ธรรมะเพื่อประชาชน พร้อมภาพประกอบ คติธรรม ข้อคิดสอนใจ

ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร ท่านทั้งหลายอย่ากลัวต่อบุญเลย เพราะคำว่าบุญนี้เป็นชื่อของความสุข ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร เราย่อมรู้ชัดผลแห่งบุญอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ที่เราเสวยแล้วตลอดกาลนาน

ชาดก : ธรรมะเพื่อประชาชน Dhamma for peopleรวมนิทานอีสปพร้อมภาพประกอบ  ข้อคิดสอนใจ

ธรรมะเพื่อประชาชน : ชัยชนะครั้งที่ ๓ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า (ตอน ชนะช้างนาฬาคีรี)


ธรรมะเพื่อประชาชน : ชัยชนะครั้งที่ ๓ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า (ตอน ชนะช้างนาฬาคีรี)

Dhammaforpeople
ธรรมะเพื่อประชาชน

 

DhammaPP_.03.jpg

ชัยชนะครั้งที่ ๓ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

(ตอน ชนะช้างนาฬาคีรี)

               การจะหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ จะต้องลงมือปฏิบัติธรรมเท่านั้น จะสวดมนต์อ้อนวอนอย่างไร ย่อมไม่อาจบรรลุธรรมได้ แม้จะมีความรู้ในทางทฤษฎีหรือปริยัติธรรมมากมายเพียงใด ล้วนไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันว่า จะช่วยให้เราพ้นทุกข์ได้ อย่างไรก็ตาม การศึกษาธรรมะทั้งทางด้านปริยัติและปฏิบัติ ยังเป็นสิ่งที่จะต้องศึกษาควบคู่กันไป เพื่อให้เกิดความเข้าใจแจ่มแจ้ง ในพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะการศึกษา และถ่ายทอดความรู้ได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์ เป็นการรักษาพระพุทธศาสนาให้คงอยู่ คู่โลกต่อไปอย่างยาวนาน จึงควรทำทั้งสองอย่างควบคู่กันไป โดยเฉพาะการปฏิบัติธรรมฝึกฝนใจให้หยุดนิ่ง เป็นหนทางที่จะนำไปสู่การเข้าถึงธรรมได้ดีที่สุด

 

 

DhammaPP_.02.jpg

 

                     ในพุทธชัยมงคลคาถา บทที่ ๓ ได้พรรณนาพุทธคุณไว้ว่า

                     “นาฬาคิรึ คชวรํ อติมตฺตภูตํ
         
            ทาวคฺคิจกฺกมสนีว สุทารุณนฺตํ
         
            เมตฺตมฺพุเสกวิธินา ชิตวา มุนินฺโท
         
            ตนฺเตชสา ภวตุ เต ชยมงฺคลานิ   

                     พระผู้มีพระภาคเจ้าจอมมุนี ได้ชัยชนะต่อช้างตัวประเสริฐ ชื่อนาฬาคีรี ซึ่งเป็นช้างตกมัน สุดแสนที่จะทารุณร้ายกาจ ด้วยนํ้าพระเมตตา ด้วยเดชแห่งชัยชนะของพระพุทธเจ้านั้น ขอชัยมงคลทั้งหลายจงบังเกิดมีแก่ท่าน”

 

 

DhammaPP_.04.jpg

              พระบรมศาสดาทรงมีมหากรุณา ต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย พระทัยที่เต็มเปี่ยมด้วยความรัก และปรารถนาดีนี้ มิใช่เกิดเพียงชั่วครั้งชั่วคราว หรือเพียงภพชาติใดชาติหนึ่งเท่านั้น แต่มีต่อเนื่องกันมายาวนาน นับภพนับชาติไม่ถ้วน จวบจนถึงวันที่พระองค์ ได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าผู้เป็นที่พึ่งของโลก ทรงมีน้ำพระทัยเสมอกันทั้งต่อบุคคลที่มาประทุษร้าย หรือมาเคารพบูชาพระองค์ ทรงมีพระหทัยใสสะอาดบริสุทธิ์ ดุจห้วงมหรรณพที่ให้ความชุ่มเย็น แก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย ดุจท้องนภาที่กว้างใหญ่ไพศาล ให้สกุณาได้เริงร่าโผบินอย่างอิสระ ไฟไม่ตั้งอยู่ในนํ้า พืชไม่งอกบนหินล้วนๆ หมู่หนอนไม่ดำรงอยู่ในยาพิษฉันใด ความโกรธย่อมไม่มีแก่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าฉันนั้น เพราะพระพุทธองค์มีแต่เมตตาธรรม พื้นดินไม่หวั่นไหวต่อของหนัก ของเน่าเหม็นทุกอย่าง สมุทรสาครกว้างใหญ่ไพศาลประมาณไม่ได้และอากาศไม่มีที่สุดฉันใด พระพุทธเจ้าก็มีมหากรุณาอันหาประมาณมิได้ฉันนั้น

 

 

DhammaPP_13.jpg

                   ในสมัยพุทธกาล มีตัวอย่างที่พระจอมมุนีทรงได้ชัยชนะช้างนาฬาคิรี ด้วยกระแสแห่งเมตตาจิตอันหาประมาณมิได้ ซึ่งนับเป็นหนึ่งในชัยมงคลคาถาที่พระองค์ทรงได้ชัยชนะ เรื่องมีอยู่ว่าสมัยหนึ่ง พระเทวทัตมีความปรารถนาที่จะปกครองสงฆ์เอง ขาดความเคารพในพระพุทธเจ้า จึงได้คบหากับพระเจ้าอชาตศัตรูและทำสัญญากันว่า “ถ้ามหาบพิตรปลงพระชนม์พระบิดาแล้วเป็นพระราชา อาตมภาพจะปลงพระชนม์พระพุทธเจ้าแล้ว จักเป็นพระพุทธเจ้า”

 

 

DhammaPP_06.jpg

                  พระเทวทัตเข้าไปในโรงช้าง สั่งคนเลี้ยงช้างว่า “ให้ช้างนาฬาคิรีดื่มเหล้าถึง ๑๖ หม้อ แล้วให้ปล่อยไปในเวลาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์  เมื่อช้างถูกมอมเหล้า เกิดอาการเมาอย่างหนัก เป็นช้างตกมัน ดุร้ายเกรี้ยวกราด ไม่มีใครจะห้ามได้ ทันทีที่ถูกปล่อยออกจากโรงช้าง มันรีบวิ่งตรงไปตามถนน

 

 

DhammaPP_07.jpg

               ขณะนั้น พระบรมศาสดาเสด็จเข้าไปในกรุงราชคฤห์พร้อมภิกษุ ๕๐๐ รูป ทรงพระดำเนินมาถึงตรอกนั้น ช้างได้ชูงวง วิ่งรี่ตรงไปทางที่พระพุทธองค์เสด็จดำเนินทันที ภิกษุสงฆ์ที่ตามเสด็จเห็นดังนั้น พากันกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า “พระพุทธเจ้าข้า ช้างนาฬาคิรีตัวนี้ดุร้าย หยาบช้าฆ่ามนุษย์ กำลังวิ่งเข้ามาในตรอกนี้ ขอพระสุคตเจ้าจงเสด็จกลับเถิด” พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้เสด็จกลับ ทรงตรัสว่า “มาเถิดภิกษุ เธออย่ากลัวเลย ภพชาตินี้ไม่ใช่โอกาส ไม่ใช่ฐานะ ที่บุคคลอื่นจะปลงชีวิตของตถาคตได้ เพราะพระตถาคตทั้งหลายย่อมไม่ปรินิพพานด้วยความพยายามของผู้อื่น”

 

 

DhammaPP_08.jpg

              แม้ภิกษุสงฆ์จะเชื่อในพระดำรัสของพระบรมศาสดา แต่อดเป็นห่วงพระพุทธองค์ไม่ได้ จึงทูลขอร้องให้เสด็จกลับถึง ๓ ครั้ง พระผู้มีพระภาคเจ้ายังคงตรัสคำเดิม ขณะเดียวกันนั้นเอง มหาชนพากันหนีขึ้นไปอยู่บนปราสาทบ้าง บนบ้านร้างบ้าง บนหลังคาบ้าง พวกที่ไม่มีศรัทธา ไม่เลื่อมใส ไร้ปัญญา ต่างกล่าวว่า พระมหาสมณะกำลังจะถูกช้างทำร้าย ส่วนผู้มีศรัทธาพากันชื่นชมว่า “วันนี้อานุภาพของพระพุทธเจ้าจะปรากฏเลื่องลือ พวกเราจะได้ดูการต่อยุทธ์ของพญาช้างกับพระพุทธเจ้า”

 

DhammaPP_09.jpg

                 บรรดาพระมหาสาวกทั้งหลายต่างรับอาสาจะทรมานช้างนาฬาคิรี พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “การทรมานช้างนาฬาคีรีไม่ใช่วิสัยของเธอ เป็นวิสัยของพระพุทธเจ้า” ขณะนั้นพระอานนท์ซึ่งจงรักและภักดีในพระผู้มีพระภาคเจ้ายิ่งนัก รีบก้าวออกไปยืนขวางหน้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยคิดว่า “ขอช้างจงฆ่าเราเถิด เราจะสละชีวิตแทนพระพุทธองค์” พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสห้ามถึง ๓ ครั้งว่า “อานนท์จงหลีกไป” พระอานนท์ก็ไม่ยอมหลีกไป คงยืนขวางหน้าอยู่เช่นนั้น

 

 

DhammaPP_10.jpg

                พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแผ่เมตตาช้างนาฬาคิรี ช้างได้สัมผัสกระแสแห่งเมตตาธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทำให้สร่างเมาเป็นปลิดทิ้ง ลดงวงลง ค่อยๆ เยื้องกรายเข้าไปหาพระผู้มีพระภาคเจ้า ยืนอยู่เบื้องหน้าของพระพุทธองค์ด้วยความเลื่อมใสอย่างยิ่ง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงยกพระหัตถ์ขวาลูบกระพองช้างนาฬาคิรี พลางตรัสว่า “ดูก่อนกุญชร เจ้าอย่าเข้าไปหาพระพุทธเจ้าด้วยจิตที่คิดจะฆ่า อันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ในอบาย ผู้ฆ่าพระพุทธเจ้า จากชาตินี้ไปสู่ชาติหน้าจะไม่มีสุคติเลย เจ้าจงสร่างเมาและอย่าประมาท ผู้ที่ประมาทแล้วจะไปสู่สุคติไม่ได้ เจ้านี่แหละ จักทำโดยประการที่จักไปสู่สุคติได้ ดูก่อนช้างนาฬาคีรี เจ้านี้เป็นเดรัจฉาน มีโอกาสพบเราตถาคตในครั้งนี้ นับเป็นกุศลอย่างยิ่ง ตถาคตนี้อุปมาดังพญาช้างตัวประเสริฐ ประกอบด้วยคุณของพระอรหันต์ เป็นใหญ่ใน ๓ โลก ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เจ้าอย่าดุร้ายไล่ทิ่มแทงมนุษย์อีก จงมีเมตตา ยังใจให้โสมนัส อย่าได้ประกอบโทษ จงหมั่นเจริญเมตตาให้ยิ่งๆ ขึ้นไป สิ้นชีพแล้ว เจ้าจะได้ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์”

 

 

DhammaPP_11.jpg

                ด้วยเมตตานุภาพอันไม่มีประมาณของพระพุทธองค์ ทำให้ช้างนั้นมีจิตชื่นชมโสมนัส ซึ่งหากเป็นมนุษย์จะได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน แต่เนื่องจากเป็นสัตว์เดรัจฉาน ทำให้พลาดจากการได้บรรลุโลกุตตรธรรมอันยอดเยี่ยม แต่ก็เป็นอุปนิสัยติดไปในภพหน้า จากนั้นช้างได้เอางวงลูบละอองธุลีพระบาทของพระองค์ แล้วพ่นลงบนกระหม่อมของตน ย่อตัวถอยออกไปชั่วระยะที่แลเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า เดินกลับเข้าไปสู่โรงช้าง ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ช้างนาฬาคิรีก็ได้ชื่อใหม่ว่า ช้างธนปาล มหาชนเห็นเมตตานุภาพของพระผู้มีพระภาคเจ้า ต่างเกิดปีติโสมนัส พากันกล่าวสรรเสริญพระพุทธองค์ว่า “ชาวเราเอ๋ย ช่างน่าอัศจรรย์จริงหนอ คนบางพวกย่อมฝึกช้างและม้า ด้วยการใช้ท่อนไม้บ้าง ใช้ขอบ้าง ใช้แส้บ้าง แต่พระพุทธเจ้าทรงทรมานช้างโดยใช้เมตตาธรรม”

 

 

DhammaPP_12.jpg

              จะเห็นว่า การบังเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้า เป็นการบังเกิดขึ้น เพื่อยังสันติสุขให้บังเกิดขึ้นแก่โลก และสรรพสัตว์ทั้งหลาย พระพุทธองค์ทรงอุบัติขึ้น เพื่อเปลื้องทุกข์ให้กับสรรพชีวิต แม้บางชาติต้องเอาชีวิตเป็นเดิมพันก็ยอม สมควรอย่างยิ่งที่เราจะยึดพระพุทธองค์เป็นแบบอย่างในการสร้างความดี หมั่นระลึกนึกถึงพระคุณอันไม่มีประมาณของพระพุทธองค์ ที่ทรงประทานธรรมโอสถ รักษาทุกข์ของมนุษย์ ให้หายจากความทุกข์ทรมานในสังสารวัฏ ได้พบความสุขอันเกษม เปรียบเสมือนสุริยาที่ทอฉายแสงให้กับสรรพสัตว์ทั้งหลาย ให้ได้พบกับแสงสว่างในชีวิต การที่เราจะระลึกนึกถึงพระพุทธองค์ได้ถูกตัวจริง ต้องลงมือประพฤติปฏิบัติธรรม เข้าถึงพระรัตนตรัยภายใน ซึ่งเป็นพุทธภาวะเป็นต้นแหล่งแห่งความสุขและความบริสุทธิ์ ที่จะทำให้เราหลุดพ้นจากอาสวกิเลสทั้งปวงได้ในที่สุด

 

พระ ธรรมเทศนา โดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

*พุทธประวัติ เล่ม๑ (หลักสูตรนักธรรมตรี)

 

 

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล