นิทานอีสป เรื่อง ราชสีห์ผู้ไม่ชอบคำเยินยอ
ผู้แต่ง : อีสป
ราชสีห์นอนอยู่บนบัลลังก์กำลังป่วย และรู้สึกเบื่อหน่ายกับคำเยินยอของบริวารของมันยิ่งนัก ราชสีห์จึงรำพึงกับตัวเองว่า
"น่าเบื่อหน่ายเหลือเกิน ทุกวันเจ้าพวกนี้เฝ้าแต่พูดจาเยินยอข้าไม่รู้จักจบ หูข้าต้องทำงานหนักเนื่องจากฟังแต่คำสรรเสริญเยินยอ"
สุนัขตัวหนึ่งเดินแกว่งหางเข้าไปใกล้บัลลังก์ด้วยความจงใจและเริ่มกล่าวคำสรรเสริญเยินยอว่า
"ท่านราชสีห์ผู้เกรียงไกร หากไม่มีท่าน พวกข้าคงจะไม่มีความสุขเช่นนี้ สัตว์ป่าทั้งหลายจะจงรักพักดีต่อท่าน พวกเราจะเสียสละชีวิตเพื่อท่าน"
ราชสีห์ลุกขึ้นยืนด้วยความโกรธและพูดว่า
"เจ้าออกไปเดี๋ยวนี้!! และจงหยุดประจบประแจงข้าซะที ข้าเกลียดคำสรรเสริญเยินยอ"
พลันหมาจิ้งจอกผู้อ่อนโยนก็เดินเข้ามา มันดูสุภาพและเคร่งขรึม หมาจิ้งจอกก้มหัวลงคำนับราชสีห์พลางเหลือบมองหมาป่า แล้วพูดค่อยๆ ว่า
"โอ้ท่านราชสีห์ เหตุใดท่านจึงต้องโกรธด้วยล่ะ ท่านจะหวังให้สัตว์ที่โง่เง่าและน่าเบื่ออย่างสุนัขมาเข้าใจอะไรในตัวท่าน มันไม่รู้แม้กระทั่งว่า ท่านเป็นผู้ที่อ่อนน้อมถ่อมตนมากที่สุดในโลก และเฉลียวฉลาดซื่อสัตย์"
ราชสีห์รู้ทันว่าจิ้งจอกต้องการประจบเช่นกัน จึงกล่าวว่า
"ถูกต้องแล้ว เจ้าเข้ามาใกล้ๆ ข้าซิ ข้าจะให้รางวัลเป็นไก่ตัวใหญ่ๆ กับเจ้า"
จากนั้นราชสีห์ก็ใช้กรงเล็บตะปบหมาจิ้งจอกตายทันที
:: นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ::
คำสอพลอไม่มีความจริงใจ ไม่เคยให้ผลดีกับใคร
:: พุทธภาษิต ::
ปรสฺส วา อตฺตโน วาปิ เหตุ น ภาสติ อลิกํ ภูริปญฺโญ
โส ปูชิโต โหติ สภาย มชฺเฌ ปจฺฉาปิ โส สุคติคามิ โหติ.
ผู้มีภูมิปัญญา ย่อมไม่พูดพล่อย ๆ เพราะเหตุแห่งคนอื่น
หรือตนเอง ผู้นั้นย่อมมีผู้บูชาในท่ามกลางชุมชน
แม้ภายหลังเขาย่อมไปสู่สุคติ.
(มโหสธโพธิสตฺต) ขุ. ชา. วีสติ. ๒๗/ ๔๒๗.