Dhamma for people
ธรรมะเพื่อประชาชน
พระเตมีย์ ผู้ยิ่งด้วยเนกขัมมบารมี ๑๔
มีธรรมภาษิตที่ปรากฎใน ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค ความว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตพูดอย่างไรก็ทำอย่างนั้น
ทําอย่างไรก็พูดอย่างนั้น ด้วยเหตุนี้จึงได้ชื่อว่า
ยถาวาที ตถาการี ยถาการี ตถาวาที
เพราะฉะนั้นจึงได้พระนามว่า พระตถาคต
เมื่อครั้งที่พระบรมโพธิสัตว์ สร้างบารมีอยู่นั้น พระองค์ได้ฝึกฝนตนเองให้เป็นผู้มีวาจาตรงกับใจ พูดอย่างไรก็ทำอย่างนั้น ทำอย่างไรก็พูดอย่างนั้น เมื่อวาจาสัตย์นี้ได้รับการสั่งสม มากเข้ามากเข้า ครั้นได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงทำให้พระองค์เป็นผู้มีพระวาจาศักดิ์สิทธิ์คือ ตรัสสิ่งใดหรือพยากรณ์สิ่งใดเอาไว้ก็จะเป็นจริงทุกครั้งไป พระดำรัสไม่เคยแปรเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นมีพระวาจาเป็นหนึ่งไม่มีสอง เพราะความที่มีวาจาตรงกับใจมาข้ามชาติ ดังนั้นน่ะพระองค์จึงได้รับการเฉลิมพระนามว่าพระตถาคต
โดยส่วนใหญ่แล้วปุถุชนคนธรรมดาทั่วไป มักจะไม่ค่อยกล้าพูดความจริงเพราะเขินอายบ้าง ไม่ยอมรับความจริงบ้าง บ้างก็กลัวจะเสียภาพพจน์หรือกลัวตาย จึงมักพูดเลี่ยงไปเป็นอย่างอื่น ด้วยเหตุนี้ถ้อยคำของคนส่วนมากจึงหยั่งรู้ได้ยาก เพราะว่าปากไม่ค่อยตรงกับใจ จนมีนักปราชญ์กล่าวเอาไว้ว่าขันธ์ ๕ ของมนุษย์นี้รกชัฏ พูดอย่างทำอย่างเข้าใจได้ยาก ส่วนขันธ์ ๕ ของสัตว์เดรัจฉานมีลักษณะตื้น ไม่มีความคิดซับซ้อนเหมือนมนุษย์
เราเป็นนักสร้างบารมีต้องฝึกฝนตนเอง ให้เป็นผู้มีวาจาตรงกับใจกันนะจ๊ะ เมื่อถึงคราวทำหน้าที่ผู้นำบุญยอดกัลยาณมิตรแก่ชาวโลก จะได้มีวาจาศักดิ์สิทธิ์ มีฤทธิ์มีเดชมีอานุภาพ สามารถน้อมนำใจผู้ฟัง ให้เข้าสู่กระแสธรรม ยกใจให้สูงขึ้นจนได้เข้าถึงพระธรรมกายภายใน
สำหรับวันนี้เราก็มารับฟังเรื่องราวของพระเตมียกุมาร ต่อจากเมื่อวานนี้กันเลยนะจ๊ะ เมื่อวานนี้หลวงพ่อได้เล่าถึงตอนที่โหราจารย์ได้หาทางเอาตัวรอด ด้วยการกล่าวเท็จโกหกว่าพระเตมียกุมารเป็นกาลกิณี ครั้นเห็นว่า การทูลตอบนอกตำรา กลับได้ผลอย่างไม่น่าเชื่อ ก็เลยยกเมฆทูลแนะนำ เรื่องชั่วร้ายต่อไปว่า ถ้าหากยังทรงเลี้ยงพระกุมาร ผู้เป็นกาลกิณีไว้ ภายใต้ล่มเศวตฉัตรต่อไป ไม่ช้าแผ่นดินก็จะเกิดอาเพศ ฉะนั้นพระองค์อย่าทรงรีรออยู่เลย โปรดสั่งให้นำพระเตมิยกุมาร ไปฝังทั้งเป็นที่ ป่าช้าผีดิบนอกเมือง หากทำได้สำเร็จ สวัสดิมงคลทั้งปวงก็จะบังเกิดขึ้นแด่พระองค์ แม้ภยันตรายทั้งปวงที่จะเกิดขึ้นกับพระเศวตฉัตร และพระมเหสี ก็จะอันตรธานสิ้นไป
ครั้นพระราชาได้ทรงสดับเช่นนั้น ก็ทรงสะเทือนพระหฤทัยอยู่ไม่น้อย เพราะไม่ใช่วิสัยของผู้เป็นบิดาจะพึงกระทำต่อบุตร จึงได้แต่ทรงนิ่งโดยอาการดุษณีภาพ
โหราจารย์เห็นพระองค์ทรงนิ่งเงียบไปครู่หนึ่ง จึงชำเลืองสายตาดูพระพักตร์พระราชา ซึ่งส่อเค้าว่าทรงเสียพระทัยยิ่งนัก จนสังเกตเห็นได้ชัดว่า พระพักตร์ของพระองค์หมองเศร้า และดวงพระเนตรก็แดงก่ำไปในทันที
โหราจารย์เห็นว่าเป็นช่วงเวลาสำคัญ ถ้าปล่อยให้เนิ่นนานไป พระองค์อาจสงสารพระโอรส จนไม่อาจรับสั่งอะไรให้เด็ดขาดลงไปได้ จึงรีบถวายบังคมทูลพระราชาว่า “ขอเดชะ ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท พระองค์จะเห็นควรเป็นประการใด
พระเจ้าข้า” พระเจ้ากาสิกราชได้ทรงสดับเช่นนั้น ก็ทรงกลับตั้งสติ ประทัพยืนด้วยความอ่อนล้า ในการตัดสินพระทัยครั้งนี้ ทรงบอกโหราจารย์ ด้วยพระสุรเสียงอันห้าวหาญว่า “ท่านอาจารย์ ความสงบสุขของบ้านเมืองย่อมสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด เมื่อเป็นเช่นนั้น ขอท่านอาจารย์จงทำตามที่ท่านเห็นสมควรเถิด” เมื่อพระองค์ทรงตกลงพระทัยเช่นนั้นแล้ว ก็ไม่รับสั่งอะไรอีก ได้เสด็จออกไปจากท้องพระโรง กลับคืนสู่พระตำหนักของพระองค์ทันที
เหล่าโหราจารย์เมื่อได้ฟังพระราชดำรัสของพระองค์แล้ว ต่างก็พากันกล่าวสรรเสริญพระเกียรติคุณ เป็นการเสริมกำลังใจให้พระราชาว่า พระองค์เป็นกษัตริย์ที่ทรงเห็นแก่ประโยชน์สุขอันไพบูลย์ของประชาราษฎร์ ยิ่งกว่าประโยชน์ส่วนพระองค์เอง จากนั้นก็แยกย้ายกันกลับไป ส่วนโหราจารย์และเสนาบดีที่เหลือ ต่างก็มาปรึกษาหารือกัน เพื่อดำเนินการตามรับสั่งของพระราชาให้สำเร็จโดยเร็ว
ทันทีที่พระนางจันทาเทวีได้ทรงสดับเรื่องนั้น ก็ทรงตกพระทัยจนแทบสิ้นสติ รีบเสด็จขึ้นสู่พระมหาปราสาท เข้าเฝ้าพระสวามีแต่เพียงลำพังพระองค์เดียว ถวายบังคมแล้วจึงกราบทูลทั้งน้ำตา เพื่อให้ประราชาทรงโปรดยับยั้งเรื่องนั้นไว้ก่อน
พระเจ้ากาสิกราชผู้ทรงสิ้นหวังในพระโอรสแล้ว จึงทรงปฏิเสธในทันทีว่า “ไม่ได้หรอกพระเทวี เราเป็นกษัตริย์ ตรัสแล้วย่อมไม่คืนคำ” พระนางทรงต่อรองว่า “ทูลกระหม่อม ขอพระองค์ทรงตรองดูก่อน ตลอดเวลาที่ผ่านมา พระโอรสก็ไม่เคยทำความเดือดร้อนให้แก่ใครเลย มีแต่พวกเราต่างหากที่ทำความทุกข์ร้อนให้แก่พระโอรส ทำไมถึงจะต้องรับสั่งให้ฝังเธอทั้งเป็น ขอพระองค์จงรอดูก่อนเถิด หม่อมฉันจะเลี้ยงดูพระโอรสเอง จะมิให้เกิดความเดือดร้อน หรือระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทเลย” พระราชาแม้จะทรงสดับเหตุผล และคำขอร้องของพระเทวีอย่างไร ก็ตรัสยืนยันรับสั่งดังเดิม
พระนางทรงนึกทบทวน ถึงคราวที่ได้ให้ประสูตร พระโอรสใหม่ๆ จึงกราบทูลว่า “ข้าแต่ทูลกระหม่อม เมื่อครั้งที่หม่อมฉันประสูติพระโอรส พระองค์ได้ทรงพระราชทานพรแก่หม่อมฉัน พระองค์ยังทรงจำได้ไหม ในวันนั้นเมื่อหม่อนฉันรับแล้วก็ถวายฝากพรนั้นแก่พระองค์ไว้ ขอพระองค์โปรดพระราชทานพรนั้น แก่หม่อมฉันในบัดนี้เถิด”
เมื่อพระราชารับสั่งว่า “พระเทวี เธอปรารถนาสิ่งใด ขอจงเลือกเอาตามใจชอบเถิด” พระนางจึงกราบทูลว่า “ถ้าเช่นนั้น ขอพระองค์โปรดพระราชทานราชสมบัติแก่ลูกของหม่อมฉันเถิด”
พระราชาทรงอัดอั้นพระหฤทัย จึงได้แต่ตรัสเป็นนัยว่า “ดูก่อนพระเทวี กาสิกรัฐเป็นมหานครที่กว้างใหญ่ไพศาล คับคั่งด้วยชาวประชา มีอาคารบ้านเรือนปราสาทราชฐานล้วนงดงามเป็นระเบียบเรียบร้อย อุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพรรณธัญญาหาร เป็นอู่ข้าวอู่น้ำ ควรแก่การสถาปนาเป็นมหาอาณาจักร แต่มหาอาณาจักรอันสูงค่าเช่นนี้ จักคู่ควรแก่คนง่อยเปลี้ยหรือ” ครั้นพระนางทูลคัดค้านว่า “เตมิยกุมาร ไม่ได้เป็นคนง่อยเปลี้ย เพียงแต่ไม่ประสงค์จะพูดจา”
พระราชาจึงทรงให้เหตุผลอย่างอื่นว่า “จริงอยู่ พระเทวี แม้ลูกเราจักไม่ใช่คนง่อยเปลี้ย แต่ก็ไม่อาจครองราชย์สมบัติได้หรอก พระเทวี เธอจงฟังให้ดี ลูกของเราเป็นกาลกิณี เจ้าก็ทราบมิใช่หรือ ว่าคนกาลกิณีมิอาจเป็นมิ่งขวัญของทวยราษฎร์ได้หรอก” พระราชดำรัสของพระสวามี ทำให้พระนางต้องสะอื้นไห้ ด้วยความรันทด
ส่วนว่าพระนางจะหาทางแก้ไขและช่วยเหลือ พระโอรสให้ปลอดภัยได้อย่างไรนั้นให้ลูกๆ มาติดตามรับฟังกันต่อในวันพรุ่งนี้นะจ๊ะ สำหรับวันนี้ให้ลูกทุกคนมีความอดทนและหนักแน่น เมื่อจะตัดสินใจอะไรก็ให้ใช้ปัญญาพิจารณาไตร่ตรองให้รอบคอบ เมื่อรู้แจ้งเห็นจริงแน่ชัดแล้วจึงค่อยสรุป แล้วความผิดพลาดที่จะก่อให้เกิดเป็นวิบากกรรม จะได้ไม่บังเกิดขึ้นกับเรานะจ๊ะ
พระธรรมเทศนา โดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)