วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ หลวงพ่อตอบปัญหา "จริงหรือ ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ชั่วมีถมไป" โดย : พระภาวนาวิริยคุณ

 



               หลวงพ่อเจ้าคะ ขอความกรุณาช่วยขยายความคำว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” มีความหมายว่าอย่างไรเจ้าคะ แล้วคนในปัจจุบันนี้มักจะเข้าใจว่า “ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป” อะไรที่ทำให้เขามีความเข้าใจผิด ๆ เช่นนั้นเจ้าคะ

 



              หลวงพ่อคงตอบเป็น ๒ ประเด็นด้วยกัน

              ประเด็นแรก “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” หมายถึงอะไร

              ถ้าเราจะพูดให้เต็มคำนะ ทำกรรมดีย่อมได้ผลดี คือเป็นความสุข เป็นความเจริญ ทำกรรมชั่วย่อมได้ผลชั่ว คือได้ผลในเชิงลบ ได้ความเดือดร้อน เป็นความตกทุกข์ได้ยากทั้งทางกายทางใจ

              ถ้าเราเจาะลึกเข้าไปอีกนิดหนึ่งจะพบว่า คนเราทำกรรมไม่ว่าดีหรือชั่วได้ ๓ ทาง คือทางกาย วาจา และใจ เมื่อทำกรรมดีแล้วผลแห่งกรรมดีนั้นต้องออกมาแน่นอน แต่ว่าจะออกมาในรูปแบบไหนนั้นคงต้องว่ากันเป็นเรื่อง ๆ ไป

              ยกตัวอย่าง เด็กทำกรรมดีด้วยการขยันหมั่นเพียรเรียนหนังสือ ผลแห่งกรรมดีมาแน่นอนเลยคือ เด็กจะมีความเข้าใจในเรื่องที่เรียน มีความเฉลียวฉลาดเพิ่มขึ้น และทำให้มีความมั่นใจในตัวเองเพิ่มขึ้น นี้เป็นผลของกรรมดี

              แต่ว่าในทำนองกลับกัน ทำกรรมชั่วก็ได้ผลชั่ว เป็นอย่างไร เด็กขี้เกียจเรียนหนังสือ ขี้เกียจทำการบ้าน ขี้เกียจไปช่วยแม่ทำกับข้าว เพราะฉะนั้น เขาก็เรียนไม่ดี ทำกับข้าวก็ไม่เป็น นอกจากทำกับข้าวไม่เป็น ช่วยแม่ไม่ได้ ก็เลยต้องกินข้าวสาย ๆ แล้วก็ไปโรงเรียนไม่ค่อยจะทัน นี่จัดว่าเป็นกรรมชั่วที่เด็กคนนั้นจะพึงได้รับ

              ทำดีต้องได้ดีจริง ทำชั่วต้องได้ชั่วจริง นี้คงเป็นคำตอบที่ชัดเจนในข้อแรกแล้ว

              ส่วนประเด็นที่สองถามว่า สาเหตุที่ทำให้คนสับสนเข้าใจกันผิดว่า “ทำชั่วได้ดีมีถมไป ทำดีได้ดีมีที่ไหน” ความสับสนในทำนองนี้เกิดขึ้นได้หลายกรณี

              กรณีแรก คน ๆ นั้นไม่เข้าใจ แยกไม่ออกว่า ทำดีทำชั่วเป็นอย่างไร

              ยกตัวอย่าง เขาบอกว่า “ทำดีแล้วไม่ได้ดี”

              หลวงพ่อก็ถามว่า “คุณไปทำอะไรมาบ้างล่ะ”

              เขาตอบว่า “ไปรับใช้รินเหล้าให้เจ้านายกินไม่เคยขาดเลย นายยังไม่รักเลย เมาทีไรเตะทุกที” ก็สิ่งที่เขากำลังทำคือกรรมชั่ว แต่เขาแยกไม่ออก

              กรณีที่ ๒ คน ๆ นั้นแยกออกว่าอย่างนั้นคือทำดี อย่างนั้นคือทำชั่ว แต่ว่าเป็นประเภทคนใจร้อน คือทำดีปุ๊บก็อยากจะให้ผลดีออกปั๊บ เราต้องเข้าใจว่า องค์ประกอบในการทำความดีนั้นมี ๓ ประการ

              ประการที่ ๑ ต้องให้ถูกดี คือถูกประเด็นในเรื่องนั้นจริง ๆ

              ยกตัวอย่าง เวลาซักเสื้อซักผ้าก็ต้องถูกดี คือเสื้อที่เราใส่นั้น จุดที่เปื้อนมากที่สุดก็คือแถวคอปก แถวปลายแขนเสื้อ ถ้าเราขยี้ผ้าให้ทั่วตัว แต่ไม่ได้ขยี้ที่คอปกกับที่ปลายแขนก็ไม่ถูกดี แต่ว่าถ้าเราขยี้ที่คอ ขยี้ที่ปก ที่ปลายแขน ให้เรียบร้อยก่อน แล้วจึงขยี้ที่อื่นพอประมาณ ทำอย่างนี้ถึงจะถูกดีคุณโยม

              ประการที่ ๒ ต้องให้ถึงดี แค่ถึงถูกดีแล้วยังไม่พอ จะต้องให้ถึงดีด้วย
เวลาซักผ้า เราควรจะขยี้สัก ๓๐ ครั้ง แต่เราขยี้แค่ ๑๐ ครั้ง มันยังไม่ถึงดี เพราะฉะนั้น ผ้าก็ไม่เกลี้ยงหรอก งานทุกชิ้นเมื่อทำแล้วอย่าทำแบบผักชีโรยหน้า ทำแล้วต้องทำกันเต็มกำลังเต็มที่แล้วผลดีจะออก

              ประการที่ ๓ ต้องให้พอดี ทั้งที่ถูกดีถึงดีแล้ว แต่ก็ต้องพอดีด้วยอย่าให้เกินไป

              ซักผ้าควรจะขยี้ ๓๐ ครั้ง เราขยี้เผื่อเหนียวไป ๑๐๐ ครั้ง จนเสื้อขาด เราก็ไม่ได้ใส่ เช่นกันทำอะไรต้องรู้จักพอประมาณ เกินกำลังก็ไม่ได้เดี๋ยวเสียหาย น้อยไปก็ไม่ถึงจุดดี ทำแล้วต้องให้ถูกดี ถึงดี พอดี จึงจะได้ดี

              แต่ทั้งที่ถูกดี ถึงดี พอดี องค์ประกอบสำคัญคือ ”เวลา” เราต้องให้เวลากับงานนั้น ๆ ด้วย แต่ทีนี้ที่เกิดความสับสนก็คือ ในขณะที่รอเวลาให้ผลแห่งกรรมดีออกนั้น อาจจะต้องใช้เวลาเป็นเดือน เป็นปี ในระหว่างนั้นเอง กรรมชั่วในอดีตเกิดตามมาทัน ออกผลก่อน เราเลยรู้สึกว่า “เอ๊ะกำลังทำดีอยู่ ทำไมต้องมาเดือดร้อนด้วยเรื่องนั้นเรื่องนี้ ทั้ง ๆ ที่เรื่องนี้เราทำมานานแล้ว มันน่าจะจบ ๆ ไปแล้ว”

              จึงกลายเป็นว่า ขณะที่กำลังทำความดีอยู่นั้น มีผลเสียหายเกิดขึ้นอันเกิดจากกรรมชั่วในอดีต ซึ่งมักคนจะทึกทักเอาว่า ทำดีกลับได้ชั่ว แต่ความจริงแล้ว ทำดีต้องได้ดี แต่ว่าผลดีของกรรมดีนั้นยังไม่ทันออก มันถูกตัดรอนด้วยกรรมชั่วในอดีต แต่ถึงกระนั้นก็ตาม เมื่อได้จังหวะของกรรมดี กรรมดีนั้นออกผล เราก็ได้ชื่นใจในภายหลังอีกเหมือนกัน

              ส่วนคนใจร้อนไม่รอสอบสวนทวนต้นปลาย เลยเข้าใจผิดกันไป มีหลายคนบอกว่า “ทำกรรมดีก็ให้ได้ผลปุ๊บ ทำกรรมชั่วก็ให้ได้ผลปั๊บไปเลย น่าจะยุติธรรมดีนะ ไม่ต้องรอเวลา” หลวงพ่อก็ว่าดี แต่บางอย่างก็อยากจะเตือนพวกเราไว้ ยกตัวอย่าง ถ้าทำทานปุ๊บให้รวยปั๊บดี แต่ว่าโกหกปุ๊บให้ฟันหักหมดปากปั๊บ สงสัยว่าผู้ที่นั่งฟังอยู่นี่ จะมีฟันเหลืออยู่คนละกี่ซี่ หลวงพ่อว่านะ การให้เวลากันบ้างก็ยุติธรรมดีเหมือนกัน ขอฝากไว้เป็นข้อคิดไว้ด้วย


บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๒๒ ประจำเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล