วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ พิธีจุดมาฆประทีปเป็นพุทธบูชา


 

 

  วันนี้เป็นวันฤกษ์ดี เป็นวันมาฆฤกษ์ และเป็นวันที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อตัวเราและ มวลมนุษยชาติทั้งหลายที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านได้ประทานโอวาทปาติโมกข์ ซึ่งเป็นหลักธรรมที่ทรงคุณค่าสำหรับการดำเนินชีวิตบนโลกใบนี้, โดยผ่านพระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป เพื่อขยายความรู้สากล ไปโดยไม่จำกัดเชื้อชาติ ศาสนา และเผ่าพันธุ์ เพื่อให้ชาวโลกทุกคนได้บรรลุเป้าหมายชีวิตที่แท้จริง ตามอย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอรหันต์ ทั้งหลาย ที่ท่านได้เข้าถึงความเต็มเปี่ยมของชีวิตแล้ว

       เพราะฉะนั้นวันนี้ เราจะต้องมาตามระลึกถึง ความสำคัญของวันมาฆบูชา ที่เมื่อราว ๒,๕๐๐ กว่าปีที่ผ่านมา ณ พระอารามเวฬุวันได้มีการมาชุมนุมกันของพระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป ซึ่งท่านได้มาประชุมกันอย่างพร้อมเพรียงโดยไม่ได้นัดหมายกันทางวาจา แต่ทว่ารู้กันด้วยใจของท่านผู้รู้ผู้บริสุทธิ์ ที่หมดกิเลสและทรงอภิญญา และทุกรูปก็เป็นผู้ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงประทานการอุปสมบทให้ด้วยพระองค์เอง

       และในวันนั้นเป็นวันพระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ซึ่งก็มาพ้องตรงกับวันนี้ ในครั้งนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านได้ประทานพุทธโอวาท โดยตรัสถึง "อุดมการณ์ หลักการ และวิธีการ" ในการนำเอาหลักธรรมไปใช้และไปเผยแผ่ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สุขทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ตลอดจนชาวโลกทั้งหลายและให้ยึดเป็นเนติแบบแผน เพื่อประพฤติปฏิบัติให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

 

 

       สำหรับ "อุดมการณ์" นั้น หมายถึง ความตั้งใจอันสูงส่งในการที่จะขยายธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปสู่ชาวโลก ซึ่งผู้ไปทำหน้าที่ผู้นำบุญ ยอดกัลยาณมิตร จะต้องมีขันติธรรมเป็นคุณธรรมในเบื้องต้น สมดังพระดำรัสที่ว่า"ขันตี ปะระมัง ตะโป ตีติกขา" ซึ่งแปลว่าความอดทนเป็นตบะธรรมอย่างยิ่ง คือจะต้องอดทนตั้งแต่เรื่องเล็กน้อยไปจนถึงสิ่งที่ยิ่งใหญ่อย่างน้อยก็เริ่มตั้งแต่อดทนต่อความลำบากตรากตรำ อดทนต่อทุกขเวทนาอดทนต่อการกระทบกระทั่ง และอดทนต่อกิเลสคือความโลภ ความโกรธ ความหลง ถ้าหากอดทนอดกลั้นต่อสิ่งเหล่านี้ได้ ก็จะสามารถฟันฝ่าอุปสรรคทั้งหลายไปสู่เป้าหมายคือพระนิพพานได้

       พระนิพพานเป็นเป้าหมายของทุกๆ ชีวิต พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ท่านได้ตรัสเอาไว้ว่า"นิพพานัง ปะระมัง วะทันติพุทธา"ท่านผู้รู้ทั้งหลาย กล่าวว่าพระนิพพานเป็นเยี่ยม คือทรงเห็นพ้อง ต้องกันว่า สิ่งที่เยี่ยมที่สุดทั้งในภพนี้และนอกภพคือพระนิพพาน ดังนั้นมนุษย์ทุกคนที่เกิดมาแล้ว จะต้องทำพระนิพพานให้แจ้งแม้ในระหว่างทางจะมีอุปสรรคขวากหนามเพียงไรก็ตาม ก็จะต้องไม่เบียดเบียนกัน ไม่ทำร้ายหรือผูกพยาบาทกัน ดังพุทธพจน์ที่ว่า "นะ หิ ปัพพะชิโต ปะรูปะฆาตี สะมโณโหติ ปะรัง วิเหฐะยันโต" คือผู้ฆ่าสัตว์อื่น และเบียดเบียนผู้อื่นไม่ชื่อว่าเป็นผู้สงบเลย "เอตัง พุทธานะสาสะนัง" นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

       แล้วจากนั้นพระพุทธองค์ก็ทรงให้ "หลักการ" ในการปฏิบัติเพื่อที่จะได้บรรลุเป้าหมายชีวิตที่แท้จริง ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติที่ง่ายต่อการนำมาใช้ในชีวิต ประจำวัน เริ่มต้นตั้งแต่ให้ละชั่ว ทำดี และก็ทำใจให้ใส ทรงมีพุทธดำรัสว่า"สัพพะปาปัสสะอะกะระณัง" การไม่ทำบาปทั้งปวง "กุสะลัสสูปะสัมปะทา" การบำเพ็ญกุศลให้ถึงพร้อม "สะจิตตะปะริโยทะปะนัง"การทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว "เอตัง พุทธานะสาสะนัง" นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

       พูดง่ายๆ ก็คือ ให้เรางดเว้นบาป สร้างบุญ แล้วก็ทำใจให้ใสให้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายในตัว หรืออีกนัยหนึ่งก็คือให้ทำความบริสุทธิ์ทั้งทางกาย ทางวาจาและทางใจ โดยพิจารณาง่ายๆ ว่า สิ่งใดที่ทำแล้วทำให้ใจเราเศร้าหมอง เป็นทุกข์ใจอีกทั้งยังเดือดร้อนทั้งเราและผู้อื่นก็อย่าไปทำ แต่สิ่งใดที่ทำแล้วไม่เดือดร้อนทั้งเราและเขา ทำแล้วได้บุญกุศลยังใจของเราให้ผ่องใสสิ่งนั้นพึงกระทำ เช่น มีการให้ทาน รักษาศีล และเจริญสมาธิภาวนา เป็นต้น ถ้าเราทำอย่างถูกหลักวิชาและทำอย่างเต็มที่เต็มกำลังแล้วในที่สุดจะต้องได้บรรลุผล ไปตามลำดับ และก็จะได้บรรลุพระนิพพานอย่างแน่นอน

       ซึ่งพระพุทธองค์ก็ทรงให้ "วิธีการ" ในการเผยแผ่และการวางตัวให้เหมาะสม เพื่อจะได้ดำเนินชีวิตได้ถูกต้องสมบูรณ์และเป็นต้นบุญต้นแบบแก่ชาวโลก ทรงให้แนวทางในการประพฤติปฏิบัติดังนี้คือ "อนูปะวาโท" ไม่ให้ไปว่าร้ายหรือไปกระทบกระทั่งกับใคร "อนูปะฆาโต"ไม่ให้ไปทำร้ายหรือไปขู่บังคับให้ใครมาเชื่อเรา แต่ให้เขาตรองตามด้วยเหตุด้วยผลจนเกิดดวงปัญญาและเกิดศรัทธาด้วยตัวเอง "ปาติโมกเข จะสังวะโร" ให้สำรวมในศีลและมารยาท จะได้เป็นที่เคารพนับถือและก็น่าเลื่อมใส "มัตตัญญุตาจะ ภัตตัสมิง" ให้รู้จักประมาณในการบริโภคแต่พอดีี "ปันตัญจะ สะยะนาสะนัง"ให้อยู่ในที่นอนที่นั่งอันสงบ ที่เอื้ออำนวยต่อการประพฤติปฏิบัติธรรมและประการสุดท้าย "อะธิจิตเต จะ อาโยโค"ให้ประกอบความเพียรในอธิจิต คือหมั่นเจริญสมาธิให้ใจ ละเอียดยิ่งๆ ขึ้นไป "เอตังพุทธานะสาสะนัง" นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

       ที่กล่าวมาทั้งหมดโดยสรุปนี้เป็นพุทธโอวาท ที่เราและชาวโลกจะต้องนำไปประพฤติปฏิบัติกันในชีวิตจริงเพื่อให้เกิดประโยชน์สุขทั้งในปัจจุบันและก็ประโยชน์อย่างยิ่ง คือสามารถเข้าถึงความสุข ที่แท้จริงภายในได้ด้วยตัวของตัวเองกระทั่งได้พ้นทุกข์ เข้าถึงบรมสุข คือพระนิพพาน ซึ่งโอวาทปาฏิโมกข์นี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ทรงสอนตรงกันหมด เพราะว่าเป็นความรู้สากลที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อมวลมนุษยชาติ หากชาวโลกทุกคนได้น้อมเอาโอวาทดังกล่าวนี้มาปฏิบัติ สิ่งที่ดีๆ มีการแบ่งปันและให้ความรักต่อเพื่อนมนุษย์อย่างแท้จริง ที่เรียกว่าเป็นความรักสากล รวมทั้งสันติสุขที่แท้จริงและสันติภาพโลกก็จะบังเกิดขึ้นในยุคของเราเพราะฉะนั้นเราจะต้องให้ความสำคัญกับวันนี้กันไปทั่วโลกเลย

       วันนี้ นอกจากเราจะได้มาทบทวน โอวาทปาฏิโมกข์แล้ว ในพิธีกรรมภาคคํ่านี้เราก็จะได้จุดมาฆประทีปเป็นพุทธบูชาและก็บูชา พระอรหันตสาวกทั้งหลาย โดยจะเริ่มจุดความสว่าง ที่ใจของเราก่อน พอใจเราใสสว่างดีแล้ว จึงจะมาจุดประทีปด้วยมืออันเป็นสิริของเราซึ่งบุญจากการจุดประทีปนี้ก็จะทำให้เราเป็นผู้มีจักษุ จะมีดวงตาสดใสสวยงาม ไม่เป็นโรคเกี่ยวกับดวงตา จะถึงพร้อมทั้งมังสจักษุ ทิพยจักษุ ปัญญาจักษุ สมันตจักษุ และธรรมจักษุ จะมีดวงปัญญาสว่างไสว ได้รู้ทั่วถึงธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย เพราะฉะนั้นให้ลูกทุกคนตั้งใจกันให้ดี เมื่อเราเข้าใจอย่างนี้ดีแล้ว ต่อจากนี้ไปก็ให้หยุดใจให้นิ่งๆ นุ่มๆ เบาๆ สบายๆ

ความประทับใจ
งานบุญวันมาฆบูชา ณ วัดพระธรรมกาย

 

 

 

 

 

 

 

ฯพณฯ สมชาย วงศ์สวัสดิ์
รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ


      "วันนี้โชคดีมาก ถือเป็นบุญอย่างยิ่งที่ได้มาร่วมพิธีมาฆบูชาที่วัดพระธรรมกาย ซึ่งเป็นวัดที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก ผมอยากให้คนไทยทั่วโลกได้มีโอกาสมาที่นี่ เพราะว่าชาวต่างชาติทั้งเอเชีย ยุโรป อเมริกา ก็ใฝ่ฝันที่จะมาวัดพระธรรมกายซึ่งอยู่ในบ้านของเรา แล้วก็เป็นวัดที่มีหลวงพ่อซึ่งเป็นผู้บุกเบิกในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้โด่งดังไปทั่วโลก ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจของคนไทยอยากเชิญชวนทุกท่านให้ได้มาร่วมกันรักษาศีล ทำบุญทำกุศล ผมคิดว่าจะช่วยส่งเสริมให้้ประเทศของเรามีความสงบร่มเย็น แล้วก็มุ่งหน้าไปสู่ความสุข ทั้งของคนไทยและคนต่างชาติทั่วทั้งโลก"

 

 

 

 

 

ดร.เค็นเน็ธ ดับเบิลยู ฮูด
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ มหาวิทยาลัยเวอร์มอนท์

       "ผมรู้สึกยินดีมากที่ได้มาร่วมงานนี้ ผมประทับใจพิธีกรรม จัดได้ดีมากและที่ประทับใจที่สุดคือเยาวชน ที่เห็นคุณค่าของความสำคัญของศีลธรรมผมคิดว่ามันวิเศษมากๆ ผมเคยมาที่นี่หลายครั้งแล้ว ผมประทับใจตลอดมากับสิ่งที่ทุกคนที่นี่ทุ่มเทให้กับการสร้างสันติภาพ ผมอยากจะพูดว่าหลายสิ่งหลายอย่างที่เป็นข้อปฏิบัติของที่นี่ เยาวชนของเราในเวอร์มอนท์ได้เรียนรู้และฝึกหัดเด็กของเราในอเมริกาพัฒนาขึ้นมาก เรารู้สึกขอบคุณและรู้สึกว่าเราเป็นเพื่อนที่อยู่ อีกซีกโลกหนึ่งของกันและกัน"

 

 

ดร.นีนา ลินน์ มีเยอร์ฮอฟ  ประธานองค์กรยุวชนโลก

"วัดพระธรรมกายเป็นสถานที่ที่เยี่ยมยอดมากค่ะ ดิฉันรักการมาเยือนที่นี่ ดิฉันได้แรงบันดาลใจใหม่ๆ ดิฉันพาเด็กๆประมาณ ๒๐ คน มาจากหลากหลายประเทศด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น อูกันดา เนปาล กานา รัสเซีย โรมาเนียอเมริกา ทุกคนที่มามีความปีติและชื่นชมต่อสิ่งที่พวกเขาได้เห็น ดังนั้นดิฉันจึงมีความสุขมากๆ ที่ได้มาที่นี่ รู้สึกเหมือนมีครอบครัวอยู่ที่นี่ และจากใจที่ใสสะอาด เราจึงสัมผัสถึงความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และความรู้สึกว่าเราเป็นเจ้าของที่นี่ร่วมกัน

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ 65 มีนาคม ปี 2551

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล