นิทานอีสป เรื่อง สุนัขจิ้งจอกกับแม่ไก่
ผู้แต่ง : อีสป
แม่ไก่เจ้าเล่ห์ตัวหนึ่งต้องการกลั่นแกล้งสุนัขจิ้งจอก ด้วยกลัวว่าวันหนึ่งมันอาจจะมาทำร้ายลูกตน จึงวางแผนไปหาสัตว์แข็งแรงกว่า เพื่อร้องทุกข์ที่แม่ไก่ถูกสุนัขจิ้งจอกรังแก แม่ไก่ขอร้องให้สัตว์ทั้งหลายส่งเสริมความยุติธรรม และหยุดยั้งความป่าเถื่อนของสุนัขจิ้งจอก แม่ไก่กล่าวขึ้นว่า
"หากท่านทั้งหลายมองเข้าไปนัยน์ตาของมัน และพวกท่านจะเข้าใจ"
เสือพูดขึ้นว่า "ข้าทำอยู่บ่อยๆ เลยทีเดียว นัยน์ตาของสุนัขจิ้งจอก แสดงแต่ความขี้ขลาดและความระมัดระวัง ไม่มีอะไรน่ากลัวอย่างที่เจ้าพูดเลย"
หมูป่ากล่าวว่า "เมื่อใดก็ตามที่สุนัขจิ้งจอกเห็นข้า มันจะหลีกทางให้ข้าเสมอ สิ่งที่ข้าเห็นจากนัยน์ตาของสุนัขจิ้งจอกคือ ความอ่อนน้อมถ่อมตน และความอดกลั้น"
หมาป่ากล่าวอีกว่า "ข้ารู้จักสุนัขจิ้งจอกดี เมื่อใดที่เกิดการต่อสู้มันจะเป็นฝ่ายหลบหลีกไปก่อนเสมอ นัยน์ตาของสุนัขจิ้งจอกแสดงความว่าง่ายและความอ่อนโยน"
แม่ไก่จึงโต้ตอบไปว่า "พวกท่านเข้าใจผิด ทำไมพวกท่านจึงไม่เห็นความโหดร้ายที่อยู่นัยน์ตาของสุนัขจิ้งจอก"
เสือตวาดว่า "เงียบเดี๋ยวนี้นะ! เจ้าพูดจาย่ำยีสุนัขจิ้งจอกมากเกินไป"
หมูป่าพูดกับแม่ไก่ว่า "การที่ผู้อ่อนแอกว่าพูดจาให้ร้ายผู้ที่แข็งแรงกว่าโดยที่เขายังมิได้มีความผิดใดๆ ก็ไม่ต่างอะไรกับผู้ที่แข็งแรงกว่ากำลังรังแกผู้ที่อ่อนแอกว่านั่นแหละ"
:: นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ::
พูดจาใส่ร้ายป้ายสีผู้อื่น อาจนำพาความเดือดร้อนมาสู่ตน
:: พุทธภาษิต ::
ตเมว วาจํ ภาเสยฺย ยายตฺตานํ น ตาปเย
ปเร จ น วิหึเสยฺย สา เว วาจา สุภาสิตา.
บุคคลพึงกล่าววาจาที่ไม่เป็นเหตุยังตนให้เดือดร้อน
และไม่เป็นเหตุเบียดเบียนผู้อื่น, วาจานั้นแล เป็นสุภาษิต.
(วงฺคีสเถร) ขุ. สุ. ๒๕/ ๔๑๑.