นิทานอีสป เรื่อง นักเดินทางกับถุงเงิน
ผู้แต่ง : อีสป
ชายสองคนเดินร่วมทางกันมาบนถนน ทันใดนั้นคนหนึ่งก็เก็บถุงเงินซึ่งมีเงินเต็มถุงได้
"ข้าช่างโชคดีอะไรเช่นนี้ ข้าพบถุงเงินหนึ่งใบ ดูจากน้ำหนัก ใบนี้จะต้องมีทองเต็มถุงแน่ๆ" เขาเอ่ยขึ้น
"จงอย่าพูดว่า 'ข้าพบถุงเงิน' สิ" เพื่อนร่วมทางของเขาเอ่ย "ท่านน่าจะพูดว่า 'เราพบถุงเงิน' หรือ 'เราช่างโชคดีอะไรเช่นนี้' จะดีกว่า เพื่อนร่วมทางควรแบ่งปันทั้งโชคและเคราะห์ที่พานพบบนท้องถนนด้วยกัน"
"ไม่ ไม่มีทาง ข้าเป็นคนพบมัน และข้าก็จะเก็บมันเอาไว้" อีกฝ่ายตอบอย่างโกรธเกรี้ยว
ทันใดนั้นพวกเขาก็ได้ยินเสียงตะโกน "หยุดนะ เจ้าหัวขโมย" และเมื่อมองลงไปรอบๆ พวกเขาก็เห็นฝูงชนพร้อมกระบองในมือวิ่งมาตามถนน ชายคนที่พบถุงเงินตกใจจนแทบจะเสียสติ
"เราแย่แล้ว ถ้าพวกเขาพบว่าถุงเงินอยู่กับข้าละก็" เขาครวญ
"ไม่ ไม่ ท่านไม่ได้พูดว่า 'เรา' ก่อนหน้านี้ ดังนั้นจงใช้คำว่า 'ข้า' ต่อไปเถิด ต้องพูดว่า 'ข้าแย่แล้ว' ถึงจะถูก" อีกฝ่ายตอบ
:: นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ::
หากไม่แบ่งปันโชคให้ใคร ก็จงอย่าหวังจะแบ่งปันเคราะห์ร้ายให้ผู้อื่น
:: พุทธภาษิต ::
โลโภ โทโส จ โมโห จ ปุริสํ ปาปเจตสํ
หึสนฺติ อตฺตสมฺภูตา ตจสารํว สมฺผลํ.
โลภะ โทสะ โมหะ เกิดจากตัวเอง ย่อมเบียดเบียนผู้มีใจชั่ว
ดุจขุยไผ่ฆ่าต้นไผ่ฉะนั้น
(พุทฺธ) ขุ. อิติ. ๒๕/ ๒๖๔. ขุ. มหา. ๒๙/ ๑๘.