระทำบุญไว้ก่อนแล้วเท่านั้น ส่วนใครที่ไม่เคยมีบุญทำไว้ก่อน เกิดเรื่องคับขัน เกิดภัยพิบัติอะไร จะเอาบุญที่ไหนมานึกถึงเป็นที่พึ่งเล่า ก็คงตกอกตกใจวุ่นวาย ขาดสติทำอะไรไม่ถูก เป็นอันตรายไปเท่านั้น


และโดยความเป็นจริงแล้ว ความเดือดร้อนด้วยอันตรายภัยพิบัติทุกชนิด ไม่ใช่ของเลือกเวลา เลือกอายุ เลือกวัย เกิดขึ้นได้ทุกเวลาของชีวิต ดังนั้นจึงสมควรที่เราทุกคนจะต้องสั่งสมบุญกุศลไว้ ทุกเวลาตั้งแต่เยาว์เรื่อยมาจนตาย การที่เด็กๆ จะประกอบกุศลกรรมได้ น้อยคนที่จะรู้จักคิดเอง ทำเอง จำต้องมีพ่อแม่ผู้ปกครองเป็นกัลยาณมิตรให้


ดังนั้นใครก็ตามพาลูกหลานเข้าวัด สอนให้พวกเขารู้ค่าของบุญกุศล หัดให้เด็กๆ ประพฤติปฏิบัติธรรมจึงนับว่า ท่านเหล่านั้นให้สิ่งที่มีคุณค่าที่สุดแก่ทายาทของท่าน

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -
 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล