วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ เรื่องจากพระไตรปิฎก

เรื่องจากพระไตรปิฎก
เรื่อง : มาตา

 

เรื่องจากพระไตรปิฎก

 

พระมหากัจจายนะ

เรื่องจากพระไตรปิฎก

                                                                                    ๑
          การเหยียดผิว (Racism) เป็นสิ่งที่เคียงคู่กับประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติตลอดมา แม้ในพระไตรปิฎกก็มีหลักฐานว่า มนุษย์มีการแบ่งแยกชนชั้นวรรณะมาตั้งแต่  ยุคต้นกัป โดยมีจุดเริ่มต้นจากมนุษย์ที่มีผิวพรรณงามเหยียดหยามมนุษย์ที่มีผิวพรรณทราม


            การเหยียดผิวและการแบ่งแยกชนชั้นวรรณะเป็นสาเหตุแห่งความรุนแรงและก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานแก่เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ตั้งแต่ระดับเล็กน้อย ปานกลาง ไปจนกระทั่งหนักหนาสาหัส ดังเช่น โศกนาฏกรรมของประชาชนที่มีผิวพรรณคล้ำ (ชนเผ่ามิลักขะ) ที่อยู่ในวรรณะศูทรของอินเดีย และชนผิวสีในประวัติศาสตร์ของประเทศสหรัฐอเมริกาและแอฟริกา เป็นต้น

            การมีผิวพรรณงามจึงมิใช่แค่สิ่งที่ดึงดูดตาดึงดูดใจผู้คนเท่านั้น แต่ยังมีส่วนในการกำหนดชีวิต  ความเป็นอยู่ไปจนถึงความเป็นความตายของมนุษย์เลยทีเดียว

          เรื่องราวการสร้างบารมีของพระมหากัจจายนะที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ เป็นสิ่งที่เราสามารถนำไปเป็นแบบอย่างในการออกแบบชีวิตให้มีผิวพรรณวรรณะที่งดงามและบังเกิดในตระกูลสูง จะได้ไม่ต้องเกิดมาเผชิญกับปัญหาเรื่องการเหยียดผิวหรือการแบ่งชนชั้นวรรณะที่เป็นปัญหาคู่โลก

                                                                                                             
            ในครั้งพุทธกาล พระมหากัจจายนะเกิดในตระกูลพราหมณ์ที่อาศัยอยู่ในกรุงอุชเชนี แคว้นอวันตี บิดาของท่านคือ ปุโรหิตปิติวัจฉพราหมณ์ มารดาคือ นางจันทนปทุมาพราหมณี แห่งตระกูลกัจจายนะ

            พระมหากัจจายนะเกิดมาพร้อมกับลักษณะที่โดดเด่น คือ มีผิวพรรณผุดผ่องเหมือนทองคำ บิดามารดาจึงตั้งชื่อให้ท่านว่า “กาญจนะ” ซึ่งแปลว่า “ทอง”

            เมื่อเติบโตขึ้น หนุ่มน้อยกาญจนะได้ศึกษาไตรเพท ซึ่งเป็นวิชาความรู้ของพราหมณ์ตามธรรมเนียมพราหมณ์จนจบการศึกษา ต่อมาเมื่อบิดาถึงแก่กรรม หนุ่มน้อยกาญจนะก็ได้รับตำแหน่งปุโรหิตแทนบิดา และผู้คนพากันเรียกขานท่านว่า “ปุโรหิตกัจจายนะ” ตามนามของตระกูล

                                                                                                             
              วันหนึ่ง เมื่อพระเจ้าจัณฑปัชโชติ กษัตริย์แห่งกรุงอุชเชนี ทรงทราบข่าวว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นแล้ว ทรงอยากฟังพระธรรมเทศนา จึงทรงแต่งตั้งให้ปุโรหิตกัจจายนะไปกราบทูลอาราธนาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เสด็จไปยังกรุงอุชเชนี ปุโรหิตกัจจายนะรับราชโองการแล้วเดินทางไปเฝ้าพระบรมศาสดาพร้อมด้วยผู้ติดตามอีก ๗ คน

              เมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนา ปุโรหิตกัจจายนะและผู้ติดตามอีก ๗ คน ได้บรรลุธรรมเป็น    พระอรหันต์ ถึงพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา จากนั้นพระบรมศาสดาประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาให้ การบวชแบบเอหิภิกขุอุปสัมปทานั้น ไม่ได้มีลำดับขั้นตอนเหมือนการบวชในปัจจุบัน แค่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีพระดำรัสว่า “จงเป็นภิกษุมาเถิด” เท่านั้น เมื่อสิ้นพระดำรัส ผม หนวด และเครื่องนุ่งห่มของผู้บวชก็อันตรธานไป มีเครื่อง   อัฐบริขาร ได้แก่ บาตร สบง จีวร เป็นต้น บังเกิดขึ้นด้วยฤทธิ์และบุญญาธิการที่ผู้บวชสร้างสมมาแต่อดีตชาติ ทำให้ผู้บวชเป็นประดุจดังพระเถระที่มีพรรษาถึง ๑๐๐ พรรษา

                                                                                                              
              เมื่ออุปสมบทแล้ว พระเถระทั้ง ๘ ได้กราบทูลอาราธนาพระบรมศาสดาเสด็จสู่กรุงอุชเชนี ตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายจาก    พระราชา แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมี   พระดำรัสให้พระมหากัจจายนะไปแทน

             เนื่องจากพระมหากัจจายนะเป็นพระภิกษุที่มีความรู้ความสามารถมาก ท่านจึงสามารถอธิบายธรรมะที่พระบรมศาสดากล่าวเพียงย่อ ๆ ให้ละเอียดได้ และสรุปเนื้อหาพระธรรมเทศนา    ที่ยาว ๆ ออกมาเป็นหัวข้อย่อย ๆ ได้ ทำให้ผู้ฟังเข้าใจธรรมะที่ลึกซึ้งได้โดยง่าย ดังนั้นเมื่อท่านไปถึงกรุงอุชเชนีแล้ว ท่านจึงสามารถแสดงธรรมให้พระราชาทรงเลื่อมใสได้โดยง่าย และสามารถประดิษฐานพระศาสนาในแคว้นอวันตีได้สำเร็จ ทำให้ทั่วทั้งพระนครรุ่งเรืองไปด้วยผ้ากาสาวพัสตร์

             ด้วยความสามารถนี้ ต่อมาพระบรมศาสดาจึงทรงยกย่องท่านว่าเป็นเอตทัคคะ คือ เป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในด้านผู้อธิบายเนื้อความโดยย่อให้พิสดาร

                                                                                                             
             สำหรับเหตุแห่งความเป็นผู้เลิศในด้านผู้อธิบายเนื้อความโดยย่อให้พิสดารนั้น มีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า “ปทุมุตตระ

            ในสมัยนั้น พระมหากัจจายนะบังเกิดในตระกูลคฤหบดีผู้มั่งคั่ง และมีโอกาสไปฟังธรรมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า วันหนึ่งท่านเห็น    พระภิกษุรูปหนึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเอตทัคคะในด้านผู้อธิบายเนื้อความโดยย่อให้พิสดาร ท่านปรารถนาที่จะเป็นอย่างพระรูปนั้น จึงถวาย    มหาทานแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเวลา ๗ วัน แล้วตั้งความปรารถนาว่า “ด้วยผลแห่งสักการะนี้ ขอให้ข้าพระองค์พึงได้ตำแหน่งนั้นในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง” พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเห็นว่าความปรารถนาของท่านจะสำเร็จ จึงทรงพยากรณ์ว่า “กุลบุตรผู้เจริญ ท่านจักเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้จำแนกอรรถแห่งคำที่ตรัสโดยสังเขปให้พิสดารในศาสนาของพระสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า”

                                                                                                              
              นอกจากมีคุณสมบัติอันเลิศข้างต้นแล้ว พระมหากัจจายนะยังมีคุณธรรมที่สูงส่ง มีศีลาจาร-วัตรที่งดงาม เป็นที่เคารพรักของมนุษย์และเทวดา ดังจะเห็นได้ว่า เวลาที่ท้าวสักกเทวราช (พระอินทร์) ได้พบพระมหากัจจายนะ ก็จะทรงเข้าไปอุปัฏฐากรับใช้และนวดเท้าทั้งสองของท่าน แม้แต่พระบรม-ศาสดายังทรงกล่าวยกย่องพระมหากัจจายนะท่ามกลางหมู่สงฆ์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีทวารอันตนคุ้มครองแล้วในอินทรีย์ทั้งหลายเช่นเดียวกับมหากัจจายนะบุตรของเรา ย่อมเป็นที่รักของเหล่าเทวดา”

             พระมหากัจจายนะมิเพียงเปี่ยมด้วยคุณสมบัติและทรัพย์สมบัติ แต่ท่านยังเลิศด้วยรูปสมบัติ คือมีผิวพรรณละเอียดอ่อนผุดผ่องดุจทองคำ และมีรูปร่างสง่างามคล้ายคลึงกับพระบรมศาสดา จนทำให้หลาย ๆ คนเข้าใจผิดว่าท่านคือพระบรมศาสดา

                                                                                                              
             หลักฐานประการหนึ่งในพระไตรปิฎกที่แสดงว่าพระมหากัจจายนะมีความสง่างามและมีผิวพรรณวรรณะผ่องใสอย่างยิ่ง ก็คือเรื่องราวที่   เหลือเชื่อแต่เป็นความจริงดังต่อไปนี้...

            วันหนึ่ง ขณะที่พระมหากัจจายนะกำลังห่มจีวรจะเข้าไปบิณฑบาตในเมือง มีบุตรชายของเศรษฐีแห่งเมืองโสไรยะคนหนึ่ง ชื่อโสไรยะ นั่งยานพาหนะผ่านมากับบรรดาสหาย ครั้นนายโสไรยะเห็นวรรณะอันงดงามผ่องใส ดึงดูดตาดึงดูดใจของพระเถระ ก็เกิดความคิดอกุศลขึ้นมาว่า “พระเถระรูปนี้สวยจริงหนอ ควรจะเป็นภรรยาของเรา หรือ มิฉะนั้น ภรรยาของเราก็ควรจะมีผิวพรรณงดงามเหมือนพระรูปนี้”

            ด้วยบาปหนักที่จาบจ้วงพระอรหันต์ ทำให้นายโสไรยะกลายร่างเป็นผู้หญิงในทันที นาย โสไรยะซึ่งขณะนี้กลายเป็นนางโสไรยะไปแล้ว รู้สึกตกใจและอับอายมาก จึงรีบลงจากยานพาหนะแล้วเดินไปยังกรุงตักสิลา

            บรรดาเพื่อนฝูงของนายโสไรยะพากันออกตามหาเขา แต่ก็หาไม่พบ ส่วนบิดามารดาของเขาก็เศร้าโศกเสียใจ เพราะคิดว่าบุตรคงเสียชีวิตไปแล้ว

            ฝ่ายนางโสไรยะได้ติดตามกองเกวียนของพ่อค้าไปจนถึงกรุงตักสิลา เมืองหลวงของแคว้นคันธาระ บุตรชายของเศรษฐีแห่งกรุงตักสิลาเห็นนางมีรูปงามจึงเกิดความรักและรับนางเป็นภรรยา ทั้งคู่มีบุตรด้วยกัน ๒ คน

            ก่อนหน้านี้ เมื่อครั้งเป็นผู้ชาย โสไรยะมีบุตรอยู่แล้ว ๒ คน ดังนั้นจึงเท่ากับว่าเขาได้เป็นทั้งพ่อและแม่  เป็นทั้งสามีและภรรยาในชาติเดียวกัน

            ต่อมา เขามีโอกาสกราบขอขมาพระมหากัจจายนะ เมื่อท่านอโหสิกรรมให้ เขาจึงคืนร่างเป็นชาย แล้วขอบวชในสำนักของท่าน และได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์

                                                                                                              
            ส่วนสาเหตุที่ทำให้พระมหากัจจายนะมีผิวพรรณวรรณะที่งดงามผ่องใสนั้น เกิดจากการทำบุญด้วยทองคำในสมัยพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า

            ครั้งนั้น พระมหากัจจายนะเคยถวายแผ่นอิฐทองคำมีค่าแสนหนึ่ง ทำเป็นฐานของพระสุวรรณเจดีย์เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และตั้งความปรารถนาว่า “ด้วยอานุภาพแห่งบุญที่บังเกิดขึ้นจากการถวายแผ่นอิฐทองคำนี้ ขอให้สรีระของข้าพเจ้าจงมีวรรณะเหมือนทองคำทุกภพทุกชาติ” ด้วยอานิสงส์แห่งบุญพิเศษนี้ ทำให้ความปรารถนาของท่านบังเกิดเป็นความจริง คือ ได้เกิดมามีผิวพรรณวรรณะงดงามเป็นพิเศษโดดเด่น   ยิ่งกว่าคนทั่วไป

 

เรื่องจากพระไตรปิฎก

 

                                                                                                              
             ย้อนไปในสมัยพระปทุมุตตรพุทธเจ้า ท่านก็เคยถวายอาสนะที่ทำด้วยแก้วผลึกที่ฉาบทาด้วยทองชมพูนุทซึ่งเป็นทองคำบริสุทธิ์ มีฉัตร   ทำด้วยรัตนะทั้ง ๗ ประการ กางกั้นไว้บนยอด และถวายพัดวาลวีชนี พัดบวรจามรี แด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

              ด้วยอานุภาพแห่งการบูชาในครั้งนี้ ทำให้ท่านได้เสวยทิพยสุขในเทวโลก ได้บังเกิดเป็นเทพราชาผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์เป็นเวลายาวนานถึง   ๑๐ กัป มีรัศมีแผ่ไปโดยรอบร้อยโยชน์อยู่เป็นนิจ และได้ไปบังเกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้มีฤทธานุภาพมาก มีรัตนชาติบังเกิดขึ้นมากมายเหลือคณานับ ล้วนส่องสว่างโชติช่วงดังอาทิตย์อุทัย ตลอดทั้งกลางวันกลางคืน

             พระมหากัจจายนะระลึกชาติไปดูประวัติการสร้างบารมีของท่านในชาตินั้นก็พบว่า เมื่อท่านถวายอาสนะที่ทำด้วยแก้วผลึก ที่ฉาบทาด้วยทองชมพูนุทอันเป็นทองคำบริสุทธิ์ เพื่อเป็นที่ประทับนั่งของพระปทุมุตตรพุทธเจ้าแล้ว พระองค์ตรัสว่า

            “ผู้ใดได้ถวายอาสนะที่ทำด้วยทองและแก้วนี้ เราจักพยากรณ์ผู้นั้น ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าว ผู้นั้นจักเป็นจอมแห่งเทวดาเสวยเทวรัชสมบัติอยู่ ๑๐ กัป จักมีรัศมีแผ่ไปโดยรอบตลอดร้อยโยชน์ ครั้นมาสู่มนุษยโลกแล้ว จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิมีพระนามว่าปภัสสระ จักเป็นผู้มีเดชอันรุ่งเรือง จักได้เป็นกษัตริย์มีรัตนะ ๘ ประการ โชติช่วงอยู่โดยรอบทั้งกลางคืนกลางวัน ดังพระอาทิตย์อุทัยฉะนั้น”

              เมื่อระลึกชาติเห็นความดีที่ทำไว้แล้ว ท่านก็บังเกิดความปลื้มปีติเป็นยิ่งนัก

                                                                                                            ๑๐
             อานิสงส์จากการถวายอาสนะแก้วผลึกฉาบทาด้วยทองชมพูนุทแด่พระปทุมุตตรพุทธเจ้า และถวายแผ่นอิฐทองคำสร้างเจดีย์ เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า รวมทั้งบุญอื่น ๆ ที่ท่านตั้งใจทำ ส่งผลให้พระมหากัจจายนะได้เสวยสุขทั้งในสวรรค์และในโลกมนุษย์ เวียนว่ายตายเกิดอยู่แต่ในสุคติภูมิเท่านั้น ในชาติสุดท้าย ท่านได้มาเกิดในตระกูลพราหมณ์ ซึ่งเป็นวรรณะที่ได้รับการยกย่องมากที่สุดของอินเดียในสมัยนั้น และมีผิวพรรณงดงามดุจทองคำ แถมยังพรั่งพร้อมด้วยสมบัติทั้งปวงที่มนุษย์พึงปรารถนา คือ รูปสมบัติ คุณสมบัติ ทรัพย์สมบัติ และบริวารสมบัติ ซึ่งทุกประการล้วนจัดอยู่ในแนวหน้า

             เมื่อบวชแล้ว ท่านได้บรรลุธรรมเป็น  พระอรหันต์ ได้เป็น ๑ ใน ๔๑ พระภิกษุสาวกที่ได้รับตำแหน่งเอตทัคคะ ได้เป็น ๑ ใน ๘๐ อสีติมหาสาวก และพรั่งพร้อมด้วยคุณสมบัติ คือ มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด ประกอบด้วยปฏิสัมภิทาญาณ ๔ คือ มีความรู้แตกฉานในอรรถ ธรรม นิรุกติ และปฏิภาณ

                                                                                                             ๑๑
              ในการศึกษาเรื่องราวและประวัติชีวิตของบุคคลสำคัญ จะมีข้อคิดและแบบอย่างดี ๆ อยู่มากมาย ให้เรานำมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิต เรื่องราวข้างต้นก็เช่นกัน เราจะเห็นได้ว่า ชีวิตที่ประสบความสุขความสำเร็จนั้น ต้องมีบุญอยู่ เบื้องหลัง

 

เรื่องจากพระไตรปิฎก


              วันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ นี้ เป็นอีกวาระหนึ่งที่ทุกท่านจะได้สร้างบุญที่เป็นบุญพิเศษ คือ จะได้ไปร่วมกันหล่อรูปเหมือนพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ด้วยทองคำ ณ วัดพระธรรมกาย เพื่ออัญเชิญไปนำขบวนพระธุดงค์ในเส้นทางมหาปูชนียาจารย์ ซึ่งจะช่วยเปิดใจมหาชนที่พบเห็นให้เกิดศรัทธาในพระพุทธศาสนา และตระหนักถึงความสำคัญของพระเดชพระคุณ  หลวงปู่รวมทั้งคำสอนของท่านมากยิ่งขึ้น

              จึงขอเรียนเชิญทุกท่านร่วมทำบุญ    หล่อหลวงปู่ทองคำและไปร่วมพิธีที่วัดโดยทั่ว  หน้ากัน เนื่องจากบุญนี้จะเป็นบุญสำคัญที่สุดอีกบุญหนึ่ง ที่จะกำหนดชะตาชีวิตของเราในอนาคตให้เป็นไปในทางที่ดียิ่ง ๆ ขึ้น ดังที่หลาย ๆ คนได้ประสบมาแล้วจากการร่วมหล่อหลวงปู่องค์ที่ ๑-๖ เพราะการทำบุญด้วยทองคำซึ่งเป็นวัตถุอันเลิศ ถวายแด่มหาปูชนียาจารย์ผู้เลิศ จะช่วยสั่งสม   รูปสมบัติอันเลิศ ทรัพย์สมบัติอันเลิศ และคุณสมบัติอันเลิศ ให้ติดตัวเราไปทุกภพทุกชาติ    ที่สำคัญ บุญนี้ยังเป็นบุญพิเศษที่มีอานิสงส์ให้เรามีผิวพรรณวรรณะที่งดงาม ซึ่งนอกจากจะเป็นใบเบิกทางในการทำกิจการงานต่าง ๆ ได้อย่างสะดวกง่ายดายแล้ว ยังช่วยให้เราไม่ต้องประสบกับความทุกข์จากปัญหาการเหยียดผิวที่เป็นปัญหาคู่โลกมาตั้งแต่ยุคต้นกัปได้อีกด้วย...

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล