วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ ของจริง...ย่อมคู่ควรกับคนจริง

เรื่องจากปก
เรื่อง : พระมหาพงศ์ศักดิ์ ฐานิโย, ดร.


ของจริง...ย่อมคู่ควรกับคนจริง

         ภายใต้สภาวะจิตอันสับสนต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตของ “ลุค สกายวอล์คเกอร์” (Luke Skywalker) ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น “อัศวินเจไดคนสุดท้าย” ขณะนั้นปรมาจารย์ “โยดา” (Yoda) “อัศวินเจไดคนแรก” ได้ปรากฏตัวขึ้นต่อหน้า และกล่าวให้สติแก่ “ลุค สกายวอล์คเกอร์”
ว่า…


“Pass on what you have learned.”
Strength, mastery, but weakness, folly, failure, also. Yes, failure, most of all.
The greatest teacher, failure is. Luke, we are what they grow beyond.
That is the true burden of all masters.

“จงส่งต่อสิ่งที่เจ้ารู้”
พลัง ความเชี่ยวชาญ รวมทั้งจุดอ่อน ความเขลา ความล้มเหลว โดยเฉพาะความล้มเหลว
อาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดคือความล้มเหลว ลุค ศิษย์นั้นต้องไปได้ไกลกว่าตัวเรา
นั่นคือหน้าที่แท้จริงของอาจารย์อย่างเรา

 

           จากบทสนทนาในนวนิยาย “สตาร์ วอร์ส : ปัจฉิมบทแห่งเจได” (Star Wars : The Last Jedi) ถึงความสำคัญและหน้าที่ของผู้ที่เป็นครูบาอาจารย์ ทำให้หวนระลึกถึงเรื่องราวพุทธประวัติ ซึ่งทำให้เราเห็นถึงเส้นทางการสั่งสมบารมีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อครั้งยังเป็นพระโพธิสัตว์ว่า แม้พระพุทธองค์เองก็ได้พานพบกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอดีตนับพระองค์ไม่ถ้วน อีกทั้งผ่านเส้นทางการลองผิดลองถูกบนเส้นทางสายนี้ จนกระทั่งในที่สุดได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บรมครูของชาวโลก และภายหลังการตรัสรู้ พระพุทธองค์ทรงใช้เวลาตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ เพื่อประโยชน์แก่เวไนยสัตว์ทั้งหลาย จวบจนวาระสุดท้ายก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพาน เป็นแบบแผนปฏิบัติ “ต้นแบบ” ที่ดีงามมาถึงในปัจจุบัน

     ตัวเรานั้นมีบุญลาภอันประเสริฐที่ไม่ต้อง “ลองผิดลองถูก” เช่นเดียวกับพระพุทธองค์อีก เพราะประสบการณ์ทั้งหลายทั้งด้านบวกและด้านลบเหล่านั้น ที่พระพุทธองค์ได้ตรัสเตือนไว้โดยไม่ปกปิดอำพราง ได้ถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีโดยพระอรหันตสาวกและพระมหาเถระในรูปของ “พระไตรปิฎก” ที่สืบทอดมาถึงในปัจจุบัน ครูบาอาจารย์ทั้งหลายในกาลต่อมาจึงได้ประพฤติปฏิบัติธรรมโดย “เอาชีวิตเป็นเดิมพัน” เพื่อให้ได้มาซึ่ง “อมตธรรม” ที่พระพุทธองค์ได้ทรงค้นพบนี้มาเป็นที่พึ่งที่ระลึก เพื่อไปให้ถึงที่สุดแห่งกองทุกข์ตามพระพุทธองค์ไป


ตถาคตเกิดขึ้นก็ตาม ไม่เกิดขึ้นก็ตาม ธาตุอันนั้น คือ ความตั้งอยู่ตามธรรมดา
ความเป็นไปตามธรรมดา ความที่มีสิ่งนี้เป็นปัจจัยของสิ่งนี้ ก็คงตั้งอยู่อย่างนั้น
ตถาคตรู้ บรรลุธาตุนั้น ครั้นรู้บรรลุแล้วจึงบอก แสดง บัญญัติ
กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย
และกล่าวว่า ‘เธอทั้งหลายจงดูเถิด’

 

        หนึ่งในจำนวนครูบาอาจารย์ทั้งหลายเหล่านั้นที่ได้ประพฤติปฏิบัติดังเช่นพระพุทธองค์นี้คือ พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ผู้ที่ศิษยานุศิษย์ทั้งหลายต่างเรียกท่านว่า “หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ...พระผู้ปราบมาร” ซึ่งตลอดระยะเวลา ๑๑ พรรษา ในร่มผ้า
กาสาวพัสตร์ หลวงปู่ได้ศึกษาพระธรรมวินัยทังภาคปริยัติและภาคปฏิบัติ จนมีแบบแผนในการประพฤติปฏิบัติ แต่ถึงกระนั้น ความมุ่งหมายในการบวช คือ การบรรลุมรรคผลนั้น ท่านเห็นว่ายังทำได้ไม่ถึงที่สุด ดังนั้นในวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ กลางพรรษาที่ ๑๒ ปีพุทธศักราช ๒๔๖๐ ท่านจึงได้ปรารภกับตัวท่านเองว่า...

           “เราบวชมาจวนจะครบ ๑๒ พรรษาแล้ว วิชชาของพระพุทธเจ้าเรายังไม่ได้บรรลุเลยทั้งที่การศึกษาของเราก็ไม่เคยขาดเลยสักวันทั้งคันถธุระและวิปัสสนาธุระ อย่าเลย ควรจะรีบกระทำความเพียรให้รู้เห็นของจริงในพระพุทธศาสนาเสียที”

               ในค่ำคืนนั้น ณ วัดโบสถ์บน ตำบลบางคูเวียง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี ท่านได้ตั้งสัตยาธิษฐานต่อหน้าพระพุทธปฏิมากรว่า…

            “ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดข้าพระพุทธเจ้า   ทรงประทานธรรมที่พระองค์ได้ทรงตรัสรู้อย่างน้อยที่สุดแลง่ายที่สุด ที่พระองค์ได้ทรงรู้แล้วแก่ข้าพระพุทธเจ้า ถ้าข้าพระพุทธเจ้ารู้ธรรมของพระองค์แล้วจักเป็นโทษแก่ศาสนาของพระองค์แล้ว ขอพระองค์อย่าทรงพระราชทานเลย ถ้าเป็นคุณแก่ศาสนาของพระองค์แล้ว ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานแก่ข้า-พระองค์ ข้าพระองค์ขอรับเป็นทนายศาสนาในศาสนาของพระองค์จนตลอดชีวิต”

 

           หลังจากนั้น ท่านจึงได้เริ่มหลับตาทำภาวนา ดำเนินจิตเข้าไปสู่ภายในตามเส้นทางมัชฌิมาปฏิปทา จนในที่สุดได้เข้าถึง “พระธรรมกาย” พระรัตนตรัยภายใน เป็นธรรมธาตุอันบริสุทธิ์ เห็นถึงความตั้งอยู่ และความเป็นไปตามธรรมดาด้วย “ธรรมจักษุ” ของพระธรรมกาย

 

         นับจากวันนั้นเป็นต้นมา ท่านได้ใช้เวลาตลอดทั้งชีวิตของท่านทำตามสัตยาธิษฐานที่ได้ให้ไว้ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา วิชชาธรรมกาย ส่งต่อความรู้ที่ได้จากการค้นคว้าเข้าไปสู่หนทางสายกลางภายในแก่ศิษยานุศิษย์ เป็นทนายพระศาสนาตราบจนวาระสุดท้ายแห่งชีวิต

 

          ในปีนี้ที่วันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ เวียนมาบรรจบครบ ๑๐๑ ปี แห่งการเข้าถึงพระธรรมกายของหลวงปู่วัดปากน้ำ จึงควรที่พุทธศาสนิกชน ศิษยานุศิษย์ จะได้หวนกลับมาระลึกนึกถึงปฏิปทาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์อักทั้งปฏิปทาของหลวงปู่ที่ท่านได้ทุ่มชีวิตเป็นเดิมพันในการประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อให้ได้มาซึ่งอมตธรรมอันล้ำค่า สมดังคำกล่าวที่ว่า “ของจริง…ย่อมคู่ควรกับคนจริง” อีกทั้งยังเป็นทิฏฐานุคติอันดีงามแก่อนุชนรุ่นหลังสืบต่อไป

 
 โกสชฺชํ ภยโต ทิสฺวา วิริยารมฺภญฺจ เขมโต อารทฺธวิริยา โหถ
ท่านทั้งหลายจงเห็นความเกียจคร้านว่าเป็นภัย เห็นการปรารภความเพียรว่า
เป็นธรรมอันเกษม ท่านทั้งหลายจงปรารภความเพียรเถิด

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๑๘๙ เดือนกันยายน ๒๕๖๑

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล