อานิสงส์เอาของหอมฉาบทากุฏิ

วันที่ 16 พย. พ.ศ.2558

อานิสงส์เอาของหอมฉาบทากุฏิ
 

 อานิสงส์เอาของหอมฉาบทากุฏิ


 
     การเกิดเป็นมนุษย์นั้นยากแสนยาก เพราะบรรดาสรรพสัตว์ในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์บกหรือสัตว์น้ำ สัตว์มีเท้ามากมีเท้าน้อย แม้กระทั่งสัตว์ไม่มีเท้า ล้วนมีมากมายกว่ามนุษย์ในโลกนี้หลายเท่าจนไม่อาจเปรียบเทียบได้ ฉะนั้นควรรักษาอัตภาพร่างกายของเรา ให้มีสุขภาพพลานามัยที่แข็งแรงและใช้การได้ยาวนานที่สุดเท่าที่จะทำได้ เนื่องจากร่างกายเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญยิ่งในการทำความดีสร้างบารมีทุกอย่าง จึงจำเป็นต้องถนอมรักษาไว้ให้ดี อย่าเอาไปถล่มทลายด้วยอบายมุขต่างๆ ส่วนใจของเราก็ต้องทะนุถนอมด้วยการหมั่นชำระให้บริสุทธิ์ด้วยทาน ศีล และภาวนา นั่นคือต้องทำความดีหรือสั่งสมแต่สิ่งที่ดีๆ ไว้ในใจ โดยเฉพาะการเจริญภาวนา เพราะจะทำให้ใจบริสุทธิ์ผ่องใส และเป็นชีวิตที่มีคุณค่าอย่างแท้จริง


มีวาระแห่งธรรมภาษิตที่ปรากฏใน ขุททกนิกาย อปทาน ความว่า
 

“พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ทรงส่องโลกให้โชติช่วง อันมนุษย์และทวยเทพสักการะ
เป็นดังพระอาทิตย์ส่องแสงสว่างให้แก่นรชน ทรงแสดงพระธรรมเทศนาในบริษัททั้งหลายพระองค์ทรงพรํ่าสอนอย่างนี้ว่า บุคคลจะมีโภคทรัพย์มากได้เพราะให้ทาน จะเข้าถึงสุคติได้เพราะศีล
จะดับกิเลสได้เพราะภาวนา”


     ทุกชีวิตที่เกิดมาล้วนมีกรรมเป็นของตน หากจะดูว่าชาติที่แล้วๆ มาบุคคลใดเป็นเช่นไร ก็ให้สังเกตดูว่าปัจจุบันบุคคลนั้นเป็นอย่างไร เพราะนั่นคือกระจกเงาที่ทำให้สามารถมองเห็นอดีตของบุคคลนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี  เนื่องจากผลในปัจจุบันย่อมขึ้นอยู่กับการประกอบเหตุในอดีต ภาพที่เราทำในวันนี้ คือ อดีตของวันพรุ่งนี้ และภาพที่เราทำในชาตินี้คืออดีตของชาติหน้า เราเป็นผู้ลิขิตภาพในอนาคต ฉะนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องมีแต่ภาพที่ดีๆ ไว้ในใจ ให้ภาพแห่งการสร้างบารมีติดอยู่ในใจของเราไปทุกภพทุกชาติจนกระทั่งถึงที่สุดแห่งธรรม ดังเช่น พระจูฬสุคันธะเถระ ที่ท่านมีประวัติชีวิตอันงดงามน่าเอาเยี่ยงอย่าง เรื่องมีอยู่ว่า
 
     * พระเถระรูปนี้ท่านได้เคยบำเพ็ญกุศลในกาลของพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ ท่านได้สั่งสมบุญบารมีอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้เป็นอันมากในภพที่ผ่านๆ มา และในกาลแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า กัสสปะ  ท่านได้บังเกิดในตระกูลหนึ่งซึ่งสมบูรณ์ด้วยสมบัติในกรุงพาราณสี เมื่อบรรลุนิติภาวะ ได้ฟังธรรมในสำนักของพระศาสดา ท่านมีปกติกราบนมัสการพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่เสมอ ได้ถวายทานและนำของหอมที่เกิดตามธรรมชาติ ๔ อย่าง ฉาบไล้พระคันธกุฎีของพระผู้มีพระภาคเจ้าเดือนละ ๗ ครั้ง และได้ตั้งความปรารถนาไว้ว่า ขอให้กลิ่นหอมนี้จงบังเกิดแก่สรีระของตนในสถานที่ที่ได้ไปเกิดแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพยากรณ์ว่า "บุรุษนี้จะดำรงอยู่จนตลอดอายุขัย จะบำเพ็ญบุญไว้เป็นอันมาก จุติจากอัตภาพนี้แล้ว จะได้ไปบังเกิดในเทวโลก กระทำกลิ่นสรีระให้หอมฟุ้งทั่วกามาวจรภูมิ มีนามปรากฏว่า สุคันธเทวบุตร และจะได้เสวยสมบัติใหญ่ในเทวโลก"
 
     ครั้นมาในพุทธกาลนี้ ท่านได้บังเกิดในตระกูลที่มีโภคะมาก กลิ่นแห่งสรีระของท่านหอมฟุ้งไปทั่วเรือน และทั่วทั้งกรุงสาวัตถี มารดาบิดาของท่านจึงตั้งชื่อให้ว่า
สุคันธะ
 
     เมื่อครั้งที่พระศาสดาได้เสด็จถึงกรุงสาวัตถี ท่านสุคันธะได้เห็นพระบรมศาสดา เกิดความเลื่อมใส จึงออกบวชในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า  และได้บรรลุพระอรหัตผลพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาญาณ ๔  นับตั้งแต่วันแรกที่ท่านเกิดจนถึงวันปรินิพพาน กลิ่นหอมจากสรีระท่านหอมฟุ้งตลบอบอวลไปทุกที่ ไม่ว่าท่านจะอยู่ในอิริยาบถใดก็ตาม แม้เหล่าเทวดาก็ยังโปรยจุณทิพย์และดอกไม้หอมทิพย์ลงถวายพระเถระ เมื่อท่านย้อนระลึกถึงภาพการสร้างบารมีในชาติที่ผ่านๆ มาของตน ก็เกิดความโสมนัสปิติใจ ถึงกับประกาศเรื่องราวที่ตนได้บำเพ็ญบุญมาในอดีตชาติว่า
 
     “ในภัทรกัปนี้ พระกัสสปะพุทธเจ้าผู้ทรงพระยศใหญ่ประเสริฐกว่านักปราชญ์ทั้งหลาย ได้เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว มีพระรัศมีล้อมรอบข้างละวา พระองค์สมบูรณ์ด้วยอนุพยัญชนะ และมีพระพุทธลักษณะอันประเสริฐ ๓๒ ประการ ประกอบด้วยข่ายรัศมี ทรงยังสัตว์ให้ยินดียิ่ง
 
     ครั้งนั้นเราเกิดในสกุลใหญ่ มีทรัพย์และธัญญาหารมากมาย เป็นที่สั่งสมแห่งรัตนะต่างๆ ในพระนครพาราณสี เราได้ไปเฝ้าพระองค์ผู้เป็นนายกของโลกซึ่งประทับนั่งอยู่กับบริวารมากมาย ได้สดับอมตธรรมอันนำมาซึ่งความยินดีแห่งจิต พระพิชิตมารผู้ประเสริฐ เป็นเหมือนภูเขาอันก่อให้เกิดความยินดี มีพระหฤทัยเต็มไปด้วยพระกรุณา พระคุณปานดังสาคร มีพระเกียรติปรากฏแก่โลก
 
     พุทธบริษัททั้งหลายฟังพระธรรมเทศนาทำให้เกิดความแช่มชื่นเบิกบาน ไพเราะทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง และเบื้องปลาย มีรสเลิศประหนึ่งน้ำอมฤต  เราได้สดับพระธรรมเทศนาของพระพิชิตมาร ได้ถึงพระสุคตเจ้าเป็นสรณะ นอบน้อมพระองค์ตราบเท่าสิ้นชีวิต ครั้งนั้น เราได้นำของหอม ๔ อย่าง  ทาพื้นพระคันธกุฎีของพระมหามุนีเดือนหนึ่ง ๗ ครั้ง โดยตั้งปณิธานว่า ขอให้สรีระมีกลิ่นหอม  
 
    ครั้งนั้น พระพิชิตมารได้ตรัสพยากรณ์เราผู้จะได้มีกลิ่นหอมว่า บุคคลใดเอาของหอมทาพื้นพระคันธกุฎี ด้วยผลของกรรมนั้น ไม่ว่าเขาจะเกิดในชาติใดๆ จักเป็นผู้มีกลิ่นกายหอมทุกชาติไป จักเป็นผู้เจริญด้วยกลิ่นคือคุณแห่งศีล จักเป็นผู้ไม่มีอาสวะแล้วจักปรินิพพาน เพราะกรรมที่ทำไว้ดีนั้น และเพราะการตั้งเจตจำนงไว้ เราละโลกไปแล้ว จะได้ไปสู่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์
 
     บัดนี้ในภพสุดท้าย เราเกิดในสกุลอันมั่งคั่ง เมื่ออยู่ในครรภ์มารดา มารดาก็จะมีกลิ่นตัวหอม และในเวลาที่เราคลอดจากครรภ์มารดา พระนครสาวัตถีก็หอมฟุ้งเหมือนถูกอบด้วยกลิ่นหอมนานาชนิด ขณะนั้น ฝนดอกไม้ทิพย์อันหอมหวลก็ตกลงมา กลิ่นทิพย์อันน่ารื่นรมย์ใจ และธูปมีค่ามาก  หอมฟุ้งไปทั่ว ไม่ว่าเราเกิดในเรือนใด เรือนนั้นเทวดาจะนำธูปและดอกไม้  ซึ่งล้วนแต่มีกลิ่นหอมและเครื่องหอมมาอบ ในเวลาที่เรายังเยาว์ พระบรมศาสดาผู้เป็นสารถีฝึกนรชน ทรงแนะนำพุทธบริษัทของพระองค์ แล้วเสด็จมายังพระนครสาวัตถี พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ทั้งหมด
 
     ครั้งนั้น เราได้พบพุทธานุภาพจึงออกบวช เราเจริญธรรม ๔ ประการ คือ ศีล สมาธิ  ปัญญา และวิมุตติอันยอดเยี่ยม แล้วบรรลุธรรมเป็นที่สิ้นอาสวะ ในคราวที่เราออกบวช และคราวที่เราเป็นพระอรหันต์ อีกทั้งครั้งเมื่อเราจักปรินิพพาน ได้มีฝนกลิ่นหอมตกลงมา กลิ่นสรีระอันประเสริฐของเราครอบงำจันทน์อันมีค่า ทั้งดอกจำปา กฤษณา และดอกอุบล และเมื่อเราไปในที่ใดกลิ่นสรีระของเราจะกลบกลิ่นเหล่านี้ได้ทั้งหมด เราเผากิเลสทั้งหลาย ถอนภพขึ้นได้หมดแล้ว ตัดกิเลสเครื่องผูกดังช้างตัดเชือกแล้ว เป็นผู้ไม่มีอาสวะ คุณวิเศษเหล่านี้คือ ปฏิสัมภิทาญาณ ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ เราทำให้แจ้งชัดแล้ว คำสอนของพระพุทธเจ้าเราได้ทำเสร็จแล้ว”
 
     เราจะเห็นว่า ภาพแห่งความดีที่ทำไว้ในอดีตไม่ได้หายไปไหน ยังคงติดอยู่ในกลางใจเสมอ คุณงามความดีที่เราได้ตั้งใจทำไว้ก็จะติดตามตัวเราไปทุกภพทุกชาติจนกระทั่งเข้าสู่พระนิพพาน
เราเป็นนักสร้างบารมีจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสั่งสมแต่ภาพการสร้างบารมีที่งดงามไว้ในใจ อย่าให้ภาพที่ไม่ดีเกิดขึ้นในใจ เพราะวาระสุดท้ายของชีวิตตอนศึกชิงภพ สรุปงบดุลของชีวิต เราจะได้มีแต่ภาพกรรมนิมิตที่ดีๆ เพื่อมีสุคติเป็นที่ไป  ทุกอย่างที่เราทำไป ล้วนมีผลต่อตัวเราโดยตรงทั้งสิ้น ให้ตรองให้ดีก่อนคิด พูด และทำ หมั่นสั่งสมแต่คุณงามความดีไปตลอดชีวิต ชีวิตเราจะได้ปลอดภัยทั้งในโลกนี้และโลกหน้า


พระธรรมเทศนาโดย : พระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย) 
* มก. เล่ม ๗๒ หน้า ๔๐๖
  

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.028319299221039 Mins