สังฆคุณ

วันที่ 20 มิย. พ.ศ.2548

phramongkol1.jpg

.....สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ สาวกของพระองค์ผู้มีพระภาคเจ้านั้น ย่อมมี ๒ จำพวก คือ ปุถุชนสาวก ๑ อริยสาวก ๑ ปุถุชนสาวกนั้น ได้แก่ผู้ที่เลื่อมใสในพระรัตนตรัย แต่ยังมิได้บรรลุธรรมวิเศษอันใด ยังเป็นปุถุชนอยู่ จึงได้ชื่อว่าปุถุชนสาวก แต่สาวกตามความหมายในบทสังฆคุณที่ยกขึ้นกล่าวข้างต้นนี้เฉพาะแต่อริยสาวกเท่านั้น อริยสาวก แปลว่า สาวกผู้ประเสริฐ คือสาวกที่ได้บรรลุธรรมวิเศษแล้ว พ้นจากฐานะปุถุชนแล้ว เรียกตามโวหารในทางศาสนาว่าเป็นชั้นอริยะ สาวกชั้นอริยะหรือที่เรียกว่าอริยสาวกนั้น ท่านจัดเป็น ๔ คู่ คือโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล คู่ ๑. สกทาคามิมรรค สกทาคามิผลคู่ ๑. อนาคามิมรรค อนาคามิผลคู่ ๑. อรหัตตมรรค อรหัตตผลคู่ ๑. แต่ถ้าจัดเป็นรายบุคคล ท่านจัดเป็น ๘ คือ โสดาปัตติมรรค ๑. โสดาปัตติผล ๑. สกทาคามิมรรค ๑. สกทาคามิผล ๑. อนาคามิรรค ๑. อนาคามิผล ๑. อรหัตตมรรค ๑. อรหัตตผล ๑ จึงรวมเป็นอริยบุคคล ๘ จำพวกด้วยกัน แบ่งเป็นชั้น ๆ ตามลำดับธรรมวิเศษที่ได้บรรลุ

พระอริยบุคคลบำเพ็ยกิจถูกส่วน เพ่งที่ศูนย์กลางกายเป็นดวงใสจนแลเห็นกายมนุษย์ กายทิพย์ กายรูปพรหม กายอรูปพรหม จนถึงกายธรรมเป็นชั้นที่ ๕ เป็นชั้น ๆ ไป โดยนัยดังทีจะกล่าวต่อไปนี้ คือชั้นต้น ดูดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ที่ศูสย์กลางกายมนุษย์ให้เป็นดวงใส แล้วขยายให้กว้างออกไป วัดเส้นผ่าศูนย์กลางได้ ๒ วา หนา ๑ คืบ ใสเหมือนกระจกเงาส่องหน้า นี่เป็นปฐมฌาน แล้วกายธรรมนั่งบนนั้น ดังนี้เรียกว่ากายธรรมเข้าปฐมฌาน แล้วเอาธรรมกายที่นั่งบนฌานนั้น เพ่งดูดวงธรรมที่ศูนย์กลางกายทิพย์เห็นเป็นดวงใส แล้วขยายส่วนเท่ากันนั้น ธรรมกายน้อมเข้าฌานที่ ๒ นั้น แล้วฌานที่ ๑ ก็หายไป ฌานที่ ๒ มาแทนที่ธรรมกายนั่งบนนั้น นี้ชื่อว่าธรรมกายเข้าฌานที่ ๒ ทำนองเดียวกันนั้นต่อ ๆ ไปในกายรูปพรหหมกายอรูปพรหม ต่อจากนี้ไปให้ใจธรรมกายน้อมไปว่าละเอียดกว่านี้มีฌานที่ ๔ ก็หายไป ฌานที่ ๕ ดังนี้แล้ว ใจธรรมกายน้อมไปว่าละเอียดกว่านี้มีอีก ฌานที่ ๕ ก็หายไป ฌานที่ ๖ เข้ามาแทนที่ เรียกว่า วิญญาณัญจายตนะ ธรรมกายนั่งอยู่บนฌานที่ ๖ แล้วนั้น ใจกายธรรมน้อมไปอีกว่าละเอียดกว่านี้มีอีก ฌานที่ ๖ ก็หายไป ฌานที่ ๗ มาแทนที่เรียกว่า อากิญจัญญายตนะ ธรรมกายนั่งอยู่บนฌานที่ ๗ นั้นแล้ว ใจธรรมกายก็น้อมไปอีกว่าละเอียดกว่านี้มีอีกฌานที่ ๘ ก็บังเกิดขึ้นทันทีเรียกว่า เนวสัญญานาสัญญายตนะ รู้สึกละเอียดจริงประณีตจริง นี้เรียกว่าเข้าฌานที่ ๑- ๘ โดยอนุโลม แล้วย้อนกลับจับแต่ฌานที่ ๘ นั้นถอดลงมาหาฌานที่ ๗- ๖- ๕- ๔- ๓- ๒- ๑ เรียกว่าปฏิโลม ทำดังนี้ ๗ หน ธรรมกายจึงคงไปอยู่บนฌานที่ ๘ ในระหว่างเข้าฌานนั้น ตั้งแต่ ๑ ถึง ๘ นั้น ตาธรรมกายดูทุกขสัจ เห็นชัดแล้ว ดูสมุทัยแล้ว เห็นชัดแล้วดูนิโรธสัจ เห็นชัดแล้วดูมรรคสัจ เมื่อถูกส่วนเข้าธรรมกายตกศูนย์เป็นดวงใส วัดเส้นผ่าศูนย์กลางได้ ๕ วา ในไม่ช้าศูนย์นั้นกลายกลับเป็นธรรมกาย หน้าตักกว้าง ๕ วา สูง ๕ วา นี้เป็นพระโสดาแล้ว แล้วธรรมกายโสดานั้นเข้าฌาน แล้วพิจารณาอริยสัจ ๔ ในกายทิพย์ทำนองเดียวกับที่กล่าวมาแล้วนั้น เมื่อถูกส่วนธรรมกายโสดาตกศูนย์ วัดเส้นผ่าศูนย์กลางได้ ๑๐ วา ไม่ช้าศูนย์นั้นกลับเป็นธรรมกาย หน้าตัก ๑๐ วา สูง ๑๐ วา มีชื่อว่าพระสกทาคามี แล้วธรรมกายเข้าฌาน และพิจารณาอริยสัจในกายรูปพรหมทำนองเดียวกันนั้น เมื่อถูกส่วนธรรมกายสกทาคาตกศูนย์ วัดเส้นผ่าศูนย์กลางได้ ๑๕ วา แล้วกลับเป็นธรรมกาย หน้าตัก ๑๕ วา สูง ๑๕ วา มีชื่อว่าพระอนาคามี แล้วเอาธรรมกายของพระอนาคามีเข้าฌานพิจารณาอริยสัจ ๔ ในกายอรูปพรหม เห็นชัดเช่นเดียวกันกับที่กล่าวมา เมื่อถูกส่วนธรรมกายพระอนาคามีตกศูนย์ วัดเส้นผ่าศูนย์กลางได้ ๒๐ วา แวบเดียวกลับเป็นธรรมกายหน้าตักกว้าง ๒๐ วา สูง ๒๐ วา นี้เป็นพระอรหันต์แล้ว

ที่ว่าธรรมกายนั้น สัณฐานเป็นรูปพระพุทธปฏิมากรเกตุดอกบัวตูม สีขาวเป็นเงาใสเหมือนกระจกส่องหน้า ชั้นพระโสดา ละกิเลสได้ ๓ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ที่ท่านละสักกายทิฏฐิได้ก็โดยท่านพิจารณาเห็นชัดว่า สังขารร่างกายนี้เหมือนเรือนที่อาศัยอยู่ชั่วคราว ไม่ช้าก็จะแตกจกทำลายไป จะยึดถือเอาเป็นตัวเป็นตนมิได้ เป็นสักแต่ธาตุทั้งหลายประสมส่วนกันเข้า จึงเป็นรูปเป็นนาม ย่อมแปรผันไปตามลักษณะของมัน ไม่ยืนยกคงที่ถ้าไปยึดถือเป็นตัวเป็นตนก็รังแต่จะนำความทุกข์มาให้ดังที่กล่าวมานี้ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แต่ส่วนธรรมกายนั้นท่านเห็นว่าเป็น นิจจัง สุขัง อัตตา ท่านจึงไม่แยแสต่อกายมนุษย์ โดยเห็นว่าเป็นของไม่มีสาระดังกล่าวข้างต้นท่านจึงข้ามพ้นสักกายทิฏฐิไปได้

ที่ท่านและวิจิกิจฉาได้ ก็ด้วยท่านเข้าถึงธรรมกายแล้ว ถอดกายทั้ง ๔ ซึ่งเป็นโลกีย์ ถอดเป็นชั้นออกไปเสียได้แล้วท่านจึงหมดความกินแหนงสอดแคล้วในพระรัตนตรัย เพราะท่านเป็นตัวพระรัตนตรัยเสียแล้ว

ที่ท่านละสีลัพพตปรามาสได้นั้น ก็เพราะเมื่อท่านเป็นตัวพระรัตนตรัยเสียเช่นนี้แล้ว ศีลและวัตรใดอันเป็นฝ่ายมิจฉาทิฏฐินอกพระพุทธศาสนาไม่มีในท่านแล้ว จึงได้ชื่อว่าท่านพ้นจากสีลัพพปรามาส คือการยึดมั่นซึ่งศีลและวัตรนอกพระพุทธศาสนา

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.024878247578939 Mins