นิทานอีสป เรื่อง นกเค้าแมวกับตั๊กแตน
ผู้แต่ง : อีสป
นกเค้าแมวมักจะนอนหลับในตอนกลางวันเสมอ และหลังจากตะวันตกดิน เมื่อแสงสีชมพูจางหายไปจากขอบฟ้าและเงามืดบ่อยๆ คืบคลานไปตามลำเนาป่า มันก็จะกระพือปีกพึ่บพั่บออกมาจากโพรงต้นไม้เก่า ส่งเสียงร้อง "ฮูก ฮูก ฮูก" สะท้อนก้องป่าอันเงียบงัน จากนั้นมันก็เริ่มล่าแมลงปีกแข็ง เต่าทอง กบ และหนูที่มันโปรดปรานเป็นอาหาร
ยังมีแม่นกเค้าแมวเฒ่าตัวหนึ่งซึ่งเมื่อแก่ตัวลงก็กลายเป็นพวกขวางโลกและเอาใจยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีสิ่งใดมารบกวนการงีบหลับในตอนกลางวันของมัน ยามบ่ายฤดูร้อนอันแสนอบอุ่นวันหนึ่ง ขณะที่มันหลับอยู่ในโพรงต้นโอ๊ก ก็มีตั๊กแตนตัวหนึ่งซึ่งอยู่แถวนั้นร้องเพลงออกมาอย่างรื่นเริง ทว่าเสียงของมันแหบห้าวยิ่งนัก นกเค้าแมวโผล่หัวออกมาจากโพรงไม้ซึ่งเป็นทั้งประตูและหน้าต่างของมันในทันที
"ได้โปรดออกไปจากตรงนี้ทีเถอะท่าน" มันกล่างกับเจ้าตั๊กแตน "ท่านไม่มีมารยาทเลยหรืออย่างไร อย่างน้อยท่านก็น่าจะเคารพอาวุโสของข้า และปล่อยให้ข้านอนหลับอย่างเงียบสงบ"
แต่เจ้าตั๊กแตนตอบเสียงแข็งว่ามันมีสิทธิ์อยู่ในที่ของมันภายใต้แสงอาทิตย์พอๆ กับที่นกเค้าแมวมีสิทธิ์ในที่ทางของตัวเองคือโพรงไม้โอ๊กเก่าแก่ จากนั้นเจ้าตั๊กแตนก็เร่งเสียงร้องเพลงดังขึ้น แถมแหบห้าวหนักกว่าเดิม
นกเค้าแมวชราผู้ชาญฉลาดรู้ดีว่าหากจะเถียงกับเจ้าตั๊กแตนต่อไปก็คงไม่เกิดประโยชน์อะไรขึ้นมา เถียงเรื่องทำนองนี้กับใครๆ ก็คงเหมือนๆ กันนั่นแหละ อีกทั้งดวงตายามกลางวันของมันยังพร่ามัวจนไม่อาจลงโทษเจ้าตั๊กแตนได้อย่างสาสม มันจึงอดทนต่อคำพูดหยาบคายเหล่านั้น แล้วเอ่ยกับตั๊กแตนด้วยน้ำเสียงสุภาพ
"ถ้าอย่างนั้น หากข้าต้องตื่นเสียแล้ว ข้าคงต้องทำใจให้รื่นรมย์กับเสียงเพลงของท่าน ขอข้าคิดหน่อยนะ ข้ามีสุดยอดเหล่าองุ่นอยู่ส่งตรงมาจากเทือกเขาโอลิมปัส ซึ่งข้าได้ยินคำบอกเล่ามาว่าเทพอพอลโลเสวยสิ่งเหล่านี้ก่อนที่พระองค์จะขับขานเพลงให้เหล่าทวยเทพฟัง ได้โปรดเข้ามาลิ้มลองเครื่องดื่มเลิศรสนี้พร้อมกับข้าเถิด ข้ารู้ดีว่ามันจะทำให้ท่านร้องเพลงได้ไพเราะดั่งเทพอพอลโลเลยทีเดียว" นกเค้าแมวกล่าว
ตั๊กแตนผู้โง่เขลาหลงเชื่อคำเยินยอของนกเค้าแมว มันจึงกระโดดเข้าไปในโพรงของนกเค้าแมว ทว่าทันทีที่มันเข้าใกล้มากพอที่นกเค้าแมวจะมองเห็นมันถนัดชัดเจนมันก็ถูกนกเค้าแมวจิกเข้าปากในทันที
:: นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ::
คำเยินยอไม่อาจพิสูจน์ถึงความชื่นชมที่แท้จริง อย่าปล่อยให้คำสรรเสริญเยินยอทำให้คลายความระมัดระวังต่อศัตรู
:: พุทธภาษิต ::
วิสฺสาสา ภยมนฺเวติ.
เพราะความไว้ใจ ภัยจึงตามมา.
ขุ . ชา. เอก. ๒๗/ ๓๐.