ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู พิธีกรรมที่สำคัญ

วันที่ 27 มิย. พ.ศ.2559

ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู
พิธีกรรมที่สำคัญ

ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู พิธีกรรมที่สำคัญ

    ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เป็นศาสนาที่มีพิธีกรรมเป็นส่วนประกอบสำคัญอย่างหนึ่งของศาสนา เพราะชาวฮินดูทุกวรรณะย่อมมีขนบธรรมเนียมประเพณีทั้งส่วนเฉพาะและส่วนรวม ที่ต้องประพฤติตามกฎประเพณีที่กำหนดไว้สำหรับวรรณะของตน และกฎประเพณีส่วนรวมที่จำต้องประพฤติปฏิบัติทุกชั้นวรรณะ ข้อปฏิบัติและพิธีกรรมของชาวฮินดู9) แบ่งเป็น 4 หมวด ดังนี้

 

1. ข้อปฏิบัติเกี่ยวกับวรรณะ

มีกฎสำหรับวรรณะให้ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ดังนี้

    1.    การแต่งงาน ผู้ที่จะแต่งงานกันได้จะต้องอยู่ในวรรณะเดียวกัน จะแต่งงานข้ามวรรณะไม่ได้ แม้ในวรรณะเดียวกันก็ยังจำกัดด้วยตระกูลและโคตรอีกชั้นหนึ่งด้วย ผู้ใดฝ่าฝืน มีโทษถูกประณามหรือถูกตัดขาดจากโคตร จากวรรณะ ผู้นั้นจะไม่มีใครคบสมาคมด้วย แม้ญาติมิตร บุตร และภรรยาก็รังเกียจไม่ยอมคบหาสมาคมด้วย

     2.    อาหารการกิน ได้มีกฎกำหนดว่าอะไรกินได้ หรือไม่ได้ สำหรับวรรณะนั้นๆ ไม่กินอาหารร่วมกับคนต่างวรรณะ คนวรรณะสูงไม่กินอาหารที่คนวรรณะต่ำกว่าปรุง แต่ของที่ จำต้องใช้ร่วมกัน เช่น ใช้น้ำในสระเดียวกัน ก็ให้แบ่งเขตกันใช้ หรือปันระยะที่จะต้องอยู่ห่างกัน เช่นวรรณะนั้นห่างจากวรรณะนี้ 96 ก้าว 40 ก้าว 15 ก้าว 12 ก้าว เป็นต้น

    3.    การทำมาหากิน พวกพราหมณ์จะมีอาชีพเป็นนักบวช หรือครูอาจารย์ หรือประกอบพิธีกรรม พวกกษัตริย์เป็นนักปกครอง ดูแลความสงบสุขบ้านเมือง พวกแพศย์เป็นพวกค้าขายและประกอบกสิกรรม ส่วนพวกศูทรเป็นกรรมกร

     4.    เคหสถานที่อยู่ ตามกฎดั้งเดิม ห้ามไปตั้งถิ่นฐานนอกประเทศอินเดียและห้ามโดยสารไปทางทะเล แต่ปัจจุบันนี้ไม่ค่อยถือกันแล้ว

      ข้อปฏิบัติเกี่ยวกับวรรณะทั้ง 4 ดังกล่าวข้างต้นนี้ แต่เดิมมาชาวฮินดูปฏิบัติอย่างเคร่งครัดมาก แต่ในปัจจุบันคนชั้นสูงหรือผู้ได้รับการศึกษาแผนปัจจุบันไม่ค่อยถือมากนัก

 

2. พิธีประจำบ้าน

     ในคัมภีร์มานวธรรมศาสตร์ได้กำหนดพิธีสังสการ ซึ่งเป็นพิธีประจำบ้านไว้ 12 ประการที่คนในวรรณะกษัตริย์ วรรณะพราหมณ์และวรรณะแพศย์จะต้องทำโดยมีการปฏิบัติตามลำดับขั้นดังนี้ คือ

ขั้นที่ 1    ครรภาธาน เป็นพิธีที่จัดขึ้นเมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ ถัดจากวันวิวาห์

ขั้นที่ 2    ปุงสวัน เป็นพิธีปฏิบัติต่อเด็กในครรภ์ที่เข้าใจว่าเป็นเพศชาย

ขั้นที่ 3 สีมันโตนยัน เป็นพิธีตัดผมหญิงมีครรภ์ เมื่อตั้งครรภ์ได้ 4, 6 หรือ 8 เดือน

ขั้นที่ 4    ชาตกรรม พิธีคลอดบุตร

ขั้นที่ 5    นามกรรม พิธีตั้งชื่อเด็ก ในวันที่ 12 หรือ 14 ถัดจากวันคลอด

ขั้นที่ 6     นิษกรมณ์ พิธีนำเด็กออกไปดูแสงอาทิตย์ยามเช้า เมื่ออายุได้ 4 เดือน

ขั้นที่ 7    อันนปราศัน พิธีป้อนข้าวเด็ก เมื่ออายุได้ 5 เดือนหรือ 6 เดือน

ขั้นที่ 8    จูฑากรรม พิธีโกนผมไว้จุก เมื่ออายุได้ 3 ขวบ

ขั้นที่ 9    เกศานตกรรม พิธีตัดผม ถ้าเป็นวรรณะพราหมณ์ตัดเมื่ออายุ 16 ปี ถ้าวรรณะกษัตริย์ ตัดเมื่ออายุ 22 ปี ถ้าวรรณะแพศย์ ตัดเมื่ออายุ 24 ปี

ขั้นที่ 10    อุปานยัน พิธีเข้ารับการศึกษา พวกวรรณะพราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ จะต้องทำพิธีเข้ารับการศึกษา และเมื่ออาจารย์ในสำนักนั้นๆ รับเด็กไว้แล้วก็จะสวมสายธุรำหรือยัชโญปวีต ผู้ที่ได้สวมสายนี้แล้วก็เรียกว่า ทวิช หรือทิชาชาติ เกิด 2 ครั้ง คือครั้งแรกเกิดจากครรภ์มารดา และครั้งที่ 2 เกิดจากการสวมสายยัชโญปวีต ส่วนพวกศูทรและจัณฑาลเป็นเอกชาติ คือ เกิดครั้งเดียวไม่อาจเป็นทิชาชาติได้

ขั้นที่ 11    สมาวรรตน์ พิธีกลับบ้าน จัดขึ้นเมื่อเด็กหนุ่มสำเร็จการศึกษาและ เตรียมตัวกลับบ้าน

ขั้นที่ 12    วิวาหะ พิธีแต่งงาน

    พิธีสังสการทั้ง 12 ประการดังกล่าวนี้ ถ้าเป็นหญิงห้ามทำพิธีอุปานยันอย่างเดียว นอกนั้นทำได้หมด และห้ามสวดคัมภีร์พระเวท เพราะเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ที่สงวนเฉพาะผู้ชาย และคนบางวรรณะเท่านั้น ในปัจจุบันนี้ชาวฮินดูผู้เป็นทวิชาติคงปฏิบัติอยู่ใน 4 พิธีเท่านั้น คือ พิธีนามกรรม พิธีอันนปราศัน พิธีอุปานยัน และพิธีวิวาหะ ที่เหลือนอกนั้นไม่ใคร่ปฏิบัติกันแล้ว ยกเว้นผู้ที่เคร่งครัดจริงๆ เท่านั้น

 

3. พิธีศราทธ์

     พิธีทำบุญอุทิศให้มารดาบิดา หรือบรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว ใน เดือน 10 ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ ถึงวันแรม 15 ค่ำ โดยมีลักษณะและขั้นตอนดังต่อไปนี้

     1.    การบูชากระทำด้วยข้าวบิณฑ์ คือก้อนข้าวสุก โดยให้บุตรชายของผู้ตายเป็น ผู้กระทำพิธีบวงสรวงบูชา เพราะมีความเชื่อว่าบุตรชายช่วยให้ผู้ที่ล่วงลับพ้นจากนรกขุม ปุตตะŽ โดยกระทำก่อนวันนำศพไปเผา และกระทำตลอดไป 10 วัน หรือ 11 วัน และวันที่ 11 นั้นเป็นการรวมญาติ โดยญาติฝ่ายบิดาและญาติฝ่ายมารดาซึ่งนับขึ้นไป 3 ชั่วคน และนับลงมา 3 ชั่วคน เข้าร่วมพิธีด้วย เรียกว่า สปิณฑะ แปลว่า ร่วมทำพิธีข้าวบิณฑ์

    2.   การทำบุญอุทิศให้มารดาบิดา หรือบรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว ต้องทำไปเดือนละครั้งเป็นอย่างน้อยตลอดปี

 

4. พิธีบูชาเทวดา

   ชาวฮินดูมีเทพเจ้าที่เคารพมากมายหลายองค์ ผู้ที่เกิดในวรรณะสูงสมัยก่อนได้บูชาพระศิวะและพระวิษณุ เป็นต้น เวลาต่อมาเกิดลัทธิอวตารขึ้น มีการบูชาพระกฤษณะและพระรามขึ้นอีก แต่บุคคลในวรรณะต่ำมักถูกกีดกันมิให้ร่วมบูชาเทพเจ้าของบุคคลในวรรณะสูง ดังนั้น บุคคลในวรรณะต่ำจึงต้องสร้างเทพเจ้าของตนเองขึ้น เช่น เจ้าแม่กาลี เทพลิง เทพงู เทพเต่า รุกขเทพ เทพช้าง เป็นต้น

        พิธีบูชาแตกต่างกันออกไปตามวรรณะ แต่บุคคลในวรรณะสูงมีพิธีในการบูชาดังนี้

     1.    สวดมนต์ภาวนา สนานกาย ชำระและสังเวยเทวดาทุกวัน สำหรับผู้เคร่งครัดในศาสนาต้องทำเป็นกิจวัตร ส่วนพวกที่ได้รับการศึกษาแผนใหม่มักไม่ค่อยปฏิบัติกัน

        2.    พิธีสมโภช ถือศีล และวันศักดิ์สิทธิ์ เช่น ลักษมีบูชา วันบูชาเจ้าแม่ลักษมี สรัสวดีบูชา วันบูชาเจ้าแม่สรัสวดี ทุรคาบูชา วันบูชาเจ้าแม่ทุรคา เป็นต้น ซึ่งอาจแตกต่างกันออกไปในแต่ละนิกายและท้องถิ่น

        3.    การไปนมัสการบำเพ็ญกุศลตามเทวาลัยต่างๆ เพื่อแสดงความเคารพเทพเจ้าที่ตนนับถือ

 

5. วันสำคัญทางศาสนา

เดือน 5

   เดือน 5 นี้ จัดว่าเป็นการเปิดศักราชใหม่ตามปฏิทินโหราศาสตร์ของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ซึ่งตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 และในขณะเดียวกัน วันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 นี้จนกระทั่งถึงขึ้น 9 ค่ำ จะตรงกับนวราตรี ผู้ที่เคารพบูชาพระแม่อุมาจะทำการบูชาเจ้าแม่ทั้ง 9 ปาง ในแต่ละคืน เมื่อเสร็จแล้วจึงจะพาไปบูชาไฟและเชิญเด็กหญิงไม่เกิน 10 ขวบทั้ง 9 คน โดยเริ่มตั้งแต่ 2 ขวบ เรื่อยไปตามลำดับจนครบ 9 ปางมาร่วมพิธี ผู้ชุมนุมในงานจะมอบสิ่งของให้แก่เด็กทั้ง 9 คน

เดือน 6

    ในเดือนนี้จะมีการบูชาพระวิษณุในวันขึ้น 3 ค่ำ และวันขึ้น 14 ค่ำ ส่วนวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นวันศูนย์กลางของสงกรานต์ เป็นวันเพ็ญแรกของปีนับว่ามีความสำคัญมาก ประชาชนจึงทำพิธีบูชาไฟและทำบุญตามประเพณีของตระกูล

เดือน 7

    วันขึ้น 11 ค่ำ เดือน 7 เป็นวันบูชาพระวิษณุ มีการอดอาหารและน้ำ 1 วัน

   วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7 เป็นวันเริ่มแห่งการเข้าพรรษา นักบวชผู้เป็นสันยาสีจะต้องอยู่ประจำที่ 4 เดือน เพราะเป็นฤดูฝน นอกจากเดินทางไม่สะดวกแล้ว ยังมีแมลงเกิดขึ้นมากมายอาจเหยียบย่ำสัตว์เหล่านี้ ทำให้เป็นบาปติดตัว

เดือน 8

   วันขึ้น 2 ค่ำ จะมีการแห่รูปพระวิษณุ โดยเฉพาะที่แคว้นอัสสัมมีการฉลองพิธีนี้อย่างใหญ่โต วันขึ้น 15 ค่ำ เป็นวันไหว้ครู

เดือน 9

   วันขึ้น 5 ค่ำ เรียกวันนาคปัญจมี จะทำการบูชาพญานาคด้วยน้ำนม ถ้างูกินของผู้ใด ผู้นั้นจะไม่ได้รับอันตรายจากงูเป็นเวลา 1 ปี

    แรม 4 ค่ำ เป็นวันบูชาพระพิฆเนศ ซึ่งต้องอดอาหารตลอดวันจนพิธีเสร็จ และพระจันทร์ปรากฏขึ้นเมื่อใดจึงจะรับประทานอาหารได้

    แรม 6 ค่ำ เป็นวันบูชาพระสุริยเทพ ส่วนแรม 8 ค่ำ บูชาพระกฤษณะด้วยการอดอาหารจนถึงเที่ยงคืนจึงจะรับประทานอาหาร

เดือน 10

    วันขึ้น 3 ค่ำ เป็นวันสำคัญของพระแม่อุมาและพระศิวะ เชื่อกันว่าสตรีใดบำเพ็ญตบะในวันนี้ จะได้สามีที่ดี และจะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข เพราะเป็นวันที่พระแม่อุมาทรงบำเพ็ญตบะวิงวอนขอแต่งงานกับพระศิวะ และพระศิวะได้ตกลงรับสัญญาพร้อมทั้งให้พรสตรีที่บำเพ็ญตบะในวันนี้

    วันขึ้น 15 ค่ำ เป็นวันที่ศาสนิกชนทำพิธีบูชาสักการะดวงวิญญาณของบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว และจะเชิญพวกสันยาสีมาฉันอาหารที่บ้าน

เดือน 11

    ในเดือนนี้ตลอดวันขึ้น 1 ค่ำถึงวันขึ้น 9 ค่ำ เป็นวันนวราตรี จะมีการทำพิธีบูชาตลอด 9 วัน เช่นเดียวกับเดือน 5 ส่วนวันขึ้น 10 ค่ำ เป็นวันบูชาพระแม่อุมา โดยเฉพาะพวกวรรณะกษัตริย์จะต้องบูชาเป็นพิเศษ เชื่อกันว่าใครบูชาพระนางในวันนี้จะได้รับชัยชนะตลอดปี

    วันขึ้น 15 ค่ำ ในตอนกลางคืนพวกพราหมณ์และผู้ที่นับถือศาสนาฮินดู จะบูชา พระวิษณุด้วยสิ่งของสีขาวล้วน

  แรม 13 ค่ำ เป็นวันที่ผู้นับถือศาสนาทำพิธีบูชาพระแม่ลักษมี พระพิฆเนศ พระกุเวร พระสรัสวดี พระอินทร์ เมื่อบูชาแล้วต้องไปซื้อเสื้อผ้าและของใช้ใหม่ๆ จะได้เกิดสิริมงคล

   แรม 14 ค่ำ พวกพราหมณ์จะบูชาพระยายมในตอนกลางคืน มีการจุดประทีปตามไฟเป็นการถวายพระยายม เมื่อตายไปจะไม่ไปนรก แต่ถ้าหากทำกรรมหนักขนาดลงนรกก็จะมีไฟนำทางอันเป็นผลมาจากการจุดประทีปถวายพระยายมนั่นเอง

       อนึ่งในวันนี้ เป็นวันเกิดของหนุมาน ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นปางหนึ่งของพระศิวะ

       แรม 15 ค่ำ เป็นวันบูชาเทพทั้ง 5 พระองค์ และเป็นวันบูชาพระลักษมี

เดือน 12

    ขึ้น 1 ค่ำ เป็นวันถวายอาหารเทพเจ้าทั้งหมด 56 อย่าง

    ขึ้น 2 ค่ำ เป็นวันที่พี่ชายหรือน้องชายต้องไปกินอาหารบ้านพี่สาวหรือน้องสาว และจะต้องนำของขวัญไปให้ด้วย จากนั้นพี่สาวหรือน้องสาวจะเจิมหน้าผากให้เพื่อความเป็นสิริมงคล

    ขึ้น 12 ค่ำ เป็นวันบูชาพระวามนะ ปางหนึ่งของพระวิษณุ

    ขึ้น 15 ค่ำ เป็นวันบูชาพระวิษณุ

เดือนยี่

    วันขึ้น 15 ค่ำ เป็นวันบูชาพระวิษณุ และถวายประทีปแก่เทพเจ้าในเทวาลัย

    วันขึ้น 6 ค่ำ ถึงแรม 6 ค่ำ รวม 15 วัน เป็นวันพระราชพิธีตรียัมปวาย เป็นพิธีเริ่มการเพาะปลูกโดยบูชาพระอิศวรและพระนารายณ์

เดือน 3

   วันขึ้น 5 ค่ำ บูชาพระสรัสวดีจะทำให้สติปัญญาดีขึ้น นอกจากนี้ในวันเดียวกันยังบูชาพระกามเทพ และพระวิษณุ ประชาชนจะพากันไปล้างบาปที่แม่น้ำ

    วันขึ้น 15 ค่ำ เป็นวันบูชาเทพเจ้า แล้วแต่ใครศรัทธาองค์ใดก็บูชาองค์นั้น

   แรม 14 ค่ำ เป็นวันศิวราตรี พวกพราหมณ์บูชาพระศิวะตลอด 24 ชั่วโมง ด้วยการ อดอาหารและอดนอน

เดือน 4

    วันขึ้น 15 ค่ำ เป็นวันเผาของสกปรก

    แรม 1 ค่ำ เรียกวันโฮลี มีการเล่นสาดสีใส่กัน เพื่อให้เชื้อโรคสิ้นไป วันนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นวันตรุษของแขก เป็นวันสนุกสนานของคนทุกวรรณะ โดยเฉพาะพวกวรรณะศูทรถือว่าเป็นวันสำคัญมากในชีวิตของพวกเขา

     แรม 15 ค่ำ เดือน 4 ถือว่าเป็นวันสิ้นปีของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู

 

 


9) วนิดา ขำเขียว. ศาสนาเปรียบเทียบ, 2543 หน้า 68-72.


หนังสือ DF 404 ศาสนศึกษา
กลุ่มวิชาการทำหน้าที่กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0013612985610962 Mins