ธรรมะเพื่อประชาชน พร้อมภาพประกอบ คติธรรม ข้อคิดสอนใจ

ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร ท่านทั้งหลายอย่ากลัวต่อบุญเลย เพราะคำว่าบุญนี้เป็นชื่อของความสุข ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร เราย่อมรู้ชัดผลแห่งบุญอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ที่เราเสวยแล้วตลอดกาลนาน

ชาดก : ธรรมะเพื่อประชาชน Dhamma for peopleรวมนิทานอีสปพร้อมภาพประกอบ  ข้อคิดสอนใจ

ธรรมะเพื่อประชาชน : มองด้วยปัญญาพาให้หลุดพ้น


ธรรมะเพื่อประชาชน : มองด้วยปัญญาพาให้หลุดพ้น

Dhamma for people
ธรรมะเพื่อประชาชน

DhammaPP200_04.jpg

มองด้วยปัญญาพาให้หลุดพ้น


                        ความสุขเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา มีทั้งความสุขภายนอกและความสุขภายใน ความสุขภายนอกหรือที่เรียกว่า ความสุขทางกาย บางครั้งอาจต้องทำตามกระแสกิเลสคือ ราคะ โทสะและโมหะที่ทำให้อยากได้ อยากมี อยากเป็น ซึ่งเมื่อเป็นไปตามกระแสกิเลสแล้ว ก็ต้องเจือด้วยความทุกข์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่วนความสุขภายในหรือสุขทางใจนั้นเลิศกว่าความสุขภายนอก ซึ่งพระพุทธองค์ทรงแนะนำให้เราแสวงหา เป็นความสุขที่อยู่เหนือกระแสกิเลสอันเป็นเหตุแห่งทุกข์ ความสุขชนิดนี้จะนำมาแต่ความเย็นกายเย็นใจ แม้เป็นฆราวาสผู้ครองเรือน ก็สามารถแสวงหาความสุขที่แท้จริงนี้ได้ โดยเฉพาะธุรกิจกับจิตใจต้องพัฒนาควบคู่กันไป ซึ่งความสุขภายในนี้จำเป็นอย่างยิ่ง ที่เราต้องทำความรู้จัก จะพบเจอก็ต่อเมื่อปฏิบัติธรรม เจริญสมาธิภาวนา ทำใจหยุดใจนิ่งให้เข้าถึงธรรมะภายในเท่านั้น

 


มีพุทธวจนะที่ปรากฏในอังคุตตรนิกาย เอกนิบาตว่า

“อปฺปมตฺติกา เอสา ภิกฺขเว ปริหานิ ยทิทํ โภคปริหานิ เอตํ ปฏิกิฏฺฐํ ภิกฺขเว ปริหานีนํ ยทิทํ ปญฺญาปริหานิ

ความเสื่อมญาติ โภคะ ยศ มีทุกข์มีโทษน้อย ส่วนความเสื่อมปัญญา มีทุกข์มีโทษมากกว่าความเสื่อมทั้งหลาย”

 


                        ความเสื่อมแม้เพียงเล็กน้อย ใครๆ ก็ย่อมไม่ปรารถนา แต่สิ่งที่จะต้องไม่ให้เสื่อมและต้องรักษาไว้ให้ดีคือสติและปัญญา เพราะความเสื่อมทั้งหลายที่ก่อให้เกิดความหายนะ และก่อให้เกิดทุกข์ ที่ยิ่งไปกว่าความเสื่อมของสติและปัญญานั้นย่อมไม่มี สติและปัญญานั้นเป็นยอดแห่งสมบัติทั้งหลาย เมื่อยังมีอยู่ ถึงแม้จะเสื่อมจากสิ่งอื่นไป ก็ยังสามารถแสวงหามาใหม่ได้ แต่ปัญญาความรอบรู้ โดยเฉพาะปัญญาที่ทำให้เข้าใจในเรื่องกฎแห่งกรรม จะทำให้เรามีชีวิตที่สว่างไสว ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า เพราะทำให้เราดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย สำหรับวันนี้มีตัวอย่างของพระเถระผู้มีปัญญา สามารถนำพาตนให้ข้ามพ้นสังสารวัฏนี้ไปได้ แม้ในยามวิกฤติ ซึ่งยากที่ใครจะสามารถทำได้ ส่วนเรื่องราวจะเป็นอย่างไรนั้น เราลองมาศึกษากันดูเลย

 

 

                        *สมัยพุทธกาลมีพระเถระองค์หนึ่งชื่อว่าจันทนะ ก่อนที่ท่านจะมาเกิดร่วมยุคสมัยกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา อดีตชาติที่ผ่านมา ท่านเป็นผู้ที่ชอบสั่งสมบุญกุศลจนเป็นอุปนิสัย เพราะท่านรู้ว่าบุญเป็นที่พึ่งที่ดีที่สุดของสรรพสัตว์ทั้งหลาย การจะได้โลกิยทรัพย์และอริยทรัพย์ ก็ล้วนได้มาด้วยอานุภาพบุญที่สั่งสมเอาไว้อย่างดีแล้วทั้งนั้น

 

 

                        ย้อนไปในกัปที่ ๓๑ แต่ภัทรกัปนี้ เมื่อโลกว่างเว้นจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระเถระได้ถือกำเนิดเป็นรุกขเทวามีวิมานอยู่ที่ต้นไม้แห่งหนึ่ง ซึ่งการเกิดเป็นรุกขเทวานี้ ก็จัดอยู่ในเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกา เป็นเทวดาชั้นล่าง เทวดาชั้นนี้ถ้าใส่ใจในบุญกุศลก็จะมีโอกาสทำความดีได้มากกว่าเทวดาชั้นสูง เพราะอยู่ใกล้กับภพภูมิของมนุษย์ ใกล้กับเนื้อนาบุญคือพระภิกษุสามเณร และชาติที่พระเถระเป็นรุกขเทวา ท่านก็เป็นรุกขเทวาผู้มีสัมมาทิฏฐิใส่ใจในการสร้างบุญสร้างกุศล 

 

 

                        วันหนึ่งรุกขเทวานั้นได้เห็นพระสุทัสสนะปัจเจกพุทธเจ้า ซึ่งพักอาศัยและปฏิบัติธรรมอยู่ในระหว่างซอกเขา เมื่อเห็นแล้วก็มีจิตเลื่อมใสในข้อวัตรปฏิบัติอันงดงามของพระปัจเจกพุทธเจ้า ซึ่งความสงบสำรวมของสมณะนี้ ย่อมเป็นทางมาแห่งหนทางสวรรค์และพระนิพพานของผู้ที่ได้พบเห็นทีเดียว เมื่อรุกขเทวา ได้เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว ก็ได้นำดอกอัญชันไปบูชาพระองค์ ด้วยบุญแห่งอามิสบูชาที่ทำด้วยจิตที่เลื่อมใสในครั้งนั้น ทำให้ท่านได้ท่องเที่ยวอยู่ในเทวโลกและมนุษยโลก ไม่ได้ไปเกิดในภพภูมิอื่นเลย

 

 

                       ครั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา มาบังเกิดขึ้นในโลกและได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ทรงเป็นที่พึ่งของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ท่านก็ได้มาบังเกิดในตระกูลที่ผู้คนนับหน้าถือตา เป็นลูกของคฤหบดี มีทรัพย์สมบัติมาก อาศัยอยู่ในเมืองสาวัตถี มีนามว่าจันทนะ เมื่อเติบโตเป็นหนุ่มก็ได้แต่งงานมีคู่ครอง มีลูกน้อยสุดที่รักคนหนึ่ง ต่อมา มีโอกาสได้ฟังธรรมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พอฟังจบเท่านั้นก็ได้บรรลุธรรมเข้าถึงกายธรรมพระโสดาบัน เป็นพระโสดาบันบุคคลในพระพุทธศาสนา หลังจากที่ท่านได้เข้าถึงความสุขภายใน ที่ยิ่งกว่าความสุขภายนอกแล้ว ก็เกิดเบื่อหน่ายในการครองเรือน ในการใช้ชีวิตคู่ เลยยกทรัพย์สมบัติที่มีอยู่ทั้งหมดให้บุตรและภรรยา แล้วก็ออกบวช ครั้นบวชแล้วท่านก็เป็นผู้ที่รักในการฝึกฝนอบรมตนเอง และเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เพื่อนสหธรรมิก มีวัตรปฏิบัติที่น่าเลื่อมใส โดยเฉพาะเรื่องการประพฤติปฏิบัติธรรม ท่านก็ปฏิบัติอยู่เป็นประจำสมํ่าเสมอและมักปลีกวิเวกปฏิบัติธรรมอยู่ในป่าเพียงลำพัง

 

 

                        เมื่อไม่สามารถบรรลุธรรมที่สูงยิ่งขึ้นไปกว่าเดิมได้  จึงอยากจะไปเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ เพื่อฟังธรรมและถามปัญหาในการปฏิบัติธรรม เมื่อคิดแล้วท่านก็กลับกรุงสาวัตถี ฝ่ายอดีตภรรยา พอทราบข่าวการกลับมาของพระเถระ ก็รีบแต่งเนื้อแต่งตัวสวยงามเพื่อไปต้อนรับ หวังจะหว่านล้อมให้พระเถระสึกออกมาด้วยมารยาของตน ทั้งสองนั้น ก็ได้ไปพบกันในระหว่างทางพอดี เมื่อพบกันแล้ว พระเถระก็ตั้งสติมั่นว่า “เราจะไม่ยอมลุ่มหลง ไปตามอำนาจกิเลสของนางอย่างเด็ดขาด” จากนั้นก็ประคองสติหยุดใจไว้ในภายใน เพราะมีสติสำรวมระวังอินทรีย์เป็นอย่างดี ทำให้ใจของท่านหยุดนิ่งตั้งมั่นเป็นพิเศษ ในระหว่างที่อดีตภรรยาพร้อมกับลูกและบริวารกำลังเดินมาหานั่นเอง ท่านก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ในระหว่างทางนั้นนั่นเอง แล้วก็เหาะขึ้นไปยืนในอากาศแสดงธรรมแก่อดีตภรรยาพร้อมทั้งลูกและบริวาร ได้ยังใจของนางให้เลื่อมใสในพระรัตนตรัย ได้ให้นางสมาทานศีลและเจริญภาวนา

 

 

                        นี่ก็ถือว่าเป็นการแสดงความรักและความปรารถนาดีอย่างถูกวิธี เพราะถ้าเรารักและปรารถนาดีต่อใครก็ตาม อยากให้เขามีชีวิตที่มีแต่ความสุขอย่างแท้จริง ก็จะต้องแนะนำให้เขารู้จักการทำทาน รักษาศีล และเจริญภาวนาอย่างนี้แหละ จึงจะเรียกว่ารักกันจริง เพราะถ้าทำอย่างอื่น ก็ต้องถือว่ารักกันยังไม่ถูกทาง เมื่อไม่ถูกทางชีวิตก็ลุ่มๆ ดอนๆ ละโลกแล้ว ก็อาจมีอบายภูมิเป็นที่ไปได้

 

 

                        เมื่อพระเถระกลับมาถึงที่พักแล้ว เพื่อนภิกษุเห็นว่าท่านมีผิวพรรณผุดผ่องกว่าทุกวัน ก็ถามว่า “อาวุโส ทำไมวันนี้ผิวพรรณท่านผ่องใสยิ่งนัก ท่านแทงตลอดสัจจะธรรมได้แล้วหรือ” พระเถระจึงตอบว่า “ภรรยาเก่าของกระผมแต่งตัวด้วยเครื่องประดับที่ทำด้วยทอง  แวดล้อมด้วยหมู่ทาสี ได้อุ้มบุตรเข้ามาหากระผม เวลาที่เห็นภรรยาผู้เป็นมารดาของบุตรกำลังเดินมา กระผมก็เห็นบุตรและภรรยา ย่อมเป็นดุจบ่วงที่พญามารดักเอาไว้ กระผมนั้นเป็นผู้มีใจมั่นคง มีจิตมุ่งตรงต่อพระนิพพาน โทษแห่งสังขารทั้งหลายก็เกิดปรากฏขึ้น ความเบื่อหน่ายในสังสารวัฏจึงมีแก่กระผม จิตของกระผมนั้นหลุดพ้นแล้วจากกิเลสอาสวะ ขอท่านทั้งหลาย จงดูความที่ ธรรมเป็นของดีเลิศ วิชชา ๓ อภิญญา ๖ ผมได้แทงตลอดแล้ว ร่างกายที่สวยสดงดงามเห็นปานนี้ ย่อมถูกชราพยาธิและมรณะครอบงำ โอ สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ”

 

 

                        พระจันทนะเถระเป็นผู้ที่เข้าใจแจ่มแจ้งในเรื่องความเป็นจริงของชีวิต แม้จะเกิดในตระกูลที่มั่งคั่งร่ำรวย แต่กลับมีจิตใจที่สูงส่ง มิได้ยึดติดทรัพย์สมบัติทั้งหลายที่เป็นโลกิยสมบัติ ได้สละสมบัติเหล่านั้น ออกบวชเพื่อมุ่งไปเอาสมบัติอันประณีต ที่เป็นโลกุตตรสมบัติ ท่านเป็นผู้มีปัญญาอันประเสริฐ เพราะเป็นปัญญาเพื่อความหลุดพ้น สามารถสอนตนเองได้ จนได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ผู้หลุดพ้นแล้วจากกิเลสอาสวะทั้งมวล

 

 

                        สิ่งรอบๆ ตัวเราทุกอย่าง สามารถเป็นครูสอนเราได้ทั้งนั้น ถ้าเราไม่ปล่อยผ่าน รู้จักใช้สติปัญญาขบคิดพิจารณา ก็จะทำให้ชีวิตเจริญรุ่งเรือง และก็จะไม่มีอะไรที่เป็นปัญหาและอุปสรรค เพราะเราดำเนินชีวิตอยู่อย่างมีสติและมีปัญญา โดยเฉพาะปัญญาที่เป็นพุทธิปัญญาของผู้รู้อย่างแท้จริง จะต้องได้มาจากการปฏิบัติธรรม เมื่อเราเข้าถึงพระธรรมกายภายใน ปัญญาของเราก็จะเป็นปัญญาบริสุทธิ์ที่จะนำพาเราให้หลุดพ้นจากทุกข์ทั้งมวล

 

 

พระธรรมเทศนา โดยหลวงพ่อธัมมชโย (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)  
*มก. จันทนเถรคาถา เล่ม ๔๖/๑๒

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล