วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ กำเนิดหอฉัน คุณยายอาจารย์ มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง

 


                        นับแต่โบราณกาล จนถึงปัจจุบัน เรื่องราวและภาพของการถวายทาน การสร้างโรงทานเป็นสังฆทาน เป็นภาพที่เราพบเห็นหรือได้ยินจนคุ้นหูคุ้นตา แต่หากเราได้สืบสาวราวเรื่องขึ้นไปถึงความเป็นมาของการสร้างบุญในลักษณะนี้ เราจะพบว่าในพระไตรปิฎกได้มีการบันทึกไว้ว่า การสร้างบุญตั้งโรงทานนั้นมีมาตั้งแต่ครั้งสมัยบรรพกาลนานแสนนาน

                        ดังตัวอย่างในครั้งที่อนาถบิณฑิกเศรษฐีได้ตั้งโรงทาน เพื่อถวายภัตตาหารเลี้ยงพระภิกษุสงฆ์เป็นประจำทุกวัน ๑,๐๐๐ รูป ตลอดพรรษา และหากศึกษาไปมากกว่านี้ จะพบว่าไม่เพียงแต่ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีเท่านั้น ที่สร้างมหาทานบารมีอย่างเข้มข้นเช่นนี้ ยังมีบัณฑิตอีกหลายท่าน เช่น มหาอุบาสิกาวิสาขา โฆสกเศรษฐี กุกกุฏเศรษฐี ปาวาริกเศรษฐี ซึ่งท่านเหล่านี้ก็ได้ตั้งโรงทานถวายภัตตาหารพระภิกษุสงฆ์ โดยมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นประธานนับแรมเดือนเช่นกัน ซึ่งสิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่า การสร้างมหาทานบารมีนับเป็นสิ่งที่สำคัญและมีความจำเป็นมากต่อหนทางอันยาวไกลในวัฏสงสาร

                        ดังนั้นในคอลัมน์นี้ จึงขอนำเสนอเรื่องราวประวัติ และมโนปณิธานในการสร้างมหาทานบารมีของครูบาอาจารย์ของเราว่าท่านมีดำริมีมโนปณิธานอย่างไร ทำไมท่านถึงให้ความสำคัญกับการสร้างมหาทานบารมีมากถึงเพียงนี้


ความดำริการตั้งโรงทานของหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ

                         ในปี พ.ศ.๒๔๕๙ พระเดชพระคุณ หลวงปู่วัดปากน้ำฯ ท่านได้ดำเนินการสร้างโรงทานจากดำริเดิมตั้งแต่สมัยที่ท่านยังอยู่วัดพระเชตุพนฯ ซึ่งท่านได้รับความลำบากในเรื่องอาหารขบฉันอย่างมาก จึงได้ตั้งมโนปณิธานเอาไว้ว่า หากมีโอกาสจะตั้งโรงทานไว้เลี้ยงพระภิกษุสามเณร ไม่ให้ลำบากและกังวลในเรื่องภัตตาหาร จะได้มีเวลาและกำลังในการศึกษาพระปริยัติธรรมและปฏิบัติธรรมได้เต็มที่ แล้วยังเป็นการอำนวย ความสะดวกให้กับท่านสาธุชนที่ต้องการจะทำบุญถวายภัตตาหารด้วย ซึ่งเพียงแต่แสดงความจำนงจะเป็นเจ้าภาพ และนำปัจจัยมามอบให้กับไวยาวัจกรของวัดปากน้ำฯ ทางวัดจะจัดเตรียมภัตตาหาร โดยมีแม่ครัวหุงหาให้เสร็จ มื้อเช้าและมื้อเพล แล้วให้เจ้าภาพเชิญชวนครอบครัวและญาติมิตร มาช่วยกันประเคนอาหารเท่านั้น


หลวงปู่ท่านหาทุนทรัพย์จากที่ไหนมาดำเนินการ

                         สมัยแรกเริ่มที่ก่อตั้งโรงทาน พระเดชพระคุณหลวงปู่ท่านใช้ทุนทรัพย์ส่วนตัวมาเป็นค่าใช้จ่ายดำเนินการ โดยมีลูกศิษย์ลูกหาและญาติพี่น้องของท่านนำข้าวสาร ของแห้งมาถวายที่วัดเป็นประจำ วันใดหากไม่มีใครมาเป็นเจ้าภาพ หลวงปู่ท่านก็จะใช้ทุนทรัพย์ส่วนตัวของท่านเอง ถึงแม้ที่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ จะมีการเลี้ยงภัตตาหาร เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ

                        จนกระทั่งมีพระภิกษุสามเณรประจำถึง ๖๐๐ กว่ารูป หลวงปู่ก็ไม่เคยวิตกกังวลเลยว่าท่านจะเลี้ยงไม่ไหว ซึ่งท่านเคยพูดเสมอๆ ว่า กินคนเดียวไม่พอกิน กินมากคนก็ไม่หมด จากตรงจุดนี้นี่เอง ทำให้ลูกศิษย์ลูกหาเห็นถึงอัธยาศัยการบำเพ็ญ ทานบารมีอย่างเอาจริงเอาจังของหลวงปู่ฯ โดยที่ท่านเคยพูดไว้ในการแสดงพระธรรมเทศนา ในเรื่อง ของที่ได้โดยยาก เมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๗ ไว้ว่า

                        "...ทานนั่นแหละจะเป็นชนกกรรมนำไปเกิดในสกุลที่มั่งมีมาก เพราะผลทานส่งให้ เมื่อให้ทานแล้วสมบูรณ์บริบูรณ์ ผู้ยากขัดสนก็สมบูรณ์ อ้ายความสมบูรณ์ที่ให้แก่เขานะกลับมาเป็นของตัว มากน้อยเท่าใดกลับมาเป็นของตัวทั้งหมด... ทานนี่แหละเป็นข้อสำคัญนัก พระโพธิสัตว์จะได้เสด็จเป็นพระพุทธเจ้า ก็อาศัยทานนี้แหละ ไม่ทานละก็เป็นไม่สำเร็จทีเดียว เพราะฉะนั้นบัดนี้วัดปากน้ำ ที่มีภิกษุสามเณรมารวมอยู่มาก ก็เพราะอาศัยเจ้าอาวาสบริจาคทาน บริจาคมานาน ๓๗ ปี บริจาคมา บริจาคเรื่อยไม่ได้ครั่นคร้ามนะ ถ้าว่าใครไม่มาบริจาค ก็บอกผู้หนึ่งผู้ใดมาบริจาคด้วยละ ก็ทำไปถ้าว่าไม่พอละก็ เท่าใดก็ให้ทีเดียว เป็นหนี้เป็นสินยอมทีเดียว เขาจะบริจาคทานทำบารมีไปในอนาคตกาลข้างหน้ากันอย่างนั้น..."

ทำไมหลวงปู่ถึงสามารถเลี้ยงพระได้ตลอด                                                                                                                                                                                                                                                   

                       ในสมัยก่อนนั้นแทบไม่มีวัดใดในประเทศไทยที่สามารถเลี้ยงภัตตาหารพระภิกษุสามเณรได้ทุกวันอย่างเป็นประจำจำนวนกว่า ๖๐๐ รูป โดยไม่ต้องบิณฑบาตเลย เหมือนวัดปากน้ำฯ ซึ่งทำให้หลายคนทึ่งในบุญบารมีของพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ ที่ท่านทำได้ จนกระทั่งพระธรรมทัศนาธร อดีตอธิบดีสงฆ์ แห่งวัดชนะสงคราม ที่ได้เห็นความอัศจรรย์เช่นนี้ จึงอดสงสัยไม่ได้ที่จะเรียนถามหลวงปู่ว่า

                        "เพราะเหตุอะไรหลวงพ่อจึงสามารถเลี้ยงพระภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกา และเลี้ยงศิษย์วัดได้ถึงปานนั้น ?"

                        หลวงปู่ท่านยิ้มแย้มแจ่มใส และตอบด้วยความกล้าหาญว่า

                        "ไม่ต้องเป็นทุกข์เป็นร้อนดอกท่านเจ้าคุณ เพราะอาศัยพระธรรมกาย ท่านบันดาลให้"้

                        นี่เป็นคำตอบของท่านที่ยืนยันอยู่เสมอ


จุดเริ่มต้นมโนปณิธานของคุณยาย

                        การที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ ท่านเป็นต้นบุญต้นแบบ ในการบำเพ็ญทานบารมีอย่างเอาจริงเอาจังทำอย่างตลอดต่อเนื่อง และในปัจจุบันยังมีการสานต่อ แม้หลวงปู่ท่านจะมรณภาพไปแล้วก็ตาม จากจุดนี้ชี้ให้เห็นว่าการบำเพ็ญทานบารมีนั้นเป็นสิ่งสำคัญมาก หรือแม้แต่เราย้อนไปศึกษาถึงประวัติการสร้างบารมีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ท่านก็ให้ความสำคัญกับทานบารมีเป็นอันดับแรก ดังนั้นคุณยายอาจารย์ฯ ท่านจึงอยากสร้างบุญใหญ่เช่นนี้ด้วย ท่านเคยกล่าวไว้ว่า

                        "งานทุกอย่าง ยายวางแผนมาตลอด แม้การสร้างศูนย์พุทธจักรฯ ยายก็วางแผน ต้องทำให้ดี ดีทุกอย่าง แล้วยายก็ตั้งโรงทานขึ้นมาได้ ที่ยายตั้งได้ เพราะยายดูตัวอย่างจากหลวงพ่อวัดปากน้ำ เห็นหลวงพ่อวัดปากน้ำท่านเลี้ยงพระ เลี้ยงคนเป็นใหญ่ ท่านทำได้ ท่านมีความสุข ท่านได้บุญมาก แม้ท่านจะละโลกไปแล้ว ท่านก็ยังได้บุญอยู่ทุกวัน ยายก็อยากได้บ้าง คิดว่าเมื่อมีสำนักแล้ว จะตั้งโรงทานให้ได้ แล้วยายก็ตั้งได้จริงๆ เมื่อทำได้ ยายก็ดีใจ คนอื่นๆ เขาก็อยากตั้งเหมือนกัน แต่ตั้งไม่สำเร็จเพราะเป็นของยาก ขนาดคุณยายทองสุก ท่านไปสอนที่ไหนๆ ท่านเทศน์เก่ง เก่งขนาดที่ว่า พระมหาเปรียญประโยคสูงๆ สู้ไม่ได้ ท่านเก่งขนาดนี้ ท่านยังตั้งโรงทานไม่สำเร็จเลย เพราะยากอย่างนี้ ยายนึกอยากจะตั้ง ยายก็นึกถึงบุญเป็นใหญ่ เวลานั่งเข้าที่ก็อธิษฐานเอาบุญมาช่วยทำ ในที่สุดก็สำเร็จได้ด้วยบุญ คนมีบุญมาก จะปกครองคนมีบุญน้อย ทุกอย่างต้องอาศัยบุญอย่างเดียว มนุษย์เป็นเพียงหุ่น ต้องพยายามหาบุญให้มากๆ เวลานี้ยายต้องนึกถึงบุญ เอาบุญประคองทุกอย่าง..."


ความโชคดีของผู้มีบุญในยุคนี้

                       นับเป็นความโชคดียิ่งที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโย ท่านตั้งใจจะสืบสานมโนปณิธานต่อจากคุณยายอาจารย์ฯ และได้ดำเนินการจนทำให้มโนปณิธานของคุณยายสมบูรณ์ขึ้นตามความตั้งใจของท่าน โดยการสร้างหอฉัน คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง มีพิธีตอกเสาเข็มต้นแรกไปในวันคล้ายวันเกิดคุณยายฯ เมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๖ และตอกเสาเข็มต้นสุดท้ายในวันคล้ายวันเกิดพระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโย เมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๖ ที่ผ่านมา ซึ่งตัวอาคารหอฉันได้อัญเชิญ เจดีย์น้อยของคุณยายอาจารย์มาประดิษฐานไว้ด้านบน เพื่อเป็นการระลึกถึงท่านและคุณธรรมของท่าน และได้ทำพิธีอัญเชิญหลังคาหอฉันเสร็จสิ้นไปในวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๖ หอฉันหลังนี้เมื่อสร้างเสร็จใน ขั้นแรกจะสามารถรองรับพระภิกษุสามเณรที่มาฉันภัตตาหารได้ถึงครั้งละ ๖,๐๐๐ รูป และเมื่อดำเนินการก่อสร้างเสร็จทั้งโครงการ จะสามารถรองรับพระภิกษุสามเณร และสาธุชนได้ประมาณถึง ๒๐,๐๐๐ คน


บุญจากการสร้างหอฉัน

                       ในอดีตกาลการถวายสังฆทาน โดยมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประมุข นับว่าเป็นบุญที่มีอานิสงส์ที่ยิ่งใหญ่ไม่มีประมาณ เฉกเช่นบัณฑิตในกาลก่อนได้กระทำไว้เป็นต้นแบบอย่างดีแล้ว ดังที่ได้มีประวัติปรากฏไว้ แต่บุญจากการสร้างหอฉันซึ่งจัดเป็นวิหารทานนั้น เป็นบุญที่มีอานิสงส์มากยิ่งกว่า เพราะการก่อสร้างถาวรวัตถุเป็นศาสนาสมบัติเราจะได้บุญกันไปตลอดต่อเนื่องยาวนาน

                       และบุญจากการสร้างหอฉันในครั้งนี้ก็ยิ่งพิเศษไปกว่านั้น เพราะเป็นบุญจากการสร้างวิหารทาน เพื่อการถวายภัตตาหารเป็นสังฆทานแด่หมู่พระภิกษุสงฆ์ผู้ประพฤติธรรมจำนวนมาก เป็นบุญที่ทับทวียิ่งๆ ขึ้นไปอย่างที่เราจะคาดไม่ถึง และนับเป็นความโชคดีอย่างยิ่งที่เราได้มีโอกาสในบุญครั้งนี้ เพราะอีกไม่นานเมื่อหอฉันสร้างเสร็จแล้ว ผู้ที่มาในภายหลัง ก็คงไม่มีโอกาสที่ดีเช่นนี้ คงทำได้เพียงแค่การถวายสังฆทานเท่านั้น

                       ดังนั้น ให้ผู้มีบุญทุกท่าน ตรึกระลึกถึงบุญนี้ให้ได้ตลอด ตั้งแต่วันแรกแห่งการเริ่มตอกเสาเข็ม วันตอกเสาเข็มต้นสุดท้าย วันยกหลังคาหอฉัน และวันฉลองการสร้างหอฉันที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ให้มีปีติทั้งก่อนทำ ขณะทำ และหลังทำ เพื่อเราจะได้มีบุญมากๆ และเอาบุญใหญ่นี้สนับสนุนให้เราได้ไปถึงที่สุดแห่งธรรมพร้อมๆ กัน

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๑๔ ประจำเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๖

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล