ธรรมะเพื่อประชาชน พร้อมภาพประกอบ คติธรรม ข้อคิดสอนใจ

ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร ท่านทั้งหลายอย่ากลัวต่อบุญเลย เพราะคำว่าบุญนี้เป็นชื่อของความสุข ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร เราย่อมรู้ชัดผลแห่งบุญอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ที่เราเสวยแล้วตลอดกาลนาน

ชาดก : ธรรมะเพื่อประชาชน Dhamma for peopleรวมนิทานอีสปพร้อมภาพประกอบ  ข้อคิดสอนใจ

ธรรมะเพื่อประชาชน : จันทกุมาร บำเพ็ญขันติบารมี (๒)


ธรรมะเพื่อประชาชน : จันทกุมาร บำเพ็ญขันติบารมี (๒)

Dhammaforpeople
ธรรมะเพื่อประชาชน

 

DhammaPP_02.jpg

จันทกุมาร บำเพ็ญขันติบารมี (๒)


          ความสุขที่เราต้องการนั้น ไม่ได้อยู่ที่ตำแหน่งหน้าที่การงาน หรือคำสรรเสริญเยินยอจากคนรอบข้าง แต่อยู่ที่ความพอใจที่มีต่อชีวิตของเราเอง หากเรามีความสันโดษมีความพอใจในสิ่งที่เรามีหรือเราเป็น ย่อมมีความสุขได้เสมอ แม้เศรษฐกิจฝืดเคือง ก็ไม่วิตกกังวล คิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่เศรษฐกิจมีขึ้นมีลง ปัญหามีไว้แก้ ไม่ได้มีไว้กลุ้ม ให้ใช้ปัญญาแก้ไขปัญหา หากคิดได้เช่นนี้ ใจเราจะไม่หวั่นไหว จะมีความพอใจในตนเอง ทุกวันนี้ ที่เราทุกข์ก็เพราะไม่รู้จักพอ จึงต้องทุกข์ใจอยู่รํ่าไป หากเราได้เจริญสมาธิภาวนา หยุดการแสวงหาสิ่งภายนอกชั่วคราว พยายามสงวนเวลาที่มีอยู่ในขณะนี้ มุ่งแสวงหาความสุขด้วยการทำใจหยุดนิ่ง เราจะมีชีวิตอยู่ในโลกได้อย่างมีความสุขกว่าที่เคยเป็น จะดำเนินชีวิตได้อย่างปลอดภัยและมีชัยชนะตลอดกาล

 

 

DhammaPP_03.jpg


             พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน อขันติสูตร ว่า

             "ภิกฺขเว อานิสํสา ขนฺติยา อสมฺมูฬฺโห กาลํ กโรติ     กายสฺส เภทา ปรมฺมรณา สุคตึ สคฺคํ โลกํ อุปปชฺชติ
             ภิกษุทั้งหลาย ผู้ประกอบด้วยความอดทนย่อมไม่หลงทำกาละ เมื่อแตกกายทำลายขันธ์ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์"

 

 

DhammaPP_01.jpg


                ความอดทน คือการรักษาสภาวะของใจให้เป็นปกติ ไม่ว่าจะกระทบกับสิ่งที่พึงปรารถนา หรือไม่พึงปรารถนาก็ตาม การสร้างบารมีในยุคสมัยที่กัปกำลังไขลงนี้ จำเป็นต้องอาศัยขันติเป็นพื้นฐาน ใจต้องมั่นคง หนักแน่น ไม่ยอมแพ้ต่ออำนาจกิเลสฝ่ายต่ำ มนุษย์ส่วนใหญ่มักปล่อยใจไปตามกระแสกิเลสจนเคยชิน ทำให้ชีวิตหลังความตายต้องพลัดตกไปเสวยทุกข์ทรมานในอบายกันมาก แต่ถ้าหากมีขันติธรรม ยกใจให้สูงขึ้นกว่ากิเลสเหล่านั้น ดำรงตนประดุจภูเขาที่ไม่หวั่นไหว ไม่โอนเอนตามแรงลมที่ถาโถมกระหน่ำ เข้าใส่ อดเปรี้ยวไว้กินหวาน ชีวิตหลังความตายย่อมจะมีสุคติโลกสวรรค์เป็นที่ไป ความอดทนอาจจะกล้ำกลืน แต่มีความหวานชื่นเป็นผล นอกจากนี้พระพุทธองค์ยังตรัสยกย่องขันติธรรมว่า ยกเว้นปัญญาแล้ว เราตถาคตสรรเสริญว่า ขันติเป็นคุณธรรม อย่างยิ่ง

 

 

DhammaPP_04.jpg


            สำหรับครั้งนี้ เรามาศึกษาเรื่องขันติบารมีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากันต่อ ว่าสมัยที่ยังสร้างบารมีเป็นพระโพธิสัตว์อยู่นั้น พระองค์ทรงบำเพ็ญขันติบารมีอย่างยิ่งยวดไว้อย่างไรบ้าง ในครั้งที่แล้ว หลวงพ่อได้เล่าเรื่องขันติธรรมของพระบรมศาสดาที่มีต่อพระเทวทัต แม้จะถูกพระเทวทัตส่งนายขมังธนูไปลอบปลงพระชนม์ พระองค์ก็ไม่ทรงโกรธแค้น แต่กลับเปลี่ยนเรื่องร้ายให้กลายเป็นดี ทรงเทศน์โปรดนายขมังธนูทั้ง ๓๑ คน ให้ได้บรรลุโสดาปัตติผลกันทุกคน

 

 

DhammaPP_05.jpg


            นายขมังธนูที่เก่งกาจที่สุดกลับไปรายงานพระเทวทัตว่า "ข้าพเจ้าไม่สามารถปลงพระชนม์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ พระพุทธองค์ทรงฤทธานุภาพมาก เป็นบุคคลผู้ไม่ควรฆ่า และ ไม่มีผู้ใดปลงพระชนม์พระพุทธองค์ได้ ขอให้ท่านละกรรมอันลามกนี้เสีย แล้วยึดพระพุทธองค์เป็นที่พึ่งเถิด"

 

 

DhammaPP_06.jpg


            ส่วนนายขมังธนูที่เหลือ เมื่อกลับเข้าเมืองแล้ว ต่างเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นแก่กันและกัน พากันเกิดความสลดสังเวชใจ ที่เกือบต้องทำปาณาติบาต ซึ่งจะเป็นเหตุให้ต้องไปเสวยทุกข์ในมหานรกเป็นเวลายาวนาน และดีใจที่ตนได้บรรลุธรรมเพราะอาศัยมหากรุณาของพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงชักชวนกันออกบวช เมื่อบวชแล้ว ต่างตั้งใจบำเพ็ญสมณธรรมอย่างเต็มที่ และทุกคนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ในที่สุด

 

 

DhammaPP_07.jpg


          เรื่องความโหดเหี้ยมของพระเทวทัตนี้ ได้มีการโจษขานกันในหมู่ภิกษุสงฆ์ในโรงธรรมสภา ภิกษุบางรูปที่ยังเป็นปุถุชนอยู่รู้สึกไม่พอใจ ส่วนพระอรหันต์บังเกิดความสังเวช พระบรมศาสดาได้ทรงสดับถ้อยคำของภิกษุทั้งหลายด้วยพระโสตธาตุอันบริสุทธิ์ จึงเสด็จมาที่โรงธรรมสภา ตรัสสอนให้ภิกษุมีอุเบกขาธรรมต่อพระเทวทัต เพราะนี่เป็นกรรมที่เกิดขึ้นระหว่างพระองค์กับพระเทวทัตเท่านั้น และตรัสต่อไปว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ในกาลก่อน เทวทัตก็พยายามฆ่าชนเป็นอันมาก เพราะความผูกเวรในเราผู้เดียวแท้ๆ แต่ก็ไม่สามารถประทุษร้ายพระตถาคตได้"

 

 

DhammaPP_08.jpg


          พระพุทธองค์ทรงนำเรื่องในอดีตมาตรัสเล่าว่า ในอดีตกาล กรุงพาราณสีนี้ชื่อว่า เมืองปุปผวดี โดยมีพระเจ้าเอกราชครองราชสมบัติ ทรงมีพระราชโอรสพระนามว่า พระจันทกุมาร ได้ดำรงตำแหน่งเป็นอุปราช

 

 

DhammaPP_09.jpg

 

          พระราชาทรงแต่งตั้งให้กัณฑหาลพราหมณ์ ดำรงตำแหน่งตัดสินคดีความ แต่กัณฑหาลพราหมณ์เป็นคนชอบกินสินบนจึงตัดสินให้ผู้มิใช่เจ้าของได้เป็นเจ้าของ ผู้เป็นเจ้าของกลับมิให้เป็นเจ้าของเป็นประจำ

 

 

DhammaPP_10.jpg


           วันหนึ่งผู้แพ้คดีคนหนึ่งเดินคอตกออกจากโรงวินิจฉัย ด้วยความเสียอกเสียใจ ครั้นเห็นจันทกุมารกำลังเสด็จไปเข้าเฝ้าพระราชา เขากราบลงแทบพระบาท ร้องไห้ขอความเป็นธรรมจากพระกุมาร พลางเล่าเรื่องความไม่ยุติธรรมของผู้วินิจฉัยคดี พระจันทกุมารทรงสงสาร จึงพาหนุ่มคนนั้นกลับไปโรงวินิจฉัยคดี ทรงพิจารณาคดีความด้วยพระองค์เอง มหาชนพึงพอใจในคำวินิจฉัยมาก พากันแซ่ซ้องสาธุการลั่นโรงวินิจฉัย

 

 

DhammaPP_11.jpg


         พระราชาทรงสดับเสียงสาธุการ ของมหาชนบังเกิดความปีติใจ ที่มีพระโอรสที่ปรีชาสามารถวินิจฉัยอรรถคดีตั้งแต่ยังเยาว์ จึงทรงประทานตำแหน่งหน้าที่ผู้วินิจฉัยอรรถคดีให้แก่พระกุมาร ผลประโยชน์ของกัณฑหาลพราหมณ์จึงหมดไป ทำให้พราหมณ์ผูกอาฆาตพยาบาทต่อจันทกุมารมาโดยตลอด

 

 

 

DhammaPP_12.jpg


            ต่อมาใกล้รุ่งวันหนึ่ง พระราชาทรงสุบินว่า ได้ทอดพระเนตรเห็นดาวดึงสพิภพ มีซุ้มประตูประดับประดาสวยงาม  มีกำแพงที่สร้างด้วยแก้ว ๗ ประการ มีถนนหนทางที่สร้างด้วยทรายทอง กว้างประมาณ ๖๐ โยชน์ ประดับไปด้วยเวชยันตปราสาทสูง ๑,๐๐๐ โยชน์ เป็นที่รื่นรมย์ไปด้วยสวนสวรรค์มากมาย มีสระโบกขรณีอันน่ายินดี มีหมู่เทพเกลื่อนกล่น นางเทพอัปสรจำนวนมากพากันฟ้อนรำ ขับร้องประโคมดนตรี ในเวชยันตปราสาท

 

 

DhammaPP_13.jpg

            ครั้นพระราชาตื่นบรรทม ทรงปรารถนาจะได้เยือนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เหมือนในฝัน บังเอิญเช้าวันนั้น พระราชาตรัสเล่าความฝันให้กัณฑหาลพราหมณ์ที่มาเข้าเฝ้าแต่เช้าตรู่ และทรงถามว่า "ขอท่านได้ช่วยบอกทางไปสวรรค์แก่เราด้วยเถิด เราจากโลกนี้แล้ว จะได้ไปสุคติสวรรค์ด้วยวิธีการใด ขอท่านจงบอกทางแห่งสุคติแก่เราเถิด" 

 

 

DhammaPP_14.jpg


            พราหมณ์คิดไม่ออก เพราะไม่รู้จักทางไปสวรรค์ คิดแต่ก็จะแก้แค้นพระกุมาร จึงกราบทูลว่า "คนทั้งหลายให้ทานอันล่วงล้ำทาน ฆ่าบุคคลอันไม่พึงฆ่า ชื่อว่าได้ทำบุญใหญ่ จะได้ไปสู่สุคติโลกสวรรค์ พระเจ้าข้า" 

 

 

DhammaPP_15.jpg

            พระราชาตรัสถามว่า "ทานที่ล่วงล้ำทานนั้นเป็นอย่างไร ใครเป็นบุคคลที่ไม่พึงฆ่าในโลกนี้ ขอท่านจงบอกข้อความนี้ให้กระจ่างด้วยเถิด" พราหมณ์ทูลเท็จว่า "ข้าแต่มหาราช การให้ทานมีของกิน และเครื่องนุ่งห่มเป็นต้นแก่สมณพราหมณ์ คนยากไร้ จะเป็นอติทานไม่ได้เลย ส่วนการฆ่าบุคคลที่ไม่ควรฆ่า มีบุตรและธิดาเป็นต้น แล้วกระทำบูชายัญด้วยเลือดในลำคอของคนเหล่านั้น ชื่อว่า อติทาน"  เรื่องยังไม่จบ ไว้เรามาศึกษาในตอนต่อไป

 

 

DhammaPP_16.jpg


                จากเรื่องนี้ จะเห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตมักคล้ายคลึงกับเหตุการณ์ในโลกยุคปัจจุบัน ดังเช่นพราหมณ์ผู้เสียประโยชน์ แล้วคิดให้ร้ายผู้บริสุทธิ์ เมื่อถูกถามทางไปสวรรค์ กลับบอกทางไปนรก ทั้งตนเองก็ต้องไปลงนรกด้วย ปัจจุบันมีผู้คนมากมายที่ปรารถนาจะไปสวรรค์ แต่ไม่รู้หนทางไป เพราะไม่ได้กัลยาณมิตร ชีวิตหลังความตายจึงไปสู่อบายภูมิกันมากมาย สำหรับพวกเราทั้งหลาย นอกจากจะรู้หนทางแล้ว ยังเป็นแสงสว่างให้กับผู้อื่นอีกด้วย ให้รักษาความเป็นผู้มีโชคดีนี้ไว้ และหมั่นสั่งสมบุญให้ยิ่งขึ้นไป ดีที่สุด คือปฏิบัติธรรมให้เข้าถึงพระธรรมกายให้ได้กันทุกคน 

 

พระธรรมเทศนาโดย: พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

* มก. จันทกุมารชาดก เล่ม ๖๔ หน้า ๑๕๑

 

 

 

 

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล