วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ "คุณค่าการบวชในพระพุทธศาสนา" ตอนที่ ๒

พระธรรมเทศนา



"คุณค่าการบวชในพระพุทธศาสนา"

ตอนที่ ๒

เรียบเรียงจากดอวาทพระภาวนาวิริยคุณ (หลวงพ่อทัตตชิโว)

ความช้า-เร็วของการบรรลุธรรม

          แต่ผู้ที่จะฝึกอบรมตนให้มีคุณสมบัติ ๕ ประการนี้ ได้ช้าหรือเร็วนั้น ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนมี "คุณสมบัติพื้นฐานของคน" ติดตัวมามากน้อยแค่ไหน

          ถ้ามีคุณสมบัติพื้นฐานของคนดีมาก ก็ฝึกคุณสมบัติของผู้บรรลุธรรมได้เร็ว ทำให้รองรับคุณค่าจากพระพุทธศาสนาได้มาก

          ถ้ามีคุณสมบัติพื้นฐานของคนดีน้อย ก็ฝึกคุณสมบัติของผู้บรรลุธรรมได้ช้า ทำให้รองรับ คุณค่าจากพระพุทธศาสนาได้น้อย

          คุณสมบัติพื้นฐานของคนดี มี ๓ ประการ ได้แก่

          ๑. ความเคารพ คือ การเปิดใจเพื่อค้นหาคุณความดีที่มีอยู่จริงในบุคคล วัตถุ เหตุการณ์ต่าง ๆ เมื่อพบแล้ว ก็ยอม ก็รับ และถือปฏิบัติตามคุณความดีนั้น ๆ

          ๒. ความมีวินัย คือ ความเต็มใจในการปฏิบัติตามระเบียบ ข้อบังคับ ข้อห้าม ที่บัญญัติไว้ เพื่อการละเว้นความชั่ว การทำความดี และการกลั่นใจให้ผ่องใส

          ๓. ความอดทน คือ ความยืนหยัดไม่ท้อถอยในการทำความดี ไม่ว่าจะมีอุปสรรค ใด ๆ ขัดขวางเกิดขึ้น ก็จะไม่ยอมเลิกล้มการทำความดี

          ดังนั้น ผู้ที่มาบวชแล้วจะกำจัดทุกข์ได้ช้าเร็วเพียงใด จะได้รับคุณค่าของการบวชมากน้อยเพียงใด จึงขึ้นอยู่กับความตั้งใจในการฝึกอบรมตนเองให้มีความเคารพ ความมีวินัย และความอดทนเป็นพื้นฐานสำคัญ เพราะดอกผลของคุณธรรมพื้นฐานทั้ง ๓ ประการนั้น ก็คือ การได้รับคุณสมบัติของผู้ประสบความสำเร็จในชีวิตทั้ง ๕ ประการ ติดตัวไปได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้นั่นเอง

          คนที่บวชด้วยความตั้งใจจะฝึกตนให้ได้ดังกล่าวนี้ ก็จะมีหลักประกันว่า ชีวิตของเราจะพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น พัฒนาไปตามคำสอนของพระพุทธองค์อย่างแน่นอน เราจะประจักษ์ด้วยตนเองว่า คำสอนทุกคำของพระองค์นั้น เมื่อได้ปฏิบัติอย่างอุทิศชีวิตเป็นเดิมพันแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการบวชช่วงสั้น หรือการบวชตลอดชีวิตก็ตาม สามารถกำจัดทุกข์ ประจำชีวิตทั้ง ๓ ประการได้จริง

อานิสงส์ของการบวชช่วงสั้น

          สำหรับผู้ที่ตั้งใจบวชในช่วงสั้น แต่ตั้งใจฝึกฝนอบรมตนด้วยการปฏิบัติอริยมรรคมี องค์ ๘ อย่างจริงจังด้วยความเคารพ ด้วยความมีวินัย และด้วยความอดทน ย่อมส่งผลเป็นอานิสงส์ในปัจจุบันนี้อย่างน้อย ๕ ประการใหญ่

          ประการที่ ๑ ผลดีต่อผู้บวช

          ๑. มีสัมมาทิฐิ เกิดความเข้าใจถูกเกี่ยวกับพระรัตนตรัย กฎแห่งกรรม ธรรมชาติของโลกและชีวิตตามความเป็นจริง

          ๒. มีหลักธรรมในการตัดสินถูก-ผิด ดี-ชั่ว บุญ-บาป ควร-ไม่ควรทำ

          ๓. มีความสำรวมวาจา พูดแต่คำจริง คำมีประโยชน์ คำสุภาพ ด้วยความเมตตา และถูกกาลเทศะ

           ๔. มีความสำรวมกาย ไม่เบียดเบียนทำร้ายชีวิตของผู้ใด

          ๕. มีความสำรวมในศีลและมารยาทในการเลี้ยงชีพโดยไม่ก่อบาปก่อเวร

          ๖. มีความเพียรในการปรับปรุงแก้ไขตนเองและรู้ประมาณในการใช้ปัจจัย ๔

          ๗. มีสติมั่นคง ทำให้รู้จักห้ามใจของตัวเองไม่ให้ทำความชั่ว จึงไม่ตกเป็นเหยื่อของความเย้ายวนใจต่าง ๆ ได้ง่าย

          ๘. มีสมาธิมั่นคง ทำให้แน่วแน่มั่นคงในการทำความดีอย่างไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค ใด ๆ ชีวิตจึงมีแต่ประสบความสำเร็จ

          ประการที่ ๒ ผลดีต่อครอบครัว

          ๑. ครอบครัวได้ความเป็นญาติกับพระพุทธศาสนา ทำให้มีหลักประกันว่า จะได้ ไปบังเกิดในยุคที่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นในโลก ทำให้ได้โอกาสแห่งการบรรลุ มรรคผล นิพพานในเบื้องหน้า

          ๒. ครอบครัวได้โอกาสในการฟังธรรมอย่างสม่ำเสมอ ทำให้คนในครอบครัวเกิดความ เข้าใจถูกในเรื่องกฎแห่งกรรมและหลักการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง จึงสามารถตั้งเป้าหมายชีวิต ของครอบครัวให้รอดพ้นจากอบายภูมิได้

          ๓. ครอบครัวได้โอกาสในการรักษาศีลอย่างสม่ำเสมอ ทำให้มีหลักประกันว่า คนใน ครอบครัวจะมีแต่ความสงบเย็น ไม่มีความเดือดเนื้อร้อนใจในเรื่องความประพฤติไม่ดีงามของคนในครอบครัว จึงเป็นที่ไว้วางใจของผู้คนในสังคม

          ๔. ครอบครัวได้โอกาสในการทำทานอย่างสม่ำเสมอ ทำให้มีหลักประกันว่า คนในครอบครัวจะมีแต่ความรัก ความสามัคคี ไม่หวงแหนตระหนี่ ไม่อิจฉาริษยา ยินดีร่วมทุกข์ ร่วมสุข แม้เป็นตายอย่างไรก็ไม่ทิ้งกัน เพราะทุกคนรู้จักการแบ่งปันในยามปกติ รู้จักการสงเคราะห์ในยามทุกข์ยาก และรู้จักการอนุโมทนาในคราวที่ญาติพี่น้องทำความดี จึงเป็นที่มั่นใจว่าจะไม่ประสบความยากจน

          ๕. ครอบครัวได้โอกาสในการเจริญภาวนาอย่างสม่ำเสมอ ทำให้มีหลักประกันว่า คนในครอบครัวจะมีอารมณ์ที่สงบเย็น ไม่ใช้อารมณ์เกรี้ยวกราดในการแก้ปัญหา ไม่ใช้ชีวิต ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย ไม่ข้องเกี่ยวกับอบายมุข เพราะรู้แล้วว่า ความสุขที่แท้จริงคือความสุขจาก การทำใจให้หยุดนิ่งจากการเจริญภาวนา

          ประการที่ ๓ ผลดีต่อสภาพเศรษฐกิจ

          ๑. สภาพเศรษฐกิจจะฟื้นตัว เพราะมีการตักบาตรทำบุญในพระพุทธศาสนาอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกวัน

          ๒. มิจฉาชีพและอบายมุขจะลดลง ทั้งยาเสพติด การพนัน การลักขโมยต่าง ๆ ก็จะลดลง ทำให้ไม่เกิดรูรั่วทางเศรษฐกิจในครอบครัว

          ๓. ประชาชนมีสุขภาพกายและสุภาพจิตแข็งแรง เพราะได้มีโอกาสฟังธรรมและปฏิบัติธรรมกับพระภิกษุที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นเป็นเรือนแสน

          ๔. ประชาชนสามารถทำงานได้อย่างเต็มศักยภาพ เพราะรู้จักหาทรัพย์เป็น เก็บรักษาทรัพย์เป็น สร้างเครือข่ายคนดีเป็น และใช้จ่ายเป็น ตามที่ได้ศึกษามาจากคำสอนในพระพุทธศาสนา ทำให้เศรษฐกิจในครอบครัวดีขึ้น

          ประการที่ ๔ ผลดีต่อสังคมและประเทศชาติ

          ๑. เป็นหลักประกันว่า บ้านเมืองจะไม่ขาดแคลนพระภิกษุ ผู้เป็นครูสอนศีลธรรมที่อยู่ง่ายที่สุด ใช้งบประมาณในการเลี้ยงดูน้อยที่สุด และทำประโยชน์ต่อสังคมได้มากที่สุด

          ๒. เป็นหลักประกันว่า อาชญากรแผ่นดินจะไม่เพิ่มจำนวนขึ้นในสังคม

          ๓. เป็นหลักประกันว่า ปัญหาคอรัปชั่น ปัญหาแก๊งโจรกรรม โจรลักเล็กขโมยน้อย จะไม่เพิ่มขึ้นในสังคม

          ๔. เป็นหลักประกันว่า ปัญหาโรคเอดส์ ปัญหาการค้าประเวณี จะไม่เพิ่มขึ้นในสังคม

          ๕. เป็นหลักประกันว่า ปัญหาการต้มตุ๋นหลอกลวง ปัญหาการฉ้อโกงทรัพย์สิน จะไม่เพิ่มขึ้นในสังคม

          ๖. เป็นหลักประกันว่า อบายมุขต่าง ๆ อันเป็นปากทางแห่งความเสื่อมจะไม่ ท่วมบ้านท่วมเมือง

          ๗. เป็นหลักประกันว่า บ้านเมืองจะมีแต่ความสงบร่มเย็น เพราะประชาชนอยู่ในศีลธรรม

          ประการที่ ๕ ผลดีต่อพระพุทธศาสนา

          ๑. เป็นหลักประกันว่า ประเทศไทยจะไม่กลายเป็นอดีตเมืองพุทธเหมือนอย่างที่เคยเกิดขึ้นกับหลายประเทศทั่วโลกมาแล้ว

          ๒. เป็นหลักประกันว่า ประเทศไทยจะไม่สูญสิ้นพระภิกษุ ผู้เป็นเนื้อนาบุญอันเลิศไปจากผืนแผ่นดินไทยอย่างแน่นอน

          ๓. เป็นหลักประกันว่า ประเทศไทยจะไม่สูญสิ้นครูสอนศีลธรรมไปจากผืนแผ่นดินไทยอย่างแน่นอน

          ๔. เป็นหลักประกันว่า ลูกหลานต่อไปภายหน้า จะยังคงเป็นชาวพุทธ ผู้ธำรงรักษา พระพุทธศาสนาไว้ยิ่งกว่าชีวิต ด้วยการศึกษาธรรมะ ปฏิบัติธรรม เผยแผ่ธรรมะ และปกป้อง ธรรมะ ตามรอยเท้าของบรรพชนไปอย่างแน่นอน

          ดังนั้น ผู้บวชในร่มเงาบวรพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะบวชช่วงสั้นหรือช่วงยาว ผลดีที่ เกิดขึ้นจากการบวชนั้น จึงไม่ได้แค่บังเกิดขึ้นกับผู้บวชเพียงคนเดียว แต่ยังมีผลดีบังเกิดขึ้น ต่อครอบครัว เศรษฐกิจ สังคม พระพุทธศาสนาติดตามมาอย่างอเนกอนันต์ เพราะการบวช นั้นมีแต่คุณฝ่ายเดียว ไม่มีโทษเจือปนอยู่เลย

          ยิ่งมีผู้บวชมากเท่าไร บุญอันเกิดจากการบวชนี้ ก็จะส่งผลให้โลกนี้มีแต่ความร่มเย็น ถ้ามีผู้บวชหมื่นคนก็ร่มเย็นในหลักหมื่นคน ถ้ามีผู้บวชแสนคนก็ร่มเย็นในหลักแสนคน ถ้ามีผู้บวชล้านคนก็ร่มเย็นในหลักล้านคน บุญมหาศาลจากการบวชนี้เอง จะทำให้โลก มีแต่ความสงบร่มเย็น เพราะมองไปทางใดก็มีแต่พระภิกษุผู้รักการปฏิบัติธรรมยิ่งชีวิต ห่มผ้ากาสาวพัสตร์สีทองเหลืองอร่าม กระจายอยู่ทั่วทุกอำเภอ ทุกตำบล ทุกหมู่บ้าน ทุกหย่อมหญ้าในแผ่นดิน ความร่มเย็นที่แผ่จากการปฏิบัติธรรมของพระภิกษุทั้งแผ่นดินนี้เอง ที่จะทำให้โลกเกิดความร่มเย็นอย่างไม่เคยมีมาก่อนในยุคนี้

          กองไฟที่ลุกโชนย่อมดับลงได้ด้วยความเย็นของน้ำ ฉันใด

          โลกที่ลุกเป็นไฟย่อมดับลงได้ด้วยความเย็นของการบวชแสนรูป ฉันนั้น

          ..นี่คือความร่มเย็นที่ลูกผู้ชายแต่ละคนทำได้ด้วยการออกบวชในพระพุทธศาสนาในช่วงเวลา ๓ เดือนของฤดูพรรษานี้ บวชเถิดลูก!

 
บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -
 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล