วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๕๕)

บทความพิเศษ
เรื่อง : นวธรรมและคณะนักวิจัย DIRI

 

หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ
(ตอนที่ ๕๕)

       ย่างก้าวของการสืบค้นหลักฐานธรรมกายในโอกาสครบ ๕๐ ปี วัดพระธรรมกาย : ย่างแก้วแห่งการตอบแทนพระคุณที่ยิ่งใหญ่ของคุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ในรอบ ๑๑๑ ปี

      ในปีพุทธศักราช ๒๕๖๓ นี้ถือเป็นอีกปีหนึ่งที่มีความสำคัญของศิษยานุศิษย์วัดพระธรรมกายทุกคน เพราะเป็นปีที่วัดพระธรรมกายได้รับการสถาปนามาครบ ๕๐ ปี และยังเป็นวาระแห่งการครบ๑๑๑ ปี คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ผู้ให้กำเนิดวัดพระธรรมกายด้วย ซึ่งในฉบับที่แล้ว ผู้เขียนก็ได้กล่าวถึงเรื่องราวบางส่วนของชีวประวัติอันทรงคุณค่าของคุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง เกี่ยวกับการสร้างวัดพระธรรมกาย รวมทั้งมโนปณิธานของท่านที่ทำให้การบุกเบิกสร้างวัดพระธรรมกายบรรลุความสำเร็จจนกระทั่งมาเป็นวัดพระธรรมกายในปัจจุบัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ศิษยานุศิษย์ทุกคนต่างซาบซึ้งในพระคุณของท่านสืบมา

       ดังที่ผู้เขียนได้กล่าวไว้เสมอในหลาย ๆ โอกาสว่า เครื่องมือที่สำคัญอย่างหนึ่งที่คุณยายอาจารย์ฯ ท่านนำมาใช้ในการสร้างวัดพระธรรมกายจนสำเร็จสมบูรณ์นั้น นอกจากการมุ่งสืบสานวิชชาธรรมกายที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) เป็นผู้ค้นพบแล้ว คุณยายอาจารย์ฯ ท่านยังให้ความสำคัญกับการปฏิบัติธรรมอย่างยิ่งยวดด้วย เพื่อให้ทีมงานบุกเบิกสร้างวัดพระธรรมกายทุกท่านทุกคนนั้นได้มีความซาบซึ้งและเข้าใจอย่างแจ่มชัดว่าวิชชาธรรมกายมีความหมายและความสำคัญเพียงใดทั้งต่อตนเองและสังคม ซึ่งในที่สุดแล้วความรู้ความเข้าใจดังกล่าวนี้ก็ได้ถูกส่งทอดมายังเหล่าศิษยานุศิษย์ทุกรุ่นมาจนถึงปัจจุบัน


โลโก้ ๕๐ ปี วัดพระธรรมกาย


        สำหรับในปีนี้ เนื่องจากเป็นปีที่สำคัญที่วัดพระธรรมกายได้รับการสถาปนามาครบ ๕๐ ปี และยังเป็นปีแห่งการครบ ๑๑๑ ปี คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ดังกล่าวทางสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) จึงถือโอกาสอันเป็นมงคลนี้จัดงาน “การสืบค้นหลักฐานธรรมกาย” เพื่อประกาศพระคุณของมหาปูชนียาจารย์ขึ้น โดยในงานนี้จะมีทั้งการเสวนาวิชาการและการจัดนิทรรศการ “หลักฐานธรรมกาย” (Traces and Trail of Dhammakaya) โดยจะเป็นการรวบรวมผลงานของนักวิชาการแห่งสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) ซึ่งแต่ละท่านได้ผ่านประสบการณ์การศึกษาและสืบค้นหลักฐานธรรมกายมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน จนทำให้ได้ผลงานการศึกษาวิจัยที่ทรงคุณค่าน่าจดจำ ซึ่งหากจะกล่าวตั้งแต่วันเปิดงานเสวนานั้น พระมหาอภิวรรณ อภิวณฺโณ (นักวิจัยของสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย) ได้บรรยายเรื่อง “การค้นพบหลักฐานธรรมกาย ในการลงพื้นที่ภาคสนาม จังหวัดน่าน ตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๕๓-๒๕๖๓ : กรณีศึกษาคาถาธรรมกาย ในบทสวดพิธีพุทธาภิเษกพระพุทธรูปของหลวงปู่พระครูมงคลรังสี (ครูบาก๋ง) วัดศรีมงคล จ.น่าน” ซึ่งโดยหลักใหญ่ ๆแล้วเป็นการกล่าวถึงความเก่าแก่และความศักดิ์สิทธิ์ของ “คาถาธรรมกาย” ที่มีการสืบทอดอยู่ในพิธีพุทธาภิเษกองค์พระพุทธรูป พระเจดีย์ ฯลฯ มาทั้งสิ้น โดยเนื้อหาสำคัญ ๆ ของคาถาธรรมกายที่อยู่ในผืนแผ่นดินล้านนานั้น ล้วนแต่เป็นการสาธยายถึงพระพุทธคุณหรือพุทธานุภาพอันไม่มีประมาณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสมอเหมือนกันหมด ซึ่งไม่เพียงนำมาใช้สวด เพื่อสมโภชองค์พระพุทธรูปหรือพระเจดีย์เท่านั้น แต่ยังใช้สวดเพื่อความเป็นสิริมงคลด้วย


ภาพงานเสวนาหลักฐานธรรมกาย โดยพระมหาอภิวรรณ อภิวณฺโณ

 

พระเกียรติศักดิ์ กิตฺติปญฺโญ

     หนึ่งในหัวข้อการเสวนาที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ได้แก่ การเสวนาเรื่อง “โฝวซัวกวนจิง : คัมภีร์พุทธานุสติโบราณสู่การเห็นพุทธะในตน” โดยพระเกียรติศักดิ์ กิตฺติปญฺโญ1 นักวิจัยของสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย ในฐานะนักศึกษาปริญญาโทของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ได้หยิบยกมาจากส่วนหนึ่งของงานวิจัยที่ศึกษาเรื่อง “คัมภีร์ตุนหวง หมายเลข S.2585 : การศึกษาเนื้อหาและสหวิทยาการเกี่ยวกับเทคนิคการทำสมาธิและประสบการณ์การเห็นในสมาธิช่วงยุคกลางตอนต้นของจีน” (Dunhuang Manuscript S.2585: A Textual and Interdisciplinary Study on Early Medieval Chinese Buddhist Meditative Techniques and Visionary Experiences) ซึ่งเนื้อหาหลักของงานวิจัยชิ้นนี้ คือการกล่าวถึงการศึกษาวิธีการทำสมาธิทางพระพุทธศาสนาของจีนเมื่อประมาณ ค.ศ. ๒๒๐-๕๘๙ ซึ่งมีอยู่หลายรูปแบบ หลายวิธีการ และบางวิธีการอาจเชื่อมโยงย้อนไปได้ถึงสมัยเอเชียกลางและอินเดียโดยในการนี้ผู้วิจัยได้ทำการสำรวจและวิเคราะห์เทคนิคการทำสมาธิจากเอกสารปฐมภูมิ (คือคัมภีร์ต่าง ๆ) ของจีนเป็นจำนวนมาก ซึ่งหนึ่งในจำนวนนั้นได้แก่ คัมภีร์ต้นฉบับตัวเขียนคู่มือฝึกสมาธิตุนหวง S.2585 ที่มีชื่อเต็มว่า “คัมภีร์โฝวซัวกวนจิง (Foshuo guan jing 佛説觀經; T.2914) โดยจากการศึกษาคัมภีร์ดังกล่าวนี้เองที่ทำให้ผู้วิจัยได้ข้อสรุปที่มีความสอดคล้องคล้ายคลึงกับแนวคิดหลักในวิชชาธรรมกายอย่างมีนัยสำคัญ

 

คุณวรเมธ มลาศาสตร์

      ในการจัดงานเสวนาครั้งนี้ มีหัวข้อการเสวนาที่น่าสนใจหลายเรื่องเช่น “คัมภีร์ในกลุ่มคัมภีร์ธัมมกายกับความสำคัญทางประวัติศาสตร์ : พิธีกรรมและสมาธิ” โดยคุณวรเมธ มลาศาสตร์2 นักวิจัยของสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) (มหาบัณฑิตจาก Religious Studies with Distinction, University of Otago)ที่จะชี้ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับคัมภีร์ (Manuscripts) เก่าแก่ทางพระพุทธศาสนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้เราได้เห็นว่า บรรดาคัมภีร์ต่าง ๆ ที่มีจำนวนมากมายเหล่านั้น ถูกสร้างขึ้นมาด้วยวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน เช่น บางคัมภีร์อาจถูกสร้างขึ้นมาเพื่อจารึกตำนาน บางคัมภีร์ก็เป็นตำราสำหรับเรียนพระปริยัติธรรม หรือบางคัมภีร์อาจมีวัตถุประสงค์ที่จะจารึกขึ้นมาเพื่อใช้เป็นตำราพระปริตร เป็นต้น ซึ่งเนื้อหา ตัวอักษร ตลอดจนภาษาที่ใช้จารึกรวมทั้งปีที่สร้างนั้น ก็อาจมีความแตกต่างกันออกไปตามภูมิศาสตร์และกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งข้อสังเกตเหล่านี้ยังครอบคลุมไปถึงคัมภีร์ในกลุ่มคัมภีร์ “ธัมมกาย” ด้วยเช่นกัน ที่สะท้อนคติความเชื่อ พิธีกรรม หลักการทำสมาธิ และแนวปรัชญาทางพระพุทธศาสนาทั้งของไทยและในพื้นที่อื่น ๆ ด้วย ทั้งนี้ข้อสังเกตหรือคำถามที่ผู้วิจัยได้ตั้งไว้ในหัวข้อการเสวนาเรื่องนี้ก็มีความน่าสนใจในหลาย ๆ ประเด็น เช่น การค้นพบคัมภีร์ในกลุ่มคัมภีร์ธัมมกายบอกอะไรเรา ? คัมภีร์ในกลุ่มคัมภีร์ธัมมกายใช้ทำอะไร ? ทำไมคัมภีร์ในกลุ่มคัมภีร์ธัมมกายถึงไม่เป็นที่รู้จักกันในภาคกลางในยุคปัจจุบัน ? ซึ่งข้อสังเกตเหล่านี้ล้วนแต่เป็นข้อสังเกตที่ไม่เพียงแต่สาธุชนที่เป็นลูกหลานของมหาปูชนียาจารย์ในวิชชาธรรมกายเท่านั้นที่ให้ความสนใจ แต่เหล่าพุทธศาสนิกชนที่สนใจใฝ่รู้ทั่วโลกต่างก็พยายามเสาะหาคำตอบเหล่านี้กันทั่วไป

 

พระวีรชัย เตชงฺกุโร

      หัวข้อการเสวนาเรื่อง “มุมมองของคำว่าธรรมกาย ตามรอยร้าวระหว่างยุคพุทธศาสตร์ดั้งเดิมกับพุทธศาสตร์มหายาน” โดยพระวีรชัย เตชงฺกุโร นักวิจัยของสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) (Doctor Philosophiae at the University of Oslo, Norway) ที่มีประเด็นที่แหลมคมอย่างยิ่งเกี่ยวกับคำและความหมายของคำว่า “ธรรมกาย” ซึ่งจะให้คำตอบที่ชัดเจนแก่เราเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างคำว่า “ธรรมกาย” กับพุทธศาสนาดั้งเดิมและพุทธศาสนามหายาน เรื่องราวและประเด็นที่เป็นมูลเหตุการเกิด “รอยร้าว” ของยุคสมัยที่เรียกว่ายุคพุทธศาสตร์ดั้งเดิมกับพุทธศาสนามหายาน ฯลฯ ซึ่งคำถามหรือประเด็นเหล่านี้มิได้เป็นสิ่งที่เราสามารถหาฟังหรือหาชมได้ทั่วไป หากแต่เป็นประเด็นที่มีความเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นประเด็นที่มีความเป็นประวัติศาสตร์อย่างยิ่ง ซึ่งเราทุกคนที่เป็นชาวพุทธควรจะมีโอกาสได้บันทึกไว้

 

ดร.กิจชัย เอื้อเกษม

        หัวข้อการเสวนาของนักวิจัยอาวุโสทั้ง ๒ ท่าน คือ ดร.กิจชัย เอื้อเกษม และ ดร.ชนิดา จันทราศรีไศล (บศ.๙) ที่เราจะได้ร่วมรับฟังนั้นจึงมีคุณค่าอย่างยิ่ง โดยในส่วนของ ดร.กิจชัย เอื้อเกษม (Doctor of Philosophy at the University of Sydney)3 นั้น ท่านจะมาชี้ให้เราเห็นถึง “ที่มาของคาถาธรรมกาย” ว่ามีความเป็นมาอย่างไรสำคัญอย่างไร เกี่ยวพันกับวิถีชีวิตของชาวพุทธไทยมาอย่างไร ซึ่งการอธิบายความเกี่ยวข้องกับคาถาธรรมกายดังที่กล่าวมานี้ จะมีส่วนช่วยเพิ่มความรู้ความเข้าใจของเราอย่างยิ่ง และเพิ่มความมั่นใจของเราอย่างยิ่งในเวลาที่ถูกถามคำถามเกี่ยวกับธรรมกาย หรือถูกขอให้อธิบายถึงประวัติศาสตร์ที่มาของธรรมกาย เพราะส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าที่ผ่าน ๆ มาหลายสิบปีนั้น เรื่องราวของธรรมกายในสังคมไทยนั้น ก็ยังอยู่ในความสนใจของผู้คนอยู่ตลอดเวลา ในขณะที่ความรู้ความเข้าใจที่สมบูรณ์เกี่ยวกับเรื่องธรรมกาย ความซาบซึ้งและตระหนักรู้ว่าแท้จริงแล้ว “ธรรมกาย” นั้นเป็นสิ่งที่จรรโลงสังคมและพระพุทธศาสนาตลอดมายังมีอยู่น้อยมาก สมควรที่ลูกศิษย์หลานศิษย์ของพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ ทุกคนจะได้ช่วยกันทำหน้าที่เผยแผ่ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางต่อไปให้ได้โดยไม่ท้อถอย ซึ่งการที่จะทำดังนั้นได้ย่อมต้องอาศัยการเติมเต็มความรู้ความเข้าใจที่สำคัญเหล่านี้อย่างสม่ำเสมอ

 

ดร.ชนิดา จันทราศรีไศล

       เช่นเดียวกัน หากทุกท่านได้มาร่วมการเสวนาในหัวข้อ “การศึกษาหลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณกับความเข้าใจประวัติศาสตร์ของวิชชาธรรมกาย” ของ ดร.ชนิดา จันทราศรีไศล (บศ.๙) (Doctor of Philosophy at the University of Sydney)4แล้ว ผู้เขียนก็ยิ่งมีความเชื่อมั่นว่าทุก ๆ ท่านก็ยิ่งมีความมั่นใจมากขึ้นกว่าเดิมอีกมากเช่นกัน ดังจะเห็นได้ว่างานศึกษาวิจัยของทั้ง ดร.กิจชัย เอื้อเกษม และงานศึกษาวิจัยของ ดร.ชนิดา จันทราศรีไศล นั้นมีลักษณะที่ช่วยเติมความสมบูรณ์ซึ่งกันและกัน ในขณะที่งานของ ดร. กิจชัยนั้นเป็นงานที่มุ่งสร้างความเข้าใจในเรื่องเนื้อหาของคาถาธรรมกาย งานของท่าน ดร.ชนิดา ก็เป็นงานซึ่งมุ่งขจัดข้อสงสัยในภาพกว้างทั้งหมด รวมตลอดไปถึงการช่วยคลี่คลายปมเงื่อนและอธิบายถึงต้นธารของวิชชาธรรมกายว่าเป็นมาอย่างไร ซึ่งมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน ถือว่าเหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ต้องการข้อมูลไปใช้ในการทำหน้าที่เป็น “ทนายแก้ต่าง” ให้แก่พระพุทธศาสนาวิชชาธรรมกายทั้งในปัจจุบันและในอนาคตอันเป็นบุญอสาธารณะอย่างหนึ่ง

          การจัดงานสืบค้นหลักฐานธรรมกายของสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) เพื่อประกาศพระคุณมหาปูชนียาจารย์ในวาระ ๑๑๑ ปี ครั้งนี้ จึงมิใช่เป็นเพียงงานที่คณะทำงานจัดขึ้น เพื่อบอกเล่าว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาหลายปีนั้น สถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) มีภารกิจสำคัญอย่างไร รูปแบบใด และจะมุ่งไปที่จุดหมายใดเท่านั้น แต่ยังมุ่งหมายที่จะทำหน้าที่เป็น “หน่วยสรรพาวุธทางปัญญา” เป็นคลังความรู้ที่ไม่หยุดนิ่งของเหล่าลูกศิษย์หลานศิษย์ในวิชชาธรรมกาย ที่จะผลิตองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับวิชชาธรรมกายเพื่อป้อนให้แก่นักรบทุกคน เพื่อไว้ใช้สำหรับแก้ไขความเข้าใจที่ยังไม่สมบูรณ์ของชาวโลก (อันอาจยังมีอยู่) ให้หมดไป และเพื่อเป็นแหล่งรวมหลักฐานที่จะใช้ยืนยันความมีอยู่จริงของวิชชาธรรมกายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่สมบูรณ์ที่สุดต่อไป ซึ่งบุคคลที่จะเข้ามาใช้ประโยชน์จากหลักฐานธรรมกายเหล่านี้ก็คือเหล่าศิษยานุศิษย์ในยุคปัจจุบัน รวมทั้งพุทธศาสนิกชนทั่วโลกในอนาคต

 

     ท้ายที่สุดนี้ผู้เขียนขอเชิญชวนท่านผู้มีบุญทุกท่านอีกครั้งหนึ่งให้มาเข้าร่วมงานเสวนาวิชาการ ร่วมชมนิทรรศการและสื่อโสตทัศน์เกี่ยวกับหลักฐานธรรมกาย เพื่อทำความจริงให้ปรากฏ ให้ทุกคนได้เข้าใจอย่างลึกซึ้งและถูกต้อง รวมทั้งเพื่อให้ได้ทราบถึงขั้นตอนการดำเนินงานของสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) ซึ่งงานยังคงจัดขึ้นที่อาคาร ๑๐๐ ปีคุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ระหว่างวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ถึง ๒๒ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๓ ขอให้บุญแห่งการร่วมกันเป็นทนายแก้ต่างให้แก่พระพุทธศาสนาวิชชาธรรมกายนี้จงติดตามตัวทุก ๆ ท่านไป ให้สมความปรารถนาในสิ่งที่ดีงามทุกประการเทอญ

 

ขอเจริญพร

 


1บรรยายวันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ เวลา ๑๓.๐๐ น ณ อาคาร ๑๐๐ ปี คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง
2บรรยายวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๓ เวลา ๑๓.๐๐ น ณ อาคาร ๑๐๐ ปี คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง
3บรรยายวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ เวลา ๑๓.๐๐ น ณ อาคาร ๑๐๐ ปี คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง
4บรรยายวันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๓ เวลา ๑๓.๐๐ น ณ อาคาร ๑๐๐ ปี คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล